Monday, April 30, 2007

บทความที่ ๑๒๔. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๗

ตอนที่ ๗ เหตุการณ์หลบหนีเมื่อคืนวันที่ ๘ พ.ย. ๙๐

“ในคืนเกิดเหตุ ผมได้ขี่จักรยานยนต์ออกสำรวจ พบรถถังออกมาเดินเพ่นพล่านหลายแห่งครับ ผมจึงกลับมาเรียนท่าน แล้วรถถังสองคันได้มาถึงสะพานท่าช้างแล้ว ท่านจึงได้ลงเรือจ้าง...”

“อ้าว,แล้วไปหาเรือจ้างที่ไหนทัน ?” ข้าพเจ้าทัก

“บัว” ผู้ซื่อสัตย์หัวเราะแล้วสอดขึ้นมาว่า

“มันแปลกครับ เวลานั้นก็ดึกแล้วราย ๒๓.๐๐ น. เรือจ้างที่ท่าช้างนั้นก็มีอยู่ลำเดียวเท่านั้น แล้วก็ทำท่าแจวจะออกจากท่าไปเสียด้วย จึงให้เด็กเรียกเข้ามาที่ศาลาท่าน้ำ ท่านก็เลยลงเรือที่นั่นเลย..”

ข้าพเจ้าพยักหน้าแสดงว่าเข้าใจเรื่องแล้ว ฟังเขาเล่าต่อไป

“เวลานั้นท่านแต่งตัวนุ่งกางเกงแพรดำ สวมเสื้อยืดแขนสั้นสีขาว มีผ้าขาวม้าคาดพุง แล้วก็สวมรองเท้าคัดชูก่อนจะลงเรือท่านได้โทรศัพท์ไปหาคุณหลวงอดุลฯ ที่วังปารุส แต่สายโทรศัพท์ได้ถูกตัดเสียแล้ว..”

“ก่อนจะเกิดเรื่อง คุณหลวงธำรงและคุณหลวงอดุลฯ มานั่งคุยด้วยกันกับท่านที่ศาลาท่าน้ำ เสียงคุยกันเอะอะเรื่องเปลี่ยนรัฐบาล แต่รายละเอียดใครว่ากันอย่างไรผมจำไม่ค่อยได้ ตอนคุยกันอยู่นั้นท่านนอนเล่นอยู่ที่เก้าอี้หวาย ลงท้ายคุณหลวงธำรงกลับไปก่อน คุณหลวงอดุลฯยังได้ตามออกไปส่งด้วย ภายหลังคุณหลวงอดุลฯจึงได้ออกไป พอออกไปได้ไม่ถึง ๕ นาทีก็มีรถถังและรถยนต์บรรทุกทหารมา ๑ คันมาที่ท่าช้าง ท่านจึงได้โทรศัพท์ถึงคุณหลวงอดุลฯ แต่สายถูกตัดไปเสียก่อน...”

“แล้วยังไงอีกล่ะ...?” ข้าพเจ้าเร่ง

“ทหารในรถถังที่จอดอยู่ที่สะพานท่าช้างเอาก้อนหินปาหลอดไฟฟ้าที่ติดอยู่ที่เสาไฟฟ้านั้นดับ ต่อจากนั้นก็เอาปืนกลยิงขึ้นไปบนห้องนอนของท่าน และกราดไปรอบ ๆ บริเวณบ้าน และก็เอารถถังเข้าชนประตูหน้าทำเนียบด้วย ตอนนั้นท่านลงเรือไปแล้ว เราลอยเรือฟังเสียงยิงทำเนียบอยู่ตลอดเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ทราบว่ามาหยุดเอาเมื่อคุณหลวงอดุลฯ มาห้าม เสียงว่าได้ตบหน้านายทหารที่มานั้นด้วย...”

“ไม่เห็นบอกว่านั่งเรือจ้างไปด้วยกันกี่คน ?” ข้าพเจ้าซัก

“ ๓ คนครับ มีสิงห์โตนั่งหัวเรือ ท่านนั่งกลาง ผมนั่งท้าย แล้วก็มีคนแจวอีกคนหนึ่ง”

“ผมให้คนแจวเรือ แจวข้ามไปฟังโน้น ผ่านวัดเสาวคนธ์ขึ้นไปทางเหนือ แจวทวนน้ำเสียด้วย แล้วก็ผ่านวัดดาวดึงส์ไปได้หน่อยก็แจวข้ามฟากมาฝั่งพระนครเพื่อจะมาฟังอาการ พอมาถึงฝั่งนี้ก็ล่องลงใต้ตามน้ำผ่านบ้านคุณหลุยน้องชายของท่าน แต่ว่าไม่ได้ขึ้นไป ค่อย ๆ ผ่านกรมปุศสัตว์ เวลานั้นทหารบกยึดกรมปศุสัตว์และบ้านมะลิวัลย์หมดแล้ว

พอเรือเราผ่านกรมปศุสัตว์เท่านั้นละครับ ทหารเอาไฟฉายลงมาแล้วก็ไฟฟ้าตรงท่าเรือตรงนั้นก็สว่างอยู่แล้วด้วย ทหารเขาตะโกนถามลงมาว่า

“เรือใคร ?”

ส.ต.ต.สิงห์โต เล่าสอดถึงการแสดงบทบาทของเขาต่อ

“ผมใจหายหมดเลยครับ ไม่รู้จะทำยังไงดี ก็เลยใช้ปฏิภาณเอาดื้อ ๆ ผมชูปืนทอมสันขึ้นให้ดู ปากผมก็ตะโกนตอบไปว่า “สายตรวจลำน้ำครับ...พวกเดียวกันครับ...” เวลานั้นผมอยู่ในเครื่องแบบตำรวจด้วยเลยเป็นการพรางไปในตัว เจ้าทหารนั่นเลยหลงเชื่อปล่อยให้เราไปเลยครับ...”

พูดจบเขาหัวเราะเบา ๆ แสดงความปราโมทย์อย่างสูงและคึกคนองในผลงานที่สามารถทำให้ผ่านอุปสรรค์ในเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นไปได้

ข้าพเจ้ายิ้มรับในผลของการปฏิบัติงานของเขา พร้อมกันข้าพเจ้าได้เหลียวไปดูปืนกลมือ “ทอมสัน” กระบอกที่ ส.ต.ต.สิงห์โต ได้ใช้ปฏิบัติงานมาแล้ว วางผิงอยู่ที่ข้างเสา ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกภาคภูมิใจว่ามันได้ประโยชน์ให้อย่างล้นค่า เพราะปืนกลกระบอกนี้เองที่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้มอบไว้ให้ ส.ต.ต.สิงห์โต ก่อนหน้ารัฐประหารสักเล็กน้อย และได้เคยกำชับว่าอาวุธปืนกระบอกนี้ให้เก็บไว้อารักขาท่าน ปรีดี พนมยงค์ เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น เนื่องจากการรัฐประหารจะเกิดขึ้นในไม่ช้าแล้ว

“อ้าว,ต่อไปแล้วยังไงอีกล่ะ” ข้าพเจ้าเตือน

บัว เป็นผู้เล่าต่อไป

“ผมเห็นท่าไม่ค่อยจะดีเลยสั่งให้เรือจ้างแจวออกไปกลางแม่น้ำเลยครับ ต่อจากนั้นก็ไปที่ปากคลองบางกอกน้อย แล้วแวะขึ้นที่บ้านท่านขุนลิขิต ฯ ท่านก็บ่นถึงคนโน้นคนนี้อยู่เรื่อย เพราะเป็นห่วงว่าจะได้รับอันตราย พักอยู่ถึง ๔.๐๐ น.จึงได้ออกเรือต่อไป ท่านขุนลิขิตฯ ก็ดีทายาท แกจัดการหาสะเบียงลงเรือเป็นที่เรียบร้อยทีเดียว มีไข่ต้มข้าวปลาอาหารพร้อม ตอนนั้นท่านหันมาถามผมว่ามีสตางค์จะให้ค่าเรือจ้างบ้างไหม ? ผมตอบไปว่ามีอยู่สองบาทก็พอดีท่านขุนลิขิตฯ บอกว่าคนแจวเรือนั้นเป็นลูกน้องของท่านเอง ไม่ต้องเป็นห่วงค่าเรือจ้าง ท่านขุนจะออกให้ภายหลังเอง ลงท้ายก็เลยไมต้องจ่ายค่าเรือ พอเรือออกท่านขุนลิขิตฯ ก็เลยไปกับพวกเราด้วย แจวไปจนถึงบางกรวย ไปหานายตำรวจคนหนึ่งให้เขาช่วยเหลือจัดที่พักให้

ไปถึงที่นั่นเวลาประมาณ ๕.๐๐ น. นายตำรวจคนนั้นเขาก็ดีเหลือเกินจัดหาเรือยนต์ให้หนึ่งลำ เดินทางต่อไปพักที่บ้านภรรยาเขาที่อยู่ในคลองซอยที่จะทะลุคลองบางหลวง ในระหว่างที่เดินทางไปนั้นเป็นรุ่งเช้าของวันที่ ๙ มีการทอดกฐินกันหลายราย เรือกฐินก็สวนทางกันไปมา มีการแห่แหนไปตลอดทาง จนเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. จึงถึงบ้านภรรยานายตำรวจนั้น แล้วก็เลยพักอยู่ที่นั่นชั่วคราว

ท่านก็สั่งให้ท่านขุนลิขิต ฯ กลับไปบอกคุณผู้หญิงพูนศุขว่าปลอดภัยแล้วและให้ไปเอาเสือผ้าด้วย นอกจากนั้นก็เลยใช้ให้ไปติดต่อนายเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขาฯ ของท่านเพื่อให้ไปติดต่อกับหลวงนาวา ฯ ว่าท่านต้องการพบ และต้องการไปพักในท้องพระโรงพระเจ้าตากสิน ที่ตั้งของกองทัพเรือ ขุนลิขิตฯ ได้เดินทางกลับไปจัดการตามที่ท่านสั่งจนถึงเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. จึงกลับมาบอกว่าทุกสิ่งเรียบร้อยตามคำสั่งนั้น...”

เขาหยุดนิดหนึ่ง หลังจากกลืนน้ำลายแก้ฝืดคอแล้วก็สาธยาต่อ

“...พอค่ำท่านก็ออกจากที่พัก เดินด้วยเท้ามาประมาณ ๑ กิโลถึงที่นัดหมายที่ชายคลองบางหลวง พอเวลา ๑๒.๐๐ น. ก็มีเรือยนต์ของกองทัพเรือพร้อมด้วยทหารเรือมีกำลัง ๑ หมวดมารับท่าน ท่านได้ลงเรือลำนั้นไปพบหลวงนาวาฯ ผู้บังคับกองเรือรบที่กองบังคับการท่าราชวรดิษฐ์ ส่วนผมอยู่ข้างนอก ไม่ว่าท่านได้ปรึกษาเรื่องอะไรกัน จนกระทั่ง ๒๓.๐๐ น. ท่านจึงได้ข้ามฟากมาที่ท้องพระโรงพระเจ้าตากสินแล้วก็พักแรมอยู่ที่นั่น.

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๐ เวลาประมาณ ๕.๐๐ น. หลวงธำรงฯ ไปหาและต่อมาพอเวลา ๑๘.๐๐ น. หลวงสังวรณ์ก็ไปหา แล้วก็พากันลงเรือยนต์ลำที่หลวงสังวรณ์จัดหามาให้ ในเรือนั้นมีกำลังทหารเรือมาด้วย แต่ไม่มากเหมือนลำแรก แล่นลงใต้เพื่อไปบางนา แต่ได้หลบเข้าอยู่ในคลองในสวนแห่งหนึ่งตลอดวัน ค่ำแล้วจึงออกเรือ ถึงบางนาเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. แล้วก็พักแรมอยู่ที่นั่น ในระหว่างนี้มีคุณทองอินทร์ และคุณจำลอง ดาวเรืองและจะมีใครอีกบ้างจำไม่ได้

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๑ ท่านได้ไปลงเรือ “ปรง” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันของกองทัพเรือไปขึ้นที่สัตตหีบ คุณหลวงธำรงฯ ไม่ได้ไปด้วยแยกไปต่างหาก คงไปด้วยแต่หลวงสังวรณ์ ถึงสัตตหีบเวลาประมาณ ๒๑.๐๐น.”

บัวหยุดเล่าแล้วเอื้อมมือไปหยิบแก้วสีเหลือง ๆ ขึ้นดื่มแก้คอแห้ง ข้าพเจ้าขอบใจเขาทั้งสองที่อุตส่าห์เหตุการณ์ให้ฟังอย่างแจ่มแจ้งในการดำดินของท่านปรีดี พนมยงค์ ข้าพเจ้าไม่ลืมหันไปทาง ส.ต.ต.สิงห์โต และกับชับเขาอีกว่า

“สิงห์โต, ลื้ออย่าทิ้งท่านนะ”

เขาหันมายิ้มอย่างหนักแน่นกับข้าพเจ้า และตอบรับว่า

“เรื่องนั้นขอให้ผู้กองโปรดไว้ใจผม, ผมทิ้งท่านไม่ได้ดอก”

ข้าพเจ้าเอื้อมมือไปตบที่บ่าเขาอย่างเห็นอกเห็นใจและรู้สึกว่าเขามีความจงรักภักดีจริง ๆ ส่วน บัว นั้นก็สาละวนอยู่กับการเติมโซดาลงไปในน้ำสีเหลือง ๆ ส่งให้ข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอตัวเพราะไม่ใช่ “คอ”

Sunday, April 29, 2007

บทความที่ ๑๒๓. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๖

ตอนที่ ๖ ไปพบท่านปรีดี พนมยงค์

บัดนี้เป็นการแน่นอนแล้วว่า คณะรัฐประหารต้องการตัวข้าพเจ้าและสั่งจับอย่างเงียบ ๆ บ้านพักของข้าพเจ้าที่ซอยบ้านดอน ถูกล้อมและเข้าทำการตรวจค้น โดยทหารได้ยึดอาวุธปืนไปหลายกระบอก การระส่ำระสายเกิดขึ้นโดยทั่ว ๆ ไปภายในพระมหานคร เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าจำเป็นต้องหลบออกไปให้พ้นวิถีแห่งการปั่นป่วนเสียเป็นการชั่วคราว

ข้าพเจ้าเดินทางไปชลบุรีโดยมิชักช้า เพราะอธิบดีของข้าพเจ้ายังอยู่ที่นั่น และยังมิได้ถูกปลดออกจากประจำการ ก็พอที่จะคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่ข้าพเจ้าได้ พอท่านอธิบดีเห็นข้าพเจ้าเข้าเท่านั้นก็รีบกล่าวขึ้นว่า

“ไม่ไปพบอาจารย์บ้างหรือ ?”

คำว่า “อาจารย์” ข้าพเจ้าเข้าใจทันทีว่า มีความหมายถึงท่านปรีดี พนมยงค์ ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะต้องตอบท่านว่าอย่างไร ก็ได้ยินเสียงพูดออกมาอีกว่า

“อยู่สัตตหีบ..ไปเยี่ยมซิ !”

“ครับ”

ข้าพเจ้าตอบรับทันที ต่อจากนั้นข้าพเจ้าได้รายงานให้ท่านทราบถึงรายละเอียดในการที่ได้พบจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านก็ได้แต่บอกว่าให้พวกเราอยู่เฉย ๆ ไปก่อนดูท่าทีเขาว่าจะทำอย่างไรต่อไป

บ้านพักของท่านอธิบดีอยู่ริมถนนสายใหญ่จากกรุงเทพฯ ไปชลบุรี ด้านซ้ายมือติดกับวัดเขาบางทรายเป็นเนินดินที่สูงกว่าธรรมดาเล็กน้อย หลังบ้านออกไปนั้นเป็นไร่กล้วยค่อย ๆลาดสูงขึ้นไปยังภูเขาลูกใหญ่บนยอดภูเขานั้นมองเห็นเจดีย์ตระหง่านอย่างสวยงาม อากาศแจ่มใส ภายในบ้านรู้สึกว่ามีบรรยาการที่คึกคักมาก เพราะมีนายทหารและนายสิบพลทหารแห่งกรมสารวัตรติดตามมาอยูด้วยหลายสิบคน ส่วนพวกที่มาเยี่ยมก็ผลัดกันเข้าออกอยู่เรื่อย ๆ อาวุธทุกแบบวางเรียงอยู่เป็นตับและพร้อมอยู่เพื่อการต่อสู้ ที่หน้าบ้านนั่นเล่าก็มีทหารเรือในเครื่องแบบยืนรักษาการณ์ให้ความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวท่านอธิบดีนั้นก็สาระวนอยู่กับการต้อนรับทหารแห่งกรมสารวัตรที่มาเยี่ยมเยี่ยน

ข้าพเจ้ารีบเดินทางต่อไปยังสัตตหีบโดยเร็ว เพื่อต้องการพบท่านปรีดี พนมยงค์ ข้าพเจ้าขับรถด้วยตนเองฝุ่นตลบและไม่ได้หยุดพักแห่งใด ภายหลังเมื่อข้าพเจ้าได้แจ้งความประสงค์แก่นายทหารประจำกองรักษาการณ์นั้น เขาได้หมุนโทรศัพท์เข้าไปขอรับอนุมัติจากภายในเสียก่อน ข้าพเจ้าจึงสามารถผ่านกองรักษาการณ์นั้นเข้าไปได้

รถของข้าพเจ้าหยุดลงที่หน้าบ้านพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ณ ชายทะเลอ่าวตากัน เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปบนบ้านยกพื้นสูงนั้น พลันก็ได้พบท่านปรีดี พนมยงค์เดินตรงออกมารับข้าพเจ้าเหมือนดั่งว่าได้ทราบมาก่อนแล้วว่าข้าพเจ้าจะเข้ามา ท่านตรงเข้ามาสวมกอดข้าพเจ้าอย่างดีอกดีใจ พร้อมทั้งกล่าวขึ้นมาเบา ๆ ว่า “เออ, เฉียบมา ๆ...”

ก่อนอื่นข้าพเจ้าเรียนกับท่านว่า

“ผมถูกเขาสั่งปลดแล้วครับ”

แทนที่ท่านจะโศกเศร้าไปกับข้าพเจ้า กลับชอบใจหัวเราะร่าและพูดขึ้นดัง ๆ ว่า

“เออดี,มันโง่..มันไล่เสือเข้าป่า ถ้ามันฉลาดจะต้องเรียกคุณเข้าประจำกองบัญชาการให้อยู่ใกล้ ๆ ถ้าต้องการตัวเมื่อใดก็ตะบบเอาง่าย ๆ ดีกว่า แล้วคุณก็ไม่ไปไหนเพราะเป็นห่วงตำแหน่ง...”

ข้าพเจ้าพลอยหัวเราะไปกับท่านด้วยเพราะบัดนี้ข้าพเจ้าได้เห็นจริงจังดั่งที่ท่านได้กล่าวนั้น เหมือนกับท่านได้เปิดฝาที่ครอบโปมองเห็นทะลุลูกเต๋า คณะรัฐประหารสั่งการเกี่ยวกับกรณีของข้าพเจ้าผลีผลามไปสักหน่อย จึงดำเนินการผิดพลาดไม่ได้ตัวข้าพเจ้าตลอดเวลาอันยาวนาน

เมื่อข้าพเจ้าถามท่านว่า “แล้วท่านจะทำอย่างไรต่อไปล่ะครับ ?”

ท่านปรีดีตรงเข้ามาฉุดข้อมือข้าพเจ้าลงจากเรือนไม้หลังนั้นไปยังศาลาพักร้อนหลังบ้าน ณ ที่นั้นเป็นหลังคามุงจาก มีโต๊ะและเก้าอี้ ตั้งไว้เรียบร้อย ท่านชี้ให้ข้าพเจ้านั่งลงที่เก้าอี้ตัวหนึ่ง แล้วจึงกล่าวขึ้นว่า

“ผมน่ะสู้เขา...เราถูกข่มเหง, นี่ผมกำลังวางแผนการอยู่...โน่นเตียงก็มาพักอยู่ที่บ้านหลังโน้น” พร้อมทั้งคำพูดท่านบุ้ยปากไปยังบ้านหลังถัดไป

ข้าพเจ้ามิทันจะตอบประการใดท่านก็ถามข้าพเจ้าขึ้นมาอีกว่า

“ผมขอมอบหน้าที่ในการยึดกรมตำรวจให้เป็นหน้าที่ของคุณ จะทำได้ไหม ?”

ข้าพเจ้างุนงงเมื่อได้ฟังคำของ “รูธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทยถามว่า ข้าพเจ้าจะสามารถยึดกรมตำรวจได้หรือไม่ ? เพราะมันช่างตรงข้ามกับคำสั่งของอธิบดีของข้าพเจ้าที่บอกว่า เราจะไม่ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้และให้ชลอเวลาดูเขาต่อไป นี่ย่อมแสดงว่าความขัดแย้งได้เกิดขึ้นภายในแล้ว

แต่เมื่อพูดถึงการต่อสู้สำหรับข้าพเจ้านั้นก็พร้อมและยินดีจะรับหน้าที่นั้น เพราะเรายังถือว่ารัฐบาลของนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังมีชีวิตอยู่ ถ้ามีการต่อต้านขึ้นก็ย่อมหมายความว่าเป็นการปราบปราม “กบฏ” ซึ่งเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อสลัดความงุนงงออกแล้ว ข้าพเจ้าก็รับปากกับท่านว่า

“ได้ครับ”

“จะเป็นที่หนักใจมากไหม ?”

ข้าพเจ้าหัวเราะแทนคำตอบและไม่ลืมคุยเขื่องกับท่านว่า

“ง่าย ๆ ครับ ไม่ยากอะไร...”

“ถ้าเช่นนั้นเอาไปนอนคิดเสียคืนหนึ่งก่อน พรุ่งนี้จึงมาคุยกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรกันดี โน่นไปคุยกับเตียงเขาซิ..” พร้อมทั้งคำพูดท่านชี้มือไปยังบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กัน

ข้าพเจ้ามิได้ไปหานายเตียง ศิริขันธ์ ดั่งที่ท่านชี้ให้แต่อยากจะคุยกับบุรุษผู้ยกแก้วใส่น้ำสีเหลือง ๆ มาให้ข้าพเจ้าคือ “บัว กลางการ” และอีกผู้หนึ่งคือ “ส.ต.ต.สิงห์โต ไทรย้อย” ตำรวจอารักขาประจำตัวท่าน เวลานี้ทั้งสองนั่งอยูที่ใต้ถุนบ้าน ข้าพเจ้าเร่เข้าไปจับมือเขย่าทั้งสองคน แล้วการสนทนาก็เริ่มขึ้นเพราะข้าพเจ้าอยากจะทราบว่า ท่านปรีดี พนมยงค์นั้นได้ดำดินมาโผล่ขึ้นที่สัตตหีบได้อย่างไร จึงได้ตั้งคำถามขึ้นก่อนว่า

“ไง สิงห์โต มากันได้อย่างไร...?”

ส.ต.ต.สิงห์โต ยิ้มน้อย ๆ และเริ่มเล่ารายละเอียดให้ฟังอย่างแจ่มแจ้ง

บทความที่ ๑๒๒. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๕


จนเช้าวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ข้าพเจ้าก็คงมาทำงานตามปกติ ณ กองตำรวจสันติบาล ขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานนั้น มีพลตำรวจคนหนึ่งเข้ามาชิดเท้าต่อหน้าข้าพเจ้าพร้อมกับรายงานว่า

“ท่านรองผู้บังคับการ จำรัส เชิญไปพบที่ห้องท่านหน่อยครับ..”

ข้าพเจ้าลุกขึ้นจากเก้าอี้โดยไม่ต้องตรึกตรองใด ๆ “ท่านรองผู้บังคับการจำรัส” ที่พลตำรวจได้รายงานข้าพเจ้านั้นคือ พ.ต.ท. จำรัส มัณฑกุกานนท์ รองผู้บังคับการฝ่ายต่างประเทศนั่นเอง ข้าพเจ้าได้เข้าไปในห้องของท่าน พอโผล่บังตาเข้าไปเท่านั้น พ.ต.ท.จำรัส ก็ชี้ให้ข้าพเจ้านั่งเก้าอี้หน้าโต๊ะทำงาน ในปากคาบกล้องอันใหญ่พ่นควันโขมง อย่างอารมณ์ดี พร้อมกับหัวเราะหึ ๆ แล้วกล่าวว่า

“รู้หรือยังว่า ถูกออกแล้ว..”

ข้าพเจ้างงไม่เข้าใจคำถามจึงย้อนถามว่า

“ออกอะไรครับ...?”

“อ้าว,ไม่รู้ดอกหรือ...ออกจากงานนะซิ! ”

“ไม่รู้ครับ”

“ไปขอดูคำสั่งเสียซิ แล้วเซ็นนามรับทราบเสีย คำสั่งอยู่ที่ผู้บังคับการขุนประสงค์”

ข้าพเจ้างงเสียจริง ๆ เป็นไปได้หรือนี่ ข้าพเจ้ากำลังรุ่งโรจน์อยู่ในกองตำรวจสันติบาล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าก็สามารถคลี่คลายคดีที่ไม่มีตำรวจใดคลี่คลายได้ คือคดี “แนช” รถพระที่นั่งของในหลวงที่หายไปรับขวัญท่านอธิบดีใหม่ของข้าพเจ้า บัญชีเงินเดือนซึ่งเขียนลงไปแล้วว่าข้าพเจ้าจะได้สองขั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตก็กำลังรอลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่ ข้าพเจ้าเป็นดาวฤกษ์ที่สุกใสในกองตำรวจสันติบาล ได้ทำการปราบปรามนักการเมืองแห่งระบอบศักดินาจนเลื่องลือ

บัดนี้ข้าพเจ้าจะถูกปลดละหรือ ? ข้าพเจ้าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งในคำกล่าวของรองผู้บังคับการนั้น ก็ได้แต่รับปากเบา ๆ ว่า “ครับ”

เสียงของรองผู้บังคับการกล่าวขึ้นอีกว่า

“ผมรู้ว่าคุณทำงานดีแต่คุณไม่รู้จักกาละเทศะ..งานการเมืองไม่เหมือนงานอื่น ๆ ...”

สมองของข้าพเจ้าหมุนติ้ว ได้แต่ทวนประโยคที่ว่า “คุณไม่รู้จักกาละเทศะ...งานการเมืองไม่เหมือนงานอื่น ๆ ...” อุบอิบอยู่ในใจ ถูกแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้จักกาละและเทศะ ข้าพเจ้าไม่ได้เหยียบเรือสองแคม ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะทำคนให้เกลือกกลิ้งไปได้ทุกสภาวะกาละและเทศะ เอาตัวรอดไปให้ได้ทุกสมัย

ข้าพเจ้ามิได้เป็นนักฉวยโอกาส ข้าพเจ้าไม่ใช่พวกประจบสอพลอ ดังนั้นข้าพเจ้าจะต้องล้มฟุบลงใน กาละหนึ่ง เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงเช่นดังกาละนี้ แน่นอน ข้าพเจ้าจะต้องเป็นเช่นนั้น โลกจะได้ตราหน้าข้าพเจ้าอย่างแน่นอนว่าข้าพเจ้าเป็นอ้ายหน้าโง่ ไม่รู้จักทำตนให้สามารถคงอยู่ได้ทุกสมัย

ข้าพเจ้ามิได้กล่าวแย้งหรือออกความเห็นแต่ประการใด ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกจากห้องรองผู้บังคับการฝ่ายต่างประเทศแต่ก็ได้ยินเสียงเพิ่มเติมมาอีกว่า

“เวลานี้น้ำกำลังเชี่ยว..เอาไว้เหตุการณ์สงบแล้ว ผมจะช่วยคุณให้ได้กลับเข้ามาทำงานอีก..”

ข้าพเจ้านึกขอบพระคุณในน้ำเสียงแห่งความปรารถนาดี ไม่มีเสียงตอบอะไรออกจากลำคอของข้าพเจ้า เวลานี้ข้าพเจ้าต้องการไปพบผู้บังคับการสันติบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ขอดูคำสั่งปลดข้าพเจ้าออกจากราชการโดยไม่มีความผิด และมิได้มีปี่มีขลุ่ยแต่ประการใดนั้นว่าจะเป็นความจริงหรือหาไม่ ?

เมื่อข้าพเจ้าก้าวเข้าไปในห้องรับแขกของ พ.ต.อ.ประสงค์ ลิมอักษรนั้นก็ได้พบตัวท่านผู้บังคับการนั่งจมอยู่ที่เก้าอี้หวายตัวใหญ่นั่นเอง ท่านพยักหน้าต้อนรับข้าพเจ้าอย่างกันเองโดยไม่ได้พูดจาอะไรกันสักคำเดียว ท่านตรงไปที่เสากลางห้องที่ที่แขวนเครื่องแบบแล้วล้วงเอาคำสั่งออกจากกระเป๋าเสื้อคลี่ให้ข้าพเจ้าดูแล้วพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

“ลงนามรับทราบเสีย เขาปลดคุณแล้ว..”

ผู้บังคับการสันติบาลของข้าพเจ้ากลืนน้ำลายลงไปอึกหนึ่งก่อนที่จะอธิบายต่อไปอีกว่า

“เดิมคำสั่งฉบับนี้เป็นคำสั่ง “ไล่ออก” แต่หลวงชาติฯ ท่านทักท้วงว่า ถ้าไล่ออกก็ไม่ได้บำเหน็จบำนาญ กรณีนี้เป็นเรื่องการเมือง เมื่อจะให้ออกก็ขอให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเพราะจะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น ๆ จะเสียน้ำใจไม่เป็นอันทำงาน ทางฝ่ายทหารเขาก็เข้าไปปรึกษาหารือกันใหม่ แล้วก็แก้ไขคำสั่งฉบับเดิมนั้นเป็น “ให้ออก” จึงมีสิทธิได้เบี้ยบำเหน็จบำนาญ ค่อยยังชั่วหน่อยนะ...”

ขาดคำพูด อันเป็นห้วง ๆ ของผู้บังคับการสันติบาลอย่างเห็นอกเห็นใจก็ส่งกระดาษคำสั่งนั้นให้ข้าพเจ้าลงนามรับทราบ และรำพึงออกมาเบา ๆ อีกว่า

“คุณไม่มีความผิดสิ่งใดเขาก็ยังเอาคุณออกได้ ไม่ช้าเขาก็คงปลดผมออกเหมือนกัน”

ข้าพเจ้ากลืนน้ำลายที่แสนฝืดลงไปในลำคอ น้ำตามคลอเบ้าเพราะมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และได้พบอำนาจอันไม่เป็นธรรม ถูกแล้วอำนาจย่อมก่อให้ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอำนาจนั้นจะให้ความเป็นธรรมเสมอไป ย่อมสุดแล้วแต่ผู้ทรงอำนาจนั้นจะเป็นผู้ประพฤติธรรมสมบูรณ์เพียงใด มันอาจจะเลยขอบเขตแห่งความเป็นธรรมออกไปไกลได้ เช่นในกรณีของข้าพเจ้านี้ ยุคแห่งกึ่งพุทธกาลกำลังเข้ามาถึงแล้ว ความเป็นธรรมจะเสื่อมศูนย์ไปตามพุทธทำนายแน่ละหรือ ?

ข้าพเจ้าคลี่คำสั่งนั้นออกอย่างรวดเร็ว ตัวอักษรที่ปรากฏแก่สายตาข้าพเจ้านั้นเลือนสลัวและโตขึ้นด้วยม่านน้ำตาของข้าพเจ้าซึ่งคลออยู่ที่เบ้า มันสร้างความเศร้าให้แก่ข้าพเจ้าอย่างเหลือหลาย

ในคำสั่งนั้นมีข้อความว่า.-

คำสั่งทหารแห่งประเทศไทย กระทรวงกลาโหมเรื่อง ให้นายตำรวจออกจากราชการที่ ๖๙/๙๐ ๑๐ พ.ย. ๙๐

ให้นายตำรวจออกจากราชการดังมีรายนามต่อไปนี้๑.พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ผู้กำกับการกอง ๒ กองตำรวจสันติบาล๒.ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ สารวัตรแผนก ๒ กองตำรวจสันติบาล ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป รับคำสั่ง ฯ (ลงนาม) พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ รองผบ. ทหารแห่งประเทศไทย

ข้าพเจ้าทรุดตัวลงนั่งที่เก้าอี้หวายตัวใหญ่นั้นในห้องรับแขก ทบทวนดูคำสั่งนั้นครั้งแล้วก็ครั้งเล่า ช่างเป็นการง่ายดายเสียเหลือเกินในการปลดข้าพเจ้าออกจากราชการและสำเร็จลงในชั่วพริบตาเดียว นายทหารกองหนุนลุกขึ้นทำการรัฐประหาร แล้วสั่งปลดนายตำรวจประจำการโดยไม่มีความผิดแต่ประการใด นี่ความเป็นธรรมที่ข้าพเจ้าได้รับ คำสั่งนี้มิได้ผ่าน ก.พ. มิได้ผ่านเจ้ากระทรวง หรือมีคำสั่งของเจ้ากระทรวงออกทับสั่งการมาภายหลังแต่อย่างใด

ดวงตาของข้าพเจ้าพร่าพราวมองเห็นดวงหน้าจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผุดขึ้นในมโนภาพซึ่งข้าพเจ้าได้เข้าพบท่านในห้องประชุมในกระทรวงกลาโหมเมื่อไม่กี่สิบชั่วโมงผ่านไปนี้เอง ข้าพเจ้าได้พบแต่แววตาที่สดใสแห่งมิตรภาพ แต่เหตุไฉนเล่าคำสั่งฉบับนี้จึงผ่านออกมาได้อย่างประหลาด ภาพดวงหน้าของจอมพล เลือนหายไป ภาพใบหน้าของนายวณิชย์ ปานะนนท์ก็ลอยเข้ามาแทนที่ หวลคิดไปถึงความหลังที่เกี่ยวข้องทำนองเดียวกัน

ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าเวรเป็นนายตำรวจที่รับผิดชอบควบคุม นายวณิชย์ ปานะนนท์ รัฐมนตรีผู้ตกอับเอามือล้วงดึงซองบุหรี่นาค ออกมาจากกระเป๋ากางเกงส่งลอดช่องซึ่ลูกกรงมาอวดข้าพเจ้า เมื่อได้พลิกดูแล้วก็ปรากฏว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “เจรจาดีที่โตเกียว” แล้วก็มีลายเซ็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่า ซองบุหรี่นาคนั้นเป็นของที่ระลึกจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ในโอกาสที่นายวณิชย์ไปเจรจาการเมือง ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นซึ่งเกี่ยวด้วยกรณีอินโดจีนเป็นผลสำเร็จ จึงได้จารึกว่า “เจรจาดีที่โตเกียว” นายวณิชย์ส่ายหน้ากับข้าพเจ้าพร้อมทั้งกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียว แต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้ !”

ข้าพเจ้าสงสารเขา แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริง ๆ แม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้าน เพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกสัมมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้น ข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลย และต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก

บัดนี้ จิตสำนึกใหม่เข้ามาแทนที่แล้วข้าพกลายเป็นคนบาปหนา มีจิตใจเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานที่ไม่ยอมผ่อนผันแม้แต่เรื่องผู้ต้องหาที่ไร้อิสรภาพ จะขอติดต่อกับทางบ้านเพียงยกหูโทรศัพท์เจรจาเรื่องขอกินนำพริกส้มมะขาม

ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลที่ประกอบทารุณกรรม ไม่มีจิตใจแห่งมนุษยธรรม ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจอยู่ไม่หาย ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ แหละบัดนี้ก็ถึงคราวข้าพเจ้าขึ้นมาบ้างแล้ว “เจรจาดีที่โตเกียว” นั้นย่อมแสดงสรรพคุณว่าอยูในขั้นเลิศ แต่แล้วลายเซ็นอันนั้นก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ และในที่สุดก็มรณภาพอยู่ในห้องขังนั้น

ข้าพเจ้าล่ะ, มีอะไรดีไปกว่าอดีตรัฐมนตรีวณิชย์ ปานะนนท์ที่วายชนม์ไปแล้วนั้นหรือ ? เปล่าเลยข้าพเจ้าไม่มีความดีอะไรที่ถึงกับอาจหาญเอาไปเปรียบเทียบกับบุคคลชั้นนั้นได้ ข้าพเจ้าเป็นเพียง “ม้าใช้” ที่วิ่งไปมาเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นแล้ว ที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝันถึงบุคคลคนเดียวกันนี้ว่า ท่านได้ส่งสายตาอันแนบสนิทมายังข้าพเจ้า แววตานั้นเต็มไปด้วยความสนิทสนมเป็นกันเอง แสดงถึงความเมตตาปรานีและอย่างมิตรภาพเป็นกันเอง แสดงถึงความเมตตาปรานีและอย่างมิตรภาพนั้นเล่าจะช่วยอะไรข้าพเจ้าได้บ้างเล่า ?

ข้าพเจ้าว้าเหว่เสียเกินแล้ว เหมือนกันเรือใบที่ปราศจากลูกเรือมีแต่ข้าพเจ้าแต่ผู้เดียวกำลังแล่นไปสู่ทะเลลึกโดยปราศจากเข็มทิศ ชีวิตของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องของอนาคต ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มี “นาย” แม้แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ก็ไม่นายของข้าพเจ้า เนื้อแท้นั้นคือข้าพเจ้าทำงานมาด้วยลำแข้งของตนเองและบัดนี้ก็ถึงคราวที่จะต้องเผชิญชีวิตต่อไป

ข้าพเจ้าลงนามรับทราบคำสั่งนั้น อย่างดุษณียภาพโดยปราศจากเงื่อนไข ท่านผู้บังคับการสันติบาลส่งมือมาให้ข้าพเจ้าสัมผัส ท่านเขย่ามือข้าพเจ้าอย่างหนักแน่นและเห็นอกเห็นใจ มือของข้าพเจ้าถูกบีบอย่างแรงก่อนที่เราจะผละออกจากกัน

ข้าพเจ้าออกจากห้องรับแขกบ้านผู้บังคับการซึ่งอยู่ ณ มุมบริเวณกองสันติบาลนั้น ข้าพเจ้ายืดอกขึ้นเพ่งดูตัวตึกสันติบาลอันสง่างามนั้นด้วยความอาลัย ลาก่อนสันติบาล, ข้าพเจ้าจำต้องจากไปแล้วด้วยความรักและอาลัย เลือดเนื้อของข้าพเจ้าเป็นตำรวจทุกหยาดในกรมตำรวจ มีวิญญาณเป็นตำรวจทั้งหลับทั้งตื่น

ข้าพเจ้าได้ผ่านงานมาทั้งภูธร นครบาลและสันติบาล ในที่สุดก็เข้าสู่กองราชการลับแห่งกอง ๒ ซึ่งถือกันว่าเป็น “ยอด” แห่งวงการของตำรวจแล้ว ไม่มีกองใดที่จะมีความสำคัญยิ่งไปกว่านี้ในทางการเมืองภายในประเทศ ความมั่นคงของรัฐบาลอย่อมอยู่ที่กองนี้ เพราะเป็นสายตาสอดส่งให้ทั้งยามหลับและตื่น เมื่อรัฐบาลของนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ต้องล้มสลายลงมิใช่วิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว ตำรวจกอง ๒ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องพลอยถูกลบสลาตันอย่างที่ข้าพเจ้าถูกมานี้

ข้าพเจ้าหมดภาระแล้วที่จะสาละวนอยู่กับตึกสันติบาล บัดนี้ข้าพเจ้ากลายเป็นบุรุษที่ไร้งาน จะท่องเที่ยวแห่งใดก็รู้สึกว่าสะดวกเพราะไม่มีการผูกพันธ์แล้ว ยิ่งในสภาวะเช่นนี้ข้าพเจ้าก็ใกล้สภาพของนกขมิ้นเหลืองอ่อน เที่ยวเร่ร่อนไปตามยถากรรม ค่ำแล้วจะนอนไหนก็เป็นปัญหาประจำวัน

เสียงจากเพื่อนตำรวจหลายคนก็บอกให้ข้าพเจ้าระวังตนเพราะอาจถูกจับบ้าง อาจจะถูกฆ่าตายบ้าง ข่าวร้ายต่าง ๆ ก็ระบือมาเรื่อย ๆ บ้างก็บอกให้ข้าพเจ้ารีบเดินทางออกไปนอกประเทศเสียชั่วคราว

แต่ข้าพเจ้ายังเห็นว่า เหตุการณ์คงจะยังไม่ร้ายแรงเช่นนั้น เพราะเราไม่ได้ทำการต่อต้านแต่อย่างใด แม้แต่ท่านอธิบดีกรมตำรวจเองก็ยังให้คำสั่งเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงกลับมารีรออยู่ ณ บ้านพักบางกะปิ ถัดจากที่ข้าพเจ้าได้รับทราบคำสั่งปลดแล้วเพียง ๒ วันเท่านั้น ก็ปรากฏว่าบ้านมะลิวัลย์ ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญก็ถูกค้น โดยเฉพาะห้องพักของข้าพเจ้านั้นถูกค้นอย่างกระจุยกระจาย และปีนป่ายค้นไปถึงบนเพดาน มุดลงไปจนกระทั่งใต้ถุนด้วย เพราะต้องการจะหาอาวุธว่าซุกซ่อนอยู่แห่งใด นอกจากนั้นทหารผู้ทำการตรวจค้นก็ต้องการตัวข้าพเจ้าอีกด้วยว่า ข้าพเจ้าเป็นตัวสำคัญมีบัญชีว่าเป็น “เสรีไทย” ย่อมต้องมีอาวุธอยู่ในมือที่สามารถจะทำการ “ต่อต้าน” ได้

นี่แหละคือความเข้าใจผิดของชาวรัฐประหารสำคัญผิดไปว่าจะมีการต่อต้านจากฝ่ายตำรวจ ซึ่งความจริงไม่มีเลยแม้แต่น้อย เหตุใดเล่าที่ข้าพเจ้าจึงต้องไปประจำอยู่ ณ บ้านมะลิวัลย์ด้วยนั้นก็เนื่องข้าพเจ้าและนายตำรวจอีกบางนายต้องสับเปลี่ยนกันเฝ้าเครื่องโทรศัพท์ เพราะเหตุการณ์รัฐประหารจะเกิดขึ้น ผู้ที่ข้าพเจ้าจะต้องแจ้งไปให้ทราบโดยด่วน คือ พ.อ.ทวน วิชัยทัคคะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งพร้อมที่จะดำเนินการยับยั้ง แต่แล้วทุกสิ่งก็ล้มเหลว เพราะกลไกในคณะรัฐประหารเกิดขัดแย้งกันเอง และไม่สามารถสั่งการเพื่อการยับยั้งได้.

Friday, April 27, 2007

บทความที่ ๑๒๑. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๔



ข้าพเจ้าออกจากระทรวงกลาโหมก็พุ่งเข้าสู่กองตำรวจสันติบาล สำนักงานของข้าพเจ้า ณ ที่นั้นเงียบกริบไม่มีอะไรผิดแผกไปจากปกติแต่อย่างใด ข้าพเจ้าตรงไปที่ห้องทำงาน ไขลิ้นชักดึงเอกสารออกจากโต๊ะปึกใหญ่ นั่นคือเอกสารส่วนตัวในการสืบสวนของข้าพเจ้าโดยเฉพาะ ซึ่งได้พยายามรวบรวมหลักฐานการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นไว้โดยพร้อมเพรียงเอามันกองไว้บนโต๊ะ ข้าพเจ้าเดินวนเวียนอยู่รอบ ๆ ห้องว่าจะทำอย่างไรกับมันดี เป็นการแน่นอนเหลือเกิน ฝ่ายรัฐประหารย่อมจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยรัฐบาลของ นายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นั้นไม่มีทางจะฟื้นตัวแล้ว จิตของข้าพเจ้าประหวัดไปถึงนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีทันที เมื่อรัฐประหารจวนจะระเบิด ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ได้ไปรายงานที่บ้านพักของท่าน ว่าจวนจะเกิดรัฐประหารแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีถวัลย์แบมือให้ข้าพดูแล้วกล่าวว่า

“ลื้อจะให้อั๊วทำยังไง เมื่อฝ่ายค้านต้องการให้เปิดอภิปรายทั่วไป อั๊วก็เปิดแล้ว อั๊วก็ยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา แม้กระนั้นอั๊วก็ลาออก แล้วก็มาตั้งอั๊วเป็นนายกจะปฏิวัติกัน อั๊วก็ไม่รู้จะทำยังไง...”

ด้วยประโยคเช่นนี้ของท่านนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งหลงอยู่จะต่อสู้ทางรัฐสภาเท่านั้น ผู้ซึ่งไม่มีความคิดจะรักษาบัลลังก์ของตนด้วยอาวุธ ในที่สุดนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ “นอนรอการรัฐประหาร” ดั่งที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เขียนภาพล้อกัน

เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองได้แปรผันไปเช่นนี้แล้ว เจ้าเอกสารปึกใหญ่ที่วางอยู่บนโต๊ะของข้าพเจ้านั้นเล่า มันจะมีประโยชน์อันใดสำหรับรัฐบาลนายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ข้าพเจ้าตัดสินใจได้ทันทีว่ามันไม่มีประโยชน์อันใด มันมีแต่โทษเท่านั้น ข้าพเจ้ามีความรับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและสายลับที่ใช้สรอยเขา เขาเหล่านั้นมิต้องลำบากเพราะข้าพเจ้าหรือ ? เขาอาจจะต้องถูกออกจากงานฐานไม่ไว้วางใจเป็นอย่างน้อย ม่ายก็ถูกโยกย้ายไปเสียไกลลิบลับ บางคนก็เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐประหารแล้วเอาเนื้อความในการประชุมนั้นมารายงานข้าพเจ้า เช่นนี้เขามิถูกกระทืบหรือ ? ปัญหาร้อยแปดแล่นเข้าสู่สมองข้าพเจ้าอย่างสับสน แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองซึ่งรู้ความลับมากเกินไปก็รู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าเมื่ออธิบดีของข้าพเจ้ายังอยู่ในตำแหน่งก็พอที่จะผ่อนความหนักใจของข้าพเจ้าลงได้ แต่อะไรจะเป็นเครื่องค้ำประกันได้ว่า นายพลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพจะคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ด้วยเหตุผลเหล่านี้ข้าพเจ้าจึงเผาเอกสารนั้นทั้งหมด

การตัดสินใจของข้าพเจ้าครั้งนี้ต้องนับว่าเป็นการถูกต้องเพราะภายหลังเมื่อข้าพเจ้ากลับมาจากกรุงปักกิ่งแล้ว ก็ได้มองเห็นดวงตาอันแป๋วของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้ายังคงรับราชการอยู่ บางคนก็ได้เลื่อนยศและตำแหน่งอันสูงและเป็นที่ไว้วางใจในรัฐบาลปัจจุบันนี้เสียอีก แต่ข้อที่เป็นบทเรียนต่อข้าพเจ้าก็คือว่า มีบุคคลบางคนที่ข้าพเจ้าหวังดีต่อเขาในเรื่องนี้ เขากลับค้นคว้าหาหลักฐานจะเอา ข้าพเจ้าเข้าคุกเป็นความดีความชอบส่วนตัวของเขาอีก ดั่งนี้ก็มี

เมื่อเอกสารลับของข้าพเจ้าถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าลงทุนแบกลังลูกระเบิดมือและบาซูก้าด้วยตนเองขึ้นออสติน อาวุธเหล่านี้ข้าพเจ้าเตรียมเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ณ ตึกสันติบาลถ้าหากว่าตึกสันติบาลถูกยึดและถ้ามีการต่อสู้เกิดขึ้น ข้าพเจ้าทราบดีว่าอาวุธที่จะต่อสู้รถถังนั้นไม่มีอยู่ในห้องอาวุธ แต่บัดนี้เป็นการแน่นอนแล้วจะไม่มีการต่อสู้ใด ๆ ซึ่งเป็นการทางการเกิดขึ้น แต่การต่อสู้อันมิใช่ทางการอาจจะเกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นข้าพเจ้าจำเป็นต้องสงวนอาวุธที่มีอยู่ในมือของข้าพเจ้าไว้ทุกชิ้นต่อไป อาวุธต่าง ๆ ของข้าพเจ้านี้ได้รับมาในสมัยการต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าได้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่จังหวัดชุมพร

ข้าพเจ้ายังคงมาทำงานเป็นปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกองตำรวจสันติบาล ทางเดียวของเราคือ พยายามเชื่อว่า “ตำรวจเราไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของทหารเขา” เมื่อทหารเขาไม่พอใจรัฐบาล เขาก็ทำการขับไล่รัฐบาลนั้นออกไป ข้าพเจ้าได้พยายามเชื่อถือในคำสั่งของท่านอธิบดีอย่างเด็ดขาด เราจึงมิได้ทำการขัดขวางการรัฐประหารนั้นแต่ประการใดเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็มีกำลังที่จะเข้าทำการขัดขวางเช่นนั้นได้

ข้าพเจ้าได้แวะไปดูที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นจุดหมายตามแผนการลับว่า เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วคณะรัฐบาลทั้งชุดก็จะมารวมกันที่นั่นแต่ก็เหลว ข้าพเจ้าไม่เห็นมีรัฐมนตรีคนใดอยู่ ณ ที่นั้นเลย ดูเหมือนว่าต่างก็ได้แตกกระเจิงและเสียขวัญไปเสียแล้ว

ข้าพเจ้าได้ควบยานคู่ยาก ออกสังเกตการณ์ทุกแห่งหน ข้าพเจ้าได้เห็นรอยกระสุนปืนกลที่บานประตูหน้าทำเนียบท่าช้าง มันมิใช่รอยแห่ง “การต่อสู้” แต่ประการใด แต่มันเป็นรอยแห่งการทำลายประหัตประหารข้างเดียว

อนิจจา รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ บัดนี้ตัวของท่านมิได้อยู่ที่ทำเนียบแล้ว ไม่ทราบว่าหลบหนีไปที่แห่งใด ข้าพเจ้างงและมืดมนต่อสถานการณ์ไม่รู้ว่ามันจะคลี่คลายไปในรูปใด เพราะท่านปรีดี พนมยงค์นั้นมิได้เกี่ยวข้องกับคณะรัฐบาล มิได้ตำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในกระทรวงใด ซ้ำก็ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรจังหวัดอยุธยาแล้ว ตามรูปแบบนี้ก็แสดงออกว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” แต่มันก็เข้าแบบ “ขว้างงูไม่พ้นคอ” อยู่นั่นเอง ความสัมพันธ์ทางส่วนตัวของข้าพเจ้าและท่านปรีดี พนมยงค์นั้น ความจริงไม่มีอะไรที่ลึกซึ้งเลย ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นศิษย์ของท่าน ไม่ได้ใกล้ชิด ไม่เคยได้ดิบได้ดีจากรัฐบุรุษผู้นี้ ท่านไม่เคยอุ้มชูอะไรข้าพเจ้าแต่ปางก่อนเลย ข้าพเจ้ามิใช่ศิษย์ของท่านที่สำเร็จออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หากแต่ข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่เหตุไฉนเล่าข้าพเจ้าจึงมีความเคารพนับถือท่านผู้นี้อย่างสูง...?

ไม่ใช่อื่น ข้าพเจ้าเคารพท่านในฐานะที่เป็นนักปฏิวัติที่รักชาติ เป็นผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนาและได้เป็นมันสมองของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้ต่อสู้จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นที่รุกรานสยาม ข้าพเจ้าได้เห็นฝีมือของท่านในการเจรจาการเมืองต่างประเทศ ได้เห็นประกาศให้สงครามซึ่งก่อขึ้นโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นให้เป็น “โมฆะ” และการแก้ไขสันธิสัญญาสมบูรณ์แบบที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลงนามส่งข้าว ๑,๒๐๐,๐๐๐ ตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า ให้กลายเป็นการขาย ตลอดจนการกระทำให้ค่าเงินบาทสูงขึ้น และอื่น ๆ อีกเอนกอนันต์ นี่แหละเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้ามีความเคารพบูชารัฐบุรุษผู้นี้ หาได้มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวใด ๆ ไม่

ข้าพเจ้าไม่ทราบรายละเอียดที่ทำเนียบท่าช้างถูกยิงโดยไม่มีการต่อสู้ใด ๆ ทราบแต่ว่าเหลืออยู่แต่คุณผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของท่านเท่านั้นที่สาละวนรับแขกจากผู้ที่มาแสดงความเห็นอกเห็นใจ ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปในทำเนียบนั้น เพราะข้าพเจ้าไม่มีความสนิทสนมและคุ้นเคยใด ๆ กับครอบครัวของท่าน

ข้าพเจ้าสำรวจไปรอบ ๆ พระนคร ทหารชั้นผู้น้อยก็กลิ้งเกลือกอยู่กับข้างถนนและสะพานต่าง ๆ อุตส่าห์อดหลับอดนอนรักษาการณ์ซึ่ง “ผู้ใหญ่” ของเขาได้บอกกับเขาว่า การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำ “เพื่อชาติ”

บทความที่ ๑๒๐. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๓



โดยมิชักช้า ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ได้แยกย้ายกันที่บางนานั้นเอง ข้าพเจ้าควบออสตินยานคู่ยากพุ่งเข้าสู่กระทรวงกลาโหม ณ ที่นั้นข้าพเจ้าได้แจ้งความประสงค์ต่อผู้บังคับกองรักษาการณ์ว่า “ข้าพเจ้าต้องการพบจอมพล” แต่ยังมิทันจะได้รับอนุญาตหรือไม่ประการใด ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงทักจากเบื้องหลังว่า –

“เฉียบหรือ...มาทำไม...?”

ข้าพเจ้าเหลียวขวับไปทางต้นเสียงนั้น, ไม่ใช่อื่นไกลท่านผู้นั้นคือนายพันโทประยูร สุคนธทรัพย์ ภายในชุดเครื่องแบบของทหารอย่างผึ่งผาย ท่านผู้นี้เคยเป็นผู้บังคับกองร้อยของข้าพเจ้าเมื่อสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกปีที่ ๒ อยู่ ข้าพเจ้ารีบยกมือไหว้ก่อนอื่นแล้วตอบว่า

“ผมต้องการมาพบท่านจอมพลหน่อยครับ”

“มีอะไรรึ ?”

“ท่านอธิบดีกรมตำรวจให้ผมมาพบครับ”

“อ้อ, ถ้าอย่างนั้นเข้าไปเลย เข้าไปเถอะ ชั้น ๒ ด้านหลักเมือง ไปคนเดียวก็แล้วกัน...” ขาดคำพูด อดีตผู้บังคับกองร้อยของข้าพเจ้าสั่งการให้นายทหารคนหนึ่งรีบรุดไปรายงานจอมพลล่วงหน้าก่อนด้วย

ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนกระทรวงกลาโหมด้วยอาการไว้เนื้อเชื่อใจ และอย่างมีเสรีภาพที่สุดในเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ข้าพเจ้าอยู่ในชุด “ทรงตามสบาย” คือกางเกงสีกากีขายาวและเสื้อเชิร์ตแขนสั้นสีขาวเท่านั้น หน้าตาของข้าพเจ้าก็ติดจะยู่ยี่เสียด้วย นอกจากนั้นก็คิดว่าคงจะเซียว ๆ เพราะไม่ได้นอนตลอดคืน ข้าพเจ้าเดินเลาะลัดผ่านกลุ่มนายทหารบกหลายกลุ่ม ที่กำลังชุมนุมกัน เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยวไปทางด้านหลักเมืองก็เผชิญเข้ากับ ร.อ.ยุทธสิทธิ์ สุคนธทรัพย์ นายทหารรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าอย่างจัง ข้าพเจ้าถลาเข้าไปจับมือเพื่อนรักเขย่าอย่างรุนแรง เขาตะโกนออกมาในท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของบรรดานายทหารซึ่งเฮฮากันอยู่หลายร้อยคน

ข้าพเจ้ากระเถิบเข้าไปหาใกล้ ๆ กระซิบถามเขาว่า

“ท่านจอมพลอยู่ที่ไหน ?”

เขาชี้มือไปที่ห้องประชุมใหญ่แทนคำตอบ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากระเบียงที่เรายืนอยู่เท่าใดนัก ปากก็บอกว่า

“เฮ่ย คุยกันก่อนสิวะไม่ได้พบกันตั้ง ๑๐ ปีแล้ว อย่างเพิ่งไป..เรื่องอะไรกัน...?”

ข้าพเจ้าไม่ตอบ แต่ไม่ลืมโบกมือให้เขาแล้วหมุนตัวกลับ ตรงไปที่ห้องประชุมนั้นทันที ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องนั้นมันเป็นห้องสองตอน ในตอนแรกนั้นเป็นห้องเล็ก ๆ ซึ่งนายทหารเดินเข้าออกกันเรื่อย ทางด้านขวามือมีประตูห้องประชุมใหญ่ ข้าพเจ้าต้องชะงักทันที เพราะได้พบบุคคลสำคัญในวงการเมืองเข้า เขาผู้นั้นคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่งอยู่ที่เก้าอี้หน้าประตูเข้าห้องประชุมใหญ่นั้น ทำหน้าที่เสมือนจะเฝ้าประตู แต่ต้องไม่ใช่เรื่องมานั่งเฝ้าประตูแน่นอนจะต้องมาพร้อมคนใดคนหนึ่ง หรือนั่งคอยคนใดคนหนึ่งอยู่ เมื่อข้าพเจ้าเหลือบไปพบสายตาของเขา ๆ ยกมือขึ้นไหว้ข้าพเจ้าอย่างสุภาพที่สุด ข้าพเจ้าก็โต้ตอบคารวะนั้นด้วยอัธยาศัยที่เสมอกัน บุรุษผู้นี้เป็นนักการเมืองแห่งระบอบศักดินาที่สามารถ และปัจจุบันนี้ก็มีฝีปากที่คมกริบจนได้ฉายาว่า “ปากตะไกร”

เขามีนิสัยส่วนตัวเป็นที่งดงาม หากว่าเขาจะยืนอยู่ในจุดยืนหยัดของชนชั้นกรรมาชีพแล้ว เขาผู้นี้จะเป็นเพื่อนตายของข้าพเจ้าได้คนหนึ่ง เราไม่ได้พูดอะไรกันเลยจนคำเดียวเพราะธรรมดาเราก็ไม่ได้มีความสนิทสนมอะไรกันอยู่เป็นพื้นฐานเลย เพราะข้าพเจ้ารู้จักท่านผู้นี้ในฐานะฝ่ายระบบศักดินา เขาก็รู้จักข้าพเจ้าในฐานะนายตำรวจสันติบาลผู้เคยรวบ “พวกศักดินา” เป็นอาจิณเท่านั้นเอง

ข้าพเจ้าเดินเลี้ยวขวาเข้าประตูเข้าไปในห้องประชุมนั้น มันเป็นห้องโถงที่ใหญ่โตมิใช่เล่น กึ่งกลางห้องมีโต๊ะยาวบรรจุคนที่ประชุมได้ประมาณ ๕๐ คน ณ ที่นั้นข้าพเจ้าได้เหลือบไปพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะสุดก้นห้อง บุคคลที่อยู่ในห้องนั้นเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมากเป็นนายพลทั้งสิ้น อินทรธนูเหลืองอร่ามไปทั่วทุกตัวคน แลเหลียวไปแห่งใดก็เสมือนว่าในห้องนั้นได้ปิดทองคำแวววับไปทั่วทุกแห่งหนเครื่องแบบทหารบกนั้นเล่าก็ถูกรีดยกกลีบเป็นเงางามสง่าผ่าเผยน่าเกรงขามยิ่งนัก

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกก้าวเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าก็สะดุ้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้พบบุคคลสำคัญทางการเมืองเข้าให้อีก คราวนี้ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่หน้าประตูนั้นเสียอีก เขาผู้นั้นคือ “นายควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนแห่งระบบศักดินา เขาเอี้ยวคอมาทางขวาเพื่อจะดูว่าข้าพเจ้าผู้ที่กำลังย่างเข้ามานั้นเป็นใคร แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขามิได้สนใจในตัวข้าพเจ้า เพราะเขามีเรื่องที่น่าจะสนใจอยู่เฉพาะหน้าอยู่แล้ว คือการปรึกษาหารือกันในทางการเมืองระหว่างเขาเองและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เขาได้มีส่วนก่อให้เกิดขึ้นหยก ๆ นั้นมากกว่า

ข้าพเจ้าชิดเท้าแล้วคำนับจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะประชุมตัวนั้น ท่านมิได้สวมเครื่องแบบของจอมพล แต่สวมเสื้อสากลทับเสื้อเชิร์ต โดยไม่มีผ้าผูกคอ หากแต่มีผ้าพันคอแบบที่เคยเล่นกีฬาและดูเหมือนว่าจะนุ่งกางเกงขาสั้นด้วย ท่านหันมามองข้าพเจ้าอย่างเต็มตา เลิกจากการปรึกษาหารือกับนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งนั่งติดทางด้านซ้ายมือของท่านเอง ข้าพเจ้าได้รายงานว่า-

“กระผมนายร้อยตำรวจเอกเฉียบ ชัยสงค์ ประจำกอง ๒ สันติบาล หลวงสังวรณ์ฯ อธิบดีกรมตำรวจให้กระผมมารายงานว่า การรัฐประหารครั้งนี้เมื่อเป็นงานของท่านจอมพลแล้วไม่ขัดข้อง”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยกมือขึ้นไหว้อย่างนอบน้อมยิ้มกับข้าพเจ้าอย่างเบิกบานเป็นกันเอง และดูอาการว่าไม่ได้แปลกสายตาในตัวข้าพเจ้าเลย ท่านกล่าวตอบว่า

“ขอให้คุณไปบอกคุณหลวงสังวรณ์ด้วยว่า ผมขอขอบพระคุณ เวลานี้ผมกำลังยุ่งอยู่มากจึงไปหาไม่ได้ เอาไว้เวลาว่าง ๆ แล้วเราจึงค่อยคุยกัน...”

ข้าพเจ้าจ้องมองดูหน้า จอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างไม่กระพริบตา ข้าพเจ้าเชื่อสนิทว่า คำพูดเหล่านั้นจะต้องเป็นคำพูดที่ออกจากใจจริงและอย่างมิตรภาพ ข้าพเจ้ามิได้โต้ตอบประการใด เพราะได้สิ้นสุดในภาระของข้าพเจ้าตามคำสั่งแล้ว ข้าพเจ้าถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้ว คำนับท่านแล้วหมุนตัวไปทางซ้ายเดินเลาะโต๊ะประชุมตัวยาวออกมาทางเก่า ผ่านทหารชั้นผู้ใหญ่หลายสิบคนซึ่งไม่มีใครสนใจในตัวข้าพเจ้า เพราะรู้สึกว่าภายในห้องประชุมนั้นสับสน เดี๋ยวคนนั้นเข้าเดี๋ยวคนนี้ออกอยู่เรื่อย เมื่อออกจากห้องประชุมใหญ่ ข้าพเจ้าก็เลี้ยวซ้ายออกมายังระเบียงอันยาวนั้นเสีย เหลือบเห็นม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชนั่งอยู่ ณ ที่เก่าไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุที่ข้าพเจ้ารีบจ้ำอ้าวออกมาจึงลืมการยกมือไหว้ลา ก็รู้สึกว่าเป็นการเสียมารยาทไปเสียแล้ว

ข้าพเจ้าเดินก้มหน้าคิดมาตลอดทางตามระเบียงอันยาวเหยียดของกระทรวงกลาโหมนั้น ไม่วายคิดถึงบุคคลสำคัญทางการเมืองแห่งพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองคน ที่ข้าพเจ้าได้ประจักษ์มากับตาของข้าพเจ้าเอง เป็นการแน่นอนเหลือเกินเขามิได้เข้ามาอย่างสามัญ แต่เขาได้เข้ามาอย่างที่มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันมาแต่ก่อน และบัดนี้ก็เป็นการเปิดเผยแล้วตรงกันกับที่ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ได้ทำการสืบสวนมาแต่ก่อน ปัญหาอยู่ที่ว่าในอุดมการณ์นั้นเขาจะร่วมกันได้อย่างไร เพราะจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นได้เป็นผู้ที่ต่อสู้ระบบศักดินามาแต่ก่อน จะทำให้กษัตริย์ต้องมาอยู่ใต้กฎหมาย ทำลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบศักดินานี้ยังเป็นศัตรูของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อยู่ตลอดไปชั่วอายุขัย เพราะระบบ(ศักดินา)นี้ยังคงอยู่และมิได้ถูกทำลายไป ยกเว้นแต่นายควง อภัยวงศ์เท่านั้นที่จะไม่มีศัตรูจากระบบนี้ เพราะนายควง อภัยวงศ์ได้ทำการแก้ตัวได้แล้ว

การอภิวัฒน์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นแม้ว่านายควง อภัยวงศ์จะได้ต่อสู้กับระบบศักดินานี้ก็ตาม แต่ภายหลังได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าโจมตีศัตรูของศักดินา และได้ประกาศตนเองว่าต่อสู้เพื่อระบบศักดินาอันเป็นการละทิ้งอุดมการณ์ของ “คณะผู้ก่อการ” ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าบุคคลทั้งสองนี้จะร่วมกันได้อย่างแน่นแฟ้นจริงจัง นอกจากว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะทิ้งอุดมการณ์ของตนและหันเข้ามาร่วมในอุดมการณ์ของอีกคนหนึ่เท่านั้น นั่นแหละเป็นทางออกที่มาจับมือกันได้เช่นนี้ด้วย “มิตรภาพส่วนตัว” แล้วก็ตีหน้ากันไปตามเรื่องเท่านั้นเอง

บทความที่ ๑๑๙. บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๒


ทหารฝ่ายรัฐประหารกลุ่มหนึ่งมายืนออกันที่หน้าบ้านตรงหน้าประตูเพื่อหาทางที่จะปีนป่ายประตูเข้าไป นอกจากนั้นก็ใช้คูหน้าบ้านเป็นที่กำบัง ทหารผู้รับผิดชอบในการทำให้ประตูรั้วบ้านเปิดให้จงได้นั้น ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะกลุ้มใจไม่ใช่เล่น เพราะมันเป็นประตูที่แน่นหนา เกินกว่าประตูธรรมดา อีกทั้งหากจะพรวดพราดเข้าไปก็ไม่แน่นักว่าจะไปเจอกับอะไรเข้าในระหว่างที่กำลังรีรออยู่นี้เอง ชายเคราะห์ร้ายคนหนึ่งกำลังเดินมาตามถนน ได้ถูกจับและได้ถูกบังคับให้ปีนป่ายประตูหน้าบ้านเข้าไปถอดกลอน เมื่อชายเคราะห์ร้ายนั้นไม่ได้อยูในเครื่องแบบของทหารก็ย่อมเป็นความปลอดภัยขั้นมูลฐานอยู่แล้ว ดังนั้นประตูบ้านจึงได้เปิดออกมาได้ และพร้อมกันไฟฟ้าทั้งตัวตึกก็สว่างพรึบขึ้นพร้อมกัน กำลังทหารบกมาออรวมกันทันทีที่หน้าประตูบ้านหลายสิบคน แต่ได้เฉลียวใจไม่ว่าด้านหลังของเขา ณ มุมหักซอยสุภางค์นั้นมฤตยูรออยู่ หากว่าบังเอิญเราเกิดเหนี่ยวไกขึ้น แน่นอนเหลือเกินจะต้องเกิดนองเลือดขึ้นและชีวิตของพี่น้องชาวไทยหลายสิบคนจะต้องจากไปโดยไม่มีความหมายต่อประเทศชาติเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าตะแคงหูฟังอยู่แต่ว่าได้เกิดเสียงยิงจากภายในบ้านออกมาหรือเปล่า หากว่าเกิดเสียงยิงจากในบ้านออกมาเมื่อใด ข้าพเจ้าก็จำเป็นที่จะต้องทำการยิงตัดกระหนาบเข้าไป เหงื่อเม็ดโป้ง ๆ เกาะอยู่ที่หน้าผากและซอกคอของข้าพเจ้าด้วยอาการตื่นเต้น รอคอยเวลาแห่งการต่อสู้ที่ช่างเนิ่นนานเสียเหลือเกิน หลวงสถิตย์ยุทธการ ชาวรัฐประหารคนสำคัญพร้อมด้วยนายทหารหนุ่มและนายสิบพลทหาร ๕-๖ คนถือปืนเล็กยาวติดดาบปลายปืนพร้อมได้ก้าวเท้าสวบ ๆ เข้าไปในบ้านท่านอธิบดี คุณหญิงเฉลิมภรรยาของท่านอธิบดีออกต้อนรับที่ห้องรับแขก

ฉากแห่งการเจรจาก็เกิดขึ้น ไม่มีอะไรผิดไปจากที่ข้าพเจ้าได้คาดคิดไว้ คือมาเชิญตัวท่านอธิบดีกรมตำรวจไปกระทรวงกลาโหม เมื่อได้รับคำตอบว่าท่านอธิบดีได้ออกจากบ้านไปเสียแล้วเรื่องก็จบ หลวงสถิตย์ยุทธการได้กล่าวออกตัวว่า สำหรับตัวของเขาเองนั้นไม่มีอะไร ที่มาที่นี่ก็เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาเท่านั้น นายทหารหนุ่มคนหนึ่งก็กล่าวอย่างกันเองว่า “นายเขาสั่งผมมาครับ ถ้าผมไม่มาผมก็จะมีความผิดเลยต้องมา รถถังที่จอดหน้าบ้านนั่นก็เก่าแก่ทรุดโทรมใช้รบไม่ได้แล้วครับ ต้องซ่อมกันอยู่เรื่อย ว่าที่ถูกแล้วรถคันนี้ควรขายเป็นเศษเหล็กไปได้แล้ว” บรรยากาศในการเจรจาช่างเต็มไปด้วยความเป็นกันเอง เป็นบรรยากาศแห่งมิตรภาพมากกว่าที่จะเป็นบรรยากาศแห่งปรปักษ์ ไม่ได้มีการก้าวร้าวหรือทำให้เกิดการระคายเคืองแต่อย่างใด

พลันเสียงปืนกลก็รัวขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวในระยะใกล้ ไม่ทราบว่าเป็นเสียงปืนของฝ่ายใด หลวงสถิตย์ยุทธการ ชาวรัฐประหารคนสำคัญซึ่งกำลังนั่งเจรจาอยู่ที่เก้าอี้ในห้องรับแขกนั้นก็สะดุ้งตกใจโผออกจากเก้าอี้ลงไปหมอบกระแตอยู่ที่พื้นในห้องรับแขกนั้นเอง ต่อหน้าคุณหญิงเฉลิมภรรยาคู่ทุกข์ของท่านอธิบดีซึ่งยังคงนั่งอยู่ ณ ที่เก่าด้วยสติที่มั่นคงกว่า อาการเหล่านี้เกิดขึ้นในท่ามกลางสายตาของนายตำรวจหลายสิบคน และเป็นอาการที่ก่อให้เกิดการอมยิ้มไปตาม ๆกัน

พลประจำปืนกลของข้าพเจ้ากระโดดเข้าประจำหน้าที่โดยเร็วที่สุด ประทับพานท้ายปืนแมดเสนแน่นอยู่กับร่องบ่า ห้ามไกถูกปลดออกอย่างรวดเร็ว นิ้วชี้ก็ถูกสอดเข้าไปในโกร่งไกเล็งไปที่บริเวณประตูหน้าบ้านท่านอธิบดีพร้อมที่จะลั่นไกอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเอาศอกกระทุ้งเข้าที่ชายโครงของเขาเบา ๆ แล้วว่า

“เดี๋ยว ๆ ...”

พลประจำปืนนิ่ง นิ้วชี้ผละออกจากโกร่งไกหันหน้ามายังข้าพเจ้าในท่ามกลางความมืดเป็นเชิงเหมือนจะถามข้าพเจ้าว่า

“จะยังไม่เอาอีกหรือ ?”

“เดี๋ยว ๆ ...ฟังให้แน่เสียก่อนว่าเสียงปืนนั้นมาจากไหน” ข้าพเจ้าบอกเขา

พูดยังไม่ทันขาดคำ เสียงกระสุนก็ดังขึ้นมาอีก ๒-๓ ชุด กระสุนแล่นเคี้ยวคว้าวข้ามหัวพวกเราไปบนอากาศ แสดงว่าปืนกลกระบอกนั้นได้หันปากกระบอกปืนตรงมายังทิศทางที่เราหมอบกันอยู่ พร้อมกันก็ได้ยินเสียงเอะอะฟังไม่ได้ศัพท์ตามมา ข้าพเจ้าพยายามเงี่ยหูฟังว่าเสียงนั้นมาจากแห่งใด เป็นการแน่นอนเหลือเกินเสียงปืนนั้นไม่ได้ดังออกมาจากในบ้านท่านอธิบดี เป็นเสียงปืนกลที่ดังอยู่บนถนนสายใหญ่ที่ตรงไปสมุทรปราการ ซึ่งข้าพเจ้าได้ทราบภายหลังว่ากระสุนปืนที่ลั่นขึ้นนั้น เพราะมีฝรั่งขี้เมาคนหนึ่งขับรถยนต์มาจากสมุทรปราการเพื่อจะกลับพระนคร ด้วยฤทธิ์เมาจึงได้ขับรถเฉียดเข้ากับรถของทหาร อารามตกใจทหารประจำปืนจึงลั่นไกพรึด ๆ เข้าให้ การปฏิบัติงานของทหารประจำปืนครั้งนี้ถึงกับเป็นเหตุให้หัวหน้าของตนลงไปหมอบกระแตอยู่กับพื้นห้องรับแขกนั้น

ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงความหลังได้ว่า เมื่อข้าพเจ้าสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกใหม่ ๆ หลังจากทำพิธีรับกระบี่แล้วก็ได้เข้าไปรายงานตนต่อ พันเอก พระยาพหล พลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ณ วังปารุสกวัน ท่านได้ชี้ให้พวกเรานายร้อยใหม่มองทะลุหน้าต่างวังปารุสกวันออกไปดูช่อฟ้าแห่งวัดเบญจมบพิธ แล้วท่านก็ได้กล่าวว่า

“...เราทำงานอะไรจงรอบคอบสุขุม อย่าตื่นตระหนกตกใจง่าย ๆ สิ่งที่มองเห็นนั้นคือ ช่อฟ้าหลังคาโบสถ์วัดเบญจมบพิธได้หักทลายลงเป็นตำหนิอยู่ก็เนื่องมาจากอารามตกใจของทหารประจำปืนที่รักษาการณ์ในการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ปล่อยกระสุนออกไปโดยไม่มีความหายและไม่มีเหตุผล ทำให้ช่อฟ้าวัดเบญจมบพิธต้องชำรุด แต่เราจะไม่ซ่อมมัน เราจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกเพื่อเตือนใจแก่คนรุ่นหลัง...”

คติของท่านเชษฐบุรุษเตือนใจข้าพเจ้าอยู่ไม่รู้ลืม ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เคยปฏิบัติงานมาแล้วได้พยายามมิให้ความตระหนกตกใจเข้าครอบงำ และบัดนี้ก็ได้ถึงเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนั้นอีก ข้าพเจ้ายังปีติอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ตระหนกตกใจ ขวัญของข้าพเจ้ายังดีอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้ามิได้พรวดพราดและได้ใคร่ครวญ ต่อเหตุการณ์ในคืนเกิดเหตุนั้นอย่างรอบคอบ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติแล้วตามโอวาทของเชษฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทยที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มิฉะนั้นแล้วเหตุการณ์บางอย่างอาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอย่างน้อยเพื่อนทหารของข้าพเจ้าซึ่งเป็นพี่น้องชาวไทยร่วมชาติเดียวกันจะต้องล้มตายหลายสิบคนด้วยน้ำมือของข้าพเจ้าเอง โดยไม่มีผลประโยชน์อันใดบังเกิดแก่มวลราษฎรไทยหรือแก่ประเทศชาติอันเป็นที่รักเลย และมันก็อาจจะเป็นชะนวนให้เหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น และสืบต่อเนื่องกันออกไปจนเป็นเรื่องรามเกียรติ์ก็เป็นได้ เลือดไทยด้วยกันก็จะไหลออกจากหัวใจที่ฉีดโลหิตที่มีอุดมการณ์เช่นเดียวกัน คือความรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนของตนลงนองแผ่นดินด้วยการปะทะกันเอง

ซึ่งเนื้อแท้แล้วไม่ใช่เรื่องของผู้น้อย ไม่ใช่เรื่องของมวลราษฎรชาวไทย แต่มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาแห่งตน ได้ขัดแย้งกันเองในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วก็จูงให้ผู้น้อยต้องพลอยตามให้วิบัติ หาใช่เป็นเรื่องของประเทศชาติอันเป็นส่วนรวมอย่างใดไม่

ข้าพเจ้ายังสงบอยู่ ณ ที่เก่า ทาบอกลงกับทุ่งนา หัวใจที่ฉีดโลหิตนั้นหายระทึกลงไปมากแล้ว เพราะเหตุการณ์ได้ผ่านขั้นรุนแรงเฉพาะหน้าไปแล้ว ยังเหลืออยู่แต่ว่าอนาคตของเรื่องจะเป็นอย่างใด เมื่อเสียงพรึด ๆ อันไม่รู้จักดับของเครื่องยนต์ รถถังคันเก่านั้นได้เงียบไปก็แสดงอยู่ในตัวว่าชาวรัฐประหารนั้นได้คว้าน้ำเหลวกลับไปยังกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นกองบัญชาการนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ย่องกลับเข้าบ้าน นายตำรวจกอง ๒ แห่งสันติบาลทั้งหลายได้เอาอาวุธประจำตัวนั้นส่งคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ลืมที่จะส่งทอมสันคู่ใจพร้อมด้วยแมกกาซีนถึง ๑๐ อันนั้นกลับคืนด้วย

เมื่อข้าพเจ้าเหลียวไปพบ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ก็ทำให้ข้าพเจ้าฉงนแกมขันน้อย ๆ เมื่อมองเห็นอินทนูบนบ่านั้นได้ลดยศของตนเองลงเหลือ “นายร้อยตำรวจตรี” เท่านั้น ขีดสีเงินบนอินทนูเครื่องแบบทั้งสองบ่าอันเป็นเครื่องหมายของ “นายพัน” ได้ถูกปลดออกเสียแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจดี นั่นเป็นการ “พราง” ชนิดหนึ่งหากว่าจะมีเหตุการณ์ที่ต้องการตัว “พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์” เข้า ก็จะหาไม่พบ ข้าพเจ้าอดที่จะล้อเลียนไม่ได้ว่า

“ไง ผู้กำกับ เป็นนายร้อยตรีไปแล้วหรือ ?”

“อ้าว,แล้วของคุณล่ะเป็นพลตำรวจไปแล้วรึ ?” เสียงย้อนถาม

เราหัวเราะขึ้นพร้อมกัน เพราะมันเป็นการบังเอิญที่ความคิดไปตรงกันเข้า ข้าพเจ้าเหลียวไปดูบรรดานายตำรวจอื่นเกือบ ๓๐ คน ก็ไม่เห็นมีใครมีความคิดที่แผลงไปเช่นของเรานี้ เหมือนกับว่าจะเป็นลางอะไรสักอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าไปกระซิบถามอย่างเบา ๆ ว่า

“ท่านอธิบดีอยู่ที่ไหน ?”

“บางนา” เขาตอบข้าพเจ้าเบา ๆ ที่หูอย่างห้วน ๆ

“นี่...แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีล่ะ..?”

“ไปพบท่านก่อนดีกว่า”

ข้าพเจ้าพยักหน้าอย่างเห็นชอบด้วย และรู้สึกง่วงนอนเสียเหลือเกินเพราะไม่ได้งีบเลยตลอดคืน แต่ใคร ๆ ก็ไม่ได้งีบเหมือนกันทั้งนั้น กำลังลังเลอยู่ว่าจะพักเอาแรงสักหน่อย ก็รู้สึกว่าท้องฟ้าได้เริ่มสางแล้ว เราก็ได้แต่นั่งคุยกันเงียบ ๆ สองคนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต่างก็ทำตนเป็นหมอดู คาดคะเนเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต พ.ต.ต.เชาว์ ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า

“เราเจ๊งแน่คุณเฉียบ”

“จะแน่รึ..?” ข้าพเจ้าขัด

“ผมเคยบอกคุณหลายครั้งแล้วก่อนเกิดเหตุเรื่องนี้ จำได้ไหม ?”

ข้าพเจ้าหัวเราะแทนคำตอบ เพราะยังลังเลอยู่ว่าจะไม่เจ๊งเหมือนคำพยากรณ์

นายตำรวจกอง ๒ สันติบาลได้รับคำสั่งให้กลับบ้านได้แล้ว และเข้าทำงานตามปกติเหมือนกับว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเมื่อเงียบกันไปสักครู่หนึ่ง พ.ต.ต.เชาว์ก็เริ่มเอ่ยอีกว่า

“คุณกับผมไปหาท่านอธิบดีพร้อมกันเลยเดี๋ยวนี้จะดีไหม นี่ก็สว่างมากแล้ว”

ข้าพเจ้าตอบรับทันที โดยไม่ต้องตรึกตรอง เราไม่ได้ปล่อยเวลาให้โอ้เอ้อยู่อีกเลย บัดนี้แสงเงินแสงทองก็กำลังจับโผล่ขึ้นจับขอบฟ้าแล้ว เราบึ่งไปบางนาโดยไม่ชักช้าเนื่องจากข้าพเจ้าไม่รู้จักลู่ทาง ดังนั้น พ.ต.ต.เชาว์ ซึ่งเคยเป็นทหารเรือเก่าจึงเป็นผู้นำ เขาพาข้าพเจ้าไปที่เรือนไม้ยกพื้นสูงหลังหนึ่ง ก็ได้พบท่านอธิบดีของเราทันที เมื่อเราโผล่ขึ้นบันไดมาตรงหน้าของท่านก็พบคู่สนทนาของท่านคือนายพลเรือตรีร่างเล็กและผอม ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะเป็นผู้ใหญ่ที่สุด ณ สถานที่แห่งนั้น

“เป็นยังไงบ้างครับท่านอธิบดี ?” ข้าพเจ้าร้องถามท่านอย่างห่วงใย

ท่านหันมารับการคารวะจากข้าพเจ้าและผู้กำกับการ แล้วโปรยยิ้มมาให้ข้าพเจ้าอย่างกันเอง

“ผมเดินทางด้วยเท้าจนถึงบางนา กระโผลกกระเผลกมาเรื่อยเพราะมองไม่ค่อยเห็นทาง เดือนมันมืด” พร้อมกันท่านเอามือบีบน่องแสดงว่าเมื่อยและไม่ลืมถามข้าพเจ้าด้วยว่า

“กินอะไรมาแล้วหรือยังล่ะ ?”

ข้าพเจ้ารีบตอบอย่างเร็วว่า “ยังครับ”

เนื่องจากคำตอบของข้าพเจ้าก็ทำให้ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ ได้รับทานอาหารมื้อเช้าคือ กาแฟและขนมปังทาเนย ๒ แผ่น ซึ่งความจริงข้าพเจ้าไม่ค่อยจะอิ่มนักเพราะได้เสียแรงงานเมื่อคืนนี้มากกว่าธรรมดา เมื่อกาแฟเกลี้ยงถ้วยแล้ว ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านต่อไปว่า.-

“ท่านอธิบดีจะให้ผมทำอะไรต่อไปล่ะครับ ?”

ท่านนั่งนิ่งอยู่นาน ในที่สุดก็ได้กล่าวขึ้นว่า

“ให้คุณเชาว์ไปสัตหีบไปบอกคุณทหาร (ทหาร ขำหิรัญ)ว่ามันมีเรื่องอย่างที่เกิดขึ้น และให้เขาระมัดระวังตัวไว้ ส่วนคุณเฉียบนั้นให้ไปพบจอมพล บอกเขาว่าเมื่องานชิ้นนี้เป็นของจอมพลแล้ว ผมไม่ขัดข้อง...”

บทความที่ ๑๑๘. บันทึกของ ร.ต.อ. เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๑

บันทึกของร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์

บทที่ ๑

ข้าพเจ้าครึ่งหลับครึ่งตื่น อยู่บนเก้าอี้หน้าสนามหญ้าในวัง “มังคละสถาน” ของพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตร ตรงกันข้ามกับปากซอยบ้านดอน ด้วยความรำคาญและเหนื่อยอ่อนแกมง่วงนอน ท้าทอยของข้าพเจ้าพาดลงบนสันพนักเก้าอี้ซึ่งตั้งเรียงราย ในการนั่งชมละครกลางแปลงเรื่อง “อิเหนา” ข้าพเจ้าไม่สนใจในบุษบาหรือตำมะหงงเสนาผู้ใหญ่ซึ่งเป็นตัวตลกในเรื่องแม้แต่น้อย เพราะข้าพเจ้าทนอยู่ในชุดทรงทรมาน คือชุดของ “นายร้อยตำรวจเอก” ซึ่งมีสายคันชีพ รัดติ้วมาตลอดวัน และบัดนี้ก็เป็นเวลาดึกเกือบจะเที่ยงคืนอยู่แล้ว

ข้าพเจ้าเผยอเปลือกตาซึ่งกำลังปรืออยู่นั้นขึ้นมองดูท้องฟ้าอันมืดสนิท แสงสว่างของเจ้าผีพุ่งใต้ที่พุ่งสวนกันไปมาหลายดวงในระยะต่ำได้แยงเข้าไปในสายตาข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าต้องเบิกตาขึ้นมอง เห็นดวงดาวที่สุกใสประดับอยู่บนท้องฟ้านั้นพลันร่วงผลอย ดวงแล้วดวงเล่าติด ๆกันไม่น้อยกว่า ๒๐ ดวง ไร่เรี่ยกันในเวลาไม่ถึงอึดใจ ช่างเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยปรากฏแก่สายตาของข้าพเจ้ามาแต่ก่อน ทำให้ข้าพเจ้ารำพึงอย่างผิว ๆ เพราะฤทธิ์ง่วงว่า คืนนี้ช่างมีสะเก็ดของดวงดาวตกมาอย่างมากมายเสียจริง ๆ...

“เฉียบ !....”

เสียงเรียกชื่อข้าพเจ้าอย่างกระชากและร้อนรนแกมบังคับ ปลุกให้ข้าพเจ้าตื่นจากภวังค์อย่างผลีผลาม พร้อมกันนั้นเอง ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าแขนข้างขวาของข้าพเจ้าถูกฉุดกระชากให้ลุกขึ้น ข้าพเจ้าหายงัวเงียสติสัมปชัญญะแล่นเข้าแทนที่อย่างรวดเร็วด้วยอาการตกใจน้อยๆไม่มีอื่น พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ เป็นผู้กระชากแขนขวาของข้าพเจ้าให้ลุกขึ้น และพูดอย่างรวดเร็วว่า

“เกิดเรื่องแล้ว...ทหารบก...!”

ข้าพเจ้าใจหายวาบ เพราะวลีสั้น ๆ เพียงวลีเดียวทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจทุกสิ่งอย่างแจ่มแจ้ง เพราะเราได้รอเวลา แห่งการปะทุ ด้วยอาการหายใจไม่ทั่วท้องมานานแล้ว และที่สุดมันก็มาถึงเข้าอย่างจริง ๆ แล้ว นั่นคือเหตุการณ์ในคืนวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ จากหางเสียงที่บอกว่า “ทหารบก...” นั้นข้าพเจ้าเข้าใจอย่างอย่างดีที่สุดว่า การรัฐประหารกำลังเริ่มต้นแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่ทันจะซักถามอะไรให้แน่ชัด พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ก็ดึงแขนข้าพเจ้าอย่าถูลู่ถูกังให้เดินตามไปโดยเร็ว ข้าพเจ้ามองออกไปข้างหน้าก็เห็นท่านนายพลเรือ ตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจของข้าพเจ้ากำลังเดินนำหน้าพวกเราจะออกประตูวังพระองค์หญิงเฉลิมเขตรอยู่แล้ว ข้าพเจ้าวิ่งเหย่า ๆ ตามท่านไปอย่างตื่นเต้น และรู้สึกว่าอากาศในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ช่างเย็นเหน็บเข้าไปในจิตใจของข้าพเจ้าราวกับว่าเป็นเหมันต์ฤดูไปเสียแล้ว

พ.ต.ต.เชาว์ หันมากระซิบกับข้าพเจ้าว่า

“เมื่อกี้มีคนมารายงาน ท่านอธิบดีว่า พวกทหารบกกำลังแยกย้ายกำลังออกไปหลายสาย สายหนึ่งกำลังตรงมาบางกะปินี้ เวลานี้กำลังผ่านสถานทูตอังกฤษอยู่...”

“แล้วไงล่ะ...?”

“ไปฟังคำสั่งที่บ้านท่านอธิบดี”

ข้าพเจ้าพยักหน้าแทนคำตอบ นายตำรวจสันติบาลกอง ๒ กลุ่มใหญ่เดินอย่างเร็วตามท่านอธิบดีเขาเขาไปอย่างเร่งร้อนระยะไม่เกิน ๕๐๐ เมตรก็ถึงที่หมายปลายทาง จากคำสั่งของท่านทำให้พวกเราทุกคนได้มีอาวุธประจำตัวเพื่อเป็นการป้องกันตัว ข้าพเจ้าเอื้อมมือรั้บปืนกลมือ ทอมสัน อย่างมั่นใจและระทึกว่าในอนาคตอันใกล้นี้คงจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น หากไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้

ท่านอธิบดีของข้าพเจ้ายกหูโทรศัพท์ขึ้น แต่แล้วก็ต้องวางสายเพราะโทรศัพท์ได้ถูกตัดเสียแล้ว ท่านหัวเราะหึ ๆ ยืนบุหรี่ฝรั่งให้ข้าพเจ้าซองหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็รับไว้ทั้ง ๆที่ข้าพเจ้าเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ด้วยเกรงว่าท่านจะเขิน ท่านเหลียวตัวกลับไปสู่กลุ่มนายตำรวจแล้วกล่าวอย่างเบา ๆ ว่า-

“สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมได้ออกคำสั่งไว้กับหลวงชาติฯ รองอธิบดีแล้วว่า ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของทหารเขา ตำรวจเราไม่เกี่ยว ไม่ต้องทำการขัดขวางอะไร ให้อยู่เฉย ๆ ...”

ข้าพเจ้าและ พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ผู้กำกับการกอง ๒ คงอยู่ในอาการปกติเพราะเราต่างได้ทราบเหตุผลมาล่วงหน้าก่อนแล้ว ทุกอย่างเต็มอยู่ในอกของเรา แต่นายตำรวจอื่นทำท่าทางหลากใจบาง แต่ก็ไม่มีใครซักถามอะไรอีก ต่างก็นั่งบ้างยืนบ้างตามถนัด ส่วนใหญ่ของเรายังมั่นคง และฟังคำสั่งจากท่านอธิบดีอย่างแน่วแน่ สารวัตรทหารทำการรักษาการณ์บ้านพักของท่านอย่างเข้มงวดกวดขัน เพราะท่านอธิบดีกรมตำรวจมีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมสารวัตรด้วย เหตุการณ์ภายในบ้านของท่านสับสนเนื่องจากมีคนเข้าออกเป็นอันมาก ข่าวที่ได้รับแน่นอนที่สุดก็คือว่าทหารบกกำลังเคลื่อนที่ข้ามทางรถไฟมาแล้ว ตรงมาบางกะปิพร้อมด้วยรถถัง พวกเราทุกคนรออยู่เพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติกาลที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า จะถึงกันนองเลือดกันหรือไม่ ?

ข้าพเจ้าหันกลับไปปรารภกับผู้กำกับการกอง ๒

“ผมเห็นว่าทหารบกมาที่นี่ก็คงมีความมุ่งหมายมาเอาตัวท่านอธิบดีเป็นประกันเท่านั้น--”

พ.ต.ต.เชาว์ พยักหน้าแทนคำตอบ แสดงว่ามีความเห็นพ้องด้วยในความเห็นของข้าพเจ้า เราจึงได้หันหน้าเข้าปรึกษากันว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะให้ท่านอธิบดีคงอยู่ ณ บ้านพัก เพราะจะต้องถูกจับหรือถูกเชิญต้วไป ดังนั้นเราทั้งสองจึงก้าวเข้าไปชิดท่าน พ.ต.ต.เชาว์ได้เรียนกับท่านว่า

“ขอให้ท่านอธิบดีออกไปจากที่นี่ก่อนจะดีกว่า เพราะทหารบกที่กำลังเคลื่อนมานั้นจะไปที่อื่นเป็นไปไม่ได้ จะต้องตรงมาที่นี่อย่างแน่นอน และต้องมาเอาตัวท่านอธิบดีไปเป็นประกัน ผมอยากให้ท่านอธิบดีหลบไปเสียก่อน เพราะเหตุการณ์ยังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร- ”

“ผมจะอยู่มันที่นี่ - -” ท่านกล่าวตัดบทอย่างเฉียบขาด

ข้าพเจ้าใจเสียเมื่อฟังคำสั่งของท่าน เพราะการแสดงเหตุผลของ พ.ต.ต.เชาว์นั้นถูกต้องตรงกับความรู้สึกของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเข้าไปสนับสนุนเหตุผลของผู้กำกับการกอง ๒

“ผมเห็นว่าท่านอธิบดีอยู่ที่นี่ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่จะเสียประโยชน์อย่างเดียว ขอให้ท่านอธิบดีปลีกตัวหลบออกไปเสียก่อน ฟังดูเหตุการณ์ให้ชัดเสียก่อนจะเป็นประโยชน์มากกว่า - -”

ท่านส่ายหน้าแทนคำตอบ ข้าพเจ้าเข้าใจจิตใจของท่านดีว่าท่านเป็นเลือดนักสู้ที่บึกบึน เมื่อนายตำรวจอยู่กับท่านอย่างพร้อมหน้าเกือบ ๓๐ คนเช่นนี้ แล้วท่านจะจากไปก็จะเป็นการไม่เหมาะสม เราหลายคนได้พากันอ้อนวอนให้ท่านไปเสียจากบ้านชั่วคราว เพื่อดูอาการของเหตุการณ์ก่อนเท่านั้น จากการอ้อนวอนซึ่งเป็นเสียงข้างมากเช่นนี้จึงได้ทำให้ท่านได้เปลี่ยนความตั้งใจ ในที่สุดท่านอธิบดีของเราก็ได้จากเราไปทางด้านหลังบ้านทะลุออกทุ่งนา ไปในทิศทางซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านไปแห่งใด

ข้าพเจ้าถอนหายใจยาวอย่างโล่งอก เสียงสารวัตรทหารที่รักษาการณ์หน้าบ้านซึ่งกำลังปีนกำแพงตรวจการณ์อยู่นั้นรายงานว่า

“ทหารบกกำลังเคลื่อนที่เข้ามาตามถนนโดยใช้เสาไฟฟ้าเป็นที่กำบัง เข้ามาเป็นระยะ ๆ ห่างประมาณ ๑๐๐ เมตร...”

ข้าพเจ้าแหงนดูตัวตึกที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่อันงามสง่า หากมีการต่อสู้กันขึ้น ตึกหลังนี้จะต้องเป็นผุยผงแล้วจะเกิดประโยชน์อันใดเล่า โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในบริเวณบ้านหลังนี้ภายในกำแพงย่อมอยู่ในสภาพที่ถูกล้อมได้โดยง่าย และในที่สุดแห่งการต่อสู้ก็จะกลายเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ ข้าพเจ้าตรงไปที่สารวัตรทหารกลุ่มหนึ่งที่เป็นพลประจำปืนกลเบา แมดเสน กระซิบกับเขาเบา ๆ ว่า –

“เราควรแบ่งกำลังออกไปรักษาการณ์นอกบ้านบ้างดีกว่า เพราะถ้าเราอยู่กันในบริเวณบ้านนี้ทั้งหมด ก็อาจถูกล้อมโดยไม่มีกำลังกระหนาบข้างหลังเลย...”

เขาเหลียวดูกันเองอย่างลังเลใจเพราะมีแต่ชั้นผู้บังคับหมู่เท่านั้นเป็นผู้บังคับบัญชา ข้าพเจ้าเข้าใจจิตใจของเขาเป็นอย่างดี จึงได้กระทุ้งในสรรพคุณของข้าพเจ้าเข้าให้อีกว่า

ไม่เป็นไรน่า...อั๊วสำเร็จออกมาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก, เรื่องอย่างนี้เข้าใจดี...”

สารวัตรทหารบกกลุ่มนั้นยิ้มแทนคำตอบ และดูอาการเขามีความมั่นใจในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิได้ปล่อยให้เวลาต้องผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ได้ออกคำสั่งให้เขาทั้งสามนั้นติดตมาข้าพเจ้าออกนอกบ้าน เขาชำนาญภูมิประเทศเป็นอย่างดี เพราะได้เคยมารักษาการณ์ในบริเวณนี้เป็นอาจิณ ข้าพเจ้าพาเขาเลี้ยวออกไปทุ่งนาหลังบ้าน ณ ที่นั้นเป็นหัวมุมของซอยสุภางค์ ซึ่งหักเลี้ยวเป็นข้อศอกมองเห็นประตูบ้านของท่านอธิบดีแต่เพียงสลัว ๆ เพราะเดือนมืดมาก เราได้นำปืนกลเบาเข้าที่ตั้งยิง ณ ที่นั้นด้านหลังของเราเป็นทุ่งนากว้าง ดังนั้นเราจึงไม่กลัวว่าจะถูกตีโอบในเวลาค่ำคืนเช่นนี้ เพราะมีทิศทางในการเคลื่อนที่ได้มากมาย

ข้าพเจ้าปลดดาวสีเงินหกดวงออกจากอินธนูบนบ่าของเครื่องแบบ เพราะเกรงว่ามันจะเป็นบ่อเกิดแห่งการสะท้อนของแสง ส่วนหมวกของข้าพเจ้านั้นเล่าก็หมุนไปให้เครื่องหมาย “พิทักษ์สันติราษฎร์” ไพล่ไปอยู่เสียข้างหลัง ภายในอกของข้าพเจ้าเต้นระทึกว่า อีกไม่นานนักคงจะได้มีการยิงต่อสู้กัน ข้าพเจ้าได้ตรวจดูกระสุนโดยละเอียด เรามีกระสุนตามอัตราศึก โดยเฉพาะปืนทอมสันของข้าพเจ้านั้นมีแม็กกาซีนอยู่ถึง ๑๐ อันหนักแปร้ทีเดียว เราจะไม่ยอมเสียกระสุนโดยไม่จำเป็น เพราะเราไม่มีคลังแสงที่จะเบิกเพิ่มเติ่มได้อย่างทหารในแนวรบ นี้เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าซึ่งเราไม่ได้เตรียมไว้เพื่อการต่อต้านการรัฐประหารอย่างใดมาแต่ต้น แต่เราทำเช่นนี้เพียงแต่เป็นการป้องกันตัวเท่านั้น

ข้าพเจ้าหมอบลงที่ทุ่งนาฟังเสียงดูว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่ก็ไม่มีอะไร ทหารบกได้เคลื่อนที่มาถึง รถถึงก็มาด้วย เสียงเครื่องยนต์ของรถถังดังพรืด ๆ ลั่นถนนอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าทราบภายหลังว่าพลขับไม่กล้าดับเครื่องยนต์นั้นเพราะเกรงว่าจะสตาร์ทไม่ติด จึงได้เดินเครื่องตลอดเวลาอันยาวนาน เสียงตะโกนสั่งการของนายทหารที่ควบคุมนั้นดังลั่นถนนเหมือนกับจะเอาเสียงนั้นเป็นเพื่อนด้วย บนตัวตึกบ้านอธิบดีนั้นดับไฟหมดทุกดวงทำให้มืดสนิท เสียงตะโกนให้เปิดไฟและเสียงตะโกนให้เปิดประตูรับดังเอะอะจากทหารฝ่ายรัฐประหาร แต่ทุกสิ่งก็เงียบเชียบจากภายในบ้านนั้น ข้าพเจ้ามั่นใจว่ากำลังภายในบ้านนั้นได้เตรียมพร้อมเพื่อรับเหตุการณ์หากมีการรังแกกัน และนั่นก็ย่อมหมายถึงเหตุการณ์อันรุนแรงที่นองเลือดจะเกิดขึ้น

Thursday, April 26, 2007

บทความที่ ๑๑๗. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๑๑

บทที่ ๗ กบฏแมนฮัตตัน และการปฏิวัติเงียบ

จากการที่ทหารเรือชั้นผู้ใหญ่หลายนายได้ให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยแก่ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในเหตุการณ์วันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลง กองทัพบกและตำรวจก็ตกอยู่ในสถานะคู่แข่งขันขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกองทัพเรือ ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น มีการเตรียมพร้อมในกองทัพเรือ และตั้งเวรยามรักษาการณ์บริเวณเขตทหารเรือจนบางครั้งเกิดเรื่องบาดหมางใจกันระหว่างทหารเรือ กับตำรวจอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางภสภาพตึงเครียดนี้ กลุ่มนายทหารเรือหนุ่ม ๆ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และในที่สุดได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาอย่างหลวม ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ “ได้มีส่วนร่วมในการจัดการปรับปรุงในด้านการงานของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์เท่านั้น และ..เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่บริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” รวมทั้งการปรับปรุงกองทัพเรือให้มีสมรรถนะสูงขึ้น

การก่อการกระทำร่วมในกรณี “กบฏแมนฮัตตัน” เกิดขึ้นหลังจากที่ได้เปลี่ยนแผนมาแล้วถึง ๕ ครั้ง เนื่องจากความไม่พร้อมบางประการ จนกระทั่งพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ โดยนาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือศรีอยุธยา เป็นผู้ลงมือ “จี้” จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะที่กำลังทำพิธีรับมอบเรือ “แมนฮัตตัน” จากสหรัฐอเมริกา โดยมีนาวาเอกอานนท์ ณฑริกาภา-ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ นาวาตรีประกาย พุทธารี-นายทหารประจำฝ่ายนาวิกโยธิน และพันตรีวีระศักดิ์ มัณฑจิตร แห่งกองทัพบกเข้าร่วมด้วย

จากนั้นกลุ่มผู้ก่อการกบฏแมนฮัตตัน ในนามของ “คณะกู้ชาติ” ได้คุมตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้ที่เรือศรีอยุธยา แต่ทว่าแผนการหลังจากนั้นต้องล้มเหลว ขาดการประสานงาน-ปฏิบัติการที่พร้อมเพรียง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลโดยพลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์-แม่ทัพภาคที่ ๑ และพลตำรวจโทเผ่า ศรียานนท์ ได้ต่อสู้ต้านทาน โดยไม่เห็นแก่ชีวิตของจอมพล ป.พิบูลสงครามผู้ตกเป็นตัวประกันแก่ฝ่ายตรงข้าม และหลังจากปะทะกันในสงครามน้ำลายผ่านสถานีวิทยุแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้กำลังรุนแรงตอบโต้ ในที่สุดก็ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในระยะเวลาอันสั้น

หลังจากปราบปราม “คณะกู้ชาติ” แล้ว ฝ่ายรัฐบาลจึงเริ่มกำจัดฝ่ายตรงข้ามจากกองทัพเรือ พร้อมกับการจำกัดขอบเขตการปฏิบัติการของกองทัพเรือ ลดทอนงบประมาณ กำลังอาวุธและกำลังพล สับเปลี่ยนโยกย้ายที่ตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งยุบและโอนย้ายกำลังกองทัพเรือให้แก่กองทัพบกและกองทัพอากาศ กองทัพเรือจึงเหลือแต่กำลังพลเท่านั้นที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นและไม่เป็นพิษภัยต่อเสถียรภาพของตนอีกต่อไป ในที่สุด คู่แข่งสำคัญในอดีตของกองทัพบกก็ถูกลดสมรรถภาพและบทบาทแทบทุกอย่าง ในขณะที่กองทัพบก กองทัพอากาศและตำรวจในฐานะผู้ชนะ ก็ได้ทุกอย่างที่ต้องการ

เมื่อรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามได้รับการต่อต้านหลายต่อครั้งแม้ว่าจะได้ขจัด-กำจัดฝ่ายตรงข้ามไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงได้ทำการ “ปฏิวัติเงียบ” โดยอ้างเหตุความจำเป็นครั้งนี้ว่า

เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันนี้ ตกอยู่ในความคับขันทั่วไป ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้คุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีนี้ก็ดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นอันมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ไม่สามารถปราบปรามการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รัปชั่นดังที่มุ่งหมายจะปราบนั้น ด้วยความเสื่อมโทรมมีมากขึ้นจนเป็นที่วิตกทั่วไปว่าประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างนี้

การอ้างอิงถึงสถานการณ์โลก และนำประเด็นปัญหาคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นเหตุผลหลักในการนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๗๕ กลับเข้ามาใช้ใหม่พร้อมทั้งได้ประกาศตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราว ยุบวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ในคณะบริหารประเทศชั่วคราวทั้ง ๙ นาย ซึ่งมาจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ฝ่ายละ ๓ นายนั้น พ.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์แห่งกรมตำรวจมิได้เป็นสมาชิก ดังนั้นจึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบรักษาความสงบและความมั่นคงภายในประเทศในฐานะอธิบดีกรมตำรวจ จากนั้นได้ออกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง และออกประกาศยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมดด้วย

ในวันรุ่งขึ้น คณะบริหารประเทศชั่วคราวก็ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ จำนวน ๑๒๓ คน เพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง สภานี้แสดงถึงอำนาจอิทธิพลของฝ่ายทหาร-ตำรวจอย่างเห็นได้ชัดกล่าวคือ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสูงถึงกว่าร้อยละ ๙๐ ต่อมา ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญพุทธศักราช ๒๔๗๕ จำนวน ๒๕ คน มีพลเอกผิน ชุณหะวัณเป็นประธาน นายหยุด แสงอุทัยเป็นเลขานุการ นอกนั้นก็ได้แก่พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์พลตำรวจโทเผ่า ศรียานนท์พลตรีถนอม กิตติขจรพันเอกประภาส จารุเสถียรพันเอกศิริ ศิริโยธินพันเอกประมาณ อดิเรกสารพันโทชาติชาย ชุณหะวัณหลวงวิจิตรวาทการฯลฯ

ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งครั้งนี้กลุ่มอดีตพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก ดังนั้นผู้สมัครส่วนใหญ่ซึ่งลงสมัครอิสระโดยได้รับเงินทุนหนุนหลังจากฝ่ายรัฐบาลซึ่งมี พ.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้ดำเนินการ จึงได้รับเลือกเข้ามาอย่างท่วมท้น ทำให้รัฐสภาที่คณะรัฐประหารควบคุมได้จึงมีเสถียรภาพมั่นคงมาถึง ๕ ปี

เมื่อถึงจุดนี้กลุ่มอำนาจนิยมก็ได้สถาปนาอำนาจของตนมั่นคงยิ่งขึ้น โดยอาศัยกลไกรัฐกำราบปราบปรามฝ่ายตรงข้ามคือกลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์และกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้การครอบงำยึดกุมกลไกของรัฐที่สำคัญคือ กองทัพ และกรมตำรวจ โดยการสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งที่ถูกกฎหมาและที่ผิดกฎหมาย เช่น การจัดตั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจจำนวนมากเพื่อให้ข้าราชการและนักการเมืองกลุ่มตนเข้าไปแสวงผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักการเมืองกลุ่ม “ราชครู” ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ การค้าของเถื่อน ฝิ่นเถื่อนของฝ่ายตำรวจลูกสมุนของพลตำรวจเผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น การต่อสู้ช่วงชิง รักษาและสืบทอดอำนาจทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ ๒๔๙๐ จึงเป็นลักษณะที่ประชาชนไม่อาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญถูกกำหนดตามอำเภอใจของกลุ่มผู้มีอำนาจภายใต้รูปแบบ-พิธีการของระบอบรัฐสภาเท่านั้น.

บทความที่ ๑๑๖. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๑๐

บทที่ ๖ ขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒

เหตุการณ์ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ หรือที่เรียกกันภายหลังว่า “กบฏวังหลวง” เริ่มขึ้นเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ พร้อมกับผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ และพลเรือโทหลวงสังวรณ์ สุวรรณชีพ ได้นำกำลังหน่วยนาวิกโยธินจากฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรีเข้ามายังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งได้มี “ลูกศิษย์ลูกหา” ของท่านปรีดี และนักการเมืองฝ่ายพลเรือน-กลุ่มเสรีไทย โดยมีทวี ตะเวทิกุล เป็นผู้จัดการรวบรวมกำลัง ร่วมกับนายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ เตรียมกำลังรอคอยอยู่แล้ว จากนั้นก็เข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นที่มั่น และประกาศทางวิทยุกระจายเสียง แต่งตั้งให้นายดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับประกาศโยกย้ายและแต่งตั้งนายทหารระดับผู้บัญชาการบางตำแหน่ง รวมทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ที่เพิ่งประกาศใช้ แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ มาใช้และได้ส่งกำลังทหารและพลเรือนไปยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เอาไว้

การตอบโต้ของฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ ในฐานะผู้บัญชาการปราปรามการก่อจลาจล ได้เริ่มขึ้นอย่างรุนแรงในเช้าวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ และจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นฝ่ายรัฐบาลได้ดำเนินการกวาดล้าง ปราบปรามและจับกุมผู้ร่วมก่อการจำนวนมาก อาทิ นายทองเปลว ชลภูมิ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล นายเดือน บุนนาค นายชิต เวชประสิทธิ์ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์อดีตรัฐมนตรี ซึ่งท่านปรีดี ได้กล่าวในภายหลังว่านายทองอินทร์ ไม่ได้เข้าร่วมก่อการในครั้งนี้

ในการจับกุมครั้งนี้ได้มีการจับตายบางคนคือ นายทวี ตะเวทิกุล พ.ต.โผน อินทรทัตและ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ซึ่งได้รับการแต่งตั้งทงวิทยุให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเสรีไทย และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลหลายชุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ส่วนท่านปรีดี พนมยงค์ได้หลบซ่อนอยูในพระนครนานถึง ๕ เดือน โดยความช่วยเหลือของนาวาตรีมนัส จารุภา (ผู้ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในกบฏแมนฮัตตัน)ก่อนที่ท่านปรีดีจะเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับหลวงสังวรณ์สุวรรณชีพ และเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช

ความผิดพลาดล้มเหลวของการก่อการ(ที่ท่านปรีดีเรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒”) นั้นได้มีผลกระทบสำคัญอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมาก็คือ การขจัดอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายสนับสนุนท่านปรีดีอย่างจริงจัง และปัญหาความหวาดระแวงระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพบก

การขจัดอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายสนับสนุนท่านปรีดี นั้นกระทำโดยการกวาดล้างจับกุมผู้ที่เคยใกล้ชิด-เกี่ยวข้องกับท่านปรีดี ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเสรีไทย นักการเมือง นักศึกษา-อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่กรณีที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ และหวาดผวาในหมู่นักการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมากก็คือ กรณีสังหารอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเรือนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้ง ๔ ท่านคือ นายทองเปลว ชลภูมิ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์,นายจำลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล โดยในชั้นต้นฝ่ายตำรวจอ้างว่าเป็นฝีมือของโจรแบ่งแยกดินแดน แต่เมื่อมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ได้มีการรับสารภาพว่าเป็นการจัดฉากเพื่อสังหารนักการเมืองทั้ง ๔ คน เนื่องจาก “ผู้ตายเป็นนักการเมืองสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในสมัยนั้น” ผู้ตายถูกจับกุมต้องหาว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาล แล้วถูกนำตัวจากที่คุมขังขึ้นรถไปเพื่อไปกำจัดเสียตามความประสงค์ของผู้เมาอำนาจในขณะนั้น

คดีการเมืองอีกคดีหนึ่งที่มืดมนสับสนคือ การจำกัดนายเตียง ศิริขันธ์ และพรรคพวกอีก ๔ คนในปี พ.ศ.๒๔๙๕ (หลังเหตุการณ์กบฏสันติภาพ) เป็นที่ทราบกันว่า สูญหายไปโดยสันนิษฐานว่าคงจะถูกฝีมือสมุนตำรวจของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ลอบสังหารไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีคดีวิสามัญฆาตกรรม พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข นายอารีย์ ลีวีระ ฯลฯ บุคคลที่ตกเป็นเหยื่ออำนาจอธรรมเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผู้ซึ่งต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหาร หรือไม่ก็มีเรื่องราวขัดแย้งไม่พอใจกับ พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และนายตำรวจลูกสมุน ในภายหลังคดีเหล่านี้ก็ถูกกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์รื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่

มาตรการโหดเหี้ยมทารุณของฝ่ายตำรวจในทำนองนี้ ย่อมทำให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ซึ่งไม่พอใจหรือต่อต้านรัฐบาลเกิดความหวาดกลัว พ.ต.อ.เผ่า ยังอาศัยกลไกในการให้สินบนแก่นักการเมืองบางราย เพื่อรวบรวมอำนาจทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรให้แก่จอมพล ป.พิบูลสงครามอีกด้วย ดังนั้นในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก พรรคการเมืองไทยก็เริ่มแตกสลาย ขณะเดียวกันเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ คณะรัฐประหารก็ได้จัดการความขัดแย้งภายในของกลุ่ม โดยการขจัดหลวงกาจ กาจสงคราม หนึ่งในผู้ร่วมวางแผนการรัฐประหาร-ผู้มีความมักใหญ่ใฝ่สูงให้ออกไปพ้นจากวิถีการเมืองไทย โดยการกดดันและจี้บังคับให้ลี้ภัยไปอยู่ฮ่องกง ทั้งนี้ทางฝ่ายตำรวจอ้างว่าได้พบหลักฐานแผนการก่อกบฏ (เรียกกันว่ากบฏน้ำท่วม)ของหลวงกาจ กาจสงคราม โดยอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมพระนครเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐ ซึ่งข้ออ้างของตำรวจในครั้งนี้ก็เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อที่ขจัดหลวงกาจ กาจสงครามสมาชิกคณะรัฐประหารผู้อื้อฉาวตลอดเวลาเท่านั้น

วิธีการกำจัด-ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป.พิบูลสงครามนี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สามารถประคับประคองอยู่ได้ท่ามกลางกลุ่มผู้ต่อต้านอื่น ๆ

Wednesday, April 25, 2007

บทความที่ ๑๑๕. ขออุทิศตนเพื่อธำรงพระพุทธศาสนาและอำนาจของปวงชนให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

ขออุทิศตนเพื่อธำรงพระพุทธศาสนาและอำนาจของปวงชนให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ต่อคำถามที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ผมมีทัศนะว่า เห็นด้วยที่จะต้องบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย

แต่ผมมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การบัญญัติเรื่องดังกล่าวจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง !!! เพราะอย่างไรเสีย รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของประชาชน ก็จะต้องถูกคัดค้านจากมวลประชาชนและไม่สามารถนำมาประกาศใช้ได้

การชุมนุมกดดันจากภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์อย่างหนักแน่นว่าในที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญของมวลราษฎรทั้งหลายที่ได้พากันลุกขึ้นต่อสู้ให้ได้มา (ในอีกไม่นานนี้)นั้น จะต้องบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ !!!

นอกจากนี้ผมก็เห็นด้วยที่ภิกษุจำนวนมากจะได้ออกมาแสดงจุดยืนโดยการชุมนุมกดดันผู้นำประเทศ เพราะภิกษุสงฆ์คือสถาบันศาสนา ในความหมายของ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" เมื่อสถาบันศาสน์คือ เหล่าพุทธบริษัทได้รับความเดือดร้อนก็เป็นธรรมดาที่จะต้องออกมาเรียกร้องให้ปกป้องศาสนาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ.

การต่อสู้ของมวลประชาชนในครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้ที่หนักมือเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะต้องสู้กับอำนาจเผด็จการที่ครอบงำประชาชนผ่านสื่อมวลชนไร้จรรยาบรรณทั้งหลาย แล้วยังจะต้องมาต่อสู้เพื่อให้มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอีกทางหนึ่ง แต่เราทั้งหลายก็พร้อมที่จะต่อสู้ทุกทางเพื่อปกป้องอำนาจของมวลประชาชนให้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ.

บทความที่ ๑๑๔. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๙

บทที่ ๕ ความพยายามตอบโต้คณะรัฐประหาร ๒๔๙๐

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ได้เกิดการจับกุมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอีก เรียกกันว่า “กบฏไฮยิดดิน” โดยข้อหาที่ว่ามีการก่อวินาศกรรมในเขตต่าง ๆ แถบปัตตานี สายบุรี และเบตง เพื่อแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นไปรวมกับสหพันธรัฐมลายู กรณีกล่าวหากบฏและการจับกุมที่ดำเนินไปในช่วงนั้นมีเอกสารข้อมูลไม่มากนัก แต่เท่าที่มีอยู่ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ พร้อมที่จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตนต่อไป ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณเตือนว่ากลุ่มผู้นำของขบวนการเสรีไทย ตลอดจนผู้นำในส่วนภูมิภาค และพลพรรคสหชีพ แนวร่วมรัฐธรรมนูญ ซึ่งสนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ เริ่มที่จะเป็นเป้าหมายของการกำราบปราบปรามอย่างรุนแรงจากฝ่ายคณะรัฐประหาร

ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ มีความพยายามที่จะก่อการกระทำร่วมเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลุ่มผู้ก่อการโดยมากประกอบด้วยนายทหารในกรมเสนาธิการ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่างเช่น พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต พลตรีเนตร เขมะโยธิน พันเอกกิตติ ทัตตานนท์ พันโทไสว ทัตตานนท์ และพันโทโพยม จุฬานนท์-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น ได้ร่วมกับนักการเมืองฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนท่านปรีดี เช่นนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร หลวงอรรถกิติกำจร และนายทองเย็น หลีละเมียร เป็นต้น กลุ่มนี้วางแผนที่จะล้อมจับบุคคลสำคัญในคณะรัฐประหาร โดยอ้างเป้าหมายและสาเหตุของการดำเนินการในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการให้มีการปรับปรุงกองทัพ และเพื่อให้ทหารเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะจะทำให้ทหารแตกแยกกันและจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

แต่ยังไม่ทันที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนก็ถูกปราบปรามเสียก่อน รัฐบาลได้ฟ้องจำเลยทั้งสิ้น ๑๙ คน ในจำนวนนี้เป็นนายทหารเสนาธิการ ๖ คน นายทหารนอกราชการ ๕ คน พลเรือน ๑ คน นอกนั้นเป็นนายทหารที่ไม่มีอำนาจสำคัญในการบังคับบัญชากองทัพ โดยมีนายทหารบางนายหลบหนีได้ ที่สำคัญคือพันโทโพยม จุฬานนท์-ผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญให้แก่ขบวนการปฏิวัติไทย-พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่วนนักการเมืองฝ่ายพลเรือนที่รอดพ้นจากการจับกุม ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวอีกในกรณีกบฏวังหลวงได้แก่นายปราโมทย์ พึ่งสุนทรและหลวงอรรถกิติกำจร

ตามแผนการณ์จับกุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะไปร่วมในงานมงคลสมรสของพลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อพิจารณาดูจากสภาพแวดล้อม และตัวผู้ร่วมก่อการที่ไม่ได้มีกำลังทหารในบังคับบัญชาแล้ว มีข้อสังเกตบางประการ กล่าวคือฝ่ายรัฐบาลล่วงรู้แผนการณ์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วทันการณ์ จึงน่าจะเกิดจากการ “ทรยศหักหลังพรรคพวก” นอกจากนี้องค์ประกอบของจำเลยดังปรากฏในคำฟ้องร้องคดีคือ ฝ่ายทหารเรือ เสรีไทย และผู้ใกล้ชิดท่านปรีดี พนมยงค์ เช่นหลวงอรรถกิติกำจร พี่ชายต่างมารดาของท่านปรีดี พนมยงค์ และนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นต้น จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเกิดจากความพยายามในการเสริมสร้างคดีให้ดูรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะจากหลักฐาน พยาน และคำให้การของจำเลยนั้น ยอมรับแต่เพียงว่า ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ และคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ เท่านั้น ไม่ได้วางแผนโค่นล้มรัฐบาลโดยการใช้กำลัง แต่ในที่สุด คดีนี้สิ้นสุดลงด้วยการลงโทษสถานเบา มีเพียง ๙ คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก ๓ ปี ส่วนอีก ๑๐ คนได้รับการยกฟ้องปล่อยตัวไป

อย่างไรก็ตาม กรณีจึงน่าจะเป็นสัญญาณเตือนกลุ่มผู้ต่อต้านคณะรัฐประหาร ๒๔๙๘๐ ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยฝ่ายตำรวจภายใต้การนำของพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ได้เริ่มนำมาตรการนอกระบบ นอกกระบวนการสืบสวนสอบสวนมาใช้ พร้อมทั้งได้ขึ้น “บัญชีดำ” บุคคลต่าง ๆ ที่ต้องสงสัยไว้ เช่น หลวงอรรถกิติกำจร ซึ่งหลบหนีการจับกุมไปได้ หลวงนฤเบศร์มานิต (นายสงวน จูฑะเตมีย์) อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มกบฏในครั้งนี้ได้แก่พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ นายโผน อินทรทัต และนายสงวน ตุลารักษ์ เป็นต้น ตลอดจนบรรดาสานุศิษย์ คนใกล้ชิดท่านปรีดี หรือบุคคลผู้เป็นเสรีไทยมาก่อน ล้วนแต่อยู่ในข่ายที่น่าสงสัยและเฝ้าติดตามจากฝ่ายตำรวจ แรงกดดันเหล่านี้จึงทวีขึ้นเรื่อย ๆ

ท่ามกลางกระแสความเคลื่อนไหวที่ตึงเครียดในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลจอม ป.พิบูลสงคราม ยังได้กำราบ-ปราบปรามตักเตือนกลุ่มผู้กำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เช่นในเรื่อง “ประเทศไทยจะมีจลาจลหรือไม่” ว่า “..หากจะดำเนินการต่อไป โดยใช้การจลาจลเพื่อความสำเร็จทางการเมืองภายในแล้ว ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าทุกคนต้องสู้กันไป เลือดเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้..”

ในขณะนั้นทางฝ่ายรัฐบาลคงจะทราบระแคะระคายมาบ้างว่าท่านปรีดี พนมยงค์ได้ลอบกลับเข้ามาในประเทศและมีข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนถี่ยิ่งขึ้น ดังนั้นในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ฝ่ายตำรวจจึงลงมือจับกุมนักการเมืองที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย เช่น พ.อ.ทวน วิชัยขัทคะ-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลท่านปรีดี พนมยงค์, ร้อยเอกสุนทร ทรัพย์ทวี, ร้อยเอกวิเชียร จาระสุต และร้อยเอกชลิต ชัยสิทธเวช ด้วยข้อหาพยายามก่อการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นรัฐบาลจึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อเตรียมกวาดล้างจลาจลอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งสั่งให้กองทัพภาคต่าง ๆ เตรียมพร้อมและทำการปิดถนนสายสำคัญ ๆ ที่มุ่งมายังพระนคร และเพิ่มมาตรการตรวจเซ็นเซอร์ข่าวหนังสือพิมพ์ อาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลคณะรัฐประหารได้พร้อมที่จะรับมือกับกลุ่มต่อต้านอย่างเต็มที่.

บทความที่ ๑๑๓. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๘

ตอนที่ ๔ การคุกคามหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐

ในช่วงแห่งสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีจากจัดตั้งขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น โดยมีการระดมพลทั่วประเทศเพื่อฝึกฝนการใช้กำลังอาวุธ ตลอดจนรวบรวมยุทโธปกรณ์ทันสมัยไว้ใช้ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ เมื่อสงครามยุติลงแล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้เปิดเผยว่าขบวนการเสรีไทยมีผู้สนับสนุนและเข้าร่วมเป็นแนวหน้าถึง ๘๐,๐๐๐ คนและอีก ๕๐๐,๐๐๐ คนพร้อมที่จะเข้าร่วมเมื่อคราวจำเป็น ต่อมาในวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ภายหลังการประกาศศานติภาพ ขบวนการเสรีไทยก็ได้จัดให้มีการเดินขบวนสวนสนามฉลองสันติภาพครั้งใหญ่ และแม้ว่าจะได้ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยหลังจากที่สถานการณ์สงครามสงบลงแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือการกระทบกระทั่งกันระหว่างอดีตสมาชิกเสรีไทยกับทหารบก สาเหตุหนึ่งก็คือบุคคลผู้ที่สนับสนุนท่านปรีดี โดยเฉพาะผู้ที่เคยร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดในขบวนการเสรีไทย ได้เข้ามาในสายการบังคับบัญชาของกองทัพ เช่น การแต่งตั้งหลวงสินาดโยธารักษ์ หลวงอดุลเดชจรัส และพลเรือตรีหลวงสังวรยุทธกิจ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกองทัพอย่างลึก ๆ

สมาชิกเสรีไทยที่สลายกำลังลงไปแล้วนั้น ส่วนหนึ่งได้ก่อตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ที่สำคัญที่สองกลุ่มคือ พรรคสหชีพ ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล เป็นต้น กับกลุ่มนักการเมืองฝ่ายพลเรือนอื่น ๆ ที่สนับสนุนท่านปรีดี เช่นนายจรูญ สืบแสง นายสงวน ตุลารักษ์ นายเดือน บุนนาค โดยมีนายเดือน บุนนาคเป็นหัวหน้าพรรค อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญซึ่งมีแกนนำในการจัดตั้งคือ สมาชิกคณะราษฎรที่สนับสนุนท่านปรีดี เช่น พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายสงวน จูฑะเตมีย์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายดิเรก ชัยนาม มล.กรี เดชาติวงศ์ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ฯลฯ โดยมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดื เป็นหัวหน้าพรรค นายทองเปลว ชลภูมิเป็นเลขาธิการพรรค

การที่กลุ่มขบวนการเสรีไทยที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์สามารถรวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่นได้เช่นนี้ ทำให้มีความเข้าใจกันว่า “เสรีไทย” หมายถึงกลุ่มของท่านปรีดี และเป็นอริกับฝ่ายทหารบก ดังนั้นเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศว่าจะเข้ามาในวงการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมมือกับหลวงวิจิตรวาทการ และพลเอกมังกร พรหมโยธีจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ ก็มีการประชุมลงมติต่อต้านคัดค้านจากสมาชิกพรรคสหชีพจากภาคอีสาน

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลพลเรือนของท่านปรีดี พนมยงค์กำลังบริหารงานอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทยขึ้นมากล่าวหา-โจมตีฝ่ายท่านปรีดี อย่างหนักถึง ๕ ประเด็น ทั้งโดยการเคลื่อนไหวในรัฐสภาคือการตั้งกระทู้ถามผ่านรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการวิสามัญสะสางเงินในงบสันติภาพของเสรีไทย และการโจมตีภายนอกรัฐสภาผ่านสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของขบวนการเสรีไทยและท่านปรีดี พนมยงค์

ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความรู้สึกหวาดกลัวของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกำลังของขบวนการเสรีไทยว่าจะใช้กำลังที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไปเป็นรูปอื่น แต่ท่านปรีดี พนมยงค์มีใจสูงเกินกว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์จะตระหนักถึง ท่านปรีดี จึงไม่เคยเล่นการเมืองด้วยวิธีสกปรก โสมมอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์กระทำมาตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคจนมาถึงปัจจุบัน และด้วยวิตกจริตของพรรคประชาธิปัตย์นี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมยินยอมร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอำนาจนิยมในการก่อรัฐประหาร

ดังนั้นเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ ขึ้น ฐานะการดำรงอยู่ในทางการเมืองของคณะเสรีไทยจึงถูกคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมซึ่งเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่น ในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารฉบับที่ ๑๑ แม้จะได้ปฏิเสธว่าปฏิบัติการของคณะทหาร หรือคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะเสรีไทย แต่ข้อความบางตอนก็สะท้อนความวิตกจริตนี้ออกมา

อย่างไรก็ตามภายหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ กลุ่มอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ยังไม่ถูกปราบปรามลงในทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารต้องการอาศัยระยะเวลาจัดการปัญหาอำนาจในกองทัพที่ลักลั่นและต้องการฟื้นบทบาทอันเนื่องจากถูกลดความสำคัญภายหลังสงคราม ให้แก่กลุ่มตนเสียก่อน ดังนั้นเมื่อคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ มอบสิทธิอำนาจการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่นายควง อภัยวงศ์ไปแล้ว ก็ได้ริเริ่มการเสริมสร้างอำนาจให้คณะรัฐประหาร โดยการแต่งตั้งผู้ร่วมก่อการรัฐประหารให้เข้าไปประจำและยึดกุมตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกองทัพบก ในการนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการทณฑลทหารบกที่ ๑ พร้อมทั้งขจัดผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ออกไปจากแวดวงอำนาจราชการ การเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดก็คือ การแต่งตั้งพันเอกเผ่า ศรียานนท์ไปควบคุมกรมตำรวจในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ โดยที่พลโทชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคัดค้านไม่เห็นชอบด้วย และด้วยตำแหน่งสภาพนี้เองที่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดระยะเวลา ๕ ปีตั้งแต่รัฐประหาร ๒๔๙๐ ร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้กุมกำลังสำคัญฝ่ายทหาร

จากนั้นคณะรัฐประหาร ซึ่งยังคงรูปสภาพองค์กรของตนเอาไว้โดยอาศัยอำนาจตาม “พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.๒๔๙๐” ก็ได้ดำเนินการกวาดล้างอาวุธและพลพรรคเสรีไทยฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ กลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี ต้องเผชิญกับกับการคุกคาม-ขู่เข็ญของคณะรัฐประหารคือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้นำทางภาคอีสานถูกตรวจค้นอาวุธและจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม ๒๑ คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรมในข้อหาฆ่าคนตาย จับนายวิจิตร ลุลิตานนท์และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาเหล่านี้เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการติดตามพฤติการณ์ของอดีตนักการเมือง-เสรีไทย เนื่องจากต้องสงสัยว่ามีการครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย เช่นนายอ้วน นาครทรรพ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ นายทิม ภูริพัฒน์ และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ยังไม่ถูกจับกุมนั้น ก็พยายามแสวงหาหนทางที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังอาวุธและพลพรรคซุ่มซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพาน และหลบหนีการจับกุมของฝ่ายคณะรัฐประหารได้ตลอดเวลา จนกระทั่งภายหลังเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงกลับลงมาต่อสู้ในวิถีทางรัฐสภาอีกครั้ง แต่ต่อมานายเตียง ศิริขันธ์ถูกกำจัดอย่างลึกลับภายหลังเหตุการณ์กบฏสันติภาพ ส่วนพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากถูกโค่นรัฐบาลโดยคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ ก็ได้เก็บตัวอยู่ในฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมทั้งพยายามแสวงหาความสนับสนุนจากบรรดานายทหารเรือ แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารก็ได้ออกหมายจับพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในข้อหามีแผนการณ์ต่อต้านรัฐบาลพร้อมทั้งจับกุมอดีตรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลอีกหลายคน เช่นนายทองเปลว ชลภูมิ และนายวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นต้น

ต่อมาในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้มีการจับกุมในข้อหากบฏ ดังที่เรียกกันว่า “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ถึงสองครั้ง โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์มีแผนการณ์ที่จะแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน เพื่อสถาปนาเป็น “สมาพันธรัฐแหลมทอง” มีการจับกุมนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายฟอง สิทธิธรรม นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายทิม ภูริพัฒน์ อย่างไรก็ตามก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไปในเวลาไม่นานนัก แต่สภาพกดดันเหล่านี้ทำให้ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ เช่น พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายไสว สุทธิพิทักษ์ นายทอง กันฑาธรรม นายพึ่ง ศรีจันทร์ และนายทวี บุญเกตุ เป็นต้น ต้องหลบลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศหรือไม่ก็กบดานอยู่ในท้องถิ่นของตน และไม่อาจที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ระยะหนึ่ง

Tuesday, April 24, 2007

บทความที่ ๑๑๒. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๗

บทที่ ๓ การเมืองทมิฬหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐

เมื่อพลังอำนาจนิยมฝ่ายทหารได้เข้ามาสู่กระบวนการทางการเมือง พร้อมทั้งรื้อฟื้นมาตรการต่าง ๆ เพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เช่น การแยกสลาย-กำจัดพลังที่ต่อต้านกระแสอำนาจเผด็จการทหาร, การที่ฝ่ายอำนาจนิยมอาศัยความสนับสนุนจากภายนอก และกระทั่งการใช้กำลังความรุนแรงทางการเมือง

การรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้น เป็นการล้มเลิกระบอบรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้า แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๐ แทน พฤติการณ์เช่นนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในแง่นิตินัยขึ้นมา ดังนั้นแถลงการณ์ฉบับที่ ๑๕ ของกองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย จึงได้กล่าวโต้ตอบปัญหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความชอบธรรมในการรัฐประหาร ๒๔๙๐ โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

“ การกระทำรัฐประหารในชั้นแรกเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อได้กระทำรัฐประหารสำเร็จ จนผู้กระทำรัฐประหารได้เข้าครองอำนาจอันแท้จริงในรัฐแล้ว ผู้กระทำรัฐประหารก็เป็น ‘รัฐาธิปัตย์’ มีอำนาจเลิกล้มรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ได้ และอาจออกรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ได้ บรรดาการกระทำที่ได้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่เดิม ย่อมไม่เป็นการละเมิดอีกต่อไป..”

ฐานะความเป็นรัฐาธิปัตย์ ที่สถาปนาขึ้นมาจากการใช้กำลังอำนาจเป็นใหญ่นี้ ได้รับการส่งเสริม-คุ้มครองและยอมรับจากกระบวนการทางนิติบัญญัติด้วยการออก “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐” โดยวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐประหารพ้นจากความผิดในการกระทำที่ละเมิดกฎหมายใด ๆ อันเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และถือว่าประกาศและคำสั่งใด ๆ ของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายทุกประการ กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะสมาชิกวุฒิสภาล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายควง อภัยวงศ์ และคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเข้าไปแทบทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเห็นได้ไม่ยากนักว่า การใช้ความรุนแรงเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศได้รับการสถาปนาอย่างชอบธรรมโดยหลักทางนิติศาสตร์อย่างไร

ผลต่อระบอบรัฐธรรมนูญของไทยจึงเป็นการยอมรับนับถือกำลังอำนาจเป็นใหญ่ ซึ่งเท่ากับเป็นการลบล้างจุดมุ่งหมายในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนเป็นเงื่อนไขกติกาทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสันติวิธี ดังนั้น การรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีนัยยะในทางการเมืองไทย ในฐานะที่เป็นการวางรากฐานในทางกฎหมาย และทางการเมือง-การทหารให้แก่ระบอบอำนาจนิยม ซึ่งจะมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นในภายหลัง “การปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทายาททางการเมือง-การทหารยุคต่อ ๆ มา

คณะปฏิวัติ ๒๔๙๐ ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ ตัวแทนของพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมให้มาจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเรียกความนิยมจากประชาชนว่า กองทัพบกมิได้ทำรัฐประหารเพื่ออำนาจของตนเอง คำอธิบายต่อการที่นายควง อภัยวงศ์ตลอดจนกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม ตัดสินใจรับจัดตั้งรัฐบาลนอกวิถีทางระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้น ต้องพิจารณาเรื่องวิกฤติการณ์ที่กระทบต่อสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ภายหลังกรณีสวรรคต ตลอดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจนิยม-ผู้ริเริ่มสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมผู้รับภาระในการกรุยทางให้แก่ผู้นำฝ่ายทหารได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ซึ่งไม่ได้ถวายพระราชอำนาจทางการเมืองแก่องค์พระมหากษัตริย์ในบางมาตรา เช่นให้สมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ ซึ่งเมื่อประกาศใช้ได้เพียงหนี่งเดือนก็เกิดกรณีสวรรคตขึ้น จนถึงกับมีผู้วิจารณ์ว่า “พอเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้ไม่กี่วัน เราก็เสียองค์พระกษัตริย์” แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงในกรณีสวรรคตจะเป็นเช่นใด การแสข่าวลืออัปมงคลทั้งหลายได้ก่อให้เกิดความหวาดวิตกอย่างรุนแรงในหมู่ผู้นำอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับอนาคต และสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้รัฐบาลพลเรือนกลุ่มเสรีนิยม-สังคมนิยมซึ่งมีท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้เคยถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกกล่าวหาว่าต้องการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐหรือระบอบมหาชนรัฐ เป็นผู้นำ

ดังนั้นเมื่อคณะทหารผู้ก่อการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ได้แสดงเจตนามุ่งมั่นที่จะ “จัดการสืบหาตัวผู้ร้าย ผู้ลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และจัดการฟ้องร้องลงโทษตามกฎหมาย” พร้อมทั้งฟื้นฟูพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม กรณีเหล่านี้จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นายควง อภัยวงศ์และคณะ ยอมรับจากจัดตั้งรัฐบาล “นั่งร้าน” ให้แก่ฝ่ายทหาร

เมื่อพิจารณาหลักการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับร่วมกันในกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายพลเรือนในระดับหนึ่ง กระทั่งสามารถบัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ดังได้กล่าวไว้แล้วนั้น บัดนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งซึ่งฝ่ายทหารได้หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการก่อการรัฐประหาร โดย น.อ.กาจ กาจสงคราม ผู้อำนวยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงเจตนาจะถวายพระราชอำนาจบริหารให้แก่พระมหากษัตริย์มากขึ้น ทั้งนี้ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๔๙๐ หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” โดยพระมหากษัตริย์จะทรงสามารถหน่วงเหนี่ยวการผ่านพระราชบัญญัติได้ ด้วยการไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย-มาตรา ๓๐, ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา-มาตรา ๓๓, มีพระราชอำนาจในการถอดถอนรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล หรือคณะรัฐบาลทั้งหมดได้โดยการออกพระราชกฤษฎีกา ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า โดยทางทฤษฎีแล้ว พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีพระราชอำนาจอย่างกว้างขวาง แต่ในทางปฏิบัติแล้วพระราชอำนาจของพระองค์อยู่ในขอบเขตจำกัดของระบบคณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสภาบันที่ได้รับการแต่งตั้งภายใต้การควบคุมของกองทัพบก-มาตรา ๙-๑๑ และ ๑๓-๒๐

หลักการสำคัญอันเกี่ยวแก่การเพิ่มอำนาจของสถาบันพระมหากษํตริย์ดังที่ได้มีความพยายามในการบัญญัติไว้นี้ ยังได้รับการสานต่อโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งเป็นผลมาจากริ่เริ่มของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์และกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม โดยการยืนยันหลักการที่ให้พระมหากษัตริยืทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจ พร้อมทั้งการกำหนดให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา-มาตรา ๘๒ เป็นต้น

นอกเหนือจากหลักการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจ ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ตรวจตราในรัฐธรรมนูญก่อนที่จะยอมจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับสมาชิกรัฐสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งกับการเลือกตั้งฝ่ายละกึ่งหนึ่งเท่ากัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายบริหารจะใช้ควบคุมสภาให้มีเสียงเด็ดขาดได้ โดยที่อำนาจในการเฟ้นเลือกตัววุฒิสมาชิกนั้น ดูจะตกอยู่แก่การตัดสินใจของฝ่ายนายควง อภัยวงศ์ นอกจากนี้ ยังมีหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำ บัญญัติกำกับไว้อีกชั้นหนึ่ง และในประการสำคัญก็คือ คำยืนยันจากจอมพล ป.พิบูลสงครามว่า กองทัพบกให้การสนับสนุนรัฐบาลนี้ และจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นายควง อภัยวงศ์ถึงกับมั่นใจอย่างมากว่า จะสามารถบริหารงานได้โดยอิสระ ดังคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงที่ว่า “รัฐบาลนี้เป็นอิสระจากคณะรัฐประหาร อิสระทั้งในนโยบาย ในทางความคิด และในทางการเมือง จึงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการที่จะบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐประหารยังได้ตกลงที่จะคงเป็นแต่เพียงผู้รับหน้าที่ในด้านการรักษาความปลอดภัย และความสงบของประเทศชาติเท่านั้น”

ซึ่งอำนาจตามความในพระราชกำหนด คุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๔๙๐ ด้วยการคงไว้ซึ่งอำนาจในการใช้กำลังทหาร เพื่อการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำการต่อต้านการรัฐประหาร มีกำหนดเวลาไม่เกิน ๓ เดือน พระราชกำหนดฉบับนี้แสดงถึงการร่วมมือกันระหว่างคณะรัฐประหารกับฝ่ายนายควง อภัยวงศ์ ในการป้องกันการก่อรัฐประหารซ้อนของฝ่ายสนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์

ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในนามแฝง “แมลงหวี่” ก็ถึงกับแสดงความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะป้องกันไม่ให้ทหารเล่นการเมืองได้เช่นกัน

จากนั้น นายควง อภัยวงศ์ ก็ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยการ “ร่วมมือกับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เลือกเฟ้นเอาข้าราชการบำนาญที่ช่ำชองในการงานสาขาต่าง ๆ ประกอบกับพ่อค้า วาณิชที่มีชื่อเสียง..” ซึ่งเมื่อดูจากรายนามของวุฒิสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามของกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมในการฟื้นฟูฐานะของเจ้านายและขุนนางรุ่นเก่าขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ผลการเลือกตั้ง ก็สะท้อนถึงความสนับสนุนของประชาชนต่อผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์ เหนือคู่แข่งกลุ่มอื่น ๆ อย่างเด่นชัด จะเห็นได้ว่าฐานะพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมในระบอบรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๐ ดูเหมือนจะหยั่งรากลึกลงไป และเป็นความหวังของการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญพลเรือนที่มั่นคงในอนาคต คือ รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ซึ่งมีการวางรากฐานเอาไว้บ้างแล้วในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในท้ายที่สุด นายควง อภัยวงศ์ และคณะก็ต้องพ้นวิถีทางทางการเมืองของไทยไปในช่วงต้นทศวรรษที่ ๒๔๙๐ โดยถูกขับให้พ้นไปจากอำนาจ โดยคณะรัฐประหารในเดือนเมษายน ๒๔๙๑

การจี้ให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ออกไปนี้เกิดขึ้นในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยคณะรัฐประหารได้ส่ง “๔ ทหารเสือ” คือ พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวช, พ.อ.สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ, พ.อ.ขุนศิลปศรชัย และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ เข้าพบนายควง อภัยวงศ์และได้แจ้งเจตจำนงของคณะรัฐประหารที่จะให้นายควง อภัยวงศ์ และคณะรัฐบาลกราบถวายบังคมลาออกภายใน ๒๔ ชั่วโมง

พฤติการณ์ของคณะรัฐประหารในครั้งนี้ นอกเหนือจากจะแสดงถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจเป็นใหญ่อย่างเห็นได้ชัดเจน ในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนถึงทัศนคติของชนชั้นนำฝ่ายพลเรือนที่มีต่อ “อำนาจ” และความชอบธรรมทางการเมืองได้อีกเช่นกัน ในแง่นี้กลุ่มนายควง อภัยวงศ์ ก็ตกอยู่ในฐานะที่ต้องจำยอมรับสภาพการใช้กำลังอำนาจเป็นใหญ่ของฝ่ายผู้ถืออาวุธ

ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำริของรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ แต่ร่างเสร็จและมีผลบังคับใช้ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มีชะตาเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ คือต้องถูกล้มล้างไป อันที่จริง จอมพล ป.พิบูลสงครามได้แสดงเจตนามุ่งมั่นจะนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ มาแก้ไขตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๒ ก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยให้เหตุผลไว้ว่า “เพื่อเป็นแบบฉบับในประวัติศาสตร์ไว้ เพราะจะไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่พระมหากษัตริย์จะทรงคืนพระราชอำนาจให้แก่ประชาชนชาวไทย” ดังนั้นเมื่อประกอบกับข้ออ้างเรื่องความจำเป็นจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ และปัญหาการคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ คณะรัฐประหารพฤศจิกายน ๒๔๙๔ จึงล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ และนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ มาแก้ไขและบังคับใช้ใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕

พัฒนาการของกระบวนการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๙๒ จนกระทั่งถึงการนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๗๕ มาแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ล้วนเป็นเครื่องแสดงออกถึงอิทธิพลของพลังกระแสอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม และอำนาจนิยมในวิถีการเมืองในช่วงระยะเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของปัจจัยกำลังอำนาจเป็นใหญ่เป็นสำคัญ แม้ว่าจะยังคงถือรูปแบบ วิธีการแลกติกาทางการเมืองในระบอบรัฐสภาก็ตาม แต่รัฐสภาก็ตกอยู่ในฐานะที่ไม่อาจจะเป็นหลักประกันความมั่นคงและเป็นแหล่งความชอบธรรมใด ๆ ให้แก่ระบอบรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่เพื่อสิทธิ เสรีภาพ สันติภาพแก่ประชาชนได้ หากจะเป็นได้ก็แต่เพียงกลไกรองรับความชอบธรรมให้แก่พฤติการณ์ใช้กำลังอำนาจเป็นใหญ่ และการต่อสู้-ช่วงชิงอำนาจนอกวิถีทางของระบอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น.

Monday, April 23, 2007

บทความที่ ๑๑๑. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๖

บทที่ ๒ ความคุมแค้นของกลุ่มเสียอำนาจก่อนการปฏิวัติ ๒๔๙๐

เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นมันสมองของคณะราษฎรในการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นการพลิกแผ่นดินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของไทย ทำให้กษัตริย์และพระราชวงศ์ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ปัญหาความหวาดระแวงในเจตนาของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้น อาจกล่าวได้ว่าเริ่มขึ้นในทันทีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะต่อท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ที่วิพากษ์วิจารณ์โจมตีความเหลวแหลกของสังคมภายใต้การปกครองของรัชกาลที่ ๗ ยังความแค้นเคืองให้เกิดขึ้นในกลุ่มอำนาจเก่าและสบช่องได้โอกาสตอบโต้ออกมาเมื่อ ท่านปรีดี พนมยงค์เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรข้อที่ ๓ ซึ่งถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจนมีการเผยแพร่ไปสู่สังคมนอกสภาว่า เค้าโคงร่างการเศรษฐกิจฯ ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์เสนอนั้นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยการเผยแพร่ “พระบรมราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ” ที่มีต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจฯชนิดประโยคต่อประโยค โดยเฉพาะในข้อที่ทรงวินิจฉัยและสรุปว่า “โครงการนี้นั้น เป็นโครงการอันเดียวกันอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่

ต่อจากนั้น วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ตามมาคือพระยามโนปกรณ์ นิติธาดาและกลุ่มได้ใช้อำนาจปิดสภาผู้แทนราษฎร และประการใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ในวันที่ ๑ และ ๒ เมษายน ๒๔๗๖ ตามลำดับ ท่านปรีดี พนมยงค์ถูกบังคับกดดันให้เดินทางออกนอกประเทศ แต่ต่อมาไม่นานพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ใช้กำลังยึดอำนาจคืนมาจากพระยามโนปกรณ์ นิติธาดาและเปิดสภาผู้แทนราษฎร เชิญท่านปรีดี พนมยงค์กลับมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบว่าเป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์จริงหรือไม่ ซึ่งในที่สุดท่านปรีดี พนมยงค์ก็พ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้วกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการกบฏบวรเดช-อันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมยุคแรก ๆ

ท่านปรีดี พนมยงค์ ในระหว่างศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้นได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยภาคพื้นยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการรวบรวมแนวความคิดของผู้นำรุ่นใหม่อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “ความรู้ทางทฤษฎี และทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอภิวัฒน์” และแลกเปลี่ยนทัศนะกับนักปฏิวัติชาวเอเซียด้วยกัน

เมื่อสถานการณ์สงครามโลกได้สงบลง ท่านปรีดี พนมยงค์ผู้เริ่มมีบทบาทสำคัญทางการเมืองสูงขึ้น ได้ดำเนินมาตรการก้าวหน้าทางการเมืองหลายประการ ในเรื่องการระหว่างประเทศท่านได้ผลักดันและสนับสนุนการจัดตั้ง “สันนิบาตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อที่จะให้ไทยเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศซึ่งจะได้รับเอกราชใหม่ ๆ คือในอินโดจีน มลายู พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยมีผู้แทนขบวนการเวียดมินห์ ขบวนการกู้ชาติ ลาวและอื่น ๆ ซึ่งนิยมแนวทางสังคมนิยมเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย นอกจากนี้ ทางด้านทางการเมืองภายในประเทศ กลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนิยมแนวทางสังคมนิยมกลุ่มหนึ่งยังได้รวมตัวกันตั้งเป็นพรรคการเมืองใช้ชื่อว่าพรรคสหชีพ และประกาศใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ทั้งนี้โดยอาศัยเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของท่านปรีดี พนมยงค์เป็นหลัก นอกจากนี้เมื่อประกอบกับการที่รัฐบาลฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองระหว่างประเทศด้วยแล้ว เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้นการกล่าวหาท่านปรีดี พนมยงค์ในเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ และกรณีสวรรคตจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

เหตุการณ์ได้ทวีความสับสนขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่ารัฐบาลของท่านปรีดี พนมยงค์จะพยายามผ่อนคลายแรงกดดันต่าง ๆ แม้จะได้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและกรณีสวรรคตนั้นก็ยังไม่อาจคลี่คลายลงไปได้ ฝ่ายกองทัพบกซึ่งแสดงเจตนาอย่างมุ่งมั่นที่จะเข้ามาในวิถีการเมืองไทยอีกครั้ง จึงลงมือก่อการรัฐประหารขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายนายควง อภัยวงศ์ ตลอดจนกลุ่มผู้นำฝ่ายอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม ในการกรุยทาง-สถาปนาระบอบอำนาจนิยมของฝ่ายทหารในระบบการเมืองไทย ให้มั่นคงเป็นเวลายาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ (๑๙ กันยายน ๒๕๔๙)

บทความที่ ๑๑๐. สยามวิกฤติ ตอนที่ ๕

ความผันผวนทางการเมืองและยุคทมิฬหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐

บทที่ ๑ ความผันผวนทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สถานะของประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อย่างเด่นชัด กล่าวคือ ในชั้นต้นประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกยึดอย่างฉับพลัน แต่หลังจากนั้นในเวลาไม่นานนักก็ได้เข้าสู่สงครามมหาเอเซียบูรพาในภูมิภาคนี้ร่วมกับญี่ปุ่น ด้วยการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และให้ความร่วมมือเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารแก่ญี่ปุ่นในการยึดครองประเทศอื่น นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมยึดครองดินแดนซึ่งใน “ประวัติศาสตร์” เป็นของไทย คือ นครหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และมงคลบุรี ฯลฯ ในขณเดียวกันผู้นำทางการเมืองกลุ่มอื่น คือท่านปรีดี พนมยงค์-ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนักการเมืองฝ่ายพลเรือน, กลุ่ม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมทั้งในและนอกประเทศ ก็ได้เคลื่อนไหวตอบโต้นโยบายสงครามของจอมพลแปลก พิบูลสงครามผู้นำฝ่ายทหาร และต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นด้วยการก่อตั้งองค์การลับใต้ดิน “เสรีไทย” ประสานกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ การดำเนินนโยบายสองด้านและความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาวิกฤตินี้ แม้ว่าจะมีส่วนช่วยดำรงเอกราชของชาติมิให้ตกอยู่ในฐานะผู้แพ้ดังเช่นญี่ปุ่น แต่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งในกลุ่มผู้นำทั้งสามฝ่ายในระยะเวลาต่อมา

เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาสงบลง พร้อมกับการประกาศสันติภาพของฝ่ายในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติหลาย ๆ ด้าน ทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์ผันผวนในประเทศ ในทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะเคยประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แต่สถานการณ์ได้คลี่คลายลง เมื่อผู้นำฝ่ายพลเรือนกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมมือสามัคคีกันเจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การเจรจาตกลงคืนดินแดนต่าง ๆ ในมลายู อินโดจีน และรัฐฉาน ซึ่งจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยึดครองไว้ในระหว่างสงครามคืนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ให้สามารถลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ยกเลิกสถานการณ์สงครามระหว่างกันได้

นอกจากนี้ภายหลังจากที่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ออกพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ “เพื่อให้เป็นไปตามวิถีแห่งประชาธิปไตยและเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่จะได้เจริญสัมพันธไมตรีกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย” แล้ว การแก้ไขปัญหาขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจึงบรรลุผลสำเร็จ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๘๙

แต่ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนชุดต่างๆ สามารถประสานงานเจรจากับต่างประเทศจนกระทั่งสถานการณ์ได้คลี่คลายลงนั้น กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาภายในประเทศที่คุกรุ่นรุนแรงอีกหลายประการ ปัญหาสำคัญในเบื้องต้นก็คือ ปัญหาที่รัฐบาลพลเรือนต้องรับภาระจากการใช้จ่ายเกินดุลย์ของรัฐบาลชุดจอมพลแปลก พิบูลสงครามในช่วงสงคราม ซึ่งมีรายจ่ายที่สำคัญที่สุดได้แก่การให้กองทัพญี่ปุ่นกู้ยืม เฉพาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ .๒๔๘๔-๒๔๘๘ รวมเป็นเงินถึง ๑,๒๓๐,๗๐๑,๐๘๓ บาท นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังบังคับให้ไทยใช้อัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนใหม่ เหตุดังนี้ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดแนวโน้มทางด้านเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตามข้อตกลงทั่วไปกับประเทศอังกฤษข้อหนึ่งที่ให้จำกัดสินค้าออกของไทย ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศไปเป็นจำนวนมาก ปัญหาวิกฤติทางด้านการเงิน-การคลังนี้ รัฐบาลชุดพลเรือนทุกชุดต่างก็เร่งแก้ไข แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นไม่อาจแก้ไขให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการ สภาวะทางจิตใจของประชาชนเกิดความตึงเครียด สับสน ไม่พอใจต่อค่านิยม-ประเพณีเก่า ๆ ในขณะเดียวกันท่ามกลางสภาวะความยุ่งยากทางสังคม-เศรษฐกิจ พรรคการเมืองฝ่ายพลเรือน คือ ฝ่ายเสรีนิยม-สังคมนิยม กลุ่มท่านปรีดี พนมยงค์ ก็กำลังต่อสู้ทางรัฐสภากับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ต่อจากนั้นไม่นานผู้นำฝ่ายทหารซึ่งถูกลดบทบาทลงในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ฉวยโอกาสท่ามกลางกระแสความสับสันกลับเข้ามาสถาปนาระบอบอำนาจนิยมอีกครั้ง ด้วยการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ สถานะทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงครามและผู้นำฝ่ายทหารอื่น ๆ ตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในขณะที่เกียรติภูมิทางการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็สูงส่งและได้รับการยอมรับนับถือจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งจากฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย อีกทั้งยังเป็นการรอมชอม-ร่วมมือกันของพลเรือนสองฝ่ายคือ กลุ่มของท่านปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มของนายควง อภัยวงศ์ ในการขจัดอำนาจอิทธิพลทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีการอภัยโทษนักโทษคดีทางการเมืองที่ต้องคำพิพากษาศาลพิเศษ รวมทั้งการประกาศให้ขุนนางและเจ้านายที่ถูกถอดยศศักดิ์แก่บรรดาศักดิ์ให้กลับดำรงตำแหน่งฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และการถวายอารักขาดูแลความปลอดภัยแก่บรรดาเจ้านายในระหว่างสงคราม ฯลฯ แต่เมื่อสภาวะวิกฤติการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านพ้นไปแล้ว ความสามัคคีก็เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งนี้ได้สะท้อนอย่างเด่นชัด ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ๔ ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์-อดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง และนักการเมืองตัวแทนทางภาคอิสาน ได้ก่อตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพขึ้น ในขณะที่ทาง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย ต่อมาพรรคทั้งสองได้รวมกันตั้งเป็นพรรค ประชาธิปัตย์ ท่านปรีดี พนมยงค์สนับสนุนให้นายดิเรก ชัยนามลงแข่งขันกับนายควง อภัยวงศ์ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ผลปรากฏว่านายควง อภัยวงค์เป็นผู้ชนะได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่ต่อมารัฐบาลก็ต้องลาออกทั้งคณะเพราะแพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางฝ่ายค้านได้เสนอให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์รับไปปฏิบัติ โดยที่ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจรับไปปฏิบัติได้ ดังนั้นเมื่อสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์จึงประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีทันที ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างดูถูกดูแคลนคนอิสานว่า เป็น “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว”

จากนั้นท่านปรีดี พนมยงค์ก็ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล และได้วางรากฐานที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงต่อไปโดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๘๙ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙ (ก่อนเหตุการณ์สวรรคต) ซึ่งคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๔๘๙ มี ๑๕ ท่าน ประกอบด้วย ฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ ๖ ท่านคือ ท่านปรีดี พนมยงค์, นายดิเรก ชัยนาม, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์,นายเดือน บุนนาค, นายเตียง ศิริขันธ์ และนายเยื้อน พานิชวิทย์ ส่วนฝ่ายนายควง อภัยวงศ์ มี ๖ คนคือ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช,นายปริญญา จูฑามาศ และนายอินทร สิงหเนตร คนกลางอีก ๓ คน คือ มจ.วรรณไวทยากร วรวรรณ พระยามานวราชเสวีและนายพิชาญ บุญยง

ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นี้ได้มีการเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญและอำนาจนิติบัญญัติให้มี ๒ สภา สมาชิกและสภาทั้งสองต้องเลือกตั้งมาจากราษฎร แต่ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ยืนยันเจตนารมณ์และหลักการของระบอบประชาธิปไตยก็มีผลบังคับใช้อยู่เพียงปีครึ่งเท่านั้น เพราะถูกคณะทหารทำการรัฐประหารล้มล้างไปเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐