Wednesday, March 21, 2007

บทความที่ ๙๖. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (จบสมบูรณ์)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (จบสมบูรณ์)
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
วิธีต่อสู้เผด็จการ

๔.๑ วิธีต่อสู้เผด็จการนั้นเป็นเรื่องของยุทธวิธี ซึ่งจะต้องดำเนินให้เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของการต่อต้านเผด็จการ

เมื่อกล่าวถึงยุทธวิธีแล้วท่านก็ย่อมรู้ได้ว่าไมว่ายุทธวิธีใดจะเป็นทางทหาร ทางเศรษฐกิจหรือทางการเมืองก็ไม่ใช่คัมภีร์ตายตัวที่จะต้องคงอยู่กับที่ เพราะยุทธวิธีย่อมต้องเป็นไปตามสภาพท้องที่และกาละหรือที่ทางทหารถือว่าต้องสุดแท้แต่สภาพและเหตุการณ์

ผู้ใดถือคัมภีร์จัดในทางยุทธวิธี ก็ย่อมนำมาซึ่งความพ่ายแพ้เพราะสภาพการณ์ของฝ่ายเผด็จการก็ดี มิได้นิ่งคงอยู่กับที่คือย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ, ท้องที่, กาลสมัยของสังคมตัวอย่างยุทธวิธีของสังคมอื่น ๆ ย่อมเป็นประโยชน์ที่ท่านจะต้องศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ท่านก็จะต้องพิจารณาว่าตัวอย่างนั้นเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาละของสยามหรือไม่ ขอให้ท่านระลึกถึงสุภาษิตของไทยโบราณที่ว่า “เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง” และมีคติของเมธีวิทยาศาสตร์สังคมผู้ได้กล่าวไว้ว่า “ต้องตัดเกือกให้เหมาะแก่ตีน มิใช่ตัดตืนให้เหมาะกับเกือก” (ผมได้กล่าวคติเหล่านี้ไว้ในหนังสือว่าด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม)

๔.๒ พรรคใด, กลุ่มใด, จะต่อสู้เผด็จการโดยวิธีใดนั้นสุดแท้แต่ตนจะวินิจฉัยว่าตนสามารถถนัดใช้วิธีใด แต่เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกณฑ์ให้คนอื่นต้องถือตามวิธีที่ตนนับถือบูชาอย่างคับแคบ ควรทำจิตใจอย่างกว้างขวาง ถือว่าทุกวิถีทางบั่นถอนอำนาจเผด็จการย่อมเป็นประโยชน์ในการต่อต้านเผด็จการ การอ้างเหตุว่าถ้าใช้วิธีนั้น ๆ จะทำให้ผู้ติดตามล้มตายนั้นก็เป็นเหตุผลที่เหลวไหล

ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการต่อต้านเผด็จการนั้นไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้วิธีที่กฎหมายอนุญาตแต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ถูกกฎหมายในเวลานี้อาจจะถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไปโดยหาว่าเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการก็ได้ ดั่งปรากฏตัวอย่างในอดีตที่มีผู้ถูกเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษเช่นกรณีขบวนการสันติภาพและกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้ง ยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างกาย, ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร

๔.๓ การต่อสู้ใด ๆ นั้นย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้นไม่ควรมองเพียงด้านเดียว คือด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะต้อบโต้ด้วย คือฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรษฐกิจ,วิธีการเมือง, วิธีใช้กำลังทหารตำรวจ,วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ โดยอาศัยหลักทฤษฎีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วยแล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังของทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย ผมไม่อาจบรรยายให้ครบถ้วนในครั้งนี้ได้

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง คือการที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการ อันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ

๔.๔ เท่าที่ผมได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นนั้นก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นเค้าของภาพทั่วไปในการต่อต้านเผด็จการตามที่ท่านทั้งหลายตั้งเป็นหัวข้อให้ผมแสดงปาฐกถาซึ่งท่านก็พอเห็นแล้วว่า การต่อสู้เผด็จการนั้นต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน ซึ่งท่านจะต้องปลงให้ตกในการนี้

แต่มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ผมยังไม่ได้ยินว่าผู้กล่าวถึงในสยามคือการลบล้างอิทธิพลและซากของเผด็จการนาซี ซึ่งภาษาอังกฤษได้ตั้งเป็นศัพท์ขึ้นใหม่ว่า “ดีนาซิฟิเคชั่น” (DENAZIFICATION) ฝรั่งเศสว่า “DENAZIFICATION” เยอรมันว่า “ENTAZIFIZIERUNG” คือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศเยอรมันได้กวาดล้างพวกนาซีออกจากตำแหน่งที่สำคัญและอบรมนิสัยให้ชาวเยอรมันชำระซากทัศนะนาซีให้หมดไปมากที่สุด เพื่อประเทศเยอรมันจะได้ปกครองตามระบบประชาธิปไตย

ในสยามก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งปกครองโดยระบบเผด็จการก็เป็นธรรมดา ที่หลายคนซึ่งมีทัศนะนาซีปกครองได้ครองตำแหน่งสำคัญที่มีอิทธิพลในรัฐบาลสมัยนั้น แต่ภายหลังที่นิสิตนักศึกษาโดยความสนับสนุนของมวลราษฎร ได้เสียสละชีวิตร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้ระบบเผด็จการนั้นสำเร็จ และมีรัฐบาลซึ่งรับรองว่าจะดำเนินนโยบายประชาธิปไตยนั้นก็มีสิ่งที่รอดหูรอดตาไปในการที่บางคนซึ่งได้รับการฝึกฝนจนเกิดทัศนะนาซี ดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่อีกซึ่งให้ความเกื้อกูลสนับสนุนผู้ที่มีทัศนะนาซีอย่างเดียวกัน จึงเห็นว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรมองข้ามปัญหา “ดีนาซิฟิเคชั่น” นี้ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่การฟื้นตัวของระบบเผด็จการนาซี ส่วนหลายคนมิได้มีทัศนะนาซีแต่เคยมีทัศนะเผด็จการนั้น ถ้าแก้ไขทัศนะเดิมของตนโดยยึดถือทัศนะประชาธิปไตยนั้นก็ควรถือเป็นพันธมิตรของฝ่ายต่อต้านเผด็จการในระดับหนึ่งระดับใดตามสมควร

ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้นถ้าสมานสามัคคีกันต่อไป เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF บทความนี้ฉบับสมบูรณ์

No comments: