Tuesday, April 3, 2007

บทความที่ ๑๐๓. ท่านปรีดี พนมยงค์ผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยในประเทศไทย

ท่านปรีดี ผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยในประเทศไทย
บทความโดยอรุณ เวชสุวรรณ พิมพ์ลงใน “ไทยแลนด์”
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๔๘ วันที่ ๑๒-๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖


ข้าพเจ้าได้รับคำขอร้องจากบรรณาธิการบริหารของ “ไทยแลนด์” ให้นำภาพของท่านปรีดี พนมยงค์ที่ถ่ายไว้เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยียนท่านที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ เพื่อนำเสนอต่อท่านผู้อ่านดังที่ปรากฏอยู่ใน “ไทยแลนด์” บางภาพ และพร้อมทั้งเรื่องเกี่ยวกับท่านปรีดีในความคิดคำนึงของข้าพเจ้า ในฐานะผู้ให้ความเคารพท่านปรีดีเยี่ยงวีรบุรุษตลอดมา ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่และแม้ท่านถึงแก่อสัญญกรรมไปแล้ว

ข้าพเจ้าก็เหมือนกับคนไทยในยุคหลัง ๆ ที่เคยมองภาพพจน์ของท่านปรีดีตามคำโฆษณาของหนังสือพิมพ์บางฉบับและเคยเชื่อคำหลอกลวงของรัฐบาลก่อน ๆ ที่พากันใส่ร้ายท่านปรีดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ซึ่งนักการเมืองยุคนั้นบางคนพากันใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองและส่งผลในทางทำลายล้างท่านปรีดีจนได้ผลในที่สุด เช่นเดียวกับกรณีเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่มีการทำลายล้างขบวนการนักศึกษา ที่คนพวกหนึ่งพากัน “แหกตา” กล่าวหาว่าภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอุโมงใต้ดิน, มีหอคอยลึกลับสำหรับใช้เป็นหอบัญชาการบนเพดานของหอประชุมใหญ่, ขณะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบนั้นมีพวกญวนในธรรมศาสตร์มากมายเพราะพบรองเท้าแตะที่พวกญวนหรือพวกเดินป่าใช้ใส่, กลุ่มบุคคลฝ่ายตรงกันข้ามในสมัยนั้นได้พากันประโคมข่าวว่า นักศึกษาที่ถูกรุมประชาทัณฑ์ถึงตายนั้นเป็นพวกญวน ฯลฯ แม้ความจริงจะเป็นที่ประจักษ์ในสมัยต่อมาว่าไม่มีคนญวนในธรรมศาสตร์, ไม่มีอุโมงใต้ดิน ไม่มีหอบัญชาการใด ๆ ทั้งสิ้น ในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคมนั้น แต่ผู้ที่ตายเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อ ผู้ที่ได้รับผลจากคำโฆษณาชวนเชื่อนั้นมีเป็นจำนวนมาก

ในกรณีของท่านปรีดีก็เช่นกัน ต่างแต่ว่าของท่านปรีดีมีคนใส่ร้ายท่านใช้เวลายาวนานกว่า แม้สิ้นรัฐบาลสมัยหนึ่งแล้วก็มีรัฐบาลสมัยต่อมารับช่วงต่อไปอีก จนทำให้อนุชนรุ่นหลังบางคนที่ไม่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังพากันคลางแคลงใจในตัวท่าน บางคนถึงกับเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงไปเลยก็มี อย่างที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์และอื่น ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว

สำหรับข้าพเจ้าเองนั้นเป็นคนรักในการอ่านหนังสือ และติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดกับทั้งมีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่ยอมเชื่อกรณีที่มีผู้ใส่ร้ายท่านปรีดี แม้พระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พระเทพวิสุทธิเมธี (พุทธทาสภิกขุ)พระราชนันทมุนี (ปัญญานันทะภิกขุ)ซึ่งเป็นพระที่ชาวพุทธรู้จักกันดีก็ไม่ยอมเชื่อในเรื่องนี้ และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่อีกองค์หนึ่งคือ พระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต) เจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นนักเผยแพร่พุทธศาสนาอดีตเคยเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายมาเลเซีย พูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา เคยพูดว่า

“ท่านปรีดีเสียคนเพราะมีผู้ใส่ร้าย โกหกใส่ท่านแท้ ๆ น่าเสียดายคนที่มีความรู้สูง มีสติปัญญาดี เป็นคนใจซื่อมือสะอาดต้องมาเสียคนเพราะการโกหกใส่กัน แทนที่จะเอาคนดี ๆ เช่นนี้ไว้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ซึ่งคนเช่นนี้ไม่ใช่จะหากันได้ง่ายนัก”

เมือ่ได้ฟังคำของท่านที่เคารพนับถือพูดจึงได้จับเรื่องราวของท่านปรีดีมาศึกษาอย่างจริงจัง ได้อ่านคำพิพากษาของศาล อ่านคำสารภาพของพยานเท็จที่ถูกบังคับให้ใส่ความท่านปรีดีและคนอื่น ๆ แล้วยังได้มาอ่านคำขอขมาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งสมมติกันว่าเป็นมหาปราชญ์ พร้อมทั้งพรรคพวกที่ขอขมาต่อท่านปรีดี, อ่านคำขอขมาของหนังสือพิมพ์ไทยเดลี่, อ่านคำขอขมาของผู้เขียนหนังสือใส่ร้ายท่านอีกหลายคน ข้าเจ้ายิ่งหูตาสว่างยิงขึ้นและคิดว่าความจริงเป็นที่ปรากฏเช่นนี้ ยังมีคนที่ไม่ทราบอีกมากและกว่าความจริงจะปรากฏออกมา ท่านปรีดีก็สูญสิ้นอำนาจและความเชื่อถือไปแล้วเป็นส่วนมาก ประกอบกับคนไทยเป็นคนที่ลืมง่ายไม่ค่อยสนใจ ยิ่งบุคคลที่เป็นใหญ่เป็นโตในสังคมต่อ ๆ มา คือทายาทของศัตรูทางการเมืองของท่านปรีดี ในอดีตทายาทเหล่านั้นบางคนเล่นการเมืองเป็นอาชีพ เขาเหล่านั้นจึงไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอสัญกรรมของท่านปรีดี หรือไม่สนใจงานอันอมตะของท่านปรีดี ที่สร้างไว้ให้ประชาชนคนไทยเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้คนไทยทั่วไปจะต้องขวนขวายศึกษาเอาว่าท่านปรีดีได้เสียสละ หยาดเหงื่อแรงงานแห่งความเหนื่อยยาก สร้างคุณูปการอะไรไว้ให้แก่ประเทศชาติบ้าง ซึ่งในระยะนี้ได้มีหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงผลงานของท่านปรีดีมีจำหน่ายในท้องตลาดหนังสืออยู่แล้วหลายเรื่อง เช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยไสว สุทธิพิทักษ์,ท่านปรีดีผู้วางแผนเศรษฐกิจของไทยคนแรก โดยศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ ฯลฯ ทุก ๆ เล่มเป็นหนังสือเกี่ยวกับท่านปรีดีที่ทุกคนควรอ่านทีเดียว

สำหรับเรื่อง “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นงานเขียนของข้าพเจ้านั้น มีผู้สงสัยบางคนว่าทำไมถึงใช้ชื่อหนังสืออย่างนั้น ทำไมถึงใช้ชื่อว่า

“บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตย”

คำว่า บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตย หมายถึงผู้ให้กำเนิดหรือผู้ทำให้เกิดมีระบอบการปกครองชนิดนี้ขึ้นในประเทศไทย และถ้าท่านเป็นนึกศึกษาค้นคว้าที่ต้องการทราบว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีวิวัฒนาการมาอย่างไร ท่านก็จะทราบได้ว่า ผู้ที่ทำให้ประเทศไทยได้มาซึ่งระบอบการปกครองชนิดนี้ที่สำคัญที่สุดคือ ท่านปรีดี พนมยงค์ คนอื่น ๆ เป็นเพียงว่า “จะให้มี !!!” บางคนเพราะ “ภาวะจำยอม” บางคน “ผสมโรง” แต่สำหรับท่านปรีดีแล้วริเริ่มเรื่องนี้สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งคณะราษฎรตั้งแต่สมัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสและก็ทำได้สำเร็จจนประเทศไทยมีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้จะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์เสียเป็นส่วนมาก แต่ก็ทำให้ประเทศไทยมีความวัฒนาถาวรดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับเรื่องที่ท่านปรีดีเป็นผู้ให้กำเนิดระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น ท่านปรีดีไม่เคยเขียนไว้ที่ไหน ไม่มีใครเคยเขียนไว้ ถ้าจะมีก็เป็นการเอาความดีอันนี้ไปมอบให้แก่คนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในระยะใกล้ให้ละเอียดแล้ว ท่านปรีดีต่างหากที่ควรแก่การรับเกียรติอันนี้ ดังท่านผู้อ่านจะได้หลักข้อสังเกตตามสภาพความเป็นจริงดังต่อไปนี้

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมวงศ์ ๔ พระองค์ และข้าราชการของสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและกรุงปารีส ๗ ท่าน ซึ่งได้ไปเห็นความเจริญความมีอารยธรรมของฝรั่งจึงมีหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ.๑๘๘๕ กราบทูลรัชกาลที่ ๕ ให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ท่านเหล่านั้นคือ

กรมพระนเรศวรฤทธิ์
กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา
กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระยามหาโยธา(นกแก้ว คชเสนี)
พระยาอภัยพิพิธ (สุ่น สาตราภัย)
พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้องเพชร์)
จมื่นไวยวรนาถ (บุศ เพ็ญกุล)
ขุนปฏิภาณพิจิตร์ (หรุ่น)
พระยาชนินทรภักดี (เปลี่ยน หัศดิเสวี)
พระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี)

ปรากฏว่าทางราชการในสมัยนั้นเห็นว่าประเทศไทยไม่สมควรที่จะให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ด้วยอ้างว่า คนไทยยังไม่พร้อม คนไทยยังขาดการศึกษา ประเทศไทยยังไม่เหมาะกับการปกครองชนิดนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วประเทศอเมริกาซึ่งเขาปกครองแบบประชาธิปไตย เขาก็ปกครองกันมาตั้งแต่ประเทศเขายังไม่เจริญ ประชาชนของเขายังไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง แต่เขาก็มีระบอบการปกครองเช่นนี้ได้ จนประเทศของเขามีวิวัฒนาการรุ่งเรืองอย่างสูงสุดเรื่อย ๆ มา แต่สำหรับประเทศไทยนั้นอ้างว่ายังไม่พร้อมเรื่อยมา (ในสมัย ร.๕ พระองค์เจ้าปฏษฏางค์ เคยร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ร.๕ จนถูกปลดออกจากเอกอัคราชทูต ต้องบวชลี้ภัยที่เกาะลังกาและสิ้นพระชนม์ชีพด้วยความยากจน)

จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) ได้มีกลุ่มทหารยังเติร์กส์จำนวนมากรวมทั้งคนไทยที่มีความรู้และการศึกษาดีได้คบคิดกันที่จะปฏิวัติ(คำนี้ควรจะเป็นการใช้คำว่าอภิวัฒน์จะถูกต้องกว่า-แด่บรรพชนฯ) แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะสมาชิกผู้ก่อการครั้งนั้นได้หักหลังกันเองในที่สุด ความต้องการประชาธิปไตยของคนไทยในยุคนั้นก็ไม่สัมฤทธิผลผู้ร่วมก่อการครั้งนั้นถูกจับกลุ่มคุมขังตลอดชีวิตเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น

นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง
นายร้อยตรีเจือ ศิลาอาส์น

ทั้ง ๓ ท่านนี้อยู่ในฐานะผู้ริเริ่มจึงโดนตัดสินประหารชีวิตแล้วเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตและยังมีผู้ร่วมก่อการในครั้งนั้นอีกเป็นจำนวนมาก ที่ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแล้วลดโทษ ยังเหลือจำคุก ๒๐ ปีมีอีก ๒๐ คน ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยมีจำนวนเป็นร้อยคน แต่ทางราชการเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา และแม้ว่าเหตุการณ์จะล่วงเลยมานานจนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๙ รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังได้มีการกล่าวว่าคนไทยยังไม่สมควรปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะต้องให้มีการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแก่คนไทยอีก ๑๒ ปี คือต้องให้รัฐบาลชุดนั้นอยู่ไปได้อีก ๑๒ ปี !!!

จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าอำนาจนั้นถ้าตกอยู่ในมือของใครก็ตาม ผู้กุมอำนาจหรือชนชั้นปกครองนั้น ๆ ย่อมจะต้องหวงอำนาจยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใด ๆ การที่จะหยิบยื่นเอาอำนาจมาให้แก่ประชาชนทุกคนจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้โดยยาก บางคนกล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการสร้าง “ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยตัวอย่าง เพื่อให้คนไทยศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแต่บางคนกล่าวว่านั่นมันเป็นเพียงของเล่นอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ว่าขอให้ทรงฟื้นฟูรัฐมนตรีสภาขึ้นมาช่วยปรับปรุง และแก้ไขภาวะที่เสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น พร้อมทั้งทูลเสนอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลดพระองค์ลงมาเป็นกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลแต่ประการใด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องพระมหากษัตริย์ไว้ในหนังสือเรื่อง “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” โดยอัศวพาหุ ตอนหนึ่งความว่า “ การที่จะตัดสินว่าผู้ใดเป็นชาติไทยโดยแท้จริงนั้น ต้องพิจารณาว่าผู้นั้นมีความจงรักภักดีต่อใคร ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึงจะเป็นไทยแท้”


ความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชาเป็นสง่าแห่งแว้นแคว้น” ตอนหนึ่งมีข้อความว่า “ถ้าเมืองเราซึ่งมีพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะเปลี่ยนเป็นรีปับลิกเล่าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าบอกได้คำเดียวว่าถ้าในเวลานี้ไทยเป็นรีปับลิค พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษคงจะไม่ได้ตั้งให้หัวหน้าคนไทยเป็นนายพลอังกฤษเป็นแน่ การที่มีพระเจ้าแผ่นดินมีประโยชน์ดังนี้ สำหรับได้รับเกียรติยศซึ่งชาติอื่นเขาจะให้แก่ชาติเรา” และยังมีในพระราชนิพนธ์อีกหลายแห่งซึ่งพระองค์ได้ทรงมีทัศนคติว่าคนไทยยังไม่ควรมีระบอบประชาธิปไตย !!!

เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถจะพระราชทานได้แม้ว่าประชาชนในยุคนั้นจะมีการศึกษามากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ที่เจริญแล้วเขาเปลี่ยนระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันล้าหลังกันไปหมดแล้ว ความจริงน่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญได้แล้ว แต่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นเสนาธิบดีกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจอยู่ ได้ทรงทัดทานกันสุดเหวี่ยงจึงไม่สามารถจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ประเทศสยามมีระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบอารยะประเทศเข้าได้ เพราะสมัยนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองการทหารทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ผู้ที่วางแผนในการปฏิวัติจนประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริงนั้นคือ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาวิชาการทหารมาจากประเทศเยอรมนีเป็นผู้วางแผน ท่านผู้นี้เป็นเพื่อนกับนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) แต่อายุอ่อนกว่า จึงให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า แต่ถ้าศึกษาหลักฐานที่แท้จริงแล้วความสำเร็จครั้งนั้นมาจากผลของความคิดของพระยาทรงสุรเดชทั้งสิ้น พระยาพลฯเพียงแต่งัดคลังกระสุนปืนและอ่านคำประกาศที่คนอื่นเขียนให้เท่านั้น ส่วนพระยาทรงสุรเดชต่อมาเกิดความรำคาญแล้วลาออกจากราชการ ในที่สุดก็ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกเนรเทศไปจบชีวิตที่ประเทศเขมร นายทหารรุ่นหลังก็ทำการลบรัศมีทำลายชื่อเสียงและความสามารถให้สูญสิ้นไป ซึ่งผู้ที่ศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริงเท่านั้นจะทราบความจริงข้อนี้

หัวหน้าคณะราษฎรที่ก่อกำเนิดเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงคือ ท่านปรีดี พนมยงค์ มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งที่ท่านปรีดีหรือคนอื่น ๆ อันเป็นบุคคลร่วมสมัยกับท่านทำไว้ ล้วนยืนยันถูกต้องตรงกันว่า ท่านปรีดีเป็นผู้คบคิดขึ้นและประชุมกันที่ฝรั่งเศสหลายครั้ง เมื่อเข้ามาเมืองไทยจึงได้ชวน นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมศิริ), นายพันโทพระประสานพิทยายุทธ(วัน ชูถิ่น) และนายทหารคนอื่น ๆ ที่เห็นด้วยกับท่านปรีดี ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งต้องมีท่าน ปรีดีร่วมอยู่ด้วยและบางคนได้ให้เกียรติท่านว่าเป็น “มันสมองของคณะราษฎร” ในที่สุดการปฏิวัติครั้งนั้นก็เป็นผลสำเร็จด้วยดี

สำหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ทรงอยู่ในภาวะจำยอมเพราะคณะราษฎรได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ไว้เป็นองค์ประกัน อาทิ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิตฯลฯ ไว้เป็นองค์ประกัน แม้ว่าจะมีการต่อสู้เกิดขึ้น ทหารหัวเมืองในสมัยนั้นปราศจากอาวุธที่ดี อาวุธที่สำคัญคณะราษฎรได้ยึดไว้หมดแล้วกับทั้งประชาชนและหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย พระองค์จึงต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญตามคำขอของคณะอภิวัฒน์หรือคณะราษฎร ให้ประเทศสยามมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามแบบอย่างของอารยะประเทศ ระบอบการปกครองชนิดนี้คนไทยได้พยายามมาตั้ง ๓ ชั่วอายุคน คือนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ทำได้ไม่สำเร็จ เพิ่งสำเร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นับว่าราษฎรได้ใช้การต่อสู้โดยเอาชีวิตเข้าแลก และใช้เวลาอันยาวนานไม่น้อยทีเดียว

เบื้องหลังการได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของไทย มีผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ตลอดชีวิตของท่านนับตั้งแต่เป็นนักศึกษาได้พยายามต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเพื่อสิทธิเพื่อเสียงของราษฎรไทยอย่างแท้จริง จึงสมควรกับคำยกย่องที่ให้เกียรติว่า

“ท่านปรีดี พนมยงค์ คือบิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย”

ตลอดชีวิตของท่านที่มีโอกาสรับใช้ชาติบ้านเมืองล้วนแต่ได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ไว้กับประเทศชาติ นับตั้งแต่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำไว้กับต่างชาติ สมกับตำแหน่งดอกเตอร์ทางกฎหมายที่ท่านได้รับมาจากฝรั่งเศสเป็นคนแรกของไทย ท่านได้ตั้งธนาคารชาติเป็นผลสำเร็จ ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง น่าเสียดายที่เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านได้มีผู้คัดค้าน มิฉะนั้นแล้วราษฎรไทยจะอยู่เย็นเป็นสุขอีกเป็นอันมาก ผลงานของท่านมีมากมาย ซึ่งผู้ต้องการทราบความจริงพึงหาอ่านได้จากหนังสือเกี่ยวกับท่านที่กล่าวมาแล้ว งานของท่านปรีดีที่ทำเพื่อประเทศชาติไม่มีทางที่ใครจะปิดกั้นได้สำเร็จ ผู้ที่เฉยเมยต่อการจากไปของท่านปรีดี คือผู้ที่เอามือปิดตาตัวเอง คิดหรือว่าคนอื่นเขาจะยายามทำตามคนโง่เท่านั้นที่ไม่พยายามมองหาว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ คนทำความดีทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติไม่มีทางที่จะปิดกั้นคุณความดีของเขาได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม

นอกจากคุณงามความดีที่ท่านได้ทำไว้กับประเทศชาติแล้ว ในด้านส่วนตัวท่านเป็นนักการเมืองที่มีอสะอาด ไม่เคยโกงชาติ กินเมืองอย่างนักเมืองรุ่นหลังบางคน ท่านไม่เคยมีอนุภรรยาอย่างนักการเมืองบ้ากามบางคน ท่านเป็นคนที่ควรแก่การยกย่องไว้ในฐานะบุคคลสำคัญของชาติที่เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

ในวาระครบรอบร้อยวันในการอสัญญกรรมของท่าน ขอให้คนไทยทุกคนผู้รักในสัจจะและมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีบุญคุณกับประเทศชาติ จงระลึกถึงคุณงามความดีของท่านผู้ให้กำเนิดระบอบประชาธิปไตยสำหรับคนไทยทุกคน

ข้าพเจ้าขอจบข้อเขียนชิ้นนี้ด้วยคำกลอนที่นักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสที่เขียนไว้อาลัยในคราวที่ท่านถึงแก่อสัญญกรรมที่กรุงปารีสว่า

โอ้ ประชาธิปไตย ใครเริ่มก่อ
โอ้ ใครหนอ กู้สยาม ยามคับขัน
เอกราช ศาลไทย ใคร ป้องกัน
ท่านผู้นั้น คือปรีดี ผู้มีคุณ


(บทความชิ้นนี้เขียนลงพิมพ์ในนิตยสาร ไทยแลนด์ในโอกาสครบรอบร้อยวันแห่งการอสัญญกรรมของท่านปรีดี พนมยงค์ โดยคุณอรุณ เวชสุวรรณ)



วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๕

เรียน คุณอรุณ เวชสุวรรณ ที่รัก

ผมได้รับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕ และต่อมาผมได้รับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ รวมทั้งหนังสือของท่านเจ้าพระคุณพุทธทาสภิกขุซึ่งคุณได้ฝากเพื่อนที่ปารีสนำมาให้ผมแล้ว เนื่องจากผมมีภารกิจด่วนหลายประการ อีกทั้งสุขภาพของผมไม่สมบูรณ์จึงตอบจดหมายคุณล่าช้าไป ขอคุณโปรดให้อภัยด้วย วันนี้ผมขอตอบจดหมายทั้ง ๒ ฉบับของคุณดังต่อไปนี้
๑.ผมขอขอบคุณเป็นอันมากที่คุณมีความปรารถนาดีต่อผม และได้เขียนโต้ผู้ใส่ร้ายผมโดยคุณมิได้หวั่นเกรงการคุกคามและการบีบบังคับใด ๆ ผมขอเดชะผลานิสงส์ที่คุณบำเพ็ญเพื่อสัจจะและเพื่อความเป็นธรรมแก่ผมนั้น โปรดดลบันดาลให้คุณประสบสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละทุกประการ
๒.ผมยินดีอนุญาตให้คุณคัดลอกข้อความและเอกสารในหนังสือและในบทความของผมเพื่อใช้ประกอบในการเขียนหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองนั้นได้
๓.พร้อมจดหมายฉบับนี้ ผมได้ส่งหนังสือของผมชื่อ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” มายังคุณ ๑ เล่มเพื่อเป็นที่ระลึก และมีเกร็ดในทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกสารแท้จริงหลายประการซึ่งผมอนุญาตให้คุณคัดลอกไปลงพิมพ์ในหนังสือของคุณได้ เกร็ดดังกล่าวต่างกับ “คำบอกเล่า” (Hearsay) ที่เกจิอาจารย์ซึ่งสมมติว่าเป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ได้อาศัย “คำบอกเล่า” เป็นหลักวิชาการ
๔. ผมระลึกถึงความเมตตาของท่านเจ้าประคุณพุทธทาสภิกขุที่เป็นห่วงว่าผมชราแล้วควรเพลิดเพลินในธรรมะ ผมได้ส่งจดหมายไปนมัสการท่านโดยตรงตามที่คุณแนะนำ

โอกาสนี้ขอส่งความรักและคิดถึงมายังคุณ
ปรีดี พนมยงค์
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่

No comments: