Monday, June 11, 2007

บทความที่ ๑๕๒. ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต ตอนที่ ๑

ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต ตอนที่ ๑

ต่อแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะขอเขียนถึงความคลี่คลายขยายตัวทางความนึกคิดของข้าพเจ้าเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ที่เริ่มจากความดำทมึนมืดที่มีต่อนายปรีดี พนมยงค์ จนกลายเป็นความขาวกระจ่างและบริสุทธิ์ผุดผ่องของท่าน เป็นลำดับไป

กรณีสวรรคตนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ แห่งช่วงการเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒ ของนายปรีดี พนมยงค์

พวกเราที่เคยนิยมชมชอบนายปรีดี พนมยงค์มาแต่ตอนที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สามารถก่อตั้งขบวนการเสรีไทย จนนำอิสระอธิปไตยคืนมาให้ประเทศไทยได้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มเกิดความแคลงใจในการที่ท่านรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแต่ครั้งแรกแล้ว โดยพวกเราเชื่อผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ของเราอย่างถนัดถนี่ ว่านายปรีดีมีแผนการโค่นล้างนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นที่รักใคร่ชอบพอของมหาชนทุกชนชั้นในเมืองกรุง การที่นายควงต้องแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา จนต้องลาออกจากตำแหน่งนายรกรัฐมนตรี ก็เพราะถือกันว่านายปรีดีอยู่เบื้องหลังร่างพระราชบัญญัติที่นายทองอินทร์ ภูริทัต ส.ส.พรรคสหชีพนำเสนอ เป็นเหตุให้นายควงท้านายปรีดีว่าถ้าเก่งจริง ก็ต้องลงมาแสดงเองอย่ากุมอำนาจอยู่เบื้องหลังรัฐบาลอีกต่อไปเลย

ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ ทราบแต่ว่ากระซิบ ๆ กันเช่นนี้ เป็นอันว่านี่เป็นครั้งแรกที่นายปรีดีเสียคะแนนนิยมจากคนอย่างเรา ๆ ที่เข้าใจบทบาทของนายปรีดีในการนำประเทศไทยให้หลุดพ้นจากความเป็นเมืองขึ้น พวกเราเห็นกันว่า ท่านขึ้นไปสูงแล้ว ไม่น่าจะลดตนลงมาต่ำ และเมื่อท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ไม่เห็นกันว่าท่านทำได้ดีกว่าคนอื่น

โดยเฉพาะ คนอย่างข้าพเจ้า ซึ่งมีทัศนคติในทางลบเกี่ยวกับรัฐบาลมาเกือบจะโดยตลอดทุกรัฐบาล แม้ในเวลานั้นจะอายุเพียง ๑๓ ปีเศษ แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้นิยมชมชอบอรัฐบาลปรีดี พนมยงค์แต่อย่างใด มิใยว่าบิดาจะชอบพออยู่กับรัฐมนตรีบางท่านด้วยซ้ำไป และข้าพเจ้าก็เคยไปพบประพูดจามากับบางท่านหน้านั้นแล้วด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ข้าพเจ้ามีแนวโน้มทางด้านอนาธิปไตยมาแต่เยาว์วัย นิยมยกย่องผู้ที่สูญเสียอำนาจ ยิ่งกว่าผู้ที่มีอำนาจ รักความบริสุทธิ์ยุติธรรม ยิ่งกว่าการบริหารงานในระดับรัฐของบุคคลอื่นใด มิใยว่าเขาผู้นั้นจะเก่งกล้าสามารถถึงเพียงใด ก็ยากที่จะทำให้ราษฎรสามัญอย่างเรา ๆ เห็นได้ว่า เขาทำคุณประโยชน์อะไรให้แก่รัฐและราษฎร์

ประกอบกับเหตุผลที่กล่าวมาก่อนแล้วเกี่ยวกับกำพืดของตน และการเติบโตมาจากวัดและโรงเรียน ตอลดจนแนวโน้มทางด้านการอ่านหนังสือและกระแสการเมืองในช่วงนั้น ย่อมเป็นเหตุให้ข้าพจ้าเข้าข้างพรรคประชาธิปัตย์อย่างสนิทใจ และเชื่อในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของเขาด้วย โดยเฉพาะก็ตอนที่เขาเป็นฝ่ายค้าน ทั้งยังสงสารเจ้านายทั้งหลายทั้งปวง ที่ถูกคณะราษฎรบดบังราศีอยู่ในเวลานั้น โดยที่ลึก ๆ ลงไปแล้ว ตัวเองก็นิยมระบอบราชาธิปไตย เพราะเกิดมาไม่ทันสมัยนั้น

ในวันสวรรคตนั้นเอง ฟังประกาศรัฐบาล ว่าเป็นเรื่องอุปัทวหตุแล้ว ดูมันไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ทีแรกพวกเราในบ้านก็ได้แต่เศร้าเสียใจ ถึงร้องห่มร้องไห้กันไปตาม ๆ เพราะบ้านเมืองขาดพระเจ้าอยู่หัวมานาน เพิ่งเสด็จกลับมาและกำลังจะจากไป แม้จะไม่ได้ทรงปกป้องอะไรให้คนอย่างเรา ๆ ก็ทรงเป็นสัญญลักษณ์แห่งความร่มเย็น เป็นสถาบันสูงสุดที่เชื่อมคนในชาติเข้าด้วยกัน ทั้งยังทรงกำลังหนุ่มแน่น โดยที่ทรงอารีอารอบแก่พสกนิกรโดยทั่วไปอีกด้วย

หลังจากนั้นไม่นานก็มีการตั้งกระทู้ในรัฐสภา มีเสียงครหาลอดออกมาว่ารัฐบาลทำการไม่รอบคอบ ไม่มีการชัณสูตรพระบรมศพให้ถูกต้องถ่องแท้ และพนักงานสภากาชาดพบบาดแผลที่พระวรกายต่างหากไปจากที่รัฐบาลประกาศอีกด้วย จนมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หรือดีร้ายจะถูกลอบปลงพระชนม์ หากไม่ก็ทรงปลงพระชนม์ชีพเอง ดังกรณีประธานคณะผู้สำเร็จราชการองค์แรกในรัชกาลพระองค์ท่าน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้กรณีสวรรคตเป้นสื่อในการทำลายล้างนายปรีดีโดยตรง เพราะถ้าทำลายนายปรีดี ก็เท่ากับทำลายพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญได้ด้วย โดยที่สองพรรคนี่คือศัตรูคู่อาฆาตที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าปราศจากพลังรวมของสองพรรคนี้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ย่อมตั้งรัฐบาลได้อย่างไม่เป็นปัญหา

กโลบายนี้ เด็กอายุ ๑๓-๑๔ อย่างข้าพเจ้าจะไปรู้เท่าทันได้อย่างไร แม้ผู้ใหญ่ในแวดวงแห่งครอบครัวของเรายังเชื่อกันไปตาม ๆ เพราะรัฐบาลเริ่มการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์อีกแล้ว โดยเฉพาะก็ที่ลงเรื่องกรณีสวรรคตไปในทางต่อต้านรัฐบาล ทั้งยังมีการจับกุมผู้คนฝ่ายตรงกันข้าม ที่หาว่ารัฐบาลพัวพันกับกรณีสวรรคตดังกล่าวนั้นด้วย

ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยผู้นำทางทหารให้คำมั่นสัญญาว่าจะสะสางกรณีสวรรคตให้เป็นที่กระจ่าง พวกเราจึงอนุโมทนาสาธุการกันตาม ๆ ไป โดยที่คณะทหารกับพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกันชี้ไปที่นายปรีดี พนมยงค์โดยตรง ว่าเป็นต้นคิดปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ แม้จะไม่ได้ลงมือเองก็ตาม โดยที่ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ของพรรคหรือที่ฝักใฝ่ในพรรคนี้ ได้ลงเรื่องราวโจมตีนายปรีดี และ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.น.มาก่อนแล้ว โดยมีร่ายลิลิต ชนิดที่เขียนเอ่ยอย่างโจ่งครึ่มตรงไปตรงมา ว่านายเรือเอกผู้นี้เป็นมือปลิดพระชนม์ชีพพระเจ้าอยู่หัว เด็กๆ อย่างข้าพเจ้า ซึ่งชอบอ่านร้อยกรองอยู่แล้ว เมื่อมารู้ชื่อ “คนเนรคุณ” ที่ “สังหาร” พระเจ้าแผ่นดิน ของเราเข้าเช่นนี้ จะไม่เชื่อถือกระได้ ทั้งยังนิยมชมชอบ หนังสือพิมพ์ อิทธิธรรม และ ธรรมานุภาพ ยิ่งขึ้นไปที่กล้าลงข้อความดังกล่าว แม้จะถูกฟ้องเป็นคดีหมิ่นประมาท แต่เมื่อเกิดกรณีรัฐประหารขึ้น โจทก์หนี้ไปจำเลยก็ย่อมลอยตัว

นอกไปจากนี้แล้ว นายไถง สุวรรณทัต ส.ส.ขาเดียวของจังหวัดธนบุรีเรา ยังจัดทำละครขึ้นเล่นที่โรงภาพยนตร์เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ฝั่งธนฯอีกด้วย โดยโหมโฆษณาชวนเชื่อว่าหาโรงละครแห่งใดในฝรั่งพระนครแสดงไม่ได้ จึงต้องนำมาแสดงยังโรงหนังทางฝั่งข้างนี้ ทั้ง ๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงหลังรัฐประหารแล้ว และละครเรื่องนี้เล่นถึงกรณีสวรรคต โดยทำฉากให้เห็นเป็นพระที่นั่งพระบรมพิมาน และมีผู้ลอบเข้ามาเปิดพระวิสูตร ยิงพระเจ้าอยู่หัวจนสวรรคตแล้วจะไม่ให้เราเชื่อได้อย่างไร ว่ากรณีสวรรคตเป็นการลอบปลงพระชนม์โดยมีนายปรีดี พนมยงค์เกี่ยวข้องด้วย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม นายไถงใช้ละครเพื่อโฆษณาอย่างหยาบฉันใด สี่แผ่นดิน ซึ่งเป็นศิลปที่ละเอียด หากก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรับใช้ชนชั้นสูงส่งฉันนั้น

การใช้วิธีพูด วิธีเขียน และการแสดงเช่นนี้ปล่อยข่าว นับว่าได้ผลทางโฆษณาชวนเชื่อยิ่งกว่าวิธีการทางตรรกวิทยาและนัยแห่งการหาเหตุผลยิ่งนัก มนุษย์ทั่ว ๆ ไปชอบเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้น ยิ่งกว่าที่จะกล้าเผชิญความจริง

แม้ช่วงนี้ข้าพเจ้าจะสึกออกมาจากวัดแล้ว เวลากลับไปหาเจ้าคุณอาจารย์ ก็ยังเจอพวกคุณหญิงคุณนายมาใส่ไคล้นายปรีดีว่าจงใจลอบปลงพระชนม์ ดังเอ่ยถึงว่าการเสด็จค่ายเสรีไทยที่ชลบุรีนั้น ขากลับ รถจิ๊ปอันเตรียมไว้เป็นรถพระที่นั่งทรง เกิดล้อหลุด จนราชองครักษ์เสียชีวิต เคราะห์ดีที่เสด็จกลับโดยรถพระที่นั่งรอง จึงรอดพ้นจากการลอบสังหารของหัวหน้าขบวนการเสรีไทยไปได้

นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่าปืนที่ปลงพระชนม์ชีพ ก็เป็นของพวกเสรีไทยถวาย เพื่ออุดหนุนให้ทรงเล่นพระแสงปืน คนจะได้ยินเสียงลั่นกระสุนอยู่เนือง ๆ ถึงคราวจะลอบปลงพระชนม์ ผู้คนรอบ ๆ นั้นจะได้ไม่สงสัย เมื่อคนใหญ่คนโตพูดกับท่านผู้ทรงศีลเช่นนี้ ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ไปได้ยินมา จะไม่เชื่อกระไรได้ โดยที่เขาพวกนี้เป็นญาติของราชองค์รักษ์ที่ตายไปแล้วเสียด้วย

ในระยะเวลาที่ไล่ ๆกันนี้ ก็มีการจับกุมนายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขาธิการ นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ สิมะเสถียร มหาดเล็ก ผู้สมรู้ร่วมคิดกับการปลงพระชมน์ดัลกล่าวโดยที่พระพินิจชนคดี เป็นคนคุมคดีนี้เรื่องนี้โดยตรง

ความที่ข้าพเจ้าเคยนับถือพระน้ำพระยามาแต่เก่าก่อน และได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่าคณะราษฎรกลั่นแกล้ง ไล่พระพินิจชนคดีออกจากราชการ ยิ่งสงสารท่านผู้นั้น โดยไม่เฉลียวใจเลยว่าเขาเป็นพี่เขยของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงจะรู้ว่าเขาเกี่ยวดองกัน ก็ไม่เห็นว่าเสียหาย ยิ่งไปกว่านี้แล้วการรังเกียจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พาให้นิยมชมชอบพระพินิจชนคดีมากขึ้นอีก นี่นับว่าข้าพเจ้าเห็นกงจักรเป็นดอกบัวโดยแท้

ในระหว่างที่คดีดำเนินอยู่ในศาลนั้น หนังสือพิมพ์สยารัฐรายวันปรากฏตัวออกสู่บรรณโลกมาแล้ว โดยมีเรื่อง “สี่แผ่นดิน” เป็นนวนิยายหลัก ที่ข้าพเจ้าติดตามและชื่นชม และซาบซึ้งตรึงใจกับการมอมเมาของชนชั้นศักดินาในนวยินายนี้ยิ่งนัก ยิ่งจบลงตรงที่เกิดคดีสวรรคตด้วยแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เลยว่ามีการใช้ศิลปะเป็นแผนการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหยาบฉันใด “สี่แผ่นดิน” เป็นศิลปะที่ละเอียด หากก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรับใช้ชนชั้นสูงที่สูงส่งกว่าฉันนั้น

ทั้งนี้ ควรที่ข้าพเจ้าจะเฉลียวใจ เพราะคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวัน อันเป็นจุดเด่นของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก็ตอบปัญหาเมื่อมีคนถามมาว่า ศาลจะพิจารณาคดีนี้ด้วยการลงเอยกันอย่างไร โดยที่คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบไปว่า ก็คงต้องปล่อยผู้ต้องหาทั้ง ๓ คน เพราะหลักฐานอ่อนไปนั่นเอง การตอบแบบประชดเช่นนี้ได้ผลดีกันนักกับแฟน ๆ สยามรัฐ ซึ่งต้องการให้ทั้ง ๓ คน ถูกลงโทษเอาเลย

ขณะที่คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบความข้อนี้ พี่เขยของเขาได้ทำพยานหลักฐานปลอมมัดรูปคดีเข้าไปตามที่เขาปรารถนายิ่งขึ้นทุกที โดยที่ข้าพเจ้าไม่มีทางที่จะล่วงรู้อะไรได้เลย ดังเมื่อวันอ่านคำพิพากษาตัดสิน ข้าพเจ้าจึงสะใจมาก ที่อยากน้อยก็ได้จำเลย ๑ นายให้ไปถูกประหารชีวิต นี่หรือคือการถือพุทธของข้าพเจ้า

No comments: