Monday, March 19, 2007

บทความที่ ๙๔. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (จบภาค๑)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
๒.๙ การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสครั้งกระนั้นที่ได้ก่อระบบประชาธิปไตยขึ้นได้ส่งผลสะท้อนไปยังพลเมืองส่วนมากของหลายประเทศในยุโรปที่ตื่นตัวขึ้น โดยการต่อต้านระบบเผด็จการศักดินาที่แสดงออกเป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ ได้ประกาศปฏิญญา ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและของพลเมืองฉบับ ค.ศ.๑๗๘๙ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคแก่พลเมืองทางนิตินัย

รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ขบวนการประชาธิปไตยของฝรั่งเศสประกาศขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ นั้น ได้เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป แต่ใน ค.ศ. ๑๗๙๒ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้แอบร้องขอให้จักรพรรดิแห่งออสเตรียส่งกองทัพมาช่วยตน จึงเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่งกับออสเตรียซึ่งมี ปรัสเซียเป็นพันธมิตรอีกฝ่ายหนึ่ง ราษฎรในกรุงปารีสจึงเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรปลดพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ครั้นแล้วจึงได้ประกาศสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ แล้วต่อมาสภาผู้แทนราษฎรจึงได้พิจารณาคดีว่า หลุยส์ที่ ๑๖ มีความผิดฐานทรยศต่อชาติ ต้องโทษประหารชีวิตเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ครั้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ถูกประหารชีวิตแล้ว พระราชาธิบดีอังกฤษ, สเปญ,โปรตุเกส,ฮอลแลนด์,เนเปิลส์ ปรัสเซีย,ออสเตรียจึงรวมกันเป็นพันธมิตรยกกองทัพมาประชิดประเทศฝรั่งเศส เพื่อแทรกแซงกิจการภายใน (ประเทศที่ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยที่รวมกันเป็นกองทัพพันธมิตรยกกองทัพมาทำศึกกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสเหล่านี้ มีความเห็นว่าการที่คณะประชาชนฝรั่งเศสได้โค่นล้มระบบกษัตริย์ลงและสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้น เป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อประเทศต่างๆในยุโรป เพราะเชื้อแห่งการอภิวัฒน์ใหญในฝรั่งเศสครั้งนี้จะระบาดไปยังประชาชนในประเทศต่าง ๆ ที่มีระบบการปกครองโดยกษัตริย์ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้รับความทุกข์ยากทุกข์เข็ญจากการถูกกดขี่โดยประการต่าง ๆ จากชนชั้นบน และประชาชนเหล่านี้ก็จะก่อการเคลื่อนไหวโดยใช้ตัวอย่างจากการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส และเมื่อนั้นราชบัลลังก์ในประเทศเหล่านั้นก็จะตกอยู่ในฐานะลำบาก-แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕)

รัฐบาลอภิวัฒน์ฝรั่งเศสได้ระดมพลเมืองเป็นทหารเพื่อต่อสู้ ป้องกันปิตุภูมิ แต่โดยที่ไม่มีนายทหารของฝ่ายอภิวัฒน์เพียงพอ จึงจำต้องใช้นายทหารที่เคยมาจากระบบเก่า รัฐบาลอภิวัฒน์จึงคิดวิธีให้มี “กรรมการราษฎร” (COMMISSAIRE DU PEUPLE) เป็นผู้นำทางการเมืองประจำกองทัพซึ่งผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารต้องเชื่อฟัง

(ต่อมาเมื่รุสเซียได้มีการอภิวัฒน์ตุลาคม ๑๙๑๗ แล้ว ก็ได้นำวิธีการราษฎรของการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสนั้นไปประยุกต์แก่กองทัพโซเวียต ซึ่งหลายประเทศในค่ายสังคมนิยมก็ได้เอาตัวอย่างนั้นเช่นกัน)

การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ที่สถาปนาระบบประชาธิปไตยขึ้นนั้นมิเพียงยังมีผลสะท้อนไปยังหลายประเทศในยุโรปตะวันตกเท่านั้น หากต่อมามีผลสะท้อนไปยังยุโรปตะวันออก รวมทั้งรุสเซียและในเอเชียด้วย ท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ย่อมทราบถึงสาระสำคัญที่นักอภิวัฒน์รุสเซียและเอเชียได้รับอิทธิพลจากการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนผิวเผินเช่นเพลงอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ก็ปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยรุสเซียในขณะที่ยังมิได้แตกแยกออกเป็นบอลเชวิค กับแมนเชวิคนั้นก็ใช้ทำนองเพลง “มาเซยเยส” อันเป็นเพลงอภิวัฒน์ฝรั่งเศส (ต่อมาเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส) นั้นเป็นเพลงอภิวัฒน์รุสเซียโดยเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นคำรุสเซีย ต่อมาการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสก็มีผลสะท้อนไปยังเอเชียและอีกหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศจีนนั้น ก่อนที่นาย “เนี่ยเอ๋อ” แต่เพลงอภิวัฒน์ของจีนขึ้นโดยเฉพาะนั้น คนงานอภิวัฒน์จีนก็ใช้ทำนองเพลง “มาเซยเยส” ของฝรั่งเศสเป็นเพลงอภิวัฒน์ของคนงานจีนแต่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นคำจีน

๒.๑๐ ในการวิเคราะห์ขบวนการอภิวัฒน์ใด ๆ นั้นควรพิจารณาจำแนกส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบขบวนการนั้นประดุจทำการวิจัย “กายวิภาค” ของขบวนการอภิวัฒน์นั้น ๆ อันเป็นวิธีวิทยาศาสตร์แห่งการวิเคราะห์สภาพทั้งหลาย รวมทั้งสังคมของมนุษย์ด้วย ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์สังคมในโบราณก็ดี ในสมัยปัจจุบันก็ดี จึงได้สั่งสอนให้ผู้ที่จะทำการวิเคราะห์ตั้งทัศนะโดยปราศจากคติอุปาทาน (PRECONCEIVED IDEA) เพราะถ้าผู้ใดตั้งทัศนะอุปาทานมาก่อนก็จะมองเห็นคนอื่นที่เป็นมิตรให้เป็นศัตรูไปทั้งหมด ผู้นั้นก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรูและใครเป็นมิตร การต่อต้านเผด็จการก็ไม่มีทางสำเร็จได้ โดยเฉพาะขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ นั้น เราอาจจำแนกส่วนต่าง ๆ ออกเป็นหลายจำพวกดังต่อไปนี้

ก.จำพวกที่ ๑ ได้แก่นักอภิวัฒน์ที่ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย คือ “บาเบิพ” เกิด ค.ศ.๑๗๖๐ (ก่อนมาร์กซ์เกิด ๕๘ ปี) เมื่อก่อนจะเกิดอภิวัฒน์ ค.ศ. ๑๗๘๙ นั้น บาเบิพทำงานเป็นเสมียนของเจ้าที่ดินมีหน้าที่เร่งรัดให้ชาวนาเสียค่าเช่านาให้เจ้าที่ดินแต่โดยที่ท่านผู้นี้เห็นความไม่เป็นธรรมของระบบศักดินา ท่านจึงเข้าร่วมขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น บาเบิพได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองโดยนิตินัยเท่านั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง เพราะในทางพฤตินัย ผู้ใดมีทุนมากก็สามารถใช้สิทธิประชาธิปไตยได้มากกว่าคนมีทุนน้อยและผู้ไร้สมบัติยากจน

บาเบิพเห็นว่า ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ก็ต้องให้ปวงชนมีความเสมอภาคกันในทางปฏิบัติ ในการนั้นก็จักต้องให้ปัจจัยการผลิตทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ท่านจึงได้จัดตั้งสมาคมที่เรียกว่า “สมาคมของผู้เสมอภาค” (SOCIETE DES EGAUX) รัฐบาลจึงจับตัวบาเบิพขึ้นศาลตัดสินประหารชีวิตฐานเตรียมการโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้กำลังอาวุธ เมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๗ แต่คนงานฝรั่งเศสส่วนหนึ่งก็ได้โฆษณาลัทธิของบาเบิพโดยสันติวิธีได้ต่อ ๆ มา (ในสมัยต่อมาเทศบาลกรุงปารีสได้ตั้งชื่อถนนหนึ่งว่า “บาเบิพ” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้นี้ สถานีรถไฟใต้ดินจากโทรกาเดโรไปยังเอตวลก็มีชื่อว่า “บาเบิพ”)

ข.จำพวกที่ ๒ ได้แก่พวกต้องการให้ประชาธิปไตยคงอยู่ในรูปประชาธิปไตยของชนชั้นเจ้าสมบัติ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๗๙๑ ว่าพลเมืองจะต้องมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนได้ก็เฉพาะผู้ที่เสียภาษีอากรทางตรง เป็นอัตราเท่ากับค่าแรงงาน ๓ วันเป็นอย่างน้อย ในทางปฏิบัติผู้เสียภาษีอากรทางตรง คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์คือได้แก่นายทุนน้อยขึ้นไป ส่วนคนงานและผู้ไร้สมบัติแม้เสียภาษีอากรทางอ้อมก็ไม่อยู่ในข่ายแห่งการมีสิทธิ วิธีออกเสียงชนิดนี้ภาษากฎหมายของวิชารัฐธรรมนูญเรียกว่า SUFFERAGE CENSITAIRE” คำว่า “SUFFRAGE” แปลว่าการออกเสียง คำว่า “CENSITAIRE” แปลว่าผู้เสียส่วยให้แก่เจ้าศักดินา, วิธีออกเสียงชนิดนี้จึงถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “วิธีออกเสียงแบบคนส่วย” จึงแสดงว่า “เจ้าสมบัติจำพวกประชาธิปไตยชนิดนี้มีซากทัศนะศักดินา หลายคนในจำพวกนี้ได้ร่วมกับบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าสมบัติ แต่มีซากทัศนะศักดินาตกค้างอยู่ สนับสนุนเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการศักดินาฟื้นคืนมาอีก ดั่งทีผมจะได้กล่าวในข้อ ง.

ค.จำพวกที่ ๓ ได้แก่ผู้ต้องการให้พลเมืองชายมีสิทธิออกเสียงได้โดยทั่วไป (SUFFRAGE UNIVERSEL) และสำเร็จได้โดยรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับ ๑๗๙๓

ง.จำพวกที่ ๔ ได้แก่ผู้ที่มีซากทัศนะระบบทุนศักดินา (FEDAL CAPITALISM) ซึ่งขัดขวางมิให้ประชาธิปไตยดำเนินก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ พวกนี้เกื้อกูลให้ระบบเผด็จการศักดินาฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้พวกนายทุนชนิดนี้เป็นเจ้าสมบัติใหญ่ ร่ำรวยยิ่งขึ้นอีก อาทิ

(๑) ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ได้อาศัยกำลังทหารของตนและโดยความสนับสนุนของผู้แทนราษฎร แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่โดยมีสภาต่าง ๆ แต่ตั้งโดยคณะอภิมุขรัฐเรียกว่า “กงสุลาต์” (CONSULAT) ตามเยี่ยงโรมัน คณะนั้นประกอบด้วยกงสุล ๓ คน อยู่ในตำแหน่ง ๑๐ ปี นายพลโบนาปาร์ตเป็นกงสุลคนที่ ๑ ซึ่งรวบอำนาจรัฐไว้ในมือของตนเอง ขั้นต่อไปก็เอาอย่างผู้เผด็จการโรมัน คือตั้งตนเป็นกงสุลแต่ผู้เดียว แล้วสภาที่ตนตั้งขึ้นจากซากทัศนะศักดินาได้สนับสนุนให้เป็นกงสุลตลอดชีวิต ต่อมาสภาชนิดนั้นได้สนับสนุนให้เป็นกงสุลตลอดชีวิตที่มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นกงสุลคนต่อไปได้ ซึ่งเท่ากับเป็นจักรพรรดินั่นเอง ครั้นแล้วก็ไม่เป็นการยากที่สภาชนิดนั้นได้ลงมติเปลี่ยนชื่อตำแหน่งกงสุลที่มีสิทธิอย่างจักรพรรดิทรงพระนามว่า “นโบเลียนที่ ๑”

แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตั้งสภาต่าง ๆ ไว้ แต่นโปเลียนที่ ๑ ก็เรียกประชุมนาน ๆ ครั้งหนึ่ง โดยทรงปกครองประเทศฝรั่งเศสอย่างระบบเผด็จการ ส่วนพระองค์เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า (DICTATURE PERSONNELLE)

(๒) ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ นโปเลียนนำทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่ประเทศพันธมิตร จึงต้องสละราชสมบัติครั้งแรกไปอยู่เกาะเอลบา เจ้าฟ้าซึ่งเป็นท่านเจ้าเขตแห่งโปรวองซ์ (COMTEDE PROVENGE) แห่งราชวงศ์บูรบองสายเชษฐา ได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรและเจ้าสมบัติซากทัศนะศักดินาให้ขึ้นครองราชทรงพระนามว่า “หลุยส์ที่ ๑๘” ต่อมานโปเลียนกลับมาจากเกาะเอลบาแล้วขึ้นครองราชย์อีก หลุยสที่ ๑๘ ต้องเสด็จหลบหนีไป ต่อมานโปเลียนแพ้ในการรบที่วอเตอร์ลูว์ ต้องสละราชสมบัติเป็นครั้งที่ ๒ ถูกอังกฤษจับไปขังไว้ที่เกาะเซ็นต์เฮเลน่า ครั้นแล้วหลุยส์ที่ ๑๘ ก็กลับมาทรงราชย์อีก จนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๒๔ เจ้าฟ้าซึ่งเป็นเจ้าเขต อาร์ตัวส์ (COMTE D’ ARTOIS) แห่งราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐาขึ้นครองราชย์องค์ต่อไป ทรงพระนามว่า “ชาร์ลส์ที่ ๑๐” พระองค์ได้ฟื้นระบบเผด็จการศักดินาขึ้นมาเต็มที่ ทรงตัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรหลายอย่าง นักประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เจ้าสมบัติได้ร่วมกับราษฎรทำการต่อต้านระบบเผด็จการศักดินาของราษฎรบูร์บองสายเชษฐา

(๓) ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ ฝ่ายเจ้าสมบัตินายธนาคารใหญ่ อาทิ “ลาฟิตต์” และ “รอธไชลด์” เห็นว่าถ้าปล่อยให้ขบวนการประชาธิปไตยของราษฎรขยายตัวต่อไป ระบบเผด็จการศักดินาของราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐาจะต้องล้มเหลวแล้วจะนำไปสู่การทำลายระบบทุนของตนด้วย ดังนั้นจึงได้สมคบกับเจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์แห่งราชวงศ์บูร์บองสายอนุชา (BRANCHE CADETTE) ทำการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑๐ แห่งสายเชษฐาแล้ว เจ้าฟ้าหลุยฟิลิปป์ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า หลุยส์ฟิลิปป์ที่ ๑ พระองค์ได้สถาปนาระบบการปกครองผสมระหว่างเผด็จการศักดินากับนายธนาคารใหญ่

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ นิตยสารฝรั่งเศสชื่อ “ปารีส แมตซ์”ได้นำประวัติของตระกูล “รอธไชลด์” (ROTHCHILD) มหาเศรษฐีเจ้าของธนาคารใหญ่ในสากลที่ลือนามมาช้านานเกือบ ๒๐๐ ปี และสมาชิกแห่งตระกูลนี้หลายคนได้รับฐานันดรศักดิ์จากพระราชาธิบดีหลายประเทศให้มีฐานันดรศักดิ์ เจ้าศักดินาผู้เป็น “บารอง” ได้เคยให้เงินยืมจำนวนหลายล้านแฟงก์แก่เจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์ในการใช้จ่ายเพื่อร่วมขบวนการล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑๐ แล้วขึ้นครองราชย์เสียเองดังกล่าวแล้ว “บารอง” (BARON) คนนั้นจึงกลายเป็นพระสหายใกล้ชิดกับพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ต้องสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๔๘ โดยมีการสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ในฝรั่งเศส เจ้าฟ้าหลุยส์นโปเลียน หลานลุงของนโปเลียนที่ ๑ ก็ได้ยืมเงินจำนวนหลายล้านแฟงก์จากบารองรอธไชลด์มาใช้จ่ายในการสมัครเลือกตั้งประธานนาธิบดี อันเป็นผลให้เจ้าฟ้าองค์นี้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ดำเนินการปกครองเผด็จการส่วนพระองค์อย่างสมเด็จพระเจ้าลุง ครั้นแล้วก็ทรงกระทำการรัฐประหารล้มสาธารณรัฐ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า นโปเลียนที่ ๓ ครองราชย์ต่อมาจนถึง ค.ศ.๑๘๗๐ จึงต้องสละราชสมบัติเพราะนำทัพฝรั่งเศสเข้ารบแพ้ปรัสเซียกับพันธมิตร (ซึ่งต่อมาได้รวมกันตั้งเป็นจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)

๒.๑๑ แม้ว่าประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นในยุโรปตะวันตกนั้นจะเป็นเพียงประชาธิปไตยทางนิตินัย แต่ปวงชนได้สิทธิประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็นที่จะให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในทางพฤตินัยด้วย อันสิทธิเช่นนี้ราษฎรไม่เคยได้ในสมัยเผด็จการทาสและศักดินา
ดังนั้นต่อจาก “บาเบิพ” จึงได้มีผู้แสดงทัศนะที่จะปรับปรุงให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นโดยให้ปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน, อุตสาหกรรม,วิสาหกิจ เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของสังคม ซึ่งมนุษย์ในสังคมออกแรงร่วมกันในการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตตามความเป็นธรรม ในระยะแรก ๆ ก็ยังมิได้มีชื่อเฉพาะว่าลัทธิเช่นว่านั้นมีชื่ออย่างไร โดยเรียกตามชื่อของผู้เป็นเจ้าของลัทธินั้น

ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๒๖ วารสารอังกฤษชื่อ “CO-OPERATION MAGAZINE” ได้เรียกลัทธิเศรษฐกิจจำพวกที่กล่าวมานี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “SOCIALISM” ครั้นแล้วใน ค.ศ.๑๘๓๒ วารสารฝรั่งเศสชื่อ “GLOBE” ได้เรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า “SOCIALISME” ตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้ใช้ศัพท์อังกฤษและฝรั่งเศสนี้เรียกลัทธิจำพวกดังกล่าวที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น และที่จะเป็นไปในสมัยต่อมา และได้ใช้ศัพท์นั้นเรียกย้อนหลังไปถึงลัทธิที่มีผู้คิดขึ้นทำนองโซเซียลิสม์ตั้งแต่สมัยโบราณกาลเป็นต้นมา เดิมในประเทศไทยเรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้ โดยทับศัพท์ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น แต่ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงมีผู้ถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “สังคมนิยม”...
download file PDF ที่

No comments: