Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๖. เค้าโครงการเศรษฐกิจ

เค้าโครงการเศรษฐกิจ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ได้มีส่วนในเสนอชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งต่อมาคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ และเมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรก นายปรีดี ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี อาจกล่าวได้ว่านายปรีดีเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ นอกจากจะเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรและเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสยามประเทศแล้ว เขายังเป็นอนุกรรมการผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม และเขาเป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้งฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๗๕ ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้เท่าเทียมผู้ชาย นับว่าก้าวหน้ากว่าฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิ์เช่นนี้ได้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

แต่งานชิ้นสำคัญในระยะแรก คือการดูและด้านเศรษฐกิจเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ว่า “วัตถุประสงค์ของการปฏิวัติครั้งนี้ ก็คือต้องการปฏิรูปการเศรษฐกิจ ทำชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น มิฉะนั้นจะไม่เปลี่ยน”

งานชิ้นแรกของนายปรีดีคือการช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกภาษีอากรนาเกลือ ลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน ออก พ.ร.บ. พิกัดเก็บเงินค่านาเพื่อคุ้มครองกสิกรมิให้สิ้นเนื้อประดาตัว ออก พ.ร.บ. ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร เพื่อจำกัดสิทธิของนายทุนมิให้ใช้สิทธิอันทารุณจนเป็นภัยแก่กสิกร ออก พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และ ออก พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า ใครมีเงินได้มากก็เสียมาก เงินได้น้อยก็เสียน้อย

ในระหว่างนั้นรัฐบาลมีมติมอบหมายให้นายปรีดีเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งนายปรีดีได้ร่างเค้าโครงฯ แบบสหกรณ์เต็มรูปแบบแต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี นายปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ ๓ แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อร่าง พ.ร.บ. “ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

แต่น่าเสียดายที่ความคิดดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคมก็เป็นเวลาล่วงมาอีก ๖๐ ปี !!!!

นายปรีดียังเสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ และออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล แต่ก็ถูกคัดค้านเช่นกัน
เมื่อนายปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาล ปรากฎว่าอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งขึ้นมากลั่นกรองส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่อนุกรรมการส่วนน้อย คือพระยามโนฯ พระยาศรีวิศาลฯ พระยาทรงสรุเดช นายประยูร ภมรมนตรี ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าและขุนนางยังเป็นผู้คุมอำนาจอยู่ เมื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นายปรีดีจึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี สถานการณ์ของนายปรีดีตอนนั้นถือว่าเป็น “ตัวอันตราย” เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนทั่วไปยังให้ความเคารพ ดังนั้นรัฐบาลจึงร่วมมือกับทหารบางกลุ่มทำการยึดอำนาจด้วยการปิดสภาและออก พ.ร.บ. ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ ออกแถลงการณ์ประฌามนายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต นายปรีดีจำต้องเดินทางออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖

แต่พอวันที่ ๑๙ มิถุนายนปีเดียวกัน คณะราษฎรที่นำโดย พ.อ. พระยาพหลฯ ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนฯ และโทรเลขเชิญนายปรีดีให้กลับมาร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง สภาพผู้แทนฯ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผลการสอบสวนได้ข้อสรุปว่านายปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ผลงานสำคัญของนายปรีดีในช่วงนี้คือการร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๔๗๖ มีเนื้อหาสำคัญคือการกระจายอำนาจการปกครองเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น หรือการปกครองระบอบเทศบาล มีสภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ทำให้ราษฎรสามารถปกครองตนเองได้อย่างแท้จริง

นายปรีดียังมีส่วนสำคัญในการสถาปนาคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายแผ่นดิน ท่านพยายามให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครอง ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทำให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ แต่ท่านก็ทำไม่สำเร็จ ประเทศไทยมามีศาลปกครองก็เมื่อเวลาผ่านไป ๖๗ ปี....


จากหนังสือสารคดี เดือนเมษายน ๒๕๔๓ ร้อยปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

No comments: