Wednesday, June 13, 2007

บทความที่ ๑๕๓. ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต ตอนที่ ๒

ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต
ตอนที่ ๒
เย็นวันนั้น หลังจากที่กลับมาจากศาล ยังมีการอภิปรายโต้เถียงกันที่บ้าน ซึ่งบางคนเห็นว่าศาลพิจารณาผิดพลาดที่ลงโทษคนไปเช่นนั้น โดยที่ควรจะยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ข้าพเจ้าเถียงเขาฉอด ๆ เพราะเพิ่งไปฟังคดีมาทั้งวัน ทั้งยังเห็นตามคำของอัยการที่ส่อว่านายปรีดี มีความมัวหมองในกรณีลอบปลงพระชนม์นี้ อย่างไม่ต้องพึงสงสัย

ข้าพเจ้าไม่รู้เลยว่าเป็นการใช้ขบวนการยุติธรรมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยติดตามข่าวมาไม่เพียงพอ ว่าอัยการกี่คนที่ต้องลาออกไป เพราะไม่ยอมแตะต้องคดีที่ผิดขั้นตอนของขบวนการยุติธรรมนี้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการหลับตาเชื่อสยามรัฐ อีกส่วนหนึ่งเชื่อในขบวนการศาล เพราะนี่ผิดไปจากศาลพิเศษในสมัยจอมพลป.ฯ สมัยแรก โดยหารู้ไม่ว่า จอมพลป.ฯ สมัยแรกหรือสมัยสอง ก็ล้วนเป็น ป.ปาป ทุจริตที่คิดถึงผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองทั้งสิ้น

เพราะความมืดบอดที่ศรัทธาใน สยามรัฐ และผู้มีอำนวยการของหนังสือพิมพ์นั้นนั่นเอง ที่ไม่ทำให้เฉลียวใจได้เลยว่าทำไมสำนักพิมพ์นั้นจึงเป็นผู้จัดพิมพ์คำพิพากษากรณีสวรรคตออกจำหน่าย ยิ่งเมื่อภรรยาพระพินิจชนคดีทำแซยิดใหญ่อายุ ๖๐ ปี ก็พิมพ์คำพิพากษากรณีสวรรคตแจกจ่ายญาติมิตร โดยไม่ยักถือกันว่าเป็นลางหรืออัปมงคลเห็นเป็นอภินิหารที่กุมรูปคดีให้มีการตัดสินได้ดังใจปรารถนานั่นเอง

แม้ก่อนตัดสินคดีสวรรคตในศาลแรกแล้ว ก็ปรากฏว่าลูกสมุนของนายปรีดีหลายคนกลับเข้ามาลอยนวลอยู่ได้ในกรุงเทพฯ เช่นนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นต้น เป็นเหตุให้พวกเราเชื่อว่านายปรีดีและผู้ที่หลบหนีอยู่นอกประเทศอย่าง ร.อ.วัชรชัยเท่านั้นละกระมัง ที่มัวหมองกับคดีนี้ โดยหารู้ไม่รัฐบาลเคยคิดจะจับนายดิเรก ชัยนามเข้าสู่คดีดังกล่าวด้วย เพราะท่านผู้นั้นเคยเสนอใน ครม.ให้จับพระพี่เลี้ยงเนื่องและ น.ส.จรูญ ฐานที่เป็นผู้ทำลายพยานเอกสารหลักฐานอันเนื่องในกรณีสวรรคตมาแต่ต้น เช่นนำพระเขนยก็นำเอาไปฝัง ปลอกพระเขนยที่รองรับพระวรกายไปซัก ทั้งยังตบแต่งบาดแผลที่พระนลาต ก่อนมีการชัณสูตรพระศพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง และถ้าจับพระพี่เลี้ยงเนื่อง ก็ควรต้องจับคนทีสั่งพระพี่เลี้ยงเนื่องต่อไปอีกทอดหนึ่งด้วยในอันดับต่อไป

แม้เมื่อข้าพเจ้าออกไปอยู่ประเทศอังกฤษแล้ว พวกเราชาวไทยก็ยังอภิปรายกันเรื่องกรณีสวรรคตเนืองๆ เพื่อนคนหนึ่งที่ออกไปจากธรรมศาสตร์ ชี้แจงว่า นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกในคดีดังกล่าว เป็นบุคคลที่พระพินิจชนคดีเอาไปเลี้ยงแล้วเสี้ยมสอนไว้ให้การดังนั้น โดยที่ศาลก็เชื่อถือพยานปากสำคัญนี้เสียด้วย มาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าได้เริ่มเรียนกฎหมายอังกฤษแล้ว ออกจะต้องยอมรับว่าพยานปากนี้มีน้ำหนักอ่อนอยู่มิใช่น้อย แต่เมื่อทราบว่าเพื่อนธรรมศาสตร์คนนี้เป็นหลานนายทองเปลว ชลภูมิ ที่ถูกอธิบดีเผ่า สังหารชีวิตเสีย เลยทำให้เชื่อถือเขาน้อยลง ด้วยเห็นว่าเขาต้องเข้าข้างนายปรีดี เกจิอาจารย์ของนายทองเปลวอยู่เองเป็นธรรมดา

เมื่อข้าพเจ้าทำงานบีบีซีอยู่ในกรุงลอดดอนนั้น มีเจ้านายและเชื้อสายทางพระราชวงศ์มาทำงานร่วมด้วยหลายท่าน ท่านหนึ่งข้าพเจ้าชอบพอและนับถืออยู่ โดยที่ท่านผู้นี้ดูจะมีความยุติธรรมในใจมิใช่น้อย ท่านพูดกับข้าพเจ้าว่าท่านนับถือนายปรีดี แต่การที่นายปรีดีไม่กลับไปเมืองไทย แสดงว่าไม่บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคต เพราะนายปรีดีเป็นนักกฎหมาย ลูกศิษย์ลูกหาทางโรงทางศาลก็มีอยู่ไม่น้อย ถ้าไม่มัวหมองแล้ว จะไปกลัวอะไรกับขบวนการยุติธรรม

คำของท่านผู้นี้ มีอิทธิพลต่อข้าพเจ้ามาก เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ถึงไส้สนกลในของรัฐบาลตลอดจนวงการศาล ทั้งยังโยงไปไม่ถึงคดีกบฏวังหลวงอีกด้วย แต่เมื่อมีคนถามข้าพเจ้าจริง ๆ จัง ๆ ว่า นายปรีดีต้องการปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัว เพื่อเหตุผลกลใด ข้าพเจ้าก็ตอบไม่ได้ ด้วยน้ำใสใจจริงแม้แต่แรกจะได้ยินและเชื่อการปั้นแต่ง ที่ว่าในหลวงอานันท์ขัดพระราชหฤทัยที่ข้าราชการทั้งหลายล้วนเป็นคนของนายปรีดี โดยที่ทรงเรียกอธิบดีและปลัดกระทรวงบางคนมาซักไซร้ไล่เลียงงานแผ่นดิน คนพวกนี้ก็ตอบไม่ได้ โดยพวกนี้มักโยนไปให้ว่าแล้วแต่อาจารย์ เป็นเหตุให้ไม่พอพระราชหฤทัย มาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อข่าวลือเช่นนี้เสียแล้วด้วยซ้ำ

อีกข่าวลือหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันมากก็คือ ในหลวงอานันทมหิดลจะทรงสละราชสมับติออกสมัครเป็นผู้แทนราษฎร เพื่อให้พระอนุชาธิราชเสวยราชย์แทนโดยพระองค์ท่านจะทรงเป็นนายกรัฐมนตรี หากเป็นเช่นนี้ คณะราษฏรก็จะอ่อนกำลังลงหมด จึงจำต้องกำจัดเสีย ข่าวลือชิ้นนี้ต่อมาข้าพเจ้าก็เห็นว่าฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

อีกข่าวหนึ่งนั้น ลือกันว่า ถ้าในหลวงอานันท์ฯ เสด็จสหรัฐและประเทศต่าง ๆ แล้ว เขาจะพากันเกรงพระบารมี นายปรีดีจึงหาทางสำเร็จโทษเสีย เพื่อตนจะได้รับการต้อนรับอย่างมโหฬาร ในฐานผู้กู้ชาติ ทั้งที่สหรัฐ อักฤษ และอื่น ๆ ข่าวนี้ข้าพเจ้าเคยถูกกรอกหูมาเมื่อเป็นเด็ก และเชื่ออยู่นาน ครั้นโตขึ้น ก็ได้การลงเสียแล้วว่าเป็นไปไม่ได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อเติบโตอยู่เมืองอังกฤษนั้น ข้าพเจ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เสียแล้ว ว่านายปรีดีมีจิตคิดประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์ แต่จิตใต้สำนึกเดิม ที่เคยเกลียดรัฐบาลทุกรัฐบาล ที่มีแนวโน้มในทางราชาธิปไตย ที่หวนไปเกลียดแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ของคณะราษฎรที่นายปรีดีร่าง อย่างจ้วงจาบหยาบคายต่อเจ้ามาก เป็นเหตุให้เหมาเอาว่า ถึงอย่างไร นายปรีดีก็ต้องรับผิดชอบกับกรณีสวรรคต เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในเวลานั้น แม้นายปรีดีจะไม่คิดปลงพระชนม์ แต่อาจแสดงกิริยาอาการที่ไม่พอใจในหลวงขึ้นมา ลูกสมุนที่หวังดีเกินเหตุ จึงหาทางกำจัดพระองค์ท่านเสียก็เป็นได้ ดังกรณีพระเจ้าเฮนรี่ที่สองกับทอมัส อาเบกเกต อาร์คบิชอฟ ออฟแคนเตอเบอรี่นั่นเอง ความข้อนี้ ฝรั่งบางคนคิดและเขียนเช่นนั้นกันบ้างแล้วด้วย

ความเป็นนักกษัตริย์นิยม (Monarchist) หรือราชนิยม (Royalist) ของข้าพเจ้านั้น ยังจำได้ดีว่าได้เคยพูดกับเพื่อนไทยที่บีบีซี ว่าเคราะห์ดีที่เมืองไทยยังเป็นราชอาณาจักร หากเป็นสาธารณรัฐ ข้าพเจ้าคงทนไม่ได้แน่ ๆ เพื่อนคนนั้นตอบว่า อะไรกัน ในหลวงทั้งองค์ เขายังแอบเข้าไปฆ่าเสียได้ แล้วข้าพเจ้าทำอะไรได้บ้าง ? ถ้าเขาต้องการลบล้างทั้งสถาบันกษัตริย์เสีย คนอย่างข้าพเจ้าจะทำอะไรได้ ข้าพเจ้าก็ได้แต่มองเขาอย่างตาปริบ ๆ เท่านั้นเอง

นึกย้อนหลังไป สองทศวรรษเศษมานี้ ข้าพเจ้าได้พยายามแทบทุกวิถี ที่จะป้องกันราชบัลลังก์ไว้ ให้ตั้งมั่นอยู่บนสัจจะและความยุติธรรม เพื่อทนทานต่อการวิพากษ์วิจารณ์ หากให้พ้นเงื่อมมือของนักการทหารและนักการเมืองอันโสมม เพื่อเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ชนิดที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อันพ้นไสยศาสตร์และความเสแสร้งของพวกที่ตั้งตนเป็นราชายิ่งกว่าพระราชา แต่ข้าพเจ้ากลับถูกกล่าวหาโดยพวกนั้นตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๐ แรกเริ่มโดยหม่อมราชวงศ์ชาย แล้วย้ายมาเป็นหม่อมหลวงหญิง เรื่อยลงมาจนถึงผู้หญิงหลักลอย ที่พยายามเหยียบไหล่ใครต่อใครไต่เต้าขึ้นไปเอาดีด้วยการหากินอิงสถาบันเจ้า แล้วจะไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าใจและเห็นใจนายปรีดีอย่างไรได้ และถ้าเพื่อนคนที่ถามข้าพเจ้าที่ลอนดอนกลับมาถามข้าพเจ้าอีกในบัดนี้ ข้าพเจ้าก็คงได้แต่มองเขาด้วยดวงตาดังเดิมเป็นแต่ข้าพเจ้ารู้กาลผ่านวัยมามากขึ้น จนถ้าจำเป็นต้องพูด คงต้องพูดว่าพวกที่หากินกับสถาบันกษัตริย์ และพวกที่ตั้งตนเป็นราชายิ่งกว่าพระราชานั้นแล จะเป็นตัวทำลายสถาบันดังกล่าว หาใช่ใครอื่นไม่

ขอย้อนกลับไปกล่าวว่า ข้าพเจ้าไปเรียนอยู่อังกฤษ ๕ ปี กลับมาเมืองไทยในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามหมดอำนาจวาสนาไปแล้ว เพิ่งมารู้ความจริงว่าช่วงปลายสมัยจอมพล ป.นั้น แกเริ่มรู้ผิด คิดจะนำนายปรีดีกลับคืนเข้าประเทศ โดยพยายามจะทำรัฐบาลให้เป็นกลางมากขึ้น เพื่อพ้นอิทธิพลอำนาจของสหรัฐ หากจะหันมารับรองรัฐบาลจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ จนมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าก่อนประหารชีวิตนักโทษทั้ง ๓ ในกรณีสวรรคตนั้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ได้เข้าไปพบ และคุยอะไรกันอยู่นาน โดยที่ต่อมาข้าพเจ้าจึงมาพบหลักฐานว่าจอมพล ป. ก็นำฎีกาทูลเกล้าฯถวายขอพระราชทานชีวิตนักโทษทั้ง ๓ นั้นถึง ๓ ครั้ง แต่ก็หาได้พระราชทานชีวิตไม่...

ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ได้รับการหนุนให้โค่นล้มจอมพล ป. พล.ต.อ.เผ่า จนสำเร็จ ทั้งนี้โดยมีคึกฤทธิ์รวบรวมพลังทางหนังสือพิมพ์และยั่วยุนักศึกษาให้ด้วย มิใยต้องเอ่ยถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งเข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไทยและทหารไทยอย่างเกินพอดีไปแล้ว

ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยช่วงแรกใน พ.ศ.๒๕๐๑ ยังเป็นรัฐบาลถนอม กิติขจรอยู่ แต่อยู่ได้ไม่นาน สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ประกาศการปฏิบัติโดยมีแนวโน้มทางเผด็จการยิ่งขึ้น แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็ยังไม่ตื่นตัวทางการเมือง ด้านประชาธิปไตยเท่าใดนัก ได้แต่ถอนหายใจใหญ่ และสฤษดิ์ใช้กโลบายเรื่องกรณีสวรรคตเรื่องคอมมูนนิสต์ ตลอดจนเรื่องมหาชนรัฐ โจมตีนายปรีดี พนมยงค์อย่างลับ ๆ หาว่าคิดจะกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีเอาเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้โดยมีสยามรัฐ คอยขานรับในเรื่องปล่อยข่าวลือเรื่องนี้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย แล้วจะไม่ให้คนอย่างข้าพเจ้าพลอยเชื่อถือตามไปด้วยกระไรได้ คนเรานั้นแม้จะเรียนจบปริญญาจากทิศาปาโมกข์มาแล้ว ยังโง่เขลาเบาปัญญาได้มิใช่น้อย เป็นแต่เราจะยอมรับกันหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

No comments: