Thursday, April 26, 2007

บทความที่ ๑๑๗. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๑๑

บทที่ ๗ กบฏแมนฮัตตัน และการปฏิวัติเงียบ

จากการที่ทหารเรือชั้นผู้ใหญ่หลายนายได้ให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยแก่ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในเหตุการณ์วันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลง กองทัพบกและตำรวจก็ตกอยู่ในสถานะคู่แข่งขันขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกองทัพเรือ ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น มีการเตรียมพร้อมในกองทัพเรือ และตั้งเวรยามรักษาการณ์บริเวณเขตทหารเรือจนบางครั้งเกิดเรื่องบาดหมางใจกันระหว่างทหารเรือ กับตำรวจอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางภสภาพตึงเครียดนี้ กลุ่มนายทหารเรือหนุ่ม ๆ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และในที่สุดได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาอย่างหลวม ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ “ได้มีส่วนร่วมในการจัดการปรับปรุงในด้านการงานของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์เท่านั้น และ..เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่บริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” รวมทั้งการปรับปรุงกองทัพเรือให้มีสมรรถนะสูงขึ้น

การก่อการกระทำร่วมในกรณี “กบฏแมนฮัตตัน” เกิดขึ้นหลังจากที่ได้เปลี่ยนแผนมาแล้วถึง ๕ ครั้ง เนื่องจากความไม่พร้อมบางประการ จนกระทั่งพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ โดยนาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือศรีอยุธยา เป็นผู้ลงมือ “จี้” จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะที่กำลังทำพิธีรับมอบเรือ “แมนฮัตตัน” จากสหรัฐอเมริกา โดยมีนาวาเอกอานนท์ ณฑริกาภา-ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ นาวาตรีประกาย พุทธารี-นายทหารประจำฝ่ายนาวิกโยธิน และพันตรีวีระศักดิ์ มัณฑจิตร แห่งกองทัพบกเข้าร่วมด้วย

จากนั้นกลุ่มผู้ก่อการกบฏแมนฮัตตัน ในนามของ “คณะกู้ชาติ” ได้คุมตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้ที่เรือศรีอยุธยา แต่ทว่าแผนการหลังจากนั้นต้องล้มเหลว ขาดการประสานงาน-ปฏิบัติการที่พร้อมเพรียง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลโดยพลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์-แม่ทัพภาคที่ ๑ และพลตำรวจโทเผ่า ศรียานนท์ ได้ต่อสู้ต้านทาน โดยไม่เห็นแก่ชีวิตของจอมพล ป.พิบูลสงครามผู้ตกเป็นตัวประกันแก่ฝ่ายตรงข้าม และหลังจากปะทะกันในสงครามน้ำลายผ่านสถานีวิทยุแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้กำลังรุนแรงตอบโต้ ในที่สุดก็ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในระยะเวลาอันสั้น

หลังจากปราบปราม “คณะกู้ชาติ” แล้ว ฝ่ายรัฐบาลจึงเริ่มกำจัดฝ่ายตรงข้ามจากกองทัพเรือ พร้อมกับการจำกัดขอบเขตการปฏิบัติการของกองทัพเรือ ลดทอนงบประมาณ กำลังอาวุธและกำลังพล สับเปลี่ยนโยกย้ายที่ตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งยุบและโอนย้ายกำลังกองทัพเรือให้แก่กองทัพบกและกองทัพอากาศ กองทัพเรือจึงเหลือแต่กำลังพลเท่านั้นที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นและไม่เป็นพิษภัยต่อเสถียรภาพของตนอีกต่อไป ในที่สุด คู่แข่งสำคัญในอดีตของกองทัพบกก็ถูกลดสมรรถภาพและบทบาทแทบทุกอย่าง ในขณะที่กองทัพบก กองทัพอากาศและตำรวจในฐานะผู้ชนะ ก็ได้ทุกอย่างที่ต้องการ

เมื่อรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามได้รับการต่อต้านหลายต่อครั้งแม้ว่าจะได้ขจัด-กำจัดฝ่ายตรงข้ามไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงได้ทำการ “ปฏิวัติเงียบ” โดยอ้างเหตุความจำเป็นครั้งนี้ว่า

เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันนี้ ตกอยู่ในความคับขันทั่วไป ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้คุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีนี้ก็ดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นอันมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ไม่สามารถปราบปรามการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รัปชั่นดังที่มุ่งหมายจะปราบนั้น ด้วยความเสื่อมโทรมมีมากขึ้นจนเป็นที่วิตกทั่วไปว่าประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างนี้

การอ้างอิงถึงสถานการณ์โลก และนำประเด็นปัญหาคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นเหตุผลหลักในการนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๗๕ กลับเข้ามาใช้ใหม่พร้อมทั้งได้ประกาศตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราว ยุบวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ในคณะบริหารประเทศชั่วคราวทั้ง ๙ นาย ซึ่งมาจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ฝ่ายละ ๓ นายนั้น พ.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์แห่งกรมตำรวจมิได้เป็นสมาชิก ดังนั้นจึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบรักษาความสงบและความมั่นคงภายในประเทศในฐานะอธิบดีกรมตำรวจ จากนั้นได้ออกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง และออกประกาศยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมดด้วย

ในวันรุ่งขึ้น คณะบริหารประเทศชั่วคราวก็ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ จำนวน ๑๒๓ คน เพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง สภานี้แสดงถึงอำนาจอิทธิพลของฝ่ายทหาร-ตำรวจอย่างเห็นได้ชัดกล่าวคือ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสูงถึงกว่าร้อยละ ๙๐ ต่อมา ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญพุทธศักราช ๒๔๗๕ จำนวน ๒๕ คน มีพลเอกผิน ชุณหะวัณเป็นประธาน นายหยุด แสงอุทัยเป็นเลขานุการ นอกนั้นก็ได้แก่พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์พลตำรวจโทเผ่า ศรียานนท์พลตรีถนอม กิตติขจรพันเอกประภาส จารุเสถียรพันเอกศิริ ศิริโยธินพันเอกประมาณ อดิเรกสารพันโทชาติชาย ชุณหะวัณหลวงวิจิตรวาทการฯลฯ

ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งครั้งนี้กลุ่มอดีตพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก ดังนั้นผู้สมัครส่วนใหญ่ซึ่งลงสมัครอิสระโดยได้รับเงินทุนหนุนหลังจากฝ่ายรัฐบาลซึ่งมี พ.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้ดำเนินการ จึงได้รับเลือกเข้ามาอย่างท่วมท้น ทำให้รัฐสภาที่คณะรัฐประหารควบคุมได้จึงมีเสถียรภาพมั่นคงมาถึง ๕ ปี

เมื่อถึงจุดนี้กลุ่มอำนาจนิยมก็ได้สถาปนาอำนาจของตนมั่นคงยิ่งขึ้น โดยอาศัยกลไกรัฐกำราบปราบปรามฝ่ายตรงข้ามคือกลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์และกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้การครอบงำยึดกุมกลไกของรัฐที่สำคัญคือ กองทัพ และกรมตำรวจ โดยการสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งที่ถูกกฎหมาและที่ผิดกฎหมาย เช่น การจัดตั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจจำนวนมากเพื่อให้ข้าราชการและนักการเมืองกลุ่มตนเข้าไปแสวงผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักการเมืองกลุ่ม “ราชครู” ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ การค้าของเถื่อน ฝิ่นเถื่อนของฝ่ายตำรวจลูกสมุนของพลตำรวจเผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น การต่อสู้ช่วงชิง รักษาและสืบทอดอำนาจทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ ๒๔๙๐ จึงเป็นลักษณะที่ประชาชนไม่อาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญถูกกำหนดตามอำเภอใจของกลุ่มผู้มีอำนาจภายใต้รูปแบบ-พิธีการของระบอบรัฐสภาเท่านั้น.

No comments: