Monday, April 30, 2007

บทความที่ ๑๒๔. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๗

ตอนที่ ๗ เหตุการณ์หลบหนีเมื่อคืนวันที่ ๘ พ.ย. ๙๐

“ในคืนเกิดเหตุ ผมได้ขี่จักรยานยนต์ออกสำรวจ พบรถถังออกมาเดินเพ่นพล่านหลายแห่งครับ ผมจึงกลับมาเรียนท่าน แล้วรถถังสองคันได้มาถึงสะพานท่าช้างแล้ว ท่านจึงได้ลงเรือจ้าง...”

“อ้าว,แล้วไปหาเรือจ้างที่ไหนทัน ?” ข้าพเจ้าทัก

“บัว” ผู้ซื่อสัตย์หัวเราะแล้วสอดขึ้นมาว่า

“มันแปลกครับ เวลานั้นก็ดึกแล้วราย ๒๓.๐๐ น. เรือจ้างที่ท่าช้างนั้นก็มีอยู่ลำเดียวเท่านั้น แล้วก็ทำท่าแจวจะออกจากท่าไปเสียด้วย จึงให้เด็กเรียกเข้ามาที่ศาลาท่าน้ำ ท่านก็เลยลงเรือที่นั่นเลย..”

ข้าพเจ้าพยักหน้าแสดงว่าเข้าใจเรื่องแล้ว ฟังเขาเล่าต่อไป

“เวลานั้นท่านแต่งตัวนุ่งกางเกงแพรดำ สวมเสื้อยืดแขนสั้นสีขาว มีผ้าขาวม้าคาดพุง แล้วก็สวมรองเท้าคัดชูก่อนจะลงเรือท่านได้โทรศัพท์ไปหาคุณหลวงอดุลฯ ที่วังปารุส แต่สายโทรศัพท์ได้ถูกตัดเสียแล้ว..”

“ก่อนจะเกิดเรื่อง คุณหลวงธำรงและคุณหลวงอดุลฯ มานั่งคุยด้วยกันกับท่านที่ศาลาท่าน้ำ เสียงคุยกันเอะอะเรื่องเปลี่ยนรัฐบาล แต่รายละเอียดใครว่ากันอย่างไรผมจำไม่ค่อยได้ ตอนคุยกันอยู่นั้นท่านนอนเล่นอยู่ที่เก้าอี้หวาย ลงท้ายคุณหลวงธำรงกลับไปก่อน คุณหลวงอดุลฯยังได้ตามออกไปส่งด้วย ภายหลังคุณหลวงอดุลฯจึงได้ออกไป พอออกไปได้ไม่ถึง ๕ นาทีก็มีรถถังและรถยนต์บรรทุกทหารมา ๑ คันมาที่ท่าช้าง ท่านจึงได้โทรศัพท์ถึงคุณหลวงอดุลฯ แต่สายถูกตัดไปเสียก่อน...”

“แล้วยังไงอีกล่ะ...?” ข้าพเจ้าเร่ง

“ทหารในรถถังที่จอดอยู่ที่สะพานท่าช้างเอาก้อนหินปาหลอดไฟฟ้าที่ติดอยู่ที่เสาไฟฟ้านั้นดับ ต่อจากนั้นก็เอาปืนกลยิงขึ้นไปบนห้องนอนของท่าน และกราดไปรอบ ๆ บริเวณบ้าน และก็เอารถถังเข้าชนประตูหน้าทำเนียบด้วย ตอนนั้นท่านลงเรือไปแล้ว เราลอยเรือฟังเสียงยิงทำเนียบอยู่ตลอดเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ทราบว่ามาหยุดเอาเมื่อคุณหลวงอดุลฯ มาห้าม เสียงว่าได้ตบหน้านายทหารที่มานั้นด้วย...”

“ไม่เห็นบอกว่านั่งเรือจ้างไปด้วยกันกี่คน ?” ข้าพเจ้าซัก

“ ๓ คนครับ มีสิงห์โตนั่งหัวเรือ ท่านนั่งกลาง ผมนั่งท้าย แล้วก็มีคนแจวอีกคนหนึ่ง”

“ผมให้คนแจวเรือ แจวข้ามไปฟังโน้น ผ่านวัดเสาวคนธ์ขึ้นไปทางเหนือ แจวทวนน้ำเสียด้วย แล้วก็ผ่านวัดดาวดึงส์ไปได้หน่อยก็แจวข้ามฟากมาฝั่งพระนครเพื่อจะมาฟังอาการ พอมาถึงฝั่งนี้ก็ล่องลงใต้ตามน้ำผ่านบ้านคุณหลุยน้องชายของท่าน แต่ว่าไม่ได้ขึ้นไป ค่อย ๆ ผ่านกรมปุศสัตว์ เวลานั้นทหารบกยึดกรมปศุสัตว์และบ้านมะลิวัลย์หมดแล้ว

พอเรือเราผ่านกรมปศุสัตว์เท่านั้นละครับ ทหารเอาไฟฉายลงมาแล้วก็ไฟฟ้าตรงท่าเรือตรงนั้นก็สว่างอยู่แล้วด้วย ทหารเขาตะโกนถามลงมาว่า

“เรือใคร ?”

ส.ต.ต.สิงห์โต เล่าสอดถึงการแสดงบทบาทของเขาต่อ

“ผมใจหายหมดเลยครับ ไม่รู้จะทำยังไงดี ก็เลยใช้ปฏิภาณเอาดื้อ ๆ ผมชูปืนทอมสันขึ้นให้ดู ปากผมก็ตะโกนตอบไปว่า “สายตรวจลำน้ำครับ...พวกเดียวกันครับ...” เวลานั้นผมอยู่ในเครื่องแบบตำรวจด้วยเลยเป็นการพรางไปในตัว เจ้าทหารนั่นเลยหลงเชื่อปล่อยให้เราไปเลยครับ...”

พูดจบเขาหัวเราะเบา ๆ แสดงความปราโมทย์อย่างสูงและคึกคนองในผลงานที่สามารถทำให้ผ่านอุปสรรค์ในเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นไปได้

ข้าพเจ้ายิ้มรับในผลของการปฏิบัติงานของเขา พร้อมกันข้าพเจ้าได้เหลียวไปดูปืนกลมือ “ทอมสัน” กระบอกที่ ส.ต.ต.สิงห์โต ได้ใช้ปฏิบัติงานมาแล้ว วางผิงอยู่ที่ข้างเสา ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกภาคภูมิใจว่ามันได้ประโยชน์ให้อย่างล้นค่า เพราะปืนกลกระบอกนี้เองที่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้มอบไว้ให้ ส.ต.ต.สิงห์โต ก่อนหน้ารัฐประหารสักเล็กน้อย และได้เคยกำชับว่าอาวุธปืนกระบอกนี้ให้เก็บไว้อารักขาท่าน ปรีดี พนมยงค์ เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เนื่องจากการรัฐประหารจะเกิดขึ้นในไม่ช้าแล้ว

“อ้าว,ต่อไปแล้วยังไงอีกล่ะ” ข้าพเจ้าเตือน

บัว เป็นผู้เล่าต่อไป

“ผมเห็นท่าไม่ค่อยจะดีเลยสั่งให้เรือจ้างแจวออกไปกลางแม่น้ำเลยครับ ต่อจากนั้นก็ไปที่ปากคลองบางกอกน้อย แล้วแวะขึ้นที่บ้านท่านขุนลิขิต ฯ ท่านก็บ่นถึงคนโน้นคนนี้อยู่เรื่อย เพราะเป็นห่วงว่าจะได้รับอันตราย พักอยู่ถึง ๔.๐๐ น.จึงได้ออกเรือต่อไป ท่านขุนลิขิตฯ ก็ดีทายาท แกจัดการหาสะเบียงลงเรือเป็นที่เรียบร้อยทีเดียว มีไข่ต้มข้าวปลาอาหารพร้อม ตอนนั้นท่านหันมาถามผมว่ามีสตางค์จะให้ค่าเรือจ้างบ้างไหม ? ผมตอบไปว่ามีอยู่สองบาทก็พอดีท่านขุนลิขิตฯ บอกว่าคนแจวเรือนั้นเป็นลูกน้องของท่านเอง ไม่ต้องเป็นห่วงค่าเรือจ้าง ท่านขุนจะออกให้ภายหลังเอง ลงท้ายก็เลยไมต้องจ่ายค่าเรือ พอเรือออกท่านขุนลิขิตฯ ก็เลยไปกับพวกเราด้วย แจวไปจนถึงบางกรวย ไปหานายตำรวจคนหนึ่งให้เขาช่วยเหลือจัดที่พักให้

ไปถึงที่นั่นเวลาประมาณ ๕.๐๐ น. นายตำรวจคนนั้นเขาก็ดีเหลือเกินจัดหาเรือยนต์ให้หนึ่งลำ เดินทางต่อไปพักที่บ้านภรรยาเขาที่อยู่ในคลองซอยที่จะทะลุคลองบางหลวง ในระหว่างที่เดินทางไปนั้นเป็นรุ่งเช้าของวันที่ ๙ มีการทอดกฐินกันหลายราย เรือกฐินก็สวนทางกันไปมา มีการแห่แหนไปตลอดทาง จนเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. จึงถึงบ้านภรรยานายตำรวจนั้น แล้วก็เลยพักอยู่ที่นั่นชั่วคราว

ท่านก็สั่งให้ท่านขุนลิขิต ฯ กลับไปบอกคุณผู้หญิงพูนศุขว่าปลอดภัยแล้วและให้ไปเอาเสือผ้าด้วย นอกจากนั้นก็เลยใช้ให้ไปติดต่อนายเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขาฯ ของท่านเพื่อให้ไปติดต่อกับหลวงนาวา ฯ ว่าท่านต้องการพบ และต้องการไปพักในท้องพระโรงพระเจ้าตากสิน ที่ตั้งของกองทัพเรือ ขุนลิขิตฯ ได้เดินทางกลับไปจัดการตามที่ท่านสั่งจนถึงเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. จึงกลับมาบอกว่าทุกสิ่งเรียบร้อยตามคำสั่งนั้น...”

เขาหยุดนิดหนึ่ง หลังจากกลืนน้ำลายแก้ฝืดคอแล้วก็สาธยาต่อ

“...พอค่ำท่านก็ออกจากที่พัก เดินด้วยเท้ามาประมาณ ๑ กิโลถึงที่นัดหมายที่ชายคลองบางหลวง พอเวลา ๑๒.๐๐ น. ก็มีเรือยนต์ของกองทัพเรือพร้อมด้วยทหารเรือมีกำลัง ๑ หมวดมารับท่าน ท่านได้ลงเรือลำนั้นไปพบหลวงนาวาฯ ผู้บังคับกองเรือรบที่กองบังคับการท่าราชวรดิษฐ์ ส่วนผมอยู่ข้างนอก ไม่ว่าท่านได้ปรึกษาเรื่องอะไรกัน จนกระทั่ง ๒๓.๐๐ น. ท่านจึงได้ข้ามฟากมาที่ท้องพระโรงพระเจ้าตากสินแล้วก็พักแรมอยู่ที่นั่น.

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๐ เวลาประมาณ ๕.๐๐ น. หลวงธำรงฯ ไปหาและต่อมาพอเวลา ๑๘.๐๐ น. หลวงสังวรณ์ก็ไปหา แล้วก็พากันลงเรือยนต์ลำที่หลวงสังวรณ์จัดหามาให้ ในเรือนั้นมีกำลังทหารเรือมาด้วย แต่ไม่มากเหมือนลำแรก แล่นลงใต้เพื่อไปบางนา แต่ได้หลบเข้าอยู่ในคลองในสวนแห่งหนึ่งตลอดวัน ค่ำแล้วจึงออกเรือ ถึงบางนาเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. แล้วก็พักแรมอยู่ที่นั่น ในระหว่างนี้มีคุณทองอินทร์ และคุณจำลอง ดาวเรืองและจะมีใครอีกบ้างจำไม่ได้

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๑ ท่านได้ไปลงเรือ “ปรง” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันของกองทัพเรือไปขึ้นที่สัตตหีบ คุณหลวงธำรงฯ ไม่ได้ไปด้วยแยกไปต่างหาก คงไปด้วยแต่หลวงสังวรณ์ ถึงสัตตหีบเวลาประมาณ ๒๑.๐๐น.”

บัวหยุดเล่าแล้วเอื้อมมือไปหยิบแก้วสีเหลือง ๆ ขึ้นดื่มแก้คอแห้ง ข้าพเจ้าขอบใจเขาทั้งสองที่อุตส่าห์เหตุการณ์ให้ฟังอย่างแจ่มแจ้งในการดำดินของท่านปรีดี พนมยงค์ ข้าพเจ้าไม่ลืมหันไปทาง ส.ต.ต.สิงห์โต และกับชับเขาอีกว่า

“สิงห์โต, ลื้ออย่าทิ้งท่านนะ”

เขาหันมายิ้มอย่างหนักแน่นกับข้าพเจ้า และตอบรับว่า

“เรื่องนั้นขอให้ผู้กองโปรดไว้ใจผม, ผมทิ้งท่านไม่ได้ดอก”

ข้าพเจ้าเอื้อมมือไปตบที่บ่าเขาอย่างเห็นอกเห็นใจและรู้สึกว่าเขามีความจงรักภักดีจริง ๆ ส่วน บัว นั้นก็สาละวนอยู่กับการเติมโซดาลงไปในน้ำสีเหลือง ๆ ส่งให้ข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอตัวเพราะไม่ใช่ “คอ”

No comments: