Sunday, March 4, 2007

บทความที่ ๘๑. ประวัติศาสตร์อินเดีย (๗) - การต่อสู้ของมหาตมะ คานธี

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา
การต่อสู้ของมหาตมะ คานธี

ในปี ค.ศ. ๑๙๑๔ อินเดียได้รวมตัวกันสนับสนุนอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆได้ให้เงินช่วยเหลือแก่อังกฤษเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นอินเดียได้ส่งทหารไปช่วยกองทัพอังกฤษถึง ๙ ล้านคนและอีก ๓ แสนคนเป็นแรงงานในประเทศอังกฤษ แต่หลังจากนั้นเพียง ๓๐ ปี การปกครองของอังกฤษในอินเดียก็ได้สิ้นสุดลงอย่างคาดไม่ถึง !!!

ความไม่สงบในอินเดียภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรกหลังจากที่ติลักได้อิสรภาพออกจากคุกในปี ค.ศ. ๑๙๑๔ แล้ว เขาก็เริ่มก่อกวนอังกฤษต่อไป กลุ่มหัวรุนแรงสามารถควบคุมขบวนการคองเกรสแห่งชาติได้อีกในปีถัดมา และได้ประกาศแนวทางที่จะปกครองตนเองเกี่ยวกับกิจการภายในของอินเดีย โดยการนำของติลักและนางแอนนี บีแซนท์สตรีชาวอังกฤษผู้เสื่อมในศาสนาฮินดู ประการที่สองได้แก่ผลกระทบที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ชาวอินเดียได้รับอิทธิพลของคำว่า self-determination ซึ่งหมายถึงเสรีภาพของประชาชนที่จะกำหนดสถานภาพทางการเมืองของตนเอง ทหารชาวอินเดียจำนวนมากที่ไปรบในดินแดนโพ้นทะเลยังได้รับแนวความคิดและทัศนคติใหม่ๆ นำมาซึ่งการสั่นคลอนการปกครองของอังกฤษในอินเดีย ประการที่สามได้แก่การที่อินเดียต้องประสบกับหายนะอันเนื่องจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศและโรคระบาดในปี ๑๙๑๘-๑๙๑๙ ทำให้มีคนตายกว่า ๑๓ ล้านคน

ประการสุดท้ายที่สำคัญ ก็คือ อังกฤษได้ใช้นโยบายปราบปรามจลาจลที่เกิดขึ้นในมณฑลต่างๆ ทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่เมืองอัมริตสาร์แคว้นปัญจาบในวันที่ ๑๓ เมษายน ๑๙๑๙ โดยนายพลอังกฤษสั่งให้ยิงพลเมืองที่ไม่มีอาวุธและไม่มีการเตือนล่วงหน้า มีผู้เสียชีวิต ๔๐๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๑,๐๐๐ คน เพื่อแสดงความเข้มแข็งของรัฐบาลอังกฤษ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวอินเดียโกรธแค้นไม่พอใจอย่างมาก เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทำให้คานธีเข้ามามีบทบาทในคองเกรสแห่งชาติอินเดีย เพื่อทำการต่อต้านอังกฤษอย่างจริงจัง

มหาตมะ คานธี หรือ โมหันทาส คานธี (Mohandas Gandhi) เกิดในครอบครัววรรณะแพศย์ เขาเติบโตที่แคว้นราชสถาน บิดา-มารดาเป็นคนเคร่งศาสนา เสียสละ บำเพ็ญเพื่อศาสนาฮินดูที่ตนนับถือ คานธีได้อิทธิพลเรื่องอุปนิสัยจาก บิดามารดา ทำให้เขาเป็นคนที่ยึดในคำสัตย์ เสียสละ เคร่งศาสนา เขามีความรักและเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ และมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถอดอาหารได้เป็นเวลาหลายวัน ลักษณะต่างๆเหล่านี้ทำให้เขาใช้เป็นอาวุธในการประท้วงอังกฤษ

คานธีสำเร็จการศึกษากฎหมายจากอังกฤษ และกลับมาประกอบอาชีพทนายความที่บอมเบย์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาเขาได้ไปทำงานเกี่ยวกับกฎหมายที่อาฟริกาใต้ ณ ที่นั้นเขาได้เห็นชาวอินเดียในอาฟริกาถูกชนชั้นปกครอง ดูถูก เหยียดหยาม กีดกั้นไม่ให้ได้เข้าไปใช้สถานที่บางแห่งร่วมกับคนผิวขาว เขาได้เป็นตัวตั้งตัวตี ในการจัดตั้งคองเกรสอินเดียแห่งเมืองนาตัลในปี ๑๘๙๔ เพื่อรวบรวมชาวอินเดียในอาฟริกาให้ต่อต้านนโยบายการแบ่งแยกผิวและความไม่เป็นธรรมต่างๆ โดยใช้หลักอหิงสา หรือการดื้อแพ่งโดยไม่ใช้ความรุนแรง วิธีการต่อสู้ดังกล่าวเรียกว่า “สัตยเคราะห์” จนในที่สุดรัฐบาลแอฟริกาใต้จึงยกเลิกพระราชบัญญัติต่างๆ กี่กดขี่ชาวอินเดีย ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาได้นำการต่อสู้นั้นมาใช้กับอินเดียในเวลาต่อมา

เมื่อกลับมายังอินเดียเขากลายเป็นคนมีชื่อเสียงแต่ขณะนั้นยังไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาสนับสนุนให้อินเดียส่งกำลังทหารไปช่วยกองทัพอังกฤษแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่ประชาชนที่เมืองอัมริตสาร์ในปี ค.ศ. ๑๙๑๙ คานธีได้เปลี่ยนท่าทีมาเป็นการต่อต้านอย่างจริงจัง เขาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในขบวนการชาตินิยมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาทำให้ขบวนการชาตินิยมเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง มาเป็นพลังชาตินิยมที่มีฐานมาจากชาวอินเดียส่วนใหญ่นับล้านคน โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีการศึกษา การที่คานธีสามารถเข้าถึงมวลชนระดับหมู่บ้าน และสามารถสร้างความสัมพันธ์จนทำให้คนนเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียในที่สุด

วิธีการที่คานธีใช้พลังมวลชนเข้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีการที่ได้ผลในประเทศอินเดียที่พวกเขาเหล่านั้นได้พบเห็นการกดขี่ ไม่เป็นธรรม จากชนชั้นปกครอง รุนแรงหนักเบาแตกต่างกันไปในระยะเวลาที่อยู่ใต้อำนาจปกครองของอังกฤษเกือบสามร้อยปี เมื่อมีเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอินเดียในปี ๑๙๑๙ ก็ยิ่งเป็นน้ำมันที่ราดรดลงบนกองไฟแห่งความโกรธแค้นของชาวอินเดียจนลุกขึ้นร่วมมือกับคองเกรสแห่งอินเดียต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษในที่สุด

คานธียังได้ทำให้ขบวนการชาตินิยมเกิดความสำนึกในเรื่องความยุติธรรมในสังคม เขาเห็นว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกับอุดมการณ์อื่นๆ เขาได้กล่าวชัดเจนว่าการได้รับเพียงเสรีภาพจากอังกฤษเท่านั้นยังไม่พอสำหรับอินเดีย ชาวอินเดียทุกชนทุกกลุ่ม ควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข คานธีได้กล่าวให้คนวรรณะศูทรได้มีกำลังที่จะเข้าร่วมกับขบวนการฯ โดยกล่าวเห็นอกเห็นใจในเรื่องของวรรณะและอยากจะให้ยกเลิกเรื่องระบบวรรณะ (อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ว่าคานธีต้องการจะให้มีการยกเลิกระบบวรรณะจริงหรือไม่นั้น จะได้นำเรื่องที่ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ได้วิวาทะกับคานธีในความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับวรรณะ ว่าแท้จริงแล้วใครกันที่ต้องการให้ระบบวรรณะหมดไปจากอินเดีย คนวรรณะพราหมณ์หรือคนนอกวรรณะ)

ในเดือนกันยายน ปี ๑๙๒๐ คองเกรสแห่งชาติภายใต้การนำของคานธีได้มีมติไม่รับพระราชบัญญัติมองตากู-เชล์มฟอร์ด ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่อังกฤษพยายามที่จะให้อินเดียมีการปกครองตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป คานธีได้ชักนำประชาชนให้ทำ “สัตยเคราะห์” คือรณรงค์ให้ประชาชนสละตำแหน่งและยศศักดิ์ที่ได้รับจากรัฐบาลอังกฤษ ไม่จ่ายภาษี ไม่ซื้อสินค้าอังกฤษ เด็กนักเรียนหยุดเรียน และที่สำคัญต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้ การทำสัตยเคราะห์ครั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการนัดหยุดงานและการจราจลตามเมืองใหญ่ๆ หลายเมือง ในชนบทชาวนาได้ลุกฮือต่อต้านเจ้าของที่ดินและนายทุนเงินกู้ คานธีจึงต้องประกาศเลื่อนการทำสัตยเคราะห์ออกไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาถูกจับกุมและต้องจำคุกเป็นเวลา ๖ ปี แต่เพียง ๒ ปีเขาก็ได้อิสรภาพ เนื่องจากสุขภาพไม่ดี

เมื่อขาดผู้นำการต่อต้านอังกฤษก็สงบขึ้นมาก ตัวคานธีเองได้ยุติบทบาทการเมืองลงชั่วคราว จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๓๐ จึงได้กลับมาต่อต้านแบบดื้อแพ่งอีกครั้งหนึ่ง

No comments: