Friday, April 27, 2007

บทความที่ ๑๒๐. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๓



โดยมิชักช้า ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ได้แยกย้ายกันที่บางนานั้นเอง ข้าพเจ้าควบออสตินยานคู่ยากพุ่งเข้าสู่กระทรวงกลาโหม ณ ที่นั้นข้าพเจ้าได้แจ้งความประสงค์ต่อผู้บังคับกองรักษาการณ์ว่า “ข้าพเจ้าต้องการพบจอมพล” แต่ยังมิทันจะได้รับอนุญาตหรือไม่ประการใด ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงทักจากเบื้องหลังว่า –

“เฉียบหรือ...มาทำไม...?”

ข้าพเจ้าเหลียวขวับไปทางต้นเสียงนั้น, ไม่ใช่อื่นไกลท่านผู้นั้นคือนายพันโทประยูร สุคนธทรัพย์ ภายในชุดเครื่องแบบของทหารอย่างผึ่งผาย ท่านผู้นี้เคยเป็นผู้บังคับกองร้อยของข้าพเจ้าเมื่อสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกปีที่ ๒ อยู่ ข้าพเจ้ารีบยกมือไหว้ก่อนอื่นแล้วตอบว่า

“ผมต้องการมาพบท่านจอมพลหน่อยครับ”

“มีอะไรรึ ?”

“ท่านอธิบดีกรมตำรวจให้ผมมาพบครับ”

“อ้อ, ถ้าอย่างนั้นเข้าไปเลย เข้าไปเถอะ ชั้น ๒ ด้านหลักเมือง ไปคนเดียวก็แล้วกัน...” ขาดคำพูด อดีตผู้บังคับกองร้อยของข้าพเจ้าสั่งการให้นายทหารคนหนึ่งรีบรุดไปรายงานจอมพลล่วงหน้าก่อนด้วย

ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนกระทรวงกลาโหมด้วยอาการไว้เนื้อเชื่อใจ และอย่างมีเสรีภาพที่สุดในเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ข้าพเจ้าอยู่ในชุด “ทรงตามสบาย” คือกางเกงสีกากีขายาวและเสื้อเชิร์ตแขนสั้นสีขาวเท่านั้น หน้าตาของข้าพเจ้าก็ติดจะยู่ยี่เสียด้วย นอกจากนั้นก็คิดว่าคงจะเซียว ๆ เพราะไม่ได้นอนตลอดคืน ข้าพเจ้าเดินเลาะลัดผ่านกลุ่มนายทหารบกหลายกลุ่ม ที่กำลังชุมนุมกัน เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยวไปทางด้านหลักเมืองก็เผชิญเข้ากับ ร.อ.ยุทธสิทธิ์ สุคนธทรัพย์ นายทหารรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าอย่างจัง ข้าพเจ้าถลาเข้าไปจับมือเพื่อนรักเขย่าอย่างรุนแรง เขาตะโกนออกมาในท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของบรรดานายทหารซึ่งเฮฮากันอยู่หลายร้อยคน

ข้าพเจ้ากระเถิบเข้าไปหาใกล้ ๆ กระซิบถามเขาว่า

“ท่านจอมพลอยู่ที่ไหน ?”

เขาชี้มือไปที่ห้องประชุมใหญ่แทนคำตอบ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากระเบียงที่เรายืนอยู่เท่าใดนัก ปากก็บอกว่า

“เฮ่ย คุยกันก่อนสิวะไม่ได้พบกันตั้ง ๑๐ ปีแล้ว อย่างเพิ่งไป..เรื่องอะไรกัน...?”

ข้าพเจ้าไม่ตอบ แต่ไม่ลืมโบกมือให้เขาแล้วหมุนตัวกลับ ตรงไปที่ห้องประชุมนั้นทันที ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องนั้นมันเป็นห้องสองตอน ในตอนแรกนั้นเป็นห้องเล็ก ๆ ซึ่งนายทหารเดินเข้าออกกันเรื่อย ทางด้านขวามือมีประตูห้องประชุมใหญ่ ข้าพเจ้าต้องชะงักทันที เพราะได้พบบุคคลสำคัญในวงการเมืองเข้า เขาผู้นั้นคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่งอยู่ที่เก้าอี้หน้าประตูเข้าห้องประชุมใหญ่นั้น ทำหน้าที่เสมือนจะเฝ้าประตู แต่ต้องไม่ใช่เรื่องมานั่งเฝ้าประตูแน่นอนจะต้องมาพร้อมคนใดคนหนึ่ง หรือนั่งคอยคนใดคนหนึ่งอยู่ เมื่อข้าพเจ้าเหลือบไปพบสายตาของเขา ๆ ยกมือขึ้นไหว้ข้าพเจ้าอย่างสุภาพที่สุด ข้าพเจ้าก็โต้ตอบคารวะนั้นด้วยอัธยาศัยที่เสมอกัน บุรุษผู้นี้เป็นนักการเมืองแห่งระบอบศักดินาที่สามารถ และปัจจุบันนี้ก็มีฝีปากที่คมกริบจนได้ฉายาว่า “ปากตะไกร”

เขามีนิสัยส่วนตัวเป็นที่งดงาม หากว่าเขาจะยืนอยู่ในจุดยืนหยัดของชนชั้นกรรมาชีพแล้ว เขาผู้นี้จะเป็นเพื่อนตายของข้าพเจ้าได้คนหนึ่ง เราไม่ได้พูดอะไรกันเลยจนคำเดียวเพราะธรรมดาเราก็ไม่ได้มีความสนิทสนมอะไรกันอยู่เป็นพื้นฐานเลย เพราะข้าพเจ้ารู้จักท่านผู้นี้ในฐานะฝ่ายระบบศักดินา เขาก็รู้จักข้าพเจ้าในฐานะนายตำรวจสันติบาลผู้เคยรวบ “พวกศักดินา” เป็นอาจิณเท่านั้นเอง

ข้าพเจ้าเดินเลี้ยวขวาเข้าประตูเข้าไปในห้องประชุมนั้น มันเป็นห้องโถงที่ใหญ่โตมิใช่เล่น กึ่งกลางห้องมีโต๊ะยาวบรรจุคนที่ประชุมได้ประมาณ ๕๐ คน ณ ที่นั้นข้าพเจ้าได้เหลือบไปพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะสุดก้นห้อง บุคคลที่อยู่ในห้องนั้นเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมากเป็นนายพลทั้งสิ้น อินทรธนูเหลืองอร่ามไปทั่วทุกตัวคน แลเหลียวไปแห่งใดก็เสมือนว่าในห้องนั้นได้ปิดทองคำแวววับไปทั่วทุกแห่งหนเครื่องแบบทหารบกนั้นเล่าก็ถูกรีดยกกลีบเป็นเงางามสง่าผ่าเผยน่าเกรงขามยิ่งนัก

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกก้าวเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าก็สะดุ้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้พบบุคคลสำคัญทางการเมืองเข้าให้อีก คราวนี้ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่หน้าประตูนั้นเสียอีก เขาผู้นั้นคือ “นายควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนแห่งระบบศักดินา เขาเอี้ยวคอมาทางขวาเพื่อจะดูว่าข้าพเจ้าผู้ที่กำลังย่างเข้ามานั้นเป็นใคร แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขามิได้สนใจในตัวข้าพเจ้า เพราะเขามีเรื่องที่น่าจะสนใจอยู่เฉพาะหน้าอยู่แล้ว คือการปรึกษาหารือกันในทางการเมืองระหว่างเขาเองและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เขาได้มีส่วนก่อให้เกิดขึ้นหยก ๆ นั้นมากกว่า

ข้าพเจ้าชิดเท้าแล้วคำนับจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะประชุมตัวนั้น ท่านมิได้สวมเครื่องแบบของจอมพล แต่สวมเสื้อสากลทับเสื้อเชิร์ต โดยไม่มีผ้าผูกคอ หากแต่มีผ้าพันคอแบบที่เคยเล่นกีฬาและดูเหมือนว่าจะนุ่งกางเกงขาสั้นด้วย ท่านหันมามองข้าพเจ้าอย่างเต็มตา เลิกจากการปรึกษาหารือกับนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งนั่งติดทางด้านซ้ายมือของท่านเอง ข้าพเจ้าได้รายงานว่า-

“กระผมนายร้อยตำรวจเอกเฉียบ ชัยสงค์ ประจำกอง ๒ สันติบาล หลวงสังวรณ์ฯ อธิบดีกรมตำรวจให้กระผมมารายงานว่า การรัฐประหารครั้งนี้เมื่อเป็นงานของท่านจอมพลแล้วไม่ขัดข้อง”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยกมือขึ้นไหว้อย่างนอบน้อมยิ้มกับข้าพเจ้าอย่างเบิกบานเป็นกันเอง และดูอาการว่าไม่ได้แปลกสายตาในตัวข้าพเจ้าเลย ท่านกล่าวตอบว่า

“ขอให้คุณไปบอกคุณหลวงสังวรณ์ด้วยว่า ผมขอขอบพระคุณ เวลานี้ผมกำลังยุ่งอยู่มากจึงไปหาไม่ได้ เอาไว้เวลาว่าง ๆ แล้วเราจึงค่อยคุยกัน...”

ข้าพเจ้าจ้องมองดูหน้า จอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างไม่กระพริบตา ข้าพเจ้าเชื่อสนิทว่า คำพูดเหล่านั้นจะต้องเป็นคำพูดที่ออกจากใจจริงและอย่างมิตรภาพ ข้าพเจ้ามิได้โต้ตอบประการใด เพราะได้สิ้นสุดในภาระของข้าพเจ้าตามคำสั่งแล้ว ข้าพเจ้าถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้ว คำนับท่านแล้วหมุนตัวไปทางซ้ายเดินเลาะโต๊ะประชุมตัวยาวออกมาทางเก่า ผ่านทหารชั้นผู้ใหญ่หลายสิบคนซึ่งไม่มีใครสนใจในตัวข้าพเจ้า เพราะรู้สึกว่าภายในห้องประชุมนั้นสับสน เดี๋ยวคนนั้นเข้าเดี๋ยวคนนี้ออกอยู่เรื่อย เมื่อออกจากห้องประชุมใหญ่ ข้าพเจ้าก็เลี้ยวซ้ายออกมายังระเบียงอันยาวนั้นเสีย เหลือบเห็นม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชนั่งอยู่ ณ ที่เก่าไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุที่ข้าพเจ้ารีบจ้ำอ้าวออกมาจึงลืมการยกมือไหว้ลา ก็รู้สึกว่าเป็นการเสียมารยาทไปเสียแล้ว

ข้าพเจ้าเดินก้มหน้าคิดมาตลอดทางตามระเบียงอันยาวเหยียดของกระทรวงกลาโหมนั้น ไม่วายคิดถึงบุคคลสำคัญทางการเมืองแห่งพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองคน ที่ข้าพเจ้าได้ประจักษ์มากับตาของข้าพเจ้าเอง เป็นการแน่นอนเหลือเกินเขามิได้เข้ามาอย่างสามัญ แต่เขาได้เข้ามาอย่างที่มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันมาแต่ก่อน และบัดนี้ก็เป็นการเปิดเผยแล้วตรงกันกับที่ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ได้ทำการสืบสวนมาแต่ก่อน ปัญหาอยู่ที่ว่าในอุดมการณ์นั้นเขาจะร่วมกันได้อย่างไร เพราะจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นได้เป็นผู้ที่ต่อสู้ระบบศักดินามาแต่ก่อน จะทำให้กษัตริย์ต้องมาอยู่ใต้กฎหมาย ทำลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบศักดินานี้ยังเป็นศัตรูของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อยู่ตลอดไปชั่วอายุขัย เพราะระบบ(ศักดินา)นี้ยังคงอยู่และมิได้ถูกทำลายไป ยกเว้นแต่นายควง อภัยวงศ์เท่านั้นที่จะไม่มีศัตรูจากระบบนี้ เพราะนายควง อภัยวงศ์ได้ทำการแก้ตัวได้แล้ว

การอภิวัฒน์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นแม้ว่านายควง อภัยวงศ์จะได้ต่อสู้กับระบบศักดินานี้ก็ตาม แต่ภายหลังได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าโจมตีศัตรูของศักดินา และได้ประกาศตนเองว่าต่อสู้เพื่อระบบศักดินาอันเป็นการละทิ้งอุดมการณ์ของ “คณะผู้ก่อการ” ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าบุคคลทั้งสองนี้จะร่วมกันได้อย่างแน่นแฟ้นจริงจัง นอกจากว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะทิ้งอุดมการณ์ของตนและหันเข้ามาร่วมในอุดมการณ์ของอีกคนหนึ่เท่านั้น นั่นแหละเป็นทางออกที่มาจับมือกันได้เช่นนี้ด้วย “มิตรภาพส่วนตัว” แล้วก็ตีหน้ากันไปตามเรื่องเท่านั้นเอง

No comments: