Tuesday, February 27, 2007

บทความที่ ๗๐. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๖

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
กลับมาตุภูมิ

ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังดำเนินไป ในประเทศอเมริกาได้มีกลุ่มกู้อิสรภาพและมีนโยบายขับไล่อังกฤษของชาวอินเดียอยู่กลุ่มหนึ่ง หัวหน้ากลุ่มกู้อิสรภาพนี้ได้ชักชวนเอ็มเบ็ดก้าร์ให้เข้าร่วมงานกับพวกเขา แต่เอ็มเบ็ดก้าร์ยังไม่พร้อมที่จะกระโดดไปสู่เวทีการเมืองในขณะนั้น เขาได้แต่บอกหัวหน้าคณะกู้อิสรภาพในตอนนั้นว่า เขายังเป็นนักศึกษาอยู่ หน้าที่ของเขาก็คือจะต้องเรียนให้สำเร็จก่อน มิฉะนั้นแล้วจะดูประหนึ่งว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อมหาราชาแห่งบาโรด้าผู้มีพระคุณอันมหาศาลในการให้โอกาสสนับสนุนเขาให้ได้เดินทางมาศึกษาในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง พวกคณะกู้อิสรภาพจึงไม่ได้ตัวเอ็มเบ็ดก้าร์มาร่วมงานกับพวกตน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเดินทางไปถึงลอนดอนเจ้าหน้าที่ตำรวจลับของอังกฤษสงสัยว่าเขาจะเป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นด้วย จึงตรวจค้นเอ็มเบ็ดก้าร์อย่างละเอียด

เมื่อผ่านการตรวจค้นไปได้เขาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนที่สถาบัน เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) ในขณะเดียวกันเขาก็ส่งจดหมายแจ้งให้มหาราชาฯทราบเพื่อทรงกรุณาอนุญาตและต่อทุนการศึกษาให้แก่เขา ขณะรอคอยคำตอบในเรื่องการขอทุนอยู่นั้น เขาก็ได้ดำเนินการศึกษาของเขาไปเรื่อยๆ และปรากฎว่ามีความก้าวหน้าโดยลำดับ ศาสตราจารย์ได้ให้เขาทำวิทยานิพนธ์ในวิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) และขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวิชากฎหมายควบคู่ไปด้วย แต่แล้วคำตอบจากมหาราชาแห่งบาโรด้าก็มาถึงมืออันสั่นเทาด้วยความเสียใจของเอ็มเบ็ดก้าร์ว่า ทุนการศึกษาของเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่สามารถจะต่อทุนให้อีกได้ และเขาถูกเรียกตัวกลับประเทศอินเดียโดยด่วน

ข่าวนี้ประหนึ่งสายฟ้าฟาดลงกลางหลังของเขา เขาต้องชะงักการเรียนลงด้วยความขมขื่นและเสียดายอย่างยิ่ง แต่จะทำอย่างไรได้เพราะเกิดมาเป็นคนจน การศึกษาต้องฝากชะตาไว้กับผู้อื่นผู้หยิบยื่นหรือลิบโอกาสเสีย เมื่อผู้ให้ทุนมีคำสั่งมาเช่นนั้น เขาจึงไม่มีทางเลือก ต้องยุติการศึกษาแล้วเข้าพบอาจารย์ขออำลาเดินทางกลับประเทศ เอ็มเบ็ดก้าร์เก็บหนังสือที่สะสมเอาไว้จากนิวยอร์กใส่ลังส่งกลับอินเดียโดยผ่าน บริษัท โธมัส คุกแอนด์ซัน โดยไม่คิดว่าจะกลับมายังลอนดอนอีก ส่วนตัวเขาเองเดินทางโดยบริษัท เอส เอส ไกเยอร์ไอฮินด์ ในระยะเวลานั้นการเดินทางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไม่มีความปลอดภัยเลยเพราะอยู่ช่วงสงครามโลก เรือโดยสารถูกทิ้งระเบิดอยู่บ่อยๆ และก็ปรากฏว่าเรือเดินสมุทรของบริษัทโธมัส คุกแอนด์ซันได้ถูกตอร์ปิโดของข้าศึกจมลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ข่าวนี้แพร่สะบัดไปสู่บอมเบย์ทำให้ครอบครัวของเอ็มเบ็ดก้าร์เสียใจเศร้าสลดคิดว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว แต่ในที่สุดก็ได้ทราบความจริงภายหลังว่าเขาเดินทางมาโดยบริษัทเดินเรืออื่น มีเพียงกระเป๋าและหนังสือเท่านั้นที่เสียหายไป

เอ็มเบ็ดก้าร์ได้เดินทางกลับมาถึงมาตุภูมิอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๐ และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับมหาราชาเขาจึงต้องเดินทางจากบอมเบย์ไปเมืองบาโรด้า แต่เขาประสบปัญหาการเงินไม่มีเงินพอจะซื้อตั๋วรถไฟเดินทางไปเมืองบาโรด้าได้ แต่โชคของเขาก็ยังไม่ทรามเกินไปนัก เพราะบริษัทเดินเรือโธมัส คุกฯ ได้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายในสิ่งของสัมภาระของเขา ถึงแม้เขาจะเสียใจที่หนังสือที่มีคุณค่ามหาศาลต่อเขาได้สูญหายไป แต่เขาก็ได้ค่าโดยสารไปบาโรด้าจากการนั้น เขาจัดสรรแบ่งเงินนั้นให้ภรรยาใช้จ่ายในครอบครัวบ้างเล็กน้อยและใช้ซื้อตั๋วรถไฟไปเมืองบาโรด้า เขาและพี่ชายได้เดินทางไปเมืองบาโรด้าในกลางเดือนกันยายน

ทำงานชดใช้ทุน

มหาราชาทรงทราบว่าเอ็มเบ็ดก้าร์จะเดินทางมา จึงส่งคนไปคอยรับที่สถานีรถไฟ แต่ใครจะมีน้ำใจไปรับคนนอกวรรณะอย่างเขา และเมื่อข่าวแพร่สะพัดไปทั่วเมืองว่าคนนอกวรรรณะจะเดินทางมา โรงแรมหรือบ้านพักต่างๆจึงไม่ต้อนรับให้เขาและพี่ชายได้เข้าไปพักเลย ในที่สุดเขาก็แอบเข้าไปขอเช่าห้องแถวแห่งหนึ่งเพื่อพักอาศัยโดยไม่ให้เจ้าของห้องแถวทราบว่าเขาคือใคร

ตามสัญญาที่ทำไว้กับมหาราชา เขาจะต้องทำงานใช้ทุนเป็นเวลา ๑๐ ปีที่เมืองบาโรด้า มหาราชามีพระประสงค์จะแต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีการคลังในรัฐนั้น โดยทรงดำริว่า เอ็มเบ็ดก้าร์มีประสบการณ์ความรู้มาจากต่างประเทศ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นทหารองค์รักษ์ประจำสำนักพระราชวังบาโรด้า และด้วยชะตากรรมที่เขาเกิดมาเป็นคนนอกวรรณะ เขาถึงถูกดูถูกเหียดหยามจากเพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งคนใช้ในสำนักงานก็รังเกียจเขาและดูถูกเขาเหมือนกับคนเป็นโรคเรื้อน เหล่านักการคนเดินเอกสารในสำนักงานก็พลอยดูถูกและรังเกียจเอ็มเบ็ดก้าร์ไปด้วย เพราะมีความเชื่อว่าเอ็มเบ็ดก้าร์เป็นตัวบาปเป็นตัวเสนียดที่จะแตะต้องไม่ได้เป็นอันขาด เวลานักการจะส่งหนังสือให้เอ็มเบ็ดก้าร์จึงต้องเอาภาชนะอื่นมารองยืนให้ เอ็มเบ็ดก้าร์จะไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มน้ำในสำนักงานเป็นอันขาด เพราะภาชนะตักน้ำดื่มมีไว้ใช้สำหรับคนวรรณะอื่น ถ้าลูกนอกวรณะอย่างเขาไปแตะต้องก็จะทำให้คนทั้งสำนักงานพลอยได้รับความเป็นเสียดจัญไรไปด้วย

เอ็มเบ็ดก้าร์ได้อดทนอดกลั้นอย่างที่เขาทำมาตลอดตั้งแต่วัยเด็ก ทำงานรับใช้ทุนโดยมิได้คิดย่อท้อ เมื่อมีเวลาเขาจะไปนั่งอยู่ในห้องสมุดประชาชน และบางครั้งเป็นเวลาราชการแต่ไม่มีงานอะไรที่จะทำอยู่บนโต๊ะ ข้าราชการคนอื่นๆจะสนทนากันอย่างสนุกสนานและพักผ่อนไปในตัว แต่เอ็มเบ็ดก้าร์แม้จะมีการศึกษาสูงถึงปริญญาเอก ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมวงสนทนาเพราะการเป็นคนนอกวรรณะ
ไม่มีที่พักอาศัย

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าของห้องแถวพร้อมด้วยคนในวรรณะกลุ่มหนึ่งถืออาวุธ ตรูกันเข้ามาพบเอ็มเบ็ดก้าร์และถามว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน เอ็มเบ็ดก้าร์ตอบอย่างสุภาพว่าเขาเป็นฮินดู มาจากบอมเบย์ พวกนั้นโกรธและตะโกนบอกว่า “เอ็งโกหก พวกข้ารู้ดีว่า เอ็งเป็นคนนอกวรรณะ ก็ด้วยเหตุอันใดเอ็งจึงมาทำให้ห้องพักที่เขามีไว้ให้พวกวรรณะอื่นต้องสกปรกโสมมเล่า” แล้วบังคับให้เขาย้ายออกจากห้องพักโดยทันที ไม่เช่นนั้นก็จะเจ็บตัว เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ทำใจดีสู้เสือขอร้องอย่างสุภาพว่า ขอโอกาสให้เข้าได้เตรียมตัวหาที่อยู่ใหม่สัก ๘ ชั่วโมงเถิด แล้วเขาก็ออกไปร้องขอเช่าห้องพัก บ้านเช่าหลายแห่ง แต่ไร้ผล ทั้งๆที่เขาไม่ได้ขออยู่ฟรีๆ เขาจ่ายค่าเช่าเท่ากับคนอื่นๆ แต่พวกเจ้าของห้องเช่าเชื่ออย่างฝังหัวเสียแล้วว่าสิ่งที่คนนอกวรรณะแตะต้องล้วนเป็นของสกปรกอัปรีย์ ถึงเงินก็เป็นเงินไม่ดี ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครที่จะมีน้ำใจให้ที่พักพิงในเมืองแก่เขาได้ เอ็มเบ็ดก้าร์ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงมหาราชา พระองค์ได้ส่งเรื่องให้เทวัญ(ตำแหน่งคล้ายราชเลขาธิการ) พิจารณาโดยด่วน แต่เทวัญตอบว่า “เป็นเรื่องสุดวิสัยที่เขาจะช่วยเหลือได้” เขาทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้เลย

เอ็มเบ็ดก้าร์ผู้ทั้งหิวกระหาย เขาได้ไปนั่งใต้ร่มไม้และร้องไห้อย่างคับแค้นเศร้าใจในความอาภัพของตนเองที่เกิดมาเป็นลูกนอกวรรณะ ขณะนี้มีเพียงท้องฟ้าเป็นหลังคาพักพิง ผืนแผ่นดินคือพื้นบ้านสำหรับเขา ทั้งๆที่เขาเป็นคนได้รับการศึกษา หากว่าพระเจ้า(ศาสนาฮินดู)มีความเมตตาจริง ทำไมจึงสร้างบุคคลนอกวรรณะอย่างเขาให้เกิดมาต้องระทมทุกข์อันเกิดจากการกระทำของคนอื่นอย่างไร้มนุษยธรรมอย่างนี้

เมื่อเอ็มเบ็ดก้าร์ตกอยู่ในสภาพคนไร้ที่พึ่ง ชีวิตเต็มไปด้วยความขมขื่นและมืดมน เมื่อหาที่พำนักเพื่อทำงานชดใช้ทุนแก่ผู้มีพระคุณของเขาไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปเมืองบอมเบย์ เขาคิดไปตลอดทางว่า แม้สัตว์เดรัจฉานพวกฮินดูยังอนุญาตให้อยู่ในใต้ถุนบ้านของพวกเขาได้ ส่วนตัวเขาเองนั้นเป็นคนเหมือนกันแท้ๆ กลับถูกรังเกียจและกีดกันถึงขนาดนี้ ดังนั้นเขาจึงสภาพที่เลวกว่าสัตว์ดิรัจฉานในสายตาของชาวฮินดูผู้นับถือศาสนาเดียวกับเขา จะมีทางหรือไม่หนอที่ความเชื่อถืออย่างนี้จะหมดสิ้นไปจากจิตใจชาวอินเดีย เมือเขากลับถึงบอมเบย์ในกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๐ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้พยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะหาที่พำนักในเมืองบาโรด้า เพื่อที่จะได้ทำงานให้ครบตามสัญญา เขาเข้าพบกับนักสังคมสงเคราะห์ท่านหนึ่งชื่อ เคลลัสก้าร์ (Mr.Keluskar) เพื่อให้ช่วยติดต่อหาที่พักในเมืองบาโรด้าให้เขา ท่านผู้นี้ก็ได้ช่วยเหลือจริง โดยติดต่อไปยังศาสตราจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยบาโรด้า ขอร้องให้กรุณารับเอ็มเบ็ดก้าร์ไว้ในชายคาของเขาด้วย โดยเอ็มเบ็ดก้าร์จะจ่ายค่าเช่าให้เป็นรายเดือน ศาสตราจารย์ผู้นี้ตกลงจะรับเขาไว้ให้อาศัยอยู่ด้วย เอ็มเบ็ดก้าร์จึงเดินทางไปบาโรด้าอีกครั้ง

แต่พอไปถึงสถานีรถไฟบาโรด้า เวรกรรมก็ยังไม่สิ้นสุด เขาได้รับแจ้งว่าศาสตราจารย์ผู้นั้นได้เปลี่ยนใจเสียแล้ว ขอร้องเอ็มเบ็ดก้าร์อย่าได้ไปสู่บ้านเขาเลย เหตุผลก็คือภรรยาของเขาเป็นคนหัวเก่า พอได้ทราบว่าสามีจะรับคนนอกวรรณะเข้ามาในชายคาบ้าน เธอก็รู้สึกแทบจะสิ้นสติ เนื้อตัวสั่นเหมือนว่าแสงเทียนต้องลมจะดับลงให้ได้ฉะนั้น เอ็ดเบ็ดก้าร์จึงต้องเดินทางกลับบอมเบย์ เขาได้อำลาดินแดนแห่งผู้มีพระคุณของเขาด้วยความขมขื่นยิ่ง พอกันเสียทีบาโรด้าเมืองที่เขาได้พบแต่สายตาอันเต็มไปด้วยความโหดร้ายและน้ำใจอันเต็มไปด้วยความจงเกลียดจงชัง แต่พระคุณอันล้นเหลือของมหาราชา ยังฝังอยู่ในส่วนลึกแห่งดวงจิตอันเต็มไปด้วยความกตัญญูของลูกนอกวรรณะผู้นี้มิมีวันจะเลือนลางไปได้เลย

เมื่อกลับมาถึงบอมเบย์ได้ไม่นานนัก เขาก็ต้องประสบความเศร้าสลดอีกครั้ง เมื่อแม่เลี้ยงของเขาได้ล้มป่วยลงอย่างหนัก และได้ถึงแก่กรรมในอีกไม่กี่วันต่อมา เอ็มเบ็ดก้าร์ได้จัดงานศพให้เป็นไปตามประเพณีให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ในขณะนั้น

No comments: