Friday, April 20, 2007

บทความที่ ๑๐๘. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๓

บทที่ ๓ สงครามร้อน วิกฤติการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั้น คาบสมุทรเกาหลีอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ครั้นญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแล้ว คาบสมุทรเกาหลีจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยเส้นขนานที่ ๓๘ เหนือ สหภาพโซเวียตได้เข้าควบคุมดูแลดินแดนส่วนเหนือหรือเกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกาดูแลดินแดนทางตอนใต้ของเส้นขนานที่ ๓๘ หรือเกาหลีใต้ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ มหาอำนาจทั้งสองได้เริ่มถอนทหารออกจากดินแดนที่ยึดครองดังกล่าว และให้ดำเนินการปกครองตนเอง ฝ่ายเกาหลีเหนือมีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของคิม อิล ซุง ปกครอง ส่วนเกาหลีใต้นั้นมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สงครามในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นมาก่อนหน้านั้นไม่นานนัก เมื่อนายฟอสเตอร์ ดัลเลส ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทรูแมนได้ไปเยือนเกาหลีใต้ พร้อมทั้งประกาศสนับสนุนเกาหลีใต้ในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ความขัดแย้งได้ปะทุขยายตัวอย่างรุนแรงในวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อฝ่ายเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตได้โจมตีเกาหลีใต้เพื่อผนวกไว้ในระบอบคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯได้ประเมินการโจมตีนี้ว่าเป็นการท้าทายของฝ่ายคอมมิวนิสต์และเป็นความพยายามที่จะเข้ามาในทวีปเอเซีย สหรัฐฯจึงส่งกำลังทหารของตนเข้าปะทะ พร้อมทั้งยื่นประท้วงการรุกรานเกาหลีใต้ต่อคณะมนตรีความมั่งคงแห่งองค์กรสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติจึงมีมติให้เกาหลีเหนือถอนกำลังกลับคืน มิฉะนั้นจะใช้กำลังทหารเข้าตอบโต้ และในที่สุดกองทัพผสมขององค์การสหประชาชาติและสหรัฐฯภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลดักกลาส แม็คอาเธอร์ ก็ได้โจมตีกองกำลังของฝ่ายเกาหลีเหนือจนกระทั่งถอยร่นไปยังเส้นขนานที่ ๓๘ เหนือ

ในห้วงของความตึงเครียดนี้ ผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ออกแถลงการณ์เตือนมิให้กองกำลังผสมของสหประชาชาติและสหรัฐฯล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนของเกาหลีเหนือซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนทางทิศเหนือของประเทศจีน มิฉะนั้นจีนจะเข้าสู่สงครามด้วย ทั้งนี้จีนเกรงว่าหากเกาหลีเหนือถูกยึดครอง ก็จะทำให้จีนขาดรัฐกันชน ซึ่งเท่ากับเป็นการคุกคามความมั่นคงของจีน ดังนั้นเมื่อกองกำลังของสหประชาชาติไม่สนใจต่อคำเตือนของจีนและรุกข้ามเส้นขนานที่ ๓๘ จีนจึงส่งกองทัพข้ามพรมแดนจีนที่แม่น้ำยาลู เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘๓ และปะทะกับกองกำลังผสมของสหประชาชาติในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

การสู้รบเป็นไปอย่างยืดเยื้อ โดยไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในช่วงนี้ประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความขัดแย้งกับนายพลแม็คอาเธอร์เกี่ยวกับนโยบายสงคราม โดยเฉพาะต่อการใช้อาวุธปรมาณู (A-Bomb) เพื่อยุติสงครามเช่นเดียวกับที่เคยใช้ได้ผลในญี่ปุ่น

ความคิดที่จะใช้ระเบิดปรมาณู เพื่อยุติสงครามในชั้นต้นทั้งประธานาธิบดีทรูแมนและนายพลแม็คอาเธอร์ต่างเห็นพ้องต้องกัน แต่เมื่อเกิดปฏิกิริยาต่อต้านทั่วโลก ด้วยเกรงจะเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สาม ในที่สุดประธานาธิบดีทรูแมนจึงได้ล้มเลิกแผนการนี้ ประธานาธิบดีทรูแมนต้องการจะจำกัดปฏิบัติการทางทหาร แต่นายพลแม็คอาเธอร์ไม่เห็นด้วย ปธน.ทรูแมนจึงสั่งปลดนายพลแม็คอาเธอร์ออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ การปลดนายพลในครั้งนี้เนื่องจาก ปธน.เกรงว่านายพลแม็คอาเธอร์อาจจะใช้อำนาจของตนอนุมัติให้ใช้ระเบิดปรมาณูยุติสงคราม ซึ่งการดำริที่จะใช้ระเบิดปรมาณูนี้ สื่อมวลชนในประเทศไทยได้เสนอและวิจารณ์เป็นระยะยาวนาน และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกระตุ้นให้ขบวนการสันติภาพในประเทศไทยขยายตัวอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนั้น

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ สหภาพโซเวียตได้เสนอให้มีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี การเจรจาดำเนินไปอย่างเนิ่นนาน กระทั่งเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงสามารถลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างจีนและเกาหลีเหนือฝ่ายหนึ่ง สหรัฐฯและเกาหลีใต้อีกฝ่ายหนึ่ง สงครามในคาบสมุทรเกาหลีจึงได้ยุติลง แต่ความตึงเครียดบริเวณเส้นขนานที่ ๓๘ เหนือ ยังคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

สงครามเกาหลี ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในทวีปเอเซียหลายประการ กล่าวคือ ฝ่ายจีนต้องสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับการพัฒนาประเทศเป็นอันมาก สหรัฐฯก็เริ่มก้าวเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ตัดสินในให้เอกราชแก่ญี่ปุ่น โดยมีการลงนามในสัญญาสันติภาพในปี พ.ศ.๒๔๙๔ และในปีนั้นสหรัฐฯก็ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันกับญี่ปุ่น โดยสหรัฐอเมริกาจะประกันความมั่นคงของญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทยการตัดสินใจเข้าร่วมในสงครามเกาหลี โดยการสนับสนุนขององค์กรสหประชาชาติในครั้งนั้น ยังผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมิตรประเทศฝ่ายตะวันตกกระชับขึ้น เป็นการแสดงท่าทีต่อนโยบายความมั่นคงและต่างประเทศร่วมกันต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามการร่วมสงครามภายนอกประเทศครั้งนี้ กลับทำให้สงครามภายในหรือสภาพความขัดแย้งภายในที่กำลังคุกรุ่นอยู่แล้วเกิดปะทุรุนแรงขึ้น เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลขึ้นอย่างรุนแรง นอกจากนี้ภาวะสงครามยังทำให้สินค้ายุทธปัจจัยต่าง ๆมีราคาผันผวนรุนแรง ส่งผลให้ภาวะวิกฤติขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองในสังคมไทยให้ทรุดลงไปอีก

No comments: