Thursday, March 1, 2007

บทความที่ ๗๖.ประวัติศาสตร์อินเดีย (๓) - การเข้ามาของจักรวรรดินิยม

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา
การเข้ามาของชาวยุโรป

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปพวกแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย คือเมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อนการตั้งราชวงศ์โมกุล วาสโก ดา กามา (Vasco de Gama) ได้นำเรือ ๓ ลำมาทอดสมอที่เมืองกาลิกัต ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย เขาได้ผูกมิตรกับเจ้าผู้ครองเมืองกาลิกัต ต่อในในปี ค.ศ.๑๕๐๐ กองทัพเรือโปรตุเกสได้ส่งกองเรือมาตั้งสถานีการค้าที่กัลลิกัตเป็นแห่งแรก และเริ่มเข้ายึดเมืองกัว ทางฝั่งตะวันตกในปี ๑๕๑๐ และตั้งสถานีการค้าในอีกหลายเมือง

แม้โปรตุเกสจะประสบความสำเร็จในการตั้งสถานีตามเมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกและตะวันตกของอินเดีย รวมทั้งหมู่เกาะอินเดียตะวันออก แต่อำนาจของโปรตุเกสก็เสื่อมถอยลงในศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากโปรตุเกสเป็นประเทศเล็กจึงไม่สามารถป้องกันดินแดนโพ้นทะเลได้ และในปี ค.ศ.๑๕๘๐ โปรตุเกสก็สูญเสียอำนาจทางทะเลและถูกรวมเข้ากับสเปน แต่พอปี ค.ศ. ๑๕๘๘ กองทัพเรืออาร์มาดาของสเปนก็พ่ายแพ้แก่กองทัพเรือของอังกฤษ ทำให้อังกฤษเป็นมหาอำนาจทางทะเลและต่อจากนั้นโปรตุเกสในอินเดียก็ถูกตัดขาดจากฐานทัพในประเทศของตน

ในคริสตศวรรษที่ ๑๗ ฮอลลันดาได้ขึ้นมามีอำนาจแทนที่โปรตุเกสในมหาสมุทรอินเดีย ในปี ค.ศ. ๑๖๐๒ พ่อค้าชาวดัตช์ได้รวมทุนตั้งบริษัทการค้าภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาล โดยใช้ชื่อว่า “บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอแลนด์” (The United East India Company of The Netherlands) ทำให้บริษัทมีอำนาจทั้งทางการเมืองและการค้าทางตะวันออก ในปี ค.ศ. ๑๖๑๙ บริษัทฯได้สร้างเมืองปัตตาเวียในเกาะชวาเพื่อเป็นศูนย์กลางของบริษัทฯในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ต่อจากนั้นฮอลลันดาก็ขับไล่โปรตุเกสออกไปจากหมู่เกาะเครื่องเทศ โดยปิดล้อมเมืองกัว(ที่โปรตุเกสยึดจากอินเดีย)และใน ค.ศ. ๑๖๓๙ ก็ยึดมะละกา พอในปี ค.ศ. ๑๖๔๑ ก็ได้เมืองจัฟนาที่เป็นเมืองที่มั่นสุดท้ายของโปรตุเกส พอเข้าปี ค.ศ. ๑๖๕๘ โปรตุเกสก็ถูกกีดกันจากการค้าขายในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกไปทีละน้อย

บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ

ในปี ค.ศ. ๑๖๐๐ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอักบาร์แห่งโมกุล บริษัทการค้าเอกชนของอังกฤษได้รับสัมปทานบัตรจากพระราชินีเอลิซเบ็ธที่๑ ให้มีสิทธิผูกขาดการค้าภายในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งรวมอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย บริษัทนี้มีชื่อว่า “The Governor and Company of Merchants of London Trading into the East India” ต่อมาได้รู้จักกันในนามว่า “East India Company” หรือ “บริษัทอินเดียตะวันออก”

ในปี ค.ศ. ๑๖๒๓ บริษัทฯเกิดการขัดผลประโยชน์กับพวกดัตช์ในอินโดนีเซีย อังกฤษจึงหันความสนใจมายังจีนและอินเดียโดยนำนโยบาย country trade คือนำสินค้าจากประเทศทางตะวันออกมาขายให้พวกตะวันออกด้วยกัน โดยอังกฤษเป็นพ่อค้าคนกลาง

ในคริสตศวรรษที่ ๑๗ อังกฤษยังค้าขายอยู่ในวงแคบ ใน ค.ศ.๑๖๔๗ อังกฤษจึงมีสถานีการค้าอยู่ในอินเดียเพียง ๒-๓ แห่งเท่านั้น ซึ่งในปี ๑๖๓๙ อังกฤษได้รับอนุญาตจากพระเจ้าจาฮากีร์ ให้ตั้งสถานีสินค้าแห่งแรกที่เมืองมัทราส (Madras) ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๖๖๒ พระเจ้าชาล์สที่ ๒ ได้รับสิทธิในเมืองบอมเบย์มาจากโปรตุเกสโดยเป็นสินสมรสจากการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโปรตุเกส และพระองค์ได้ให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเช่าสิทธิในปี ๑๖๖๕ ในอัตราปีละ ๑๐ ปอนด์ ต่อมาในปี ๑๖๙๐ บริษัทฯได้รับอนุญาตจากพระเจ้าโอรังเซ็บให้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มใกล้ปากแม่น้ำคงคา ซึ่งต่อมาภายหลังกลายเป็นเมืองกัลกัตตา (Calcutta)

บริษัทฯได้สร้างป้อมในเมืองท่าต่างๆ ได้แก่ เมืองมัทราส บอมเบย์ และกัลกัตตา โดยมีประธานและคณะกรรมการของบริษัทอยู่ที่เมืองกัลกัตตา เมื่อถึง ค.ศ. ๑๗๐๗ พระเจ้าโอรังเซ็บสิ้นพระชนม์ก็ยังไม่มีบริษัทยุโรปใดๆที่พยายามขยายอำนาจออกไปจากเมืองท่าที่ตนเองมีสถานีสินค้าอยู่เพียงไม่กี่แห่ง

บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส

ในช่วงเวลาใกล้ๆกับที่บริษัทฯของอังกฤษเริ่มเข้ามาตั้งสถานีในอินเดีย บริษัทของชาวดัตช์ซึ่งตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๖๒๐ โดยมีสถานีการค้าที่ชายฝั่งเมืองมัทราสและที่ใกล้กัลกัตตาและต่อมาบริษัทของดัตช์ก็ขายให้แก่บริษัทอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๔๕ ชาวยุโรปคู่แข่งกับอังกฤษในอินเดียคือฝรั่งเศส ก็ได้ตั้งบริษัทของรัฐบาลฝรั่งเศสโดยโคลแบร์เสนาบดีและที่ปรึกษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ บริษัทฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจึงมีฐานะเป็นองค์กรของรัฐมากกว่าอังกฤษ ต่อมาฝรั่งเศสก็เข้ายึดพื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองมัทราสและสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ปอนดิเชอรี ซึ่งเมืองนี้เป็นที่มั่นสำคัญของฝรั่งเศส

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๐๗ ที่พระเจ้าโอรังเซ็บสิ้นพระชนม์เป็นต้นมา บริษัทฯของอังกฤษกับฝรั่งเศสก็เริ่มช่วงชิงความเป็นใหญ่จนมาถึงจุดเดือดในปี ๑๗๕๗ ได้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่เมืองพาสซีในแคว้นเบงกอลและเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวขึ้นสู่อำนาจของอังกฤษเหนือแผ่นดินอินเดียแต่ผู้เดียวในเวลาต่อมา

การช่วงชิงอำนาจ

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าโอรังเซ็บใน ค.ศ. ๑๗๐๗ ทำให้เกิดช่องว่างและความอ่อนแอทางการเมือง แคว้นต่างๆในอินเดียภาคเหนือได้แตกแยกออกเป็นแคว้นอิสระ เช่น แคว้นเบงกอล พิหาร และ โอริสสาซึ่งเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ภายใต้การปกครองของอาลิวาร์ดิ ข่าน แม่ทัพแห่งราชวงศ์โมกุล ส่วนภาคกลางและตะวันตกของโอริสสาถึงปูนาอยู่ใต้อิทธิพลของพวกมาราธา ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นชนชาติได้มากกว่าพวกอื่นๆ และมีลู่ทางว่าจะครอบครองอินเดียได้ทั้งประเทศต่อจากราชวงศ์โมกุล ส่วนทางใต้มีการแก่งแย่งชิงอำนาจครองความเป็นใหญ่ระหว่างกลุ่มต่างๆได้แก่ กลุ่มนิซามแห่งไฮเดอราบัดซึ่งไฮเดอราบัดเป็นแคว้นที่เข้มแข็งแต่ก็มีการแย่งชิงตำแหน่ง “นิซาม” อยู่เสมอ ทางตอนใต้ของแม่น้ำกฤษณาเป็นดินแดนของอาณาจักรไมซอร์ภายใต้การนำของไฮดาร์ อาลีและลูกชายคือสุลต่าน ติปู ส่วนกลุ่มชาวต่างชาติคืออังกฤษและฝรั่งเศสได้ใช้ช่องว่างความอ่อนแอและการช่วงชิงอำนาจ เป็นเครื่องมือขับเคี่ยวกันเพื่อสร้างจักรวรรดิในอินเดีย

การแข่งขันด้านการค้าขาย

แม้ว่าบริษัทฯฝรั่งเศสจะมีทรัพยากรน้อยกว่าทางอังกฤษแต่ก็ยังมั่งคงและขยายตัวอย่างกว้างขวาง บริษัทฯฝรั่งเศสมีที่มั่นที่เมืองจันทรนครในแคว้นเบงกอล และอีกสอง-สามเมืองทางชายฝั่งตะวันตก และฝรั่งเศสยังยึดครองเกาะบูร์บองส์และมอริเชียสไว้เป็นท่าเรือและฐานทัพเรือโดยไม่เป็นที่สังเกต ส่วนอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๗๔๐ มีรายได้จากสินค้าในอินเดียถึง ๑,๗๙๕,๐๐๐ ปอนด์ มากกว่าร้อยละ ๑๐ ของรายได้รวมของอังกฤษ ส่วนเมืองท่าที่มั่นของอังกฤษคือเมือง มัทราส กัลกัตตา และ บอมเบย์ก็เจริญขึ้นมีประชากรชาวอินเดียเข้ามาอาศัยมากขึ้น การค้าขายของอังกฤษจึงเจริญขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นสองประเทศจึงไม่อาจรักษาความเป็นกลางไว้ไม่ได้และสงครามก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับนับแต่ ค.ศ. ๑๗๔๐ เป็นต้นมา

No comments: