Tuesday, June 5, 2007

บทความที่ ๑๔๒.ชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ ๓

ชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
โดย สุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๓

ข้อ ๒. ดร.ชัยอนันต์ ฯ ได้เขียนไว้ในคำนำหน้า ๑๑ ว่า

“ข้าพเจ้าเสียดายเหมือนกับคนไทยอีกหลาย ๆ คนที่ไม่มีโอกาสเห็นรัฐธรรมนูญฉบับพระปกเกล้า ฯ เพราะข้าพเจ้าอยากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าพยายามค้นหาเอกสารสำคัญฉบับนี้มาเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว รวมทั้งได้ขอให้ทายาทท่านเจ้าคุณศรีวิสารวาจาช่วยค้นหาด้วย แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่พบ ข้าพเจ้าขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ปรีดี ฯ ด้วยว่า ท่านทราบบ้างไหมว่ามันอยู่ไหน ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าทราบว่า เอกสารมีค่าหลายชิ้นได้ถูกเผาหรือทิ้งไปจนหมดสิ้นแล้ว รวมทั้งพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์ของพระปกเกล้า ฯ ที่ทรงมีมาถึงพระยามโนฯ ว่าจะทรงสละราชสมบัติและปล่อยให้เป็นรีปับลิคเสียที (เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) พระยามโน ฯ ได้ให้ท่านอาจารย์ปรีดี ฯ อ่านพระราชหัตถ์เลขานี้ด้วย และขอร้องให้ท่านอาจารย์ปรีดี ฯ สั่งลูกน้องให้เพลา ๆ การโจมตีเสียดสีพวกเจ้าลงเสียบ้าง ซึ่งคงหมายถึงกระบอกเสียงของคณะราษฎร ๒ ฉบับคือ “๒๔ มิถุนา” กับ “สัจจัง” ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดี ฯ ได้มีหนังสือขอให้กระทรวงการคลัง ฯ ซื้อกิจการไว้...”

จากข้อเขียนของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ดังกล่าวนี้ ในประเด็นแรก พยายามกล่าวหาว่า คณะราษฎรได้เผาทำลายเอกสารสำคัญอันมีค่าของพวกเจ้าจนหมดสิ้น อย่างเช่นร่างรัฐธรรมนูญของพระปกเกล้า ฯ และพระราชหัตถ์เลขาที่มีถึงพระยามโน ฯ ว่าจะสละราชสมบัติเป็นต้น คำกล่าวหาดังนี้มาจากพวกซากเดนศักดินา ที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่าพวกศักดินาเองก็มีโครงการและความคิดหลาย ๆ อย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่ยังไม่ทันที่จะได้ดำเนินการ คณะราษฎรก็ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน และเพื่อจะปิดบังประชาชนในความคิดและโครงการที่ดี ๆ ดังกล่าวนี้ พวกคณะราษฎรจึงได้ทำลายเอกสารที่เกี่ยวกับความคิดและโครงการเหล่านั้นจนหมดสิ้น.

โดยที่ผมไม่ได้เป็นสมาชิกของคณะราษฎร และไม่ได้เป็นแม้แต่ทายาทของคณะราษฎร หากผมเป็นราษฎรสามัญธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่เชิดชูสัจจะและความยุติธรรมและที่มีความสำนึกในบุญคุณของคณะราษฎรที่ได้ยอมเสี่ยงกับความตาย ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นระบอบราชาธิปไตยกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ขอยืนยันว่าจะมีการเผาทำลายเอกสารของฝ่ายศักดินาจริงดังคำกล่าวหานั้นหรือไม่ เพราะประเด็นนี้ เป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่เราจะยืนยันหรือปฏิเสธพล่อย ๆ หรือฟังคำบอกเล่าของใครมาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วมาถ่ายทอดอย่างแบบโฆษณาชวนเชื่อ อย่างไม่รับผิดชอบต่อความยุติธรรมและสัจจะนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

แต่ขอให้เรามาพิจารณากันในด้านเหตุผลธรรมดา ๆ ว่ามีเหตุผลอะไร ที่คณะราษฎรจะต้องเผาหรือทำลายเอกสารของฝ่ายศักดินา เอกสารเหล่านั้นเป็นความคิดเป็นโครงการที่วิเศษกว่า เป็นประชาธิปไตยมากกว่าความคิดและโครงการของคณะราษฎร จนกระทั่งคณะราษฎรมีความอิจฉา ไม่ต้องการให้ราษฎรรู้เห็นเช่นนั้นหรือ ?

เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ที่ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรกล่าวยกย่องเจ้านายบางพระองค์ที่ทรงเห็นแก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง ดังเช่นที่ท่านปรีดีฯได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ ณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“ในทางการเมืองการใช้สิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตยต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริง ๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัวหรือมีความอิจฉาริษยาอันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอโกอิสม์)ความสามัคคีธรรม หรือระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงจึงจะเป็นไปได้ ผู้ใดมีอุดมคติของตนโดยสุจริตใจ ข้าพเจ้าเคารพในผู้นั้น และเราร่วมมือกันได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าต่างฝ่ายสุจริตมุ่งส่วนรวมของประเทศชาติไม่มุ่งหวังส่วนตัว แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมายจะเป็นคนละแนวทาง แต่ในอวสานต์เราก็พบกันได้

ข้าพเจ้าขออ้างเจ้านายหลายองค์ ซึ่งเดิมท่านมีแนวทางอย่างหนึ่งและข้าพเจ้ามีแนวทางอีกอย่างหนึ่ง แต่เจ้านายหลายพระองค์นั้น ท่านก็มีจุดหมายเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่ส่วนพระองค์ ผลสุดท้ายเราก็ร่วมมือกันได้ ทำงานด้วยกันมาเป็นอย่างดีในการรับใช้ประเทศชาติและรักใคร่กันสนิทสนมยิ่งเสียกว่าผู้ซึ่งเอาประเทศชาติเป็นสิ่งกำบัง แต่ความจริงมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตัวมาก”

สุนทรพจน์ดังกล่าวนี้ ก็คือยกย่องเจ้านายที่มีเจตนาดีต่อประเทศชาติ ท่านปรีดี ฯ และคณะราษฎรไม่ได้ลบหลู่เจ้านายที่มีจุดหมายในการทำงานเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่คณะราษฎรจะทำลายเอกสารที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติที่ฝ่ายเจ้าได้กระทำไว้ดังคำกล่าวอ้างของบุคคลบางคน

อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ “๒๔ มิถุนา” กับ “สัจจัง” ดร.ชัยอนันต์ ฯ กล่าวว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงของคณะราษฎรและว่า

“ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีฯ ได้มีหนังสือขอให้กระทรวงการคลัง ฯ ซื้อกิจการไว้” (หน้า๑๑)

จากข้อความดังนี้ทำให้เข้าใจว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ออกมาแล้วโดยทุนของเอกชน และต่อมาท่านปรีดีจึงได้มีหนังสือ “ขอให้กระทรวงการคลัง ฯ ซื้อกิจการไว้ (เพื่อดำเนินกิจการต่อไป) แต่ในหน้า ๔๕ ดร.ชัยอนันต์ฯ กลับเขียนว่า

“การตั้งกิจการ หนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนา และสัจจัง เพื่อเป็นกระบอกเสียงของผู้ก่อการ โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้เขียนจดหมายขอให้กระทรวงการคลังจัดการให้”

จากข้อความดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าขัดกับข้อความที่(ตนเอง) เขียนไว้ในหน้า ๑๑ อย่างชัดแจ้ง

แต่พลโทประยูร ภมรมนตรี สมาชิกผู้ริเริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนสำคัญคนหนึ่งได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ “บันทึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” ซึ่งบันทึกโดยตัวท่านเอง ท่านได้เขียนไว้ในคำนำเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนา และหนังสือพิมพ์ สัจจัง ว่าดังนี้

“ได้มีหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนา และหนังสือพิมพ์สัจจะที่ออกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ลงบทความแสดงศักดานุภาพของผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจ ซึ่งข้าพเจ้า (พลโทประยูร ภมรมนตรี)ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (คณะกรรมการราษฎร) จำต้องซื้อกิจการเพื่อให้เลิกไป”

จากข้อความของบันทึกพลโทประยูร ภมรมนตรี แสดงว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ออกมาแล้วโดยทุนเอกชน แต่แสดงศักดานุภาพมากเกินไป พลโทประยูร ภมรมนตรี ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้จัดการซื้อ เพื่อให้เลิกกิจการไปเสีย

แต่คุณสงวน ตุลารักษ์ บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนา ได้บอกว่า หนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนา นั้น ออกโดยทุนรอนของคุณสงวนเอง แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ พล ร.ท.พระยาราชวังสัน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญอยู่ในขณะนั้นได้ขอร้องให้คุณสงวนหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนาเสีย โดยพระยาราชวังสันยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้

คุณสงวนบอกว่าเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงยินยอมเลิกกิจการหนังสือพิมพ์ตามคำขอร้องของพระยาราชวังสัน และพระยาราชวังสันก็จ่ายเงินให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พอใช้หนี้สินค่ากระดาษและโรงพิมพ์

จะเห็นได้ว่าจากบันทึกของ พลโทประยูร ภมรมนตรี และจากคำบอกเล่าของคุณสงวน ตุลารักษ์ บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนาเอง มีข้อความตรงกันที่ถูกซื้อให้เลิกกิจการ(ไม่ใช่ซื้อเพื่อดำเนินกิจการต่อไป) และทั้งสองท่านก็ไม่ได้เอ่ยชื่อท่านปรีดีฯ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ดังคำกล่าวอ้างของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ แต่ประการใดเลย.

อีกประการหนึ่งที่ ดร.ชัยอนันต์ ฯ กล่าวว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นกระบอกเสียงของคณะราษฎรนั้นจะเท็จจริงอย่างไรไม่ปรากฏ แต่ที่ปรากฏชัดก็คือว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเคยถูกเจ้าพนักงานการพิมพ์มีหนังสือเตือนไปถึงหลายครั้งหลายหนและที่ถึงกับถูกถอนใบอนุญาตเป็นเจ้าของและบรรณาธิการก็เคย..

No comments: