Friday, April 27, 2007

บทความที่ ๑๒๑. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๔



ข้าพเจ้าออกจากระทรวงกลาโหมก็พุ่งเข้าสู่กองตำรวจสันติบาล สำนักงานของข้าพเจ้า ณ ที่นั้นเงียบกริบไม่มีอะไรผิดแผกไปจากปกติแต่อย่างใด ข้าพเจ้าตรงไปที่ห้องทำงาน ไขลิ้นชักดึงเอกสารออกจากโต๊ะปึกใหญ่ นั่นคือเอกสารส่วนตัวในการสืบสวนของข้าพเจ้าโดยเฉพาะ ซึ่งได้พยายามรวบรวมหลักฐานการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นไว้โดยพร้อมเพรียงเอามันกองไว้บนโต๊ะ ข้าพเจ้าเดินวนเวียนอยู่รอบ ๆ ห้องว่าจะทำอย่างไรกับมันดี เป็นการแน่นอนเหลือเกิน ฝ่ายรัฐประหารย่อมจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยรัฐบาลของ นายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นั้นไม่มีทางจะฟื้นตัวแล้ว จิตของข้าพเจ้าประหวัดไปถึงนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีทันที เมื่อรัฐประหารจวนจะระเบิด ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ได้ไปรายงานที่บ้านพักของท่าน ว่าจวนจะเกิดรัฐประหารแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีถวัลย์แบมือให้ข้าพดูแล้วกล่าวว่า

“ลื้อจะให้อั๊วทำยังไง เมื่อฝ่ายค้านต้องการให้เปิดอภิปรายทั่วไป อั๊วก็เปิดแล้ว อั๊วก็ยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา แม้กระนั้นอั๊วก็ลาออก แล้วก็มาตั้งอั๊วเป็นนายกจะปฏิวัติกัน อั๊วก็ไม่รู้จะทำยังไง...”

ด้วยประโยคเช่นนี้ของท่านนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งหลงอยู่จะต่อสู้ทางรัฐสภาเท่านั้น ผู้ซึ่งไม่มีความคิดจะรักษาบัลลังก์ของตนด้วยอาวุธ ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ “นอนรอการรัฐประหาร” ดั่งที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เขียนภาพล้อกัน

เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองได้แปรผันไปเช่นนี้แล้ว เจ้าเอกสารปึกใหญ่ที่วางอยู่บนโต๊ะของข้าพเจ้านั้นเล่า มันจะมีประโยชน์อันใดสำหรับรัฐบาลนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ข้าพเจ้าตัดสินใจได้ทันทีว่ามันไม่มีประโยชน์อันใด มันมีแต่โทษเท่านั้น ข้าพเจ้ามีความรับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและสายลับที่ใช้สรอยเขา เขาเหล่านั้นมิต้องลำบากเพราะข้าพเจ้าหรือ ? เขาอาจจะต้องถูกออกจากงานฐานไม่ไว้วางใจเป็นอย่างน้อย ม่ายก็ถูกโยกย้ายไปเสียไกลลิบลับ บางคนก็เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐประหารแล้วเอาเนื้อความในการประชุมนั้นมารายงานข้าพเจ้า เช่นนี้เขามิถูกกระทืบหรือ ? ปัญหาร้อยแปดแล่นเข้าสู่สมองข้าพเจ้าอย่างสับสน แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองซึ่งรู้ความลับมากเกินไปก็รู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าเมื่ออธิบดีของข้าพเจ้ายังอยู่ในตำแหน่งก็พอที่จะผ่อนความหนักใจของข้าพเจ้าลงได้ แต่อะไรจะเป็นเครื่องค้ำประกันได้ว่า นายพลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพจะคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ด้วยเหตุผลเหล่านี้ข้าพเจ้าจึงเผาเอกสารนั้นทั้งหมด

การตัดสินใจของข้าพเจ้าครั้งนี้ต้องนับว่าเป็นการถูกต้องเพราะภายหลังเมื่อข้าพเจ้ากลับมาจากกรุงปักกิ่งแล้ว ก็ได้มองเห็นดวงตาอันแป๋วของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้ายังคงรับราชการอยู่ บางคนก็ได้เลื่อนยศและตำแหน่งอันสูงและเป็นที่ไว้วางใจในรัฐบาลปัจจุบันนี้เสียอีก แต่ข้อที่เป็นบทเรียนต่อข้าพเจ้าก็คือว่า มีบุคคลบางคนที่ข้าพเจ้าหวังดีต่อเขาในเรื่องนี้ เขากลับค้นคว้าหาหลักฐานจะเอา ข้าพเจ้าเข้าคุกเป็นความดีความชอบส่วนตัวของเขาอีก ดั่งนี้ก็มี

เมื่อเอกสารลับของข้าพเจ้าถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าลงทุนแบกลังลูกระเบิดมือและบาซูก้าด้วยตนเองขึ้นออสติน อาวุธเหล่านี้ข้าพเจ้าเตรียมเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ณ ตึกสันติบาลถ้าหากว่าตึกสันติบาลถูกยึดและถ้ามีการต่อสู้เกิดขึ้น ข้าพเจ้าทราบดีว่าอาวุธที่จะต่อสู้รถถังนั้นไม่มีอยู่ในห้องอาวุธ แต่บัดนี้เป็นการแน่นอนแล้วจะไม่มีการต่อสู้ใด ๆ ซึ่งเป็นการทางการเกิดขึ้น แต่การต่อสู้อันมิใช่ทางการอาจจะเกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นข้าพเจ้าจำเป็นต้องสงวนอาวุธที่มีอยู่ในมือของข้าพเจ้าไว้ทุกชิ้นต่อไป อาวุธต่าง ๆ ของข้าพเจ้านี้ได้รับมาในสมัยการต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าได้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่จังหวัดชุมพร

ข้าพเจ้ายังคงมาทำงานเป็นปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกองตำรวจสันติบาล ทางเดียวของเราคือ พยายามเชื่อว่า “ตำรวจเราไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของทหารเขา” เมื่อทหารเขาไม่พอใจรัฐบาล เขาก็ทำการขับไล่รัฐบาลนั้นออกไป ข้าพเจ้าได้พยายามเชื่อถือในคำสั่งของท่านอธิบดีอย่างเด็ดขาด เราจึงมิได้ทำการขัดขวางการรัฐประหารนั้นแต่ประการใดเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็มีกำลังที่จะเข้าทำการขัดขวางเช่นนั้นได้

ข้าพเจ้าได้แวะไปดูที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นจุดหมายตามแผนการลับว่า เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วคณะรัฐบาลทั้งชุดก็จะมารวมกันที่นั่นแต่ก็เหลว ข้าพเจ้าไม่เห็นมีรัฐมนตรีคนใดอยู่ ณ ที่นั้นเลย ดูเหมือนว่าต่างก็ได้แตกกระเจิงและเสียขวัญไปเสียแล้ว

ข้าพเจ้าได้ควบยานคู่ยาก ออกสังเกตการณ์ทุกแห่งหน ข้าพเจ้าได้เห็นรอยกระสุนปืนกลที่บานประตูหน้าทำเนียบท่าช้าง มันมิใช่รอยแห่ง “การต่อสู้” แต่ประการใด แต่มันเป็นรอยแห่งการทำลายประหัตประหารข้างเดียว

อนิจจา รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ บัดนี้ตัวของท่านมิได้อยู่ที่ทำเนียบแล้ว ไม่ทราบว่าหลบหนีไปที่แห่งใด ข้าพเจ้างงและมืดมนต่อสถานการณ์ไม่รู้ว่ามันจะคลี่คลายไปในรูปใด เพราะท่านปรีดี พนมยงค์นั้นมิได้เกี่ยวข้องกับคณะรัฐบาล มิได้ตำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในกระทรวงใด ซ้ำก็ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรจังหวัดอยุธยาแล้ว ตามรูปแบบนี้ก็แสดงออกว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” แต่มันก็เข้าแบบ “ขว้างงูไม่พ้นคอ” อยู่นั่นเอง ความสัมพันธ์ทางส่วนตัวของข้าพเจ้าและท่านปรีดี พนมยงค์นั้น ความจริงไม่มีอะไรที่ลึกซึ้งเลย ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นศิษย์ของท่าน ไม่ได้ใกล้ชิด ไม่เคยได้ดิบได้ดีจากรัฐบุรุษผู้นี้ ท่านไม่เคยอุ้มชูอะไรข้าพเจ้าแต่ปางก่อนเลย ข้าพเจ้ามิใช่ศิษย์ของท่านที่สำเร็จออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หากแต่ข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่เหตุไฉนเล่าข้าพเจ้าจึงมีความเคารพนับถือท่านผู้นี้อย่างสูง...?

ไม่ใช่อื่น ข้าพเจ้าเคารพท่านในฐานะที่เป็นนักปฏิวัติที่รักชาติ เป็นผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนาและได้เป็นมันสมองของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้ต่อสู้จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นที่รุกรานสยาม ข้าพเจ้าได้เห็นฝีมือของท่านในการเจรจาการเมืองต่างประเทศ ได้เห็นประกาศให้สงครามซึ่งก่อขึ้นโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นให้เป็น “โมฆะ” และการแก้ไขสันธิสัญญาสมบูรณ์แบบที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลงนามส่งข้าว ๑,๒๐๐,๐๐๐ ตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า ให้กลายเป็นการขาย ตลอดจนการกระทำให้ค่าเงินบาทสูงขึ้น และอื่น ๆ อีกเอนกอนันต์ นี่แหละเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้ามีความเคารพบูชารัฐบุรุษผู้นี้ หาได้มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวใด ๆ ไม่

ข้าพเจ้าไม่ทราบรายละเอียดที่ทำเนียบท่าช้างถูกยิงโดยไม่มีการต่อสู้ใด ๆ ทราบแต่ว่าเหลืออยู่แต่คุณผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของท่านเท่านั้นที่สาละวนรับแขกจากผู้ที่มาแสดงความเห็นอกเห็นใจ ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปในทำเนียบนั้น เพราะข้าพเจ้าไม่มีความสนิทสนมและคุ้นเคยใด ๆ กับครอบครัวของท่าน

ข้าพเจ้าสำรวจไปรอบ ๆ พระนคร ทหารชั้นผู้น้อยก็กลิ้งเกลือกอยู่กับข้างถนนและสะพานต่าง ๆ อุตส่าห์อดหลับอดนอนรักษาการณ์ซึ่ง “ผู้ใหญ่” ของเขาได้บอกกับเขาว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำ “เพื่อชาติ”

No comments: