Monday, April 2, 2007

บทความที่ ๑๐๒ วาระสุดท้ายเผด็จการมุสโสลินี (จบ)

วาระสุดท้ายเผด็จการมุสโสลินี
ในวันที่ ๑๕ กันยายน มุสโสลินีเดินทางมาถึง ราสเต็นบูรก ในเยอรมนี โดยฮิตเล่อร์ได้เดินทางมารับถึงสนามบิน การพบปะกันระหว่างจอมเผด็จการทั้ง ๒ นั้นเป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง

“ท่านฟือห์เร่อร์” มุสโสลินีร้องเรียกด้วยน้ำตาอาบหน้า “ผมไม่ทราบจะขอบคุณท่านอย่างไร สำหรับความกรุณาของท่าน”

ฮิตเล่อร์รู้สึกตื้นตันใจ น้ำตานองหน้าเช่นกัน จอมนาซีก้าวเข้าไปจับมือมุสโสลินีแล้วบีบอย่างรักแรงแข็งขอบ

เมื่อทั้งสองได้เข้ามาห้องทำงานส่วนตัวของฮิตเล่อร์แล้ว จอมเผด็จการนาซีได้เตรียมแผนการไว้แล้วที่จะให้มุสโสลินีประกาศยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาปนาอิตาลีขึ้นเป็นรัฐฟาสซิสต์และอำนาจจะตกอยู่กับท่านดูเช่

“โดยวิธีนี้” ฮิตเล่อร์กล่าว “ท่านจะรับประกันสัมพันธมิตร ระหว่างเยอรมนีกับอิตาลีอย่างสมบูรณ์”

มุสโสลินีขอเวลาคิดในเรื่องนี้ แต่ไม่เป็นผลเพราะจอมเผด็จการเยอรมันได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะต้องดำเนินการตามแผนนี้ นอกจากนี้ฮิตเล่อร์ยังมีแผนที่จะสำเร็จโทษ เคานท์ ชิอาโน รัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นบุตรเขยของมุสโสลินีอีกด้วย ชิอาโนผู้นี้เคยมีส่วนช่วยนำอิตาลีมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของเยอรมัน แต่ต่อมากลับต่อต้านเยอรมันอย่างรุนแรง ซึ่งฮิตเล่อร์ถือว่าเป็นคนทรยศ

มุสโสลินี พยายามทัดทานว่า ชิอาโนเป็นสามีของบุตรสาวที่รักของเขาและเป็นพ่อของหลาน ๆ ของเขา

“ท่านดูเช่” ฮิตเล่อร์แย้งอย่างเด็ดขาด “ท่านเป็นคนดีเกินไป ท่านจะเป็นผู้เผด็จการไม่ได้เลย”

ในวันรุ่งขึ้น ฮิตเล่อร์ให้มุสโสลินีเลือกเอาระหว่างการประกาศสถาปนาอิตาลีเป็นรัฐฟาสซิสต์ หรือจะยอมให้บุตรเขยถูกประหารชีวิต มุสโสลินีได้เลือกเอาทางแรก ดังนั้นในวันที่ ๑๘ กันยายน เขาจึงประกาศทางวิทยุเรียกร้องให้ประชาชนชาวอิตาลีผนึกกำลังภายใต้รัฐใหม่ซึ่งเขาสถาปนาขึ้นเรียกว่า “สาธารณรัฐ ซาโล”

เคานท์ชิอาโน ถูกส่งตัวกลับอิตาลีเพื่อคุมขังไว้ที่นั่น และสำหรับสมาชิกสภาบริหารอีก ๕ นายซึ่งร่วมกันโค่นล้มมุสโสลินีแล้วถูกจับตัวได้ ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตทันที แต่ในที่สุดทั้งชิอาโนและสมาชิกสภาฯอีก ๕ คนก็ถูกประหารชีวิตพร้อมกันโดยการยิงเป้าโดยคำสั่งของสภาฟาสซิสต์ภายใต้การบงการของเยอรมัน

มุสโสลินี ทราบรายงานการประหารชีวิตชิอาโนจากบาทหลวงผู้อยู่กับนักโทษประหารจนนาทีสุดท้าย จอมเผด็จการแห่งอิตาลีไม่อาจสกัดกั้นความวิปโยคไว้ได้ ฟุบลงแล้วร้องไห้อย่างรุนแรง บัดนี้เขาได้ตะหนักถึงความกดดันภายใต้อำนาจของนาซีเหล็ก ซึ่งควบคุมตัวเขาไว้ที่ทะเลสาปการด้าและติดต่อโลกภายนอกได้โดยผ่านระบบโทรศัพท์ของกองทัพเยอรมัน เขามีภรรยาลับ ๆ อยู่ร่วมด้วย ณ ที่นั้น

กองทัพสัมพันธมิตรได้ยึดเมืองโบโรดนาได้ในวันที่ ๑๒ เมษายนปีต่อมา และรุกคืบหน้าเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ความหวังของมุสโสลินีอยู่ที่เยอรมันจะสามารถยึดแนวต้านทานที่แม่น้ำ โป ห่างไป ๕๐ ไมล์ตอนใต้ของมิลานได้นานพอ แต่เมื่อเขาได้รับรายงาน แนวต้านทานของเยอรมันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว

“ตามข่าวกล่าวว่าประชาชนอิตาเลียนต้อนรับทหารสัมพันธมิตรอย่างอบอุ่น เมื่อกองทหารสัมพันธมิตรเข้าสู่เมืองโบโรดนา” คนนำข่าวกล่าวแก่ดูเช่

“เป็นไปไม่ได้” มุสโสลินีกล่าวอย่างฉงนใจ

แต่ก็เป็นอย่างนั้น ท่านดูเช่ ประชาชนพร้อมที่จะต้อนรับทุก ๆ คนที่นำสันติภาพมาสู่พวกเขา

การรุกคืบหน้าหน้าอย่างรวดเร็วของกองทัพสัมพันธมิตร ทำให้มุสโสลินีต้องพิจารณาย้ายกองบัญชา การไปสู่เมืองวัลเตลลิน่า คลาเรตต้าภรรยาลับของดูเช่ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะติดตามไปร่วมทุกข์กับเขาจนถึงที่สุด หล่อนอยู่ในชุดทหารหญิงเตรียมจะเดินทางได้เสมอ แต่สุดท้ายมุสโสลินีได้ตัดสินใจเปลี่ยนไปยังทะเลสาปโคโม ซึ่งห่างไป ๓๐ ไมล์ทางทิศเหนือ ครั้นเมื่อไปถึงจุดแล้วเขาก็ลังเลใจว่าจะหนีข้ามแดนไปหาฮิตเล่อร์ทางด่านเบรนเน่อร์ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดจะลี้ภัยเข้าไปในสวิตเซอร์แลนด์

ดูเช่ได้รับรายงานว่านครมิลานได้เสียแก่สัมพันธมิตรแล้ว และมวลราษฎรในแถบนั้นก็กำลังรวมตัวกันต่อต้านเขาด้วยในลักษณะขบวนการใต้ดิน มุสโสลินีได้ตระหนักแล้วว่าประชาชนก็ประสงค์ร้ายแก่เขาและเขาอาจจะหนีไม่รอด เขาได้เขียนจดหมายถึงเรเชลภรรยารักของเขาที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลัง ข้อความในจดหมายมีว่า

ฉันได้มาถึงบทสุดท้ายของชีวิตแล้ว- หน้าสุดท้ายของหนังสือชีวิตของฉัน ฉันต้องขอโทษสำหรับทุกอย่างที่ฉันได้ทำกับเธอ โปรดทราบว่าเธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวซึ่งฉันมีความรักอย่างจริงใจ”

บัดนี้ข้างตัวของมุสโสลินีก็มีภรรยาลับและบุคคลชั้นนำของพรรคฟาสซิสต์บางคน แต่ไม่นานบุคคลดังกล่าวก็รู้ว่าอนาคตมุสโสลินีหมดแล้ว จึงค่อย ๆ หนีหายไปทีละคน ในการเดินทางช่วงสุดท้ายของชีวิตมุสโสลินีนั้น คณะของเขาประกอบด้วยบุคคลชั้นหัวหน้าฟาสซิสต์เพียง ๑๒ คนเท่านั้น

ขบวนการเดินทางของมุสโสลินีประกอบด้วยรถยนต์ ๔๐ คัน นำขบวนด้วยรถหุ้มเกราะติดปืนกลขนาด ๒๐ มิลลิเมตร ๑ กระบอกและปืนขนาดเล็กข้างรถอีก ๒ กระบอก ตามหลังมาคืออัลฟาโรเมโอ ซึ่งดูเช่ขับเอง ในขบวนของมุสโสลินี มีทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานซึ่งกำลังถอยทัพจำนวน ๒๐๐ คนร่วมเดินทางมาด้วย

การเดินทางได้เลียบมาตามถนนฝั่งตะวันตกของทะเลสาปโคโม แต่มิช้านานขบวนรถดังกล่าวนั้นก็ต้องหยุดชะงักลง ด้วยยางรถหลายคันถูกตะปูซึ่งพลพรรคใต้ดินได้โปรยเอาไว้เกลื่อนถนน ขณะนั้นกำลังมีฝนตกพรำ ๆ และบริเวณที่ขบวนเดินทางต้องหยุดชะงักลงนั้น มีภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับการลอบทำร้ายของฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างยิ่ง คือ ๕๐ หลาไปเบื้องหน้ามีต้นไม้และก้อนหินขวางถนนอยู่ ด้านซ้ายเป็นสันเขา และด้านขวาเป็นเหวลึกไปสู่ทะเลสาป

ทันใดนั้น สมาชิกของพลพรรคใต้ดิน ๓ นายก็ชูผ้าเช็ดหน้าสีขาวปรากฏตัวมุ่งหน้ามายังขบวนรถ ผู้เป็นหัวหน้าคือ ปิแอร์ ลิวจี เบลลินี่ ซึ่งไว้เคราดกครึ้ม มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบภูเขาการิบัลดี ของขบวนการใต้ดิน

ร้อยโท ฮานส์ ฟัลแมเยอร์ นายทหารเยอรมันประจำขบวนของมุสโสลินี ลงมาจากรถและเจรจากับเบลลินี่ว่าขบวนรถของเขากำลังเดินทางไปสู่เมือง เมอราโน และไม่มีความประสงค์ที่จะก่อเรื่องใด ๆ กับชาวอิตาลี เบลลินี่ปฏิเสธ เขาได้รับคำสั่งไม่ให้ผู้ใดผ่านเส้นทางสายนี้โดยเด็ดขาด เบลลินีถามนายทหารเยอรมันว่า ในขบวนเดินทางนั้นมีคนอิตาเลียนสมทบด้วยหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ามีอยู่ ๒-๓ คน แต่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับฝ่ายเยอรมัน เบลลินีก็แจ้งให้ฟัลแมเยอร์ทราบว่า เขาจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยเหนือก่อนที่จะให้ทหารเยอรมันผ่านไปได้

เบลลินี่ออกคำสั่งให้คนของเขากระจายกำลังออกมาตลอดแนวถนน ซึ่งเมื่อนายทหารนาซีได้ส่องกล้องมองเห็นไปไกลสุดสายตาก็เกิดความรู้สึกว่า พลพรรคของขบวนการใต้ดินอิตาเลียนนั้น มีกำลังมากต่อมาก ตนไม่อาจที่จะต่อสู้หรือต้านทานได้ เมื่อตระหนักดังนี้ ฟัลแมเยอร์ จึงได้ออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันของตนแตกตัวออกจากกลุ่มฟาสซิสต์ของมุสโสลินี คือทหารเยอรมนีจะเดินทางต่อไป ส่วนพวกฟาสซิสต์อิตาเลียนจะต้องอยู่ก่อนเพื่อการตรวจค้น แต่สำหรับมุสโสลินีนั้นฟัลแมเยอร์ต้องเอาตัวไปด้วยจึงได้ให้เขาปลอมตัวเป็นทหารเยอรมันเสีย

“หากผมไปพบท่านฟือห์เร่อร์ในสภาพนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าละอายมาก” มุสโสลินีกล่าวแย้ง

“แต่วิธีนี้ เป็นทางเดียวที่ท่านจะผ่านการปิดกั้นถนนไปได้” ฟัลแมเยอร์อธิบาย

“ผมขอคิดดูสักหน่อย” มุสโสลินียังลังเลใจ

“ไม่มีเวลาแล้วท่านดูเช่ เราต้องไปกันเดี๋ยวนี้แล้ว” ฟัลแมเยอร์หมดอดทน

แล้วมุสโสลินีก็ถูกพาตัวขึ้นรถหุ้มเกราะของเยอรมัน คลุมร่างด้วยเครื่องแบบสิบเอกพร้อมด้วยหมวกเหล็กเพียงไม่กี่อึดใจท่านดูเช่ก็ถอดหมวกเหล็กคล้องไว้ที่หน้าอก เสื้อคลุมนายสิบนั้นยาวลงมาคลุมขาของเขา ทหารเยอรมันได้บังคับให้มุสโสลินี สวมแว่นกันแดดและถือปืนพกยิงเร็วแบบ พี-๓๘ ท่านดูเช่ยังไม่หมดปัญหา เขาขอให้รัฐมนตรีฟาสซิสต์บางคนได้ร่วมเดินทางไปด้วย นายทหารเยอรมันปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของเขา จากนั้นขบวนรถของเยอรมันก็เริ่มออกเดินทางโดยมีมุสโสลินีในเครื่องแบบสิบเอกนาซีนั่งไปในรถคันที่สาม

พอถึงเวลาบ่ายสามโมง ขบวนรถก็เข้าเทียบท่าเรือ ดอนโก ซึ่ง ณ ที่นั้นพลพรรคของขบวนการใต้ดินได้รออยู่เพื่อตรวจค้น หัวหน้าพลพรรคนาซีมีชื่อว่า บิล ลาซซาโร ซึ่งกำลังตรวจเอกสารของเยอรมันอยุ่ในรถบรรทุกคันที่สอง ได้ยินเสียงตะโกนเรียก เขาพบว่าลูกน้องคนหนึ่งของเขากำลังวิ่งมาหาเขาจากรถบรรทุกคันที่สามซึ่งจอดอยู่ถัดไป

บิล กิวเซบเป เนกริ พลพรรคใต้ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทหารพลประจำปืนเรือรบและเคยเห็นมุสโสลินีอย่างใกล้ชิด กระซิบบอกหัวหน้าของเขา “เราได้ตัวไอ้ทรชนแล้ว”

มุสโสลินีมิได้ขัดขืนการจับกุมแต่อย่างใด เขาถูกคุมตัวลงจากรถบรรทุกเข้าไปยังศาลาว่าการเมือง เมืองดอนโก และนั่งรออยู่ ณ ที่นั้นโดยไม่กล่าวสิ่งใดนอกจากขอน้ำดื่มแก้วหนึ่ง

เบลลินี่หัวหน้าหน่วยพลพรรคใต้ดินไม่มีความประสงค์จะทำอันตรายมุสโสลินี แต่เขาเกรงว่าพวกฟาสซิสต์จะบุกชิงตัว หรือแม้สมาชิกของขบวนการใต้ดินเองก็อาจสร้างความวุ่นวายได้เพรามีข่าวลือที่ว่าขบวนการเดินทางของมุสโสลินี มีทองคำแท่งและเงินตราต่างประเทศจำนวนมากมาด้วย ซึ่งจะใช้เป็นทุนสำรองของสาธารณรัฐ ซาโล ที่มุสโสลินีสถาปนาขึ้น ดังนั้นในเวลา ๑๙ นาฬิกาของวันเดียวกัน เบลลินี่จึงนำตัวมุสโสลินีย้ายเข้าไปควบคุมในที่ตั้งทหารที่เมืองเยอรมาซิโน ซึ่งห่างออกไป ๔ ไมล์

มุสโสลินีได้ร้องขอให้เบลลินี่ นำความไปบอกแก่ภรรยาลับของเขาคือ คลาเรตต้าซึ่งยังถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ศาลาว่าการเมืองดอนโก คลาเรตต้าถามเบลลินี่ว่าท่านดูเช่จะถูกควบคุมตัวอีกนานเท่าใด หัวหน้าพลพรรคใต้ดินปฏิเสธว่าไม่ทราบ เขากำลังรอคำสั่งจากเบื้องต้น คลาเรตต้าขอร้องให้นำตัวเธอไปพบกับมุสโสลินีและเธอพร้อมที่จะเผชิญชะตากรรมร่วมกับเขา

หัวหน้าพลพรรคใต้ดินรู้สึกอึดอัดใจ เขาทราบดีว่าถ้าเกิดสิ่งใดขึ้น คลาเรตต้าก็จะต้องได้รับอันตรายไปด้วยอย่างแน่นอน

“คุณจะยิงเขาใช่ไหม ?” เธอถาม

“ไม่ ๆ ผมไม่ทำเช่นนั้น”

“ถ้าเช่นนั้น โปรดให้สัญญา” หล่อนอ้อนวอน “ถ้าแม้มุสโสลินีจะถูกประหาร ฉันจะอยู่เคียงข้างกับเขา ฉันขอร้องคุณเพียงเท่านี้ ฉันขอร้องที่จะตายพร้อมกับเขา”

ด้วยความตื้นตัน เบลลินี่กล่าวกับเธอว่า

“ขอให้ผมปรึกษาพวกพ้องผมดูก่อนในเรื่องนี้”

ณ บัดนั้น มุสโสลินีกำลังเป็นที่ต้องการตัวจากสองฝ่าย คือฝ่ายคอมมิวนิสต์แห่งขบวนการใต้ดินบางคนที่ต้องการชีวิตเขา อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องการจับเป็น(เพื่อนำไปขึ้นศาลอาชญากรสงคราม) ซึ่งผู้รับหน้าที่นี้ได้แก่ร้อยเอก เอ็มมิเลียว ดัดดาริโอ แห่งกองทัพบกอเมริกันที่ได้รับคำสั่งให้ค้นหาตัวมุสโสลินีเพื่อจับตัวกลับไป แต่เมื่อร้อยเอก ดัดดาริโอเดินทางมาถึงมิลานก็ให้มีอันต้องติดภารกิจเกี่ยวกับการรบที่ทหารเยอรมันในมิลานยังยึดไว้ได้หลายจุด

ขณะเดียวกันนั้นฝ่ายขบวนการใต้ดินซึ่งทราบแล้วว่ามุสโสลินีถูกควบคุมไว้ที่ไหน ก็ได้แต่งตั้งวอลเตอร์ ออดิสิโอ หรือ “พันเอก วัลเลริโอ” ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งได้ถูกฟาสซิสต์อิตาลีคุมขังลงโทษ ให้ไปปฏิบัติตัดสินโทษมุสโสลินี ออดิสิโอเดินทางมาถึงดอนโกพร้อมด้วยพลพรรคคอมมิวนิสต์ในวันที่ ๒๘ เมษายน

ออดิสิโอแจ้งแก่เบลลินี่ว่าเขาได้รับคำสั่งให้ประหารชีวิตบุคคลจำนวนมากและในจำนวนนี้มีมุสโสลินีและคลาเรตต้ารวมอยู่ด้วย

“คุณจะฆ่าผู้หญิงด้วยหรือ ?” เบลลินี่ถามอย่างตกใจ “เธอก็เป็นเพียงภรรยาลับของดูเช่ ถึงกับจะฆ่ากันเชียวหรือ ?”

“ผมไม่ได้เป็นคนออกคำสั่ง ผมเพียงได้รับคำสั่งและมาปฏิบัติให้ลุล่วงเท่านั้น” ออดิสิโอกล่าว

เบลลินี่นึกย้อนไปเมื่อวานนี้ที่เขาได้ย้ายมุสโสลินีไปยังบ้านนาแห่งหนึ่งเชิงเขา ณ ตำบลกียูลิโนดี เมชเซกร้า และเขายอมให้คลาเรตต้าได้ไปอยู่กับมุสโสลินี ณ ที่นั้นด้วย นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เขาจะทำให้แก่บุคคลทั้งสองได้

บัดนี้เขาจึงส่งลูกน้องสองคนไปรับตัวมุสโสลินีจากกระท่อมปลายนาให้ไปส่งที่ศาลากลางเมืองดอนโก แต่เขาลืมไปว่ามอเร็ตตี้ลูกน้องคนที่เขาส่งไปนั้น เป็นคอมมิวนิสต์ประเภทบ้าคลั่งเช่นเดียวกับ ออดิสิโอ ซึ่งขอร่วมไปรับตัวมุสโสลินีด้วย

คณะของขบวนการใต้ดิน ได้เดินทางมาถึงกระท่อมที่ใช้เป็นที่พักของมุสโสลินีและคลาเรตต้าในเวลา ๑๖ นาฬิกา ออดิสิโอแจ้งกับมุสโสลินีว่า

“ผมมาปลดปล่อยท่าน”

“งั้นหรือ ?” มุสโสลินีกล่าวอย่างประชด “ช่างเป็นความกรุณาสูงสุดของคุณ”

ออดิสิโอบอกให้มุสโสลินีและคลาเรตต้าเก็บข้าวของ แล้วพาตัวไปขึ้นรถเฟียตที่จอดรอที่หน้ากระท่อม คลาเรตต้านั่งในตอนหลังกับมุสโสลินี หล่อนจับมือเขาไว้แน่น ไม่มีคำพูดใด ๆ ขณะที่รถยนต์คันนั้นวิ่งเลาะลงจากจากเขา และเมื่อมาถึงทางเข้าของหมู่บ้าน เบลมอนเต้ ออดิสิโอก็สั่งให้รถหยุดและให้มุสโสลินีกับคลาเรตต้าลงจากรถ เดินไปที่กำแพงอิฐที่ประตูทางเข้าหมู่บ้าน

“โดยคำสั่งของกองบัญชาการขบวนการเสรีภาพ ผมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสำเร็จโทษท่าน ในนามของประชาชนชาวอิตาเลี่ยน” ออดิสิโอแจ้งต่อมุสโสลินี


คลาเรตต้าร้องขึ้นกลบเสียงเขา

“อย่า ! อย่าทำ คุณต้องไม่ทำเช่นนั้น”

“ออกไปให้พ้นถ้าคุณไม่อยากจะตายด้วย” ออดิสิโอตวาด จากนั้นเขาลั่นไกปืนพก ๓ ครั้งแต่กระสุนด้านทั้ง ๓ ครั้ง

“เร็ว เอาปืนของคุณมาให้ผม” ออดิสิโอร้องบอกมอเรตตี้ ผู้ซึ่งรีบส่งปืนให้เขาตามคำขอ

ขณะนั้นมุสโสลินี ได้เปิดกระดุมเสื้อชั้นนอกสีเขียวปนเทาของเขาออกตลอดแนวอกแล้วร้องบอก

“ยิงผมตรงที่หน้าอกนี่แหละ”

คลาเรตต้าถลันเข้ามาขวาง แต่สายไปเสียแล้ว ปืนพกยิงเร็วออก ๒ ชุดจากมือของออดิสิโอ ชุดแรก ๕ นัด ชุดต่อมา ๔ นัด รวม ๙ นัด มุสโสลินีและคลาเรตต้าล้มฟุบลง คลาเรตต้าถูกกระสุนนัดหนึ่งเข้าที่หัวใจ เธอสิ้นชีวิตทันที ส่วนมุสโสลินีถูกกระสุนฝังใน ๕ นัดแต่เขายังไม่ตายในทันที ออดิสิโอเดินเข้าไปยิงเขาอีกนัดหนึ่ง ลูกกระสุนวิ่งเข้าสู่หัวใจ !!!

จากนั้นก็ได้มีการนำศพของคนทั้งสองขึ้นใส่รถบรรทุกกลับเข้าเมืองมิลาน รวมกับศพของสมาชิกพรรคฟาสซิสต์อีก ๑๕ คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้แค้นแทนสมาชิกของขบวนการใต้ดิน ๑๕ คนซึ่งถูกประหารชีวิตโดยฝ่ายเยอรมัน

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนได้หลั่งไหลเข้ามาดูศพมุสโสลินีซึ่งถูกทิ้งอยู่ข้างถนน !!! บางคนก็ถ่มน้ำลายใส่และบางคนก็ยกเท้าเตะศรีษะของศพอดีตผู้เผด็จการ บ้างก็เต้นระบำเริงร้องไปรอบๆศพดูเช่ อันเป็นภาพที่แสนจะทุเรศนัยน์ตา

เจ้าหน้าที่พยายามที่สกัดกั้นฝูงชนด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้าและฉีดน้ำไล่ แต่ก็เป็นผลสำเร็จ ความเกลียดชังนั้นเมื่อให้เกิดขึ้นแล้วก็เสมือนอัคคีกองใหญ่ พึงดับได้ยากโดยแท้

ในที่สุดศพของ เบนิโต มุสโสลินี ดูเช่จอมเผด็จการแห่งอิตาลี ก็ถูกมวลประชาชนจับแขวนคอห้อยศรีษะลงดินท่ามกลางเสียงระฆังที่ดังกระหึ่มกังวาลจากโบสถ์ และข่าวการตายของเขาก็แพร่กระจายออกไปทั่วโลก..


จากบทความต้นฉบับ “The last Days of Mussolini”

เรียบเรียงจากหนังสือ “บ้างหน้าของประวัติศาสตร์” ของ วิชิตวงศ์ ณ ป้องเพชร
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่

No comments: