Wednesday, February 14, 2007

บทความที่ ๔๘. สงครามอินโดจีน ตอนที่ ๒

สงครามอินโดจีน : สงครามเอกราชเวียดนาม

วันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ แม้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามจะตกลงกันให้จักรภพอังกฤษและทหารจีนคณะชาติเข้ายึดครองอินโดจีนเอาไว้คอยฝรั่งเศสกลับมาก็ตาม แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าตนมีความเข้มแข็งพอแล้ว โฮจิมินห์ในฐานะประธานพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ยืนขึ้นบนเฉลียงตึกโรงละครแบบฝรั่งเศสในกรุงฮานอย เคียงข้างเขาเป็นธงสีแดงมีรูปดาวสีเหลือง ๑ ดวงตรงกลาง ประกาศอิสรภาพเวียดนามว่า
“ทุกคนถือกำเนิดเท่าเทียมกัน มีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง สิทธิเหล่านี้ได้แก่สิทธิแห่งการดำรงชีวิต มีเสรีภาพ และแสวงหาความสุข”

แต่เพียงปีกว่าให้หลัง โฮก็พาพรรคพวกออกจากกรุงฮานอย และระบุชื่อข้าศึกของญวนอย่างชัดเจน-ฝรั่งเศส โฮคิดว่าเขาคงจะทำสงครามกับฝรั่งเศสเท่านั้น และไม่เคยคิดที่จะทำสงครามกับชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก-สหรัฐอเมริกา

โฮจิมินห์แก่เกินไปที่จะได้เห็นบั้นปลายของสงคราม คำสั่งเสียก่อนตายของเขาระบุถึงข้าศึกผู้ยิ่งใหญ่ของเขา

“การต่อสู้อย่างกล้าหาญของเราต่อสหรัฐอเมริกา ผู้รุกราน เราจะพบกับความยากลำบากและเสียสละอย่างสูง แต่เราเชื่อมั่นว่า เราจะชนะในที่สุด และนั่นเป็นความจริงอย่างแท้จริง”

โฮจิมินห์คงคิดไม่ถึงว่า “เราจะชนะในที่สุด” ของเขาไม่นานอย่างที่เขาคิด เพราะเพียง ๖ ปีหลังจากเขาถึงแก่กรรม สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีกล่าวเองว่า-สหรัฐอเมริกาสูญเสียเวียดนามแล้ว


เวียดนามกับฝรั่งเศส

สงครามในเวียดนามเกิดจากการตัดสินใจของคนฝรั่งเศสผู้เป็นทหารเรือ กองทหารฝรั่งเศสจำนวน ๒ กองพลได้เคลื่อนกำลังจากเวียดนามใต้ไปยังเวียดนามเหนือในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ ตามข้อตกลงกับจีนคณะชาติ(รัฐบาลเจียงไคเชค) แต่เวียดมินห์ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐก่อนนั้น ๖ เดือนแล้ว

หน่วยกำลังที่ไปถึงเวียดนามเหนือเป็นหน่วยแรกได้แก่หน่วยทหารพลร่ม และเป็นเครื่องหมายของการกลับมาของฝรั่งเศสที่มีความตั้งใจซ่อนเร้นที่จะไม่ปล่อยมือเวียดนามเป็นอิสรภาพ

เมื่อสถานะระหว่างเวียดมินห์และฝรั่งเศสเป็นศัตรูต่อกันอย่างแท้จริงและแน่นอนแล้ว ด้วยเหตุผลทางกำลังเงินและการเมือง ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถจะจัดหาและยกกำลังไปยังเวียดนามเหนือได้เพียงพอที่จะล้อมกรอบเวียดมินห์ให้ทำการรบและอยู่ในขอบเขตเล็กๆได้

สองปีแรกของการสงคราม ทหารฝรั่งเศสพยายามใช้ยุทธวิธีโอบล้อมทหารเวียดมินห์เป็นส่วนๆโดยใช้การส่งกำลังทางอากาศสนับสนุน และพยายามที่จะจับตัวบุคคลสำคัญของฝ่ายเวียดมินห์อันหวังกันว่าการรบใหญ่สักครั้งหนึ่งหลังจากต้อนทหารเวียดมินห์เข้าตาจนแล้ว ก็น่าจะได้ชัยชนะในเวลาไม่นานนัก

แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ มีเหตุผลใหญ่ๆอยู่สองอย่างที่การรบใหญ่ครั้งเดียวแล้วชนะเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ คือ เป็นที่เมืองแม่ฝรั่งเศสเอง ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้สัญญาต่อสภาที่จะลดทหารในอินโดจีนลงจากจำนวน๑๑๕,๐๐๐ คน เหลือ ๙๐,๐๐๐ คน และอีกประการหนึ่ง คือ เกิดการกบฏที่เกาะมาดากาสการ์อันตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของอาฟริกา ที่ฝรั่งเศสต้องส่งทหารจำนวน ๑๕,๐๐๐ คนไปที่นั่นโดยด่วน

กองบัญชาการทหารฝรั่งเศสในเวียดนามถูกบังคับให้ใช้กำลังทหารทั้งหมดที่มีอยู่ อันประกอบด้วยหน่วยหลักจำนวน ๒๐ กองพันกับหน่วยสนับสนุนและกำลังสำรอง ๑๕,๐๐๐ คน ไปประจัญหน้ากับกำลังของโฮจิมินห์

ฝ่ายเวียดมินห์ในตอนต้นมีกำลังเพียง ๔๐,๐๐๐ คนได้รับการฝึกจากครูทหารชาวญี่ปุ่นและชาวจีนโดยใช้อาวุธญี่ปุ่นและอเมริกัน ป้องกันพื้นที่อันเป็นป่าทึบ ขุนเขา ยากแก่การเข้าถึงในอาณาบริเวณกว้างยาว ๑๐๐ ไมล์ของตังเกี๋ย

สองปีแรกของการสงคราม นายพลเดอเลค เลอ์กผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในเวียดนามระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๐ ก็มองเห็นลักษณะและปัญหาของการสงครามว่า “การต่อสู้ของเราต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือที่ไร้ประโยชน์ตราบเท่าที่ยังไม่แก้ปัญหาชาตินิยม” แสดงถึงว่าเป็นสงครามที่ดำเนินไปโดยมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากเป็นพิเศษ

สงครามระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศสพอแบ่งได้เป็น ๒ ฉากใหญ่ๆ ฉากแรกเป็นฉากที่ทหารฝรั่งเศสพยายามยึดที่มั่นต่างๆ ที่ตนสร้างไว้ในเวียดนามเหนือ แต่ความพยายามในการยึดนั้นไม่ได้ผลเท่าใดนัก เพราะทหารเวียดมินห์ควบคุมพื้นที่อันเป็นป่ารอบที่มั่นอย่างได้เปรียบในการดำเนินกลยุทธและจู่โจม

ฉากที่สอง เป็นความพยายามของฝรั่งเศสอีกที่จะแก้ความเสียเปรียบความคล่องตัวของทหารเดินเท้าเวียดมินห์ด้วยความคล่องตัวจากพาหนะต่างๆ แต่ฝ่ายเวียดมินห์ก็ได้ใช้ป่าอีกเช่นกัน ลดความคล่องตัวของฝรั่งเศสลงได้ การริเริ่มโจมตีเป็นของเวียดมินห์ในการโผล่ออกมาจากป่าเข้าโจมตี และถอยกลับเข้าไปในป่าอีก

กองทหารฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศสเองหรือทหารชาวอาฟริกาหรือเอเชีย เป็นทหารที่ได้รับการฝึกอย่างดี แต่กลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการสัประยุทธโดยการถูกลอบโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า ฝ่ายฝรั่งเศสไม่ถูกโรคกับป่า แต่เวียดมินห์นิยมชมชื่นและใช้ป่าอย่างได้ผล

ฝรั่งเศสพยายามใช้ลำน้ำที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ เคลื่อนกำลังด้วยหมู่เรือหุ้มเกาะติดอาวุธหนัก แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญได้ คือ การคืบคลานและควบคุมให้ลึกเข้าไปในป่าที่ตนไม่ถูกโรคด้วย ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นห่างไกลได้แก่ปัญหาการส่งกำลังบำรุง

ถ้ากล่าวตามนัยของนโยบายทางการเมืองและยุทธศาสตร์แล้ว สงครามระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศสกล่าวได้เป็นขั้นตอนได้ว่า

ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ อยู่ในสภาวะชะงักงันทางการเมือง เนื่องจากความล่าช้าและล้มเหลวของนักการเมืองฝรั่งเศส ในการยอมรับและสร้างกลุ่มชาตินิยิมชาวญวนให้แข็งแกร่งไม่พอที่จะรับมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ กลุ่มชาตินิยมญวนนี้ประสงค์จะเป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศส โดยจะไม่อยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แต่ฝรั่งเศสก็ไม่อยากปล่อยเวียดนามและพวกเวียดมินห์ ยังซ้ำเติมสังหารกลุ่มชาตินิยมคนแล้วคนเล่า

ปลาย พ.ศ. ๒๔๙๒ ยุทธศาสตร์อยู่ในสภาพหมดหวังเมื่อคอมมิวนิสต์จีนได้ชัยชนะบนผืนแผ่นดินใหญ่จีน และส่งกำลังทหารมายังพรมแดนเวียดนาม อันกำลังของเวียดมินห์สามารถใช้เป็น “พื้นที่หลบภัย” เพื่อการฝึกและฟื้นฟูกำลังได้

ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียทางทหารเมื่อการหยุดยิงในสงครามเกาหลีอำนวยให้คอมมิวนิสต์ในเอเชียสามารถทุ่มเทสรรพกำลังเข้ามายังทางอินโดจีนได้

เจ็ดปีของการสงคราม ทหารฝรั่งเศสก็ได้พบว่า ความเป็นความตายของตนอยู่ที่หุบเขาเล็กๆแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเป็นความหมายว่า “บัลลังก์แห่งพรมแดน” ภาษาเวียดนามเรียกว่า “เดียนเบียนฟู” และเป็นความตายของทหารฝรั่งเศสที่นั่นในเวลาต่อมา

สงครามระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงกรุงเจนีวาใน กรกฎาคม ๒๔๙๗ ที่มีข้อตกลงดังนี้

๑.เวียดนามซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่สุดในอินโดจีน แบ่งออกเป็นสองส่วนโดยใช้เส้นขนานที่ ๑๗ เป็นเส้นแบ่งโดยประมาณ

๒.กำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในเขตใต้และกำลังของฝรั่งเศสผสมญวนที่อยู่ในเขตเหนือจะถอนกลับเข้าเขตตนภายในเวลาประมาณ ๓๐๐ วันนับจากวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗

๓.เชลยแต่ละฝ่ายจะเป็นอิสระและแลกเปลี่ยนกันก่อนวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๙๗

๔. คณะกรรมการผสมจากอินเดีย, โปแลนด์และแคนาดา จะประจำอยู่ที่เวียดนามทั้งสองฝ่ายเพื่อเสนอแนะและดูแลการปฏิบัติของคู่กรณีตามข้อตกลงดังกล่าว

๕. จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในลาวใน พ.ศ. ๒๔๙๘ และในเวียดนามก่อนวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๙

มีปัญหาเกี่ยวกับเชลยศึกอยู่คือ เชลยศึกในสงครามเกาหลีที่ไม่อยากกลับคืนภูมิลำเนาเดิม ได้รับอนุญาตให้พำนักได้ในเขตที่ตนประสงค์ แต่ในสงครามนี้เชลยทุกคนต้องกลับเขตเดิมของตน ไม่มีโอกาสเลือก

สงครามระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศสยุติลง เป็นการยุติจักรวรรดินิยมของฝรั่งเศสในอินโดจีนด้วย แต่นั่นเป็นเพียงยกแรกของสงครามเวียดนามเท่านั้น

No comments: