Friday, February 16, 2007

บทความที่ ๕๔. การปฏิวัตินิคารากัวบทเรียนที่ผู้นำทั่วโลกต้องจดจำ

นิคารากัว ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ


“รัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติขอประกาศว่า บัดนี้ระบอบเผด็จการโซโมซา ที่ได้เถลิงอำนาจมาเป็นเวลา ๔๕ ปี ได้พังทลายลงแล้วโดยสิ้นเชิง”
แถลงการณ์ของรัฐบาลปฏิวัตินิคารากัว กระจายเสียงทางวิทยุของขบวนการปลดปล่อยซันดินนิสต้า ก้องกระหึ่มไปทั่วท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้อง และการร้องรำทำเพลงไปตามท้องถนน ของประชาชนนิคารากัวตามเมืองต่างๆ

ข้อเรียกร้อง

“นับตั้งแต่ความพยายามครั้งสุดท้ายของจอมเผด็จการโซโมซา กองทหารพิทักษ์ชาติซึ่งแรกทีเดียวได้รับใช้โซโมซา ต่อมาก็รับใช้เออร์คิวโย ได้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นรัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติขอประกาศเรียกร้องดังนี้... ขบวนการปลดปล่อยซันดินิสต้าได้ประกาศว่าพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมีชัยในการรบ และจะพิทักษ์ชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้สืบไป ซึ่งเพื่อที่จะให้สอดคล้องกัน รัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติขอให้ประชาชนนิคารากัวทุกคน เคารพในเอกสิทธิ์ของสถานทูตนานาประเทศ”

“ในเวลาเดียวกัน ขบวนการซันดินิสต้าก็ได้ยืนยันในข้อตกลงว่า ทหารทุกคนสามารถจะเข้าอาศัยโบสถ์ในทางศาสนาทุกแห่งในประเทศนี้ เป็นที่ลี้ภัยทั้งนี้โดยต้องวางอาวุธเสียก่อน

“เราขอเรียกร้อง ให้ประชาชนนิคารากัวทุกคนปฏิบัติตามหลักการนี้ และฉลองชัยชนะที่ได้มาจากการโค่นล้มโซโมซาและสมุนได้สำเร็จ... ท้ายที่สุดเราขอเรียกร้องให้ประชาชนนิคารากัวอยู่ในความสงบและคอยฟังคำสั่งต่อไปของรัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติ ในชั่วโมงแห่งเสรีภาพนี้ ในอันที่จะได้ช่วยกันฟื้นฟูบูรณะประเทศต่อไป”

กว่าจะมาเป็นชัยชนะ


จอมเผด็จการโซโมซาปกครองนิคารากัวมาด้วยกฏเหล็กของเผด็จการ มีลักษณะการสืบทอดอำนาจนำนองราชสกุล จับผู้มีความคิดทางการเมืองตรงข้าม ปราบปรามประชาชนอย่างทารุณ มาเป็นเวลาถึง ๔๒ ปี กว่าที่จะมายกก้อนหินทุ่มขาตัวเอง ด้วยการสั่งให้ฆ่าคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญ เป็นเหตุให้ประชาชนไม่พอใจ และประกายไฟก็ได้ไหม้ลามทุ่งนิคารากัวแต่นั้นมา

นายเปโดร จานควีน คามอร์โร คู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของประธานาธิบดีโซโมซา บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลาเบร็นซ่า หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้าน ถูกยิงเสียชีวิตกลางถนนเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๒ คนร้ายที่ถกจับกุมให้การซัดทอดว่า ได้รับการว่าจ้างจากผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีโซโมซา ซึ่งคือการได้รับการว่าจ้างจากปธน.โซโมซานั่นเอง

จากวินาทีนั้น ประชาชนนิคารากัวทุกวงการไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนาหรือนายทุนน้อยต่างพากันลุกขึ้นประท้วงและต่อสู้อย่างไม่ขาดสาย การสไตร๊ค์ การชุมนุมประท้วงโดยสงบถูกโซโมซาใช้ทหารพิทักษ์แห่งชาติที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ไปก่อตั้งให้ หลังจากที่ส่งนาวิกโยธินบุกยึดนิคารากัวเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ปราบปรามอย่างรุนแรง กระนั้นก็ตาม ประชาชนทุกวงการต่างได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างกล้าหาญเสียสละ ไม่กลัวตาย ทุกคนเรียกร้องให้โซโมซาลาออกจากตำแหน่ง

ต่อมา เมื่อประชาชนไม่อาจจำทนกับการถูกใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมปราบปรามอย่างป่าเถื่อนอยู่ได้ ประชาชนนิคารากัวก็ได้พัฒนาการต่อสู้ของตนไปอีกขั้นหนึ่ง จึงในวันที่ ๒๒ สิงหาคมปีเดียวกัน ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติซันดินิสต้า ซึ่งได้นำประชาชนต่อส้กับโซโมซามานานถึง ๒๐ ปี ก็ได้บุกเข้ายึดตึกที่ทำการรัฐสภา พร้อมกับจับตัวประกันไว้ว่า ๑,๐๐๐ คนเรียกร้องให้โซโมซาปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ จนหลังจากการยึดตึกรัฐสภาไว้เป็นเวลา ๒ วัน โซโมซาจำต้องยอมตาม ประชาชนนิคารากัวต่างยินดีในชัยชนะครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

ต่อจากนั้น การต่อสู้กับประธานาธิบดีโซโมซาก็ยิ่งขยายออกไปในทุกปริมณฑล ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ซึ่งแม้จะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตไป เท่าที่ประมาณกันไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ คน แต่ประชาชนหาได้หยุดยั้ง ยอมแพ้แต่อย่างใดไม่ การต่อสู้นี้มารุนแรงที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยซันดินิสต้าสามารถยึดเมืองต่างๆ ได้ถึง ๒๖ เมือง จนรุกมาถึงมานากัวเมืองหลวง และประกาศจัดตั้งรัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติขึ้น

โซโมซาลี้ภัยไปสหรัฐฯ เออร์คิวโย ประธานาธิบดีชั่วคราว สมุนของโซโมซาก็ต้องหอบกระเป๋าขึ้นเครื่องบินตามไปอีกคน หลังจากดื้อรั้นอยู่พักหนึ่ง

ท่ามกลางการต่อสู้อย่างวีระอาจหาญของประชาชนนิคารากัว ประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะประชาชนในลาตินอเมริกา ต่างหนุนช่วยในทางสากลอย่างแข็งขัน ผู้นำขององค์การแห่งรัฐอเมริกาส่วนข้างมาก ได้พยายามหาหนทางให้โซโมซาลาออก แต่โซโมซาก็ดื้อรั้นตลอดมา ทั้งนี้ด้วยแรงหนุนช่วยจากสหรัฐอเมริกาที่มีผลประโยชน์มหาศาลในนิคารากัว ตั้งแต่แรกเริ่มของการมีประเทศ

แต่เนื่องจากกว่าสหรัฐฯ ไม่อาจจะถูกประณามว่าสนับสนุนระบอบเผด็จการอยู่ได้ ทั้งที่ได้พร่ำเพ้ออยู่ตลอดเวลาถึงนโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชน ประกอบกันกับที่ถูกแรงบีบจากสมาชิกองค์การแห่งรัฐอเมริกาส่วนข้างมาก กับถูกจับตามองโดยประชาชนทั่วทั้งโลก ถึงที่สุดแล้วสหรัฐฯจึงจำเป็นต้องยกเลิกการช่วยเหลือโซโมซาแต่ทั้งนี้ก็ในบั้นปลายของเหตุการณ์ ที่สหรัฐฯไม่อาจจะประวิงเวลาโซโมซาให้อยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไปแล้ว

เงื่อนไขของสหรัฐ

ตามประสาจักรวรรดินิยม สหรัฐฯไม่ได้คิดว่า จะยอมตามขบวนการปลดปล่อยซันดินิสต้าอย่างง่ายดายหากเมื่อแรกได้เสนอให้มีการเจรจาระหว่างซันดินิสต้ากับโซโมซาเสียก่อน เพื่อว่าอาจบางทีโซโมซาจะได้ไม่ต้องหลุดจากอำนาจไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ซันดินิสต้าและองค์การแห่งรัฐอเมริกาไม่เอาด้วย ต่อมาสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกอื่นจึงหันไปเห็นด้วยกับซันดินิสต้า

“ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้พบพวกท่านในนิคารากัวในเร็ววัน” วิลเลี่ยม โบวเดล่อร์ ทูตพิเศษของสหรัฐผู้รับหน้าที่ให้จัดการเรื่องนี้ กล่าวกับผู้นำของซันดินิสต้า

สำหรับเงื่อนไขในการที่สหรัฐฯ จะรับรองซันดินิสต้า และเลิกสนับสนุนโซโมซานั้น รายงานข่าวระบุว่า สหรัฐเสนอให้มีการจัดตั้งรัฐมนตรีเพิ่มโดยให้ซันดินิสต้ายอมให้ผู้นำสายกลางขึ้นมาอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย พร้อมกันก็ให้มีการรับประกัน เป็นคำมั่นสัญญาไว้ด้วยว่า รัฐบาลใหม่ของนิคารากัวจะไม่ทำลายระบบกรรมสิทธิเอกชน ยอมให้มีการลงทุนจากเอกชน และให้มีการประกันสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย กล่าวอย่างถึงที่สุด ข้อเสนอนี้ของสหรัฐฯก็คือ ข้อเสนอเพื่อให้ประกันหลักทรัพย์และความมั่นคงของระบบขูดรีดของสหรัฐ ที่ดำรงอยู่ในนิคารากัวนั่นเอง

รายงานข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่ซันดินิสต้ายอมผ่อนปรนให้ในระดับหนึ่ง เป็นเพราะกลัวการแทรกแซงทางทหารจากสหรัฐซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก

“เราต้องการจะย้ำว่า รัฐบาลใหม่จะเคารพในวิสาหกิจเอกชน แต่รัฐก็จะมีบทบาทอยู่บ้าง” แถลงการณ์ของรัฐบาลฟื้นฟู้แห่งชาติระบุ

อนาคตของนิคารากัว

รัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติของนิคารากัว จะเป็นรัฐบาลที่เป็นแนวร่วมจากบุคคลหลายฝ่าย ที่ได้ดำเนินการต่อสู้มาด้วยกัน ทั้งนี้จะมีนโยบายฟื้นฟูประเทศสายกลางซึ่งเท่าที่มีรายงานข่าว กล่าวกันว่ารัฐบาลฟื้นฟูแห่งชาติจะยังคงอาศัยการกู้ยืมจากต่างชาติ มาบูรณะประเทศที่ถูกพิษภัย จากการทำลายล้างของโซโมซากับจะได้มีการจัดระบอบกองทหารพิทักษ์ชาติใหม่ นอกจากนั้น ก็จะประกาศนโยบายเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ที่มีลักษณะเป็นการประนีประนอมระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนกับผลประโยชน์ของวิสาหกิจเอกชน ส่วนว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนนั้น ในชั้นนี้ไม่มีข้อวิจารณ์

การประกันชัยชนะ ของประชาชนในลาตินอเมริกาเป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะแนวโน้มที่สหรัฐจะแทรกแซงทางทหารมีอย่างมาก ในยามใดก็ตามที่สหรัฐฯซึ่งมีผลประโยชน์อยู่มหาศาล ในดินแดนแห่งนั้นรู้สึกว่ากำลังถูกกระทบกระเทือน กระนั้นก็ดี แนวโน้มที่สหรัฐฯจะวางอำนาจบาตรใหญ่ ได้มีน้อยลงทุกทีแล้ว ประชาชนทั้งในลาตินอเมริกากับประชาชนทั่วโลกต่างไม่มีวันที่จะยอมศิโรราบอย่างง่ายดายอีกต่อไป.



เรียบเรียงจาก หนังสือ มาตุภูมิฉบับ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๒

No comments: