Tuesday, June 26, 2007

บทความที่ ๑๗๔. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๘

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๘. ยึดอำนาจคืนสู่สภา

พระยาพหลฯ ได้เดินทางไปราชการต่างจังหวัดก่อนที่จะมีการสั่งปิดสภา และเมื่อกลับมาแล้วได้ขอร้องให้พระยามโนฯ เปิดสภาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เห็นว่าจะอยู่ร่วมคณะต่อไปก็เสื่อมเสีย จึงลาป่วย

ต่อมาราว ๒ อาทิตย์ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ปรึกษาหารือกับพระยาพหลฯ ให้ลาออกจากราชการทหารและกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี)ด้วยกัน

การลาออกครั้งนี้ พระยาพหลฯ ประสงค์จะลองพระทัยพระปกเกล้าฯ ว่าถ้าไม่เห็นด้วยก็จะรับสั่งและเรียกไปสอบถาม แต่ปรากฏว่าทรงอนุญาตให้ลาออกเลยทีเดียว แล้วทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งพระยาพิชัยสงคราม เป็นรัฐมนตรีและรักษาการณ์ผู้บัญชาการทหารบก ให้พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นรัฐมนตรีและรักษาการเจ้ากรมยุทธการทหารบก

นับจากที่พระยามโนฯ ทำการยึดอำนาจแล้ว ได้มีตำรวจมาล้อมอยู่รอบ ๆ บ้านทำให้พระยาพหลรู้สึกว่าจะต้องมีภัยแน่ จะหนีไปก็ไม่ได้ เพราะมีเงินติดตัวแค่ ๒๗ บาท พระยาพหลได้เชิญหลวงชำนาญยุทธศิลป์กับหลวงอำนวยสงครามมาที่บ้าน เล่าเรื่องให้ฟังและต่อมาได้ตาม หลวงพิบูลสงคราม(แปลก พิบูลสงคราม) มาเล่าเรื่องให้ฟัง หลวงพิบูลสงครามบอกว่ารู้เรื่องหมดแล้ว และจะต้องยึดอำนาจการปกครองคืน เป็นการปราบปรามการต่อต้านการปฏิวัติ แต่พระยาพหลฯ จะต้องยอมรับเป็นผู้นำทำการยึดอำนาจ

เช้าตรู่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๖ คณะนายทหารภายใต้การนำของพระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ก็ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง ซึ่งได้เตรียมการไว้ตั้งแต่คืนวันที่ ๑๙ เมษายน

ประกาศแถลงการณ์ในนามของพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก และหลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ เป็นการยึดอำนาจคืนจากฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติเพื่อให้คืนสู่สภาพเดิมก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ รวมเป็นเวลา ๘๐ วัน ที่อธิปไตยของไทยต้องตกไปอยู่ในระบอบเผด็จการจึงได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

พอ ๗ โมงเช้าเศษ น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์ โดดลงจากรถอย่างรีบด่วน กระหืดกระหอบเรียนเจ้าคุณมโนฯ ให้หนีเข้าไปอยู่ในความคุ้มกันของสถานทูตอเมริกันซึ่งอยู่เบื้องหน้า โดยได้ติดต่อโทรศัพท์ไว้แล้ว ทางสถานทูตเขาไม่ขัดข้องให้รีบไปเสียเดี๋ยวนี้ขือรอช้าไปพวกก่อการจะมารวบตัวไป

ในตอนเช้าเวลา ๐๙.๐๐ น. ขบวนการรถรบ และรถบรรทุกในความควบคุมของหลวงกาจสงคราม หลวงสังวรยุทธกิจ และ ร.อ.ทวน วิชัยขัตคะ ก็เข้าไปที่บ้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยมี ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี ออกมาคอยต้อนรับเชิญขึ้นบ้าน พระยามโนฯ คอยอยู่ในห้องรับแขกพร้อมด้วยพระยาศรีวิสารวาจา และพระยาราชวังสัน นายทหารทั้งสามทำความเคารพแล้วนั่งลง

หลวงกาจสงครามได้กล่าวอย่างนอบน้อมว่า คณะนายทหารมีความประสงค์จะเปิดสภาผู้แทนราษฎร และมีความจำเป็นที่จะขอร้องให้ใต้เท้าและคณะรัฐบาลลาออก”

พร้อมกับยื่นหนังสือพระยาพหลฯให้ ซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า “ฉะนั้นเพื่อเห็นแก่อิสรภาพและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คณะทหารบก ทหารเรือและพลเรือน จึงใคร่ให้ใต้เท้าซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎร และเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป แต่ถ้าหากการนี้ขัดข้อง ไม่สามารถดำเนินไปในทันทีดังที่กราบเรียนคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนจะได้เชิญกระผม นายพันเอกพระพาพหลพลพยุหเสนามาเป็นผู้รักษาการพระนคร บริหารราชการแผ่นดินสืบไป”

พระยามโนฯตอบว่า “ได้ทำใบลาออกไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้วโปรดรับใบลาออกไปเสนอคุณหลวงพิบูลสงครามด้วย”

ข้อความหนังสือพระยามโนฯ มีว่า

“ผมและคณะรัฐมนตรีได้รับหนังสือของเจ้าคุณลุงวันนี้ ขอให้ผมลาออกจากนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ทราบแล้วผมและคณะรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่งและจะโทรเลขกราบบังคมทูลวันนี้”

แล้วแต่ละโปรดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

เหตุการณ์คลี่คลายลง เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน ๒๖ คน ยื่นคำร้องต่อเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลให้ประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้เปิดสภาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๗๖

นอกจากนี้คณะทหารยังได้มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงทราบสถานการณ์ พระปกเกล้าฯได้สั่งแต่งตั้งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยามโนฯ ที่ลาออกไป พระยาพหลฯ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็รีบเชิญ นายปรีดี พนมยงค์ กลับสู่ประเทศไทย พร้อมกลับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในคณะของตน

แต่นายปรีดีฯ ไม่ยอมรับตำแหน่ง จนกว่าจะได้สอบสวนว่าตนมีความผิดหรือไม่มีความผิดในข้อหาคอมมิวนิสต์ และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี

ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เปิดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความถูกต้องในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ก็ได้มีพระราชบัญญัติให้ยกเลิกกฤษฎีกาที่ให้ปิดสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ประกาศใช้ต่อไปอีก เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๖

No comments: