Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๑๑. ปิดฉากคณะราษฎร

ปิดฉากคณะราษฎร

“๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ดิฉันจำคืนวันนั้นได้อย่างแม่นยำ เพราะต้องตกใจตื่นกลางดึกเมื่อได้ยินเสียงปืนกลรัวถี่ยิบ เป็นเสียงปืนที่ไม่มีเสียงหวอเตือนก่อนเหมือนกับตอนสงคราม ตอนนั้นดิฉันอายุ ๘ ขวบ ก็เริ่มจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรบ้างแล้ว.... ทำเนียบท่าช้างที่เราอาศัยอยู่มีสามชั้น คุณพ่อและคุณแม่นอนอยู่ชั้น ๓ ด้านติดกับห้องพระ ส่วนพวกลูกๆนอนอยู่อีกด้านหนึ่ง คืนนั้นพอเขายิงปืนเข้ามา คุณแม่ก็มาอยู่ที่ห้องลูก ๆ ดิฉันจำได้แม่นว่า คุณแม่ร้องตะโกนสวนออกไปว่า ‘อย่ายิง อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก’ ”

ดุษฎี พนมยงค์

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงบรรลุนิติภาวะ นายปรีดีจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ ในโอกาสนี้นายปรีดีได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการยกย่องนายปรีดีไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีอำนาจทางการเมืองใด ๆ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและนพรัตน์ราชวราภรณ์อันเป็นชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับ

อย่างไรก็ตามสภาพบ้านเมืองสงครามยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ในขณะที่เกิดความไม่มั่นคงในทางการเมือง มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึงสามครั้งในระยะเวลาเพียงเจ็ดเดือนหลังสงครามสงบ จนครั้งสุดท้ายเมื่อรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ลาออก สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ปรึกษากันว่าสมควรไปเชิญนายปรีดีซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับ ๒๔๗๕ (ที่ใช้มานานถึง ๑๔ ปีและเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก สมควรจะมีการร่างฉบับใหม่) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้กล่าวกับนายปรีดีว่า

“ในภาวะคับขันและสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งจะต้องเจรจากับพันธมิตรในปัญหาสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อยู่ต่อไปด้วยนั้น ผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีควรจะเป็น ดร. ปรีดี พนมยงค์”

นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเพียง ๖๙ วัน แต่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค การบูรณะถนนหนทาง และที่สำคัญที่สุดคือการเจรจาขอให้สหรัฐฯ และอังกฤษยกเลิกการยึดเงินฝากของไทยในต่างประเทศได้สำเร็จและเจรจาให้อังกฤษซื้อข้าวจากไทยแทนที่ไทยจะต้องยกข้าวให้อังกฤษเปล่าๆ เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้พระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ นายปรีดีจึงลาออกในวันนั้นเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๘ มิถุนายน รัฐสภามีมติเอกฉันท์ให้นายปรีดีกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

แต่แล้ววันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ นายปรีดีก็ได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. นายปรีดีรีบเดินทางจากทำเนียบท่าช้างไปยังที่เกิดเหตุทันที แต่เมื่อไปถึงก็ถูกขอให้คอยอยู่ชั้นล่าง จนกระทั่งเวลา ๑๒.๐๐ น. จึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพซึ่งถูกเคลื่อนย้ายและได้รับการตกแต่งบาดแผลแล้วโดยมิได้มีการชันสูตรพระบรมศพตามกฎหมายแต่อย่างใด

ในคืนนั้นมีการประชุมสภาเป็นการด่วน นายปรีดีและคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นชอบต่อสภาว่าผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว นายปรีดีได้กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สวรรคตแล้วและบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนไทยแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สภาถวายพระพรชัย ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ” และนายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้สวรรคตเสียแล้ว

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศัตรูทางการเมืองซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ก็สบโอกาสในการเริ่มแผนโค่นล้มฝ่ายประชาธิปไตย บดขยี้ทำลายนายปรีดีให้ย่อยยับ โดยการกระจายข่าวไปตามร้านกาแฟและสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนตามหน้าหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” สภาพการณ์ไม่ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนหน้านั้นที่นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ครั้งนี้รุนแรงร้ายกาจยิ่งกว่า

ต้นเดือนพฤศจิกายน นายปรีดีซึ่งลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด ได้เดินทางรอบโลกในฐานะทูตสันถวไมตรีตามคำเชิญจากประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ เป็นเวลาสามเดือนกว่า และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ มีประชาชน นักศึกษา ข้าราชการ และกรรมกรนับพันคน ไปต้อนรับที่สนามบินน้ำคลองเตย หนังสือพิมพ์สมัยนั้นรายงานว่า

“ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ใช้เวลาเกือบสามเดือนครึ่งปฏิบัติภารกิจของท่านในต่างประเทศ ท่านทูตไมตรีได้เยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรกจากนั้นก็ไปสู่ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ ได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศ จากประธานาธิบดีและจากพระมหากษัตริย์ อย่างอบอุ่นและด้วยการให้เกียรติยศสูงสุดเท่าที่มิตรประเทศเหล่านั้นจะได้เคยให้แก่แขกเมืองคนสำคัญมาแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา ท่านประธานาธิบดีทรูแมนได้ให้การต้อนรับอย่างมโหฬารและรัฐบาลอเมริกันได้ให้เหรียญ ‘ออเดอร์ ออฟ ฟรีด้อม’ ประดับในปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สหรัฐอเมริกาได้ให้แก่ชาวต่างประเทศพันมิตรเป็นคนแรก เป็นการับรองเชิดชูเกียรติยศและความสำเร็จที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ปฏิบัติในระหว่างสงคราม ด้วยการเสี่ยงชีวิตในฐานะเป็นหัวหน้าใหญ่ของขบวนการต่อต้านศัตรูในประเทศไทย ที่อังกฤษ สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษได้พระราชทานเลี้ยงอาหารเป็นเกียรติยศ ณ พระราชวังบัคกิงแฮม สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษและท่านประธานสภาได้เลี้ยงต้อนรับและให้เกียรติยศแก่ท่านรัฐบุรุษ ซึ่งน้อยครั้งทีสภาผู้แทนและประธานสภาผู้แทนอังกฤษจะได้ให้เกียรติยศแก่แขกเมืองถึงปานนั้น ที่นอร์เวย์สมเด็จพระเจ้ากรุงนอร์เวย์ได้พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน และที่สวีเดน ท่านรัฐบุรุษได้รับพระราชทานเหรียญอิสริยาภรณ์ ‘แกรนด์ ครอส ออฟซาวา’ ”

นายปรีดีเดินทางกลับมาจากต่างประเทศได้ไม่ถึง ๑๐ เดือน นักการเมืองและกลุ่มอำนาจเก่าที่รอคอยโอกาศมานานก็จับมือกันก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แม้ว่าก่อนหน้านี้เพียงสองวัน พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น จะได้ให้คำมั่นสัญญากับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีว่า “ไม่มีการรัฐประหาร ถ้ามีก็ต้องเป็นอั๊วเอง และอั๊วก็ยังไม่คิด”

คืนนั้นที่ทำเนียบท่าช้าง – ที่พำนักของรัฐบุรุษอาวุโส รถถังของฝ่ายรัฐประหารที่หมายมั่นจะมาจับกุมตัวนายปรีดี ได้บุกทำเนียบท่าช้างและกราดยิงเข้าไปในตึกที่ท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆอาศัยอยู่ ส่วนนายปรีดีทราบข่าวล่วงหน้าเพียงไม่กี่นาทีจึงหลบหนีออกไปได้ เช่นเดียวกับหลวงธำรงฯ ซึ่งหนีรอดได้หวุดหวิด

เช้ามืดวันต่อมา นายไสว สุทธิพิทักษ์ ตัวแทนของนายปรีดีและหลวงธำรงฯ ได้ไปเจรจากับพลเอกอดุลว่า รัฐบาลจะสั่งปราบกบฎ มีความเห็นอย่างไร ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นบอกว่า “ขออย่าให้มีการปราบปรามต่อต้านคณะรัฐประหารเลย ขอให้เห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และขอให้ทั้งสองหลบหนีออกไปก่อน”

ชัยชนะตกเป็นของคณะรัฐประหารซึ่งประกอบด้วย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ฯลฯ ล้มรัฐบาลพลเรือนที่ประชาชนเลือกเข้ามา และเป็นการปิดฉากอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรซึ่งปกครองประเทศมาเวลา ๑๕ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๔๗๕

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านก็เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนโดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการผิดมารยาททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ที่พรรคฝ่ายค้านยอมรับเป็นรัฐบาลจากการทำรัฐประหาร ไม่นานนักพลเอกอดุลก็ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

นายปรีดีหลบหนีภัยไปอยู่กับทหารเรือในฐานทัพเรือสัตหีบ และด้วยความช่วยเหลือของทูตอังกฤษและทูตอเมริกาจึงหลบภัยไปยังสิงคโปร์ได้ ในเวลานั้นนายปรีดีไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว ต้องยืมเงินจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสาร และเดินทางต่อไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีเจียงไคเช็คปกครองประเทศอยู่ แต่แรกนายปรีดีตั้งใจจะลี้ภัยไปยังเม็กซิโกโดยเดินทางผ่านสหรัฐอเมริกา แต่ขณะที่นายปรีดีกำลังจะยื่นหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีน เจ้าหน้าที่ซีไอเอได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางและขีดฆ่าวีซ่าอเมริกาที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงลอนดอนเป็นผู้ออกให้ อันเป็นการพิสูจน์ว่ามหามิตรอเมริกา ซึ่งเคยมอบเหรียญอิสริยาภรณ์สดุดีนายปรีดี ได้กระโจนเข้าอยู่ฝ่ายรัฐประหารทันที่เพื่อผลประโยชน์ของตน เหตุการณ์นั้นทำให้นายปรีดีไม่คิดจะลี้ภัยทางการเมืองไปยังสหรัฐอเมริกาอีกเลย

ต่อมานายปรีดีได้เดินทางกลับมายังเมืองไทยอีกครั้ง และร่วมกับพรรคพวกอันประกอบด้วยทหารเรือ นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งในชื่อ “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” พยายามที่จะยึดอำนาจคืนจากฝ่ายรัฐประหาร นายไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตเลขานุการนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงฯ ได้บันทึกว่า

“ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ‘กบฏวังหลวง’ นั้นต้องประสบความล้มเหลวอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ หลังจากที่ได้ยึดพระราชฐานของวังหลวงไว้ได้ในตอนกลางคืนตลอดคืนแล้ว ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นคือ ๒๗ กุมภาพันธ์ ได้มีการรบระหว่างทหารเรือกำลังหลักของฝ่ายขบวนการ กับทหารบกในกลางพระนคร ทหารบกถูกทหารเรือตีถอยร่นตลอดแนวถนนราชปรารภ มักกะสัน ถนนเพชรบุรี จนปรากฏชัดว่าฝ่ายรัฐประหารเตรียมตัวหนี แต่แล้วก็มีคำสั่งให้ทหารเรือหยุดบุก นายทหารเรือชั้นนายพลผู้หนึ่งให้เหตุผลที่หยุดนี้ว่า ‘ เพราะมีคนตายมากขึ้น’ แต่ความจริงนั้นเป็นเพราะ ‘แม่ทัพเรือยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลรัฐประหารให้มีการหยุดรบเพื่อเจรจากัน’ ซึ่งหมายความว่า รบข้อเสนอเพื่อยอมแพ้นั่นเอง ส่วนทางด้านวังหลวงนั้น ฝ่ายรัฐบาลใช้ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและปืนใหญ่ทหารราบยิงประตูวิเศษไชยศรี แล้วเคลื่อนกำลังมีรถถังนำหน้าบุกเข้าสู่พระบรมมหาราชวังไม่ต้องคำนึงว่าปราสาทพระราชวังจะพินาศอย่างไร”

เมื่อขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ่ายแพ้ นายปรีดีต้องหลบอยู่ตามบ้านคนรู้จักแถบฝั่งธนบุรีท่ามกลางการไล่ล่าของฝ่ายรัฐประหาร มีการตั้งสินบนนำจับราคาสูงแก่ผู้บอกที่หลบซ่อน สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ยุคมืดเต็มที มีการจับกุมบรรดาพรรคพวกนายปรีดี ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักศึกษาธรรมศาสตร์ เสรีไทย ทหารเรือจำนวนมาก ที่โหดเหี้ยมคือสี่อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แก่ นายถวิล อุดล นายจำรอง ดาวเรือง ดร.ทองเปลว ชลภูมิ และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกตำรวจจับกุมและรุมซ้อมปางตาย และวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๒ เวลาตีสอง ตำรวจพาตัวคนทั้งสี่ไปยิงทิ้งอย่างโหดเหี้ยมที่ชานกรุง ริมถนนพหลโยธิน กม.ที่ ๑๔-๑๕ แล้วโยนความผิดว่าเป็นฝีมือของโจรมลายูที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทางพันกว่ากิโลเมตร ต่อมาตำรวจได้กราดยิง ดร.ทวี ตะเวทิกุล อดีตรัฐมนตรีและเสรีไทยคนสำคัญตายที่สมุทรสงคราม และ พ.ต. โผน อินทรทัต รองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ถูกตำรวจจับและรุมทำร้ายจนสิ้นชีวิต

ตลอดเวลาที่หลบซ่อนอยู่ นายปรีดีอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ด้วยความเจ็บปวด บรรดาสานุศิษย์และมิตรสหายของท่านถูกสังหารไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งนายปรีดีระบายให้ท่านผู้หญิงพูนศุขฟังว่า “ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จะอยู่ไปทำไม เราทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อน...ต้องตาย” ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากจึงพูดว่า”ไม่ได้ ถ้าเธอตายไปก็เหมือนกับยอมแพ้ทุกอย่างสิ”

No comments: