Friday, May 11, 2007

บทความที่ ๑๒๗. เนื่องในวันชาตกาล ๑๐๗ ปีรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์

ก่อกำเนิดจิตสำนึกประชาธิปไตย์
(เนื่องในวันครบรอบ ๑๐๗ ปีชาตกาลรัฐบุรษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษาภาคม ๒๕๕๐)

ท่านรัฐบุรษอาวุโสปรีดี พนมยงค์เป็นบุตรชายคนโตของนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ตรงกับ ค.ศ.๑๙๐๐ ณ บ้านหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์

พี่สาวคนเดียวของท่านได้สมรสกับคุณพระธราทรพิทักษ์ ข้าราชการที่ดินและน้องสาวคนหนึ่งก็สมรสกับคุณพระนิติทัณฑ์ประภาส ข้าราชการตุลาการ ขณะที่น้องชายต่างมารดาคือคุณหลวงอรรถกิติกำจรเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับน้องชายและน้องสาวคนอื่น ๆ ก็ต่างประกอบสัมมาอาชีพและมีหลักฐานมั่นคง

สำหรับการศึกษาในประเทศไทย ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกไว้ว่า “เริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณี(เปี่ยม)อำเภอท่าเรือ อ่านออกเขียนได้แล้ว เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวก ซึ่งสมัยนั้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอท่าเรือ สอบไลได้ชั้น ๑ แห่งประโยค ๑ (ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการสมัยนั้นที่จำแนกการศึกษาสามัญออกเป็น ๓ ประโยคๆละ ๔ ชั้น ยังมิได้จำแนกเป็นชั้นมูล ประถม มัธยม

ต่อมากระทรวงธรรมการจัดหลักสูตรใหม่ จำแนกเป็นชั้นมูล ประถม มัธยม จึงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า สอบไล่ได้ประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่แล้ว ย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (คือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบัน)จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๖ (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอีก ๖ เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนา ซึ่งได้รับความรู้ทางปฏิบัติเป็นอันมากจากชาวนา ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๕๙ ซึ่งท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีอายุประมาณ ๑๕ ปีเศษ แม้ว่าจะสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ในสมัยนั้นแล้ว แต่ก็ยังอายุน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเข้าศึกษาต่อ

กระนั้นจิตสำนึกของท่านที่ตกลงใจทำการ “อภิวัฒน์” หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาเป็นลำดับแล้ว ตามที่ได้บันทึกไว้ใน “ชีวิตและการงานของปรีดี-พูนศุข” ที่ได้ทำขึ้นเมื่อหลายปีก่อนที่ท่านจะถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๕๒๖

ท่านปรีดี พนมยงค์กล่าวว่าตั้งแต่ท่านจำความได้ ก็ได้เห็นชาวนาผู้ยากจนถูกเบียดเบียนจากบรรดา “นายทุน” อาทิ พ่อค้าข้าวและเจ้าของโรงสีข้าว ตลอดจนเจ้าของที่ดินในกรณีที่ชาวนาไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง นอกจากนั้นชาวนาก็ยังต้องประสบภัยธรรมชาติ เช่นการระบาดของโรคพืช ฝนแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ อีกทั้งก็ยังได้รับความเดือดร้อนจากโจรผู้ร้ายที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง เมื่อชาวนาไม่มีเงินใช้หนี้ ก็จะถูกเจ้าของนายึดทรัพย์ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ย้อนรำลึกในสมัยที่ยังเยาว์วัยว่า “ผมประสบพบเห็นความอัตคัตของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดา(ตอนที่เรียนจบชั้นมัธยมแล้ว)ก็พบเห็นความอัตคัตขัดสนของชาวนาทั่วไป”

ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ขณะที่ท่านเรียนอยู่ชั้นประถม ท่านปรีดีฯ เคยได้ยินบิดาของท่านกล่าวถึงคำบอกเล่าของ “เจ้าคุณกรุงฯ” ถึงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในเมืองอังกฤษที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้ไปเห็นมาขณะที่รับราชการอยู่ ณ สถานทูตกรุงลอนดอน เมื่อกลับมาเมืองไทย พระยาไชยวิชิต สิทธิสาตรา(นาค ณ ป้อมเพชร) ได้ชี้แจงให้ลูกหลานและญาติมิตรทราบถึงวิธีปกครองแบบมีสภาผู้แทนราษฎรตามที่ท่านเคยเห็นมาว่าเป็นประโยชน์แก่ราษฎร และนายเสียง พนมยงค์บิดาของท่านปรีดีฯ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับคำชี้แจงจากท่านเจ้าคุณฯ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาอธิบายชี้แจงต่อ แต่เพราะท่านปรีดีฯ ยังอายุน้อย จึงพอทราบเรื่องเพียงเป็นเค้าลาง ๆ

ต่อมาเมื่อท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เข้าเรียนในชั้นมัธยม ซึ่งต้องเรียนวิชาภูมิศาสตร์ กว้างขวางขึ้น รวมทั้งประวัติศาสตร์สากลโดยสังเขป ท่านบอกว่าคุณครูสอนว่าการปกครองนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ แบบคือ แบบที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” แบบที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่ใต้กฎหมาย และแบบที่ราษฎรเลือกตั้งประมุขของประเทศเรียกว่า “รีพับบลิก” (สาธารณรัฐ)

ครั้นถึง ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) ต้นรัชกาลที่ ๖ ขณะที่ท่านปรีดีฯ มีอายุได้ ๑๑ ปี ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ทำให้ท่านเริ่มสนใจการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือกฎหมาย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เขียนเล่าไว้ดังนี้

“หนังสือพิมพ์ลงข่าวตื่นเต้นกันถึงสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็ง(สำเนียงแต้จิ๋ว) ภาย ใต้การนำของซุนยัดเซนกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่า วันไหนฝ่ายใดชนะ ฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ท่านปรีดีและนักเรียนที่สนใจสนุกกับข่าวนั้น ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือมีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัดพนัญเชิง) นั้นก็เปลี่ยนเรื่องเล่าใหม่ให้สมกับสมัย คือเล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกไปด้วย

ต่อมาไม่ช้าความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรย ๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน ๒ ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน

ต่อมาในปลายปี ร.ศ.๑๓๐ ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดีที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำ ก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจในข่าวนี้มากเพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ.๑๓๐ รักชาติกล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่องเพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ.๑๓๐ ด้วยความเห็นใจมาก”

นอกจากนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังเคยเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของท่านสมัยที่ยังเรียนชั้นมัธยม (เข้าใจว่าขณะที่กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมเบญจบพิตร) เอาไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ดังมีข้อความดังนี้

“เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัยเมื่อ ๖๐ กว่าปีมาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่าน และได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว ๒ คน คือ ก.ส.ร.กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร “สยามประเภท” ที่แคะไค้ระบบการปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบ ก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน อีกคนหนึ่งคือ “เทียนวรรณ” ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณโภ” ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้ว ประมาณว่าขณะนั้นมีอายุเกือบ ๗๐ ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะคำพังเพยโบราณว่า “กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้” ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุก ได้กล่าววลีเติมอีก รวมเป็นดั่งนี้ “กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอ ก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้” นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบอบสมบูรณาฯ

ชนรุ่นใหม่หลายคนในสมัยนั้นที่ได้อ่านและได้สนทนากับท่านเทียนวรรณ ยังพอจำกันได้ถึงวลีของท่านดั่งกล่าวนี้ แต่ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญ จึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ถือทรรศนะตามพลังเก่า และดูเหมือนคนพลังเก่า และดูเหมือนคนพลังเก่าไม่ยอมกล่าวถึง ก.ศ.ร.กุหลาบและเทียนวรรณ ซึ่งขณะเป็นหนุ่มเมื่อ ๑๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ได้แสดงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ”

ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านปรีดี พนมยงค์อายุ ๑๗ ปี ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และในขณะเดียวกันก็ได้แสวงหาประสบการณ์ด้วยการเป็นเสมียนอยู่ที่สำนักงานทนายความพระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา)อดีตอธิบดีศาลมณฑลชุมพร และอดีตผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก

ที่โรงเรียนกฎหมาย ท่านปรีดีฯได้เรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอนว่าในเมืองไทยขณะนั้นมีบุคคลสองกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษนอกอำนาจศาลยุติธรรม คือ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป และคนสัญชาติต่างประเทศที่มีสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับสยาม ความรู้ดังกล่าวนี้ได้กระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์ในครั้งกระนั้น

ในเวลาเดียวกันท่านปรีดีฯ ก็เริ่มศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตสภาโดยมีอาจารย์ อี.เลเดแกร์ ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สอนใน พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อท่านปรีดีฯ ได้รับทุนกระทรวงยุติธรรมเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านอาจารย์เลเดแกร์ก็ได้เดินทางไปด้วย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีความเคารพท่านอาจารย์อิวยีนเลเดแกร์มากดังจะเห็นว่าท่านได้มอบความดีของวิทยานิพนธ์ภาษาฝรั่งเศสของท่านเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ให้แก่อาจารย์เลเดแกร์ผู้นี้ด้วย

เมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ได้รับทุนไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ นั้น ท่านสอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตมาแล้ว ๑ ปี แต่ยังเป็น “เนติบัณฑิตสยาม” ไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงต้องรอจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๓ จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ในระหว่างนั้น ท่านได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนโท กรมราชทัณฑ์ในสมัยที่พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร)ดำรงตำแหน่งอธิบดี ซีงขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพชรชฏา ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ท่านปรีดีฯ เคารพนับถือและเป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนในหลายด้านเป็นอย่างมาก

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเมื่อพ.ศ.๒๔๘๗ ขณะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ได้เขียนถึงพระยาชัยวิชิตฯ ผู้ซึ่งเป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ไว้ดังต่อไปนี้

“นับตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๑๘ ปี (ขณะที่เป็นนักเรียนกฎหมายใน พ.ศ. ๒๔๖๑) ก็ได้รับความอุปการะคุณจากท่านในทางส่วนตัวเป็นเอนกประการตลอดมากระทั่งถึงแก่กรรม (ในพ.ศ.๒๔๘๗)นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังถือว่าท่านเป็นครูผู้ให้ความรู้ในเรื่องระเบียบและวิธีปฏิบัติราชการ คือในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการครั้งแรกโดยเข้าเป็นเสมียนในกรมราชทัณฑ์ และได้พักอาศัยในบ้านของท่าน ท่านได้ฝึกฝนสั่งสอนแนะนำความรู้ในราชการหลายอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าได้นำความคิดเห็นของท่านมาใช้เป็นประโยชน์แก่ราชการในภายหลังหลายประการ...”

เนื่องจากท่านปรีดี พนมยงค์มีความผูกผันกับญาติผู้ใหญ่สกุล “ ณ ป้อมเพชร” อยู่มาก และท่านก็ยอมรับว่า จิตสำนึกในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ท่านยังอยู่ในวัยก่อนไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศสส่วนหนึ่งก็เนื่องจากที่ได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากท่าน “เจ้าคุณกรุง”ซึ่งเป็นบิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดาและขุนวิวัฒนาการ ดังนั้นท่านจึงได้จดจำเรื่องราวของ “เจ้าคุณกรุง” และนำมาเขียนเล่าเอาไว้หลายตอนอาทิเรื่องดังต่อไปนี้ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ “เจ้าคุณกรุง” กลับมาจากกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐

“สมัยนั้นคนไทยจำนวนน้อยมากกที่ได้ไปอยู่หรือไปทัศนาจร หรือได้ศึกษาสภาพการณ์ในประเทศยุโรป เมื่อข้าราชการผู้ใดได้ไปประจำอยู่ในยุโรปหลายปีแล้วกลับมาสยาม ญาติมิตรก็ได้ไปเยี่ยมและถามสภาพความเป็นอยู่และบ้านเมืองของต่างประเทศนั้น

หลวงวิเศษสาลี (บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) จึงได้ตอบชี้แจงความอยากรู้ของญาติมิตรถึงความเจริญนานาประการของอังกฤษที่ก้าวหน้ากว่าสยาม เมื่อญาติมิตรถามว่าอังกฤษเจริญกว่าสยามเพราะเหตุใด หลวงวิเศษสาลีชี้แจงว่า เพราะอังกฤษมีปาเลียเมนท์ คือมีสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นให้เป็นผู้แทนออกกฎหมายเพื่อระงับทุกข์บำรุงสุขของราษฎร พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่ภายใต้กฎหมายการปกครอง คือมีอัครมหาเสนาบดีกับคณะเสนาบดีเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองให้ไปเป็นตามความเห็นของปาเลียเมนท์ ณาติมิตรที่ได้ยินคำบอกเล่าของหลวงวิเศษสาลีก็ได้พูดกันต่อ ๆ ไป จนถึงหูข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่ง ข้าราชการผู้นั้นจึงนำความไปกราบทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ว่าหลวงวิเศษสาลีชักชวนผู้คนให้ลดพระราชอำนาจอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ พระเจ้าอยู่หัวมิได้ระแวงสงสัยว่าหลวงวิเศษสาลีว่าคิดร้ายต่อพระองค์ ๆ จึงรับสั่งแก่ผู้กราบบังคมทูลว่า เขาเป็นคนหัวนอก เขาก็เล่าไปตามที่เขาเห็นในเมืองนอก จะเรียกเขามาพูดให้เข้าใจว่าในเมืองไทยจะเอาอย่างเมืองนอกนั้นยังไม่ถึงเวลา ครั้นแล้วพระองค์ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้หลวงวิเศษสาลีเข้าเฝ้าพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งหลวงวิเศษสาลีได้เคยนำมาเล่าให้ลูกหลานที่ใกล้ชิดกับท่านทราบ”

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เริ่มต้นชีวิตนักเรียนฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๔๖๓ และจะได้ใช้ชีวิตดังกล่าวต่อไปอีกเกือบ ๗ ปี จึงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาเอกรัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” ก่อนจะเดินทางกลับสยาม ท่านเล่าให้ ดร.ฉัตรทิพย์ นารถสุภาฟังว่า “เมื่อผมได้ทุนรัฐบาลไปศึกษากฎหมายในฝรั่งเศสนั้น แม้ผมเป็นเนติบัณฑิตสยามแล้ว แต่ผมมีอายุเพียง ๒๐ ปี อาจารย์ของผมจึงแนะนำให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นต้นเหมือนนักเรียนฝรั่งเศสตามหลักสูตรคณะกฎหมาย”

ท่านเริ่มด้วยการเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม และความรู้ทั่วไปทั้งที่วิทยาลัยกองและจากอาจารย์เลอบอนนัวส์ และจากนั้นก็เข้าศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกองจนกระทั่งสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “บาเชอลิเอร์” กฎหมายและปริญญารัฐเป็น “ลิซองซิเอ” กฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้น

ต่อจากนั้นท่านก็เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” ฝ่ายนิติศาสตร์ และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ท่านปรีดีฯ กล่าวกับดร.ฉัตรทิพย์ฯ ในเรื่องที่ท่านสนใจเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า

“ความคิดของผมที่เห็นว่าสยามควรมีโครงการเศรษฐกิจนั้น มิใช่เกิดขึ้นทันใดและมิใช่เป็นไปตามความคิดนึกเดา ๆ โดยไม่มีหลักทฤษฎีเศรษฐกิจ

ผมได้กล่าวแล้วถึงสภาพสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นแก่ตนเองว่า ราษฎรได้มีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ และไม่มีสิทธิเสรีภาพกับเสมอภาคในทางการเมือง อีกทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของหลายประเทศทุนนิยม ผมมีความคิดก่อนที่ได้มาศึกษาในฝรั่งเศสแล้วว่า จะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมว่ามีวิธีใดที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น

สมัยก่อนสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่ ๓ (เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๐) นั้น คณะกฎหมายฝรั่งเศสก็สอนเฉพาะกฎหมายเอกชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญทำนองหลายประเทศแองโกลแซกซอน แต่ต่อมารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่ ๓ ได้เพิ่มหลักสูตรคณะกฎหมาย คือนอกจากสอนวิชาประเภทกฎหมายเอกชนแล้ว ก็ให้มีวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ถือว่าเป็นรากฐานของสังคม และให้มีกฎหมายมหาชนอีกหลายสาขาซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม

ผมจึงศึกษาเศรษฐศาสตร์ภาค ๑ ในปีที่ ๑ และภาค ๒ ในปีที่ ๒ ของปริญญากฎหมายและในปริญญาลิซองซิเอ ปีที่ ๓ ก็ได้เรียนกฎหมายการคลังและกฎหมายแรงงานด้วย

โดยที่ผมสนใจในวิชาเศรษฐศาสตร์ ฉะนั้นเมื่อผมสอบไล่ได้ปริญญาเอกกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์แล้ว ผมจึงสอบไล่ได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งมีวิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจ กฎหมายและวิทยาศาสตร์ การคลังกฎหมายและวิทยาศาสตร์แรงงาน ผมจึงได้ศึกษาระบบเศรษฐกิจหลายชนิด รวมทั้งระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่เกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจ

คุณวุฒิทางการศึกษาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ที่สำเร็จสมบูรณ์ในต้นปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ (นับตามปฏิทินในปัจจุบัน) ทำให้ท่านมีสิทธิเป็น (๑)“ศาสตราจารย์สำรอง” สอนในมหาวิทยาลัยและ (๒)มีสิทธิที่จะสอบแข่งขันสำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยต่อไป

ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้เป็น “ดุษฎีบัณฑิตของรัฐ” มิใช่เพียง “ดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัย” เพราะท่านปรีดีฯ ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ปริญญาตรีทางกฎหมายของฝรั่งเศสก่อนที่จะทำปริญญาเอก

(เรียบเรียงจากหนังสือของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ชื่อ หนังสือ “บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)

No comments: