Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๑๖. ท่านปรีดีกับสถาบัน ตอนที่๑

ท่านปรีดีกับสถาบัน (๑)

ถวายความจงรักภักดี

เมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ลาออกจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติและประกาศลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ ให้ท่านปรีดีฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และในวันนั้นเองท่านได้ลงนามในพระปรมาภิไธย แต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ลาออกไปเพราะแพ้มติในสภาฯ เรื่องพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพ็ชรบูรณ์ และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล


เพื่อสร้างความปรองดองทางการเมืองระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้าศักดินา ท่านปรีดีฯ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้มอบหมายให้นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งร่วมงานเสรีภทยอยู่กับท่านและมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี อยู่ในรัฐบาลนายควงฯ ดำเนินการปลดปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชบริพารในระบอบเก่าหลายคน

ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ฯ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

"นายควง อภัยวงศ์ ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีหลายนาย และโดยเฉพาะนายทวี บุณยเกตุ เข้าร่วมด้วยตามที่นายควงฯ ได้ตกลงกับข้าพเจ้าไว้ คือนอกจากนายทวีฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการ ในสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย โดยมีหน้าที่ดำเนินงานของ คณะรัฐมนตรีอยู่เบื้องหลังนายควงฯ กิจการใดอันเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งนายทวีฯ เป็นผู้บัญชาการพลพรรคในประเทศไทยนั้น ถ้าจะต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอย่างใดแล้ว นายควงฯ ก็อนุญาตตามที่ตกลงกันไว้ก่อนว่าให้นายทวีฯ ปรึกษาตกลงกับข้าพเจ้าโดยตรง โดยนายควงฯ ไม่ขอรับรู้ด้วย นอกจากที่จะต้องทำเป็นกฎหมาย หรือแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร

"ดังนั้น มีหลายเรื่องที่นายทวีฯ ได้ปรึกษาข้าพเจ้าจัดทำขึ้นก่อนแล้วจึงแจ้งให้นายควงฯ รับไปปฏิบัติการ อาทิ การประกาศพระบรมราชโองการ ว่าการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะนั้น นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังปรากฏข้อเท็จจริงในราชกิจจานุเบกษา ไม่ใช่นายควงฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

"การอภัยโทษและนิรโทษกรรม ผู้ต้องหาทางการเมืองนั้น นายทวีฯ ก็เป็นหัวแรงสำคัญ ในการร่างกฎหมายอภัยโทษและนิรโทษกรรม เพราะแม้ข้าพเจ้าแจ้งแก่สัมพันธมิตรไว้ก่อนว่า เพื่อความสามัคคีของคนไทย ที่มีอุดมคติตรงกันในการต่อสู้กับญี่ปุ่น ให้ได้รับอภัยโทษและนิรโทษกรรมตามที่ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ได้ทรงปรารภมานั้น เวลาปฏิบัติเข้าจริงก็ยังไม่อาจทำได้ง่าย ๆ เหมือนดังที่นายควงฯ พูดที่คุรุสภาว่า พอนายควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็สั่งปล่อยนักโทษการเมือง" (นายควง อภัยวงศ์ ไปแสดงปาฐกถาที่คุรุสภา เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ เรื่องชีวิตของท่าน ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่านายควงฯ พูดมุสาหลายเรื่องหรือเกินความเป็นจริง รวมทั้งเรื่องปลดปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งท่านอวดอ้างว่าพอท่านขึ้นเป็นนายก ก็สั่งปลดปล่อยนักโทษการเมืองทันที)

"จริงอยู่ นายควงฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ในการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ต้องทำความเข้ากับ พล ต.อ. อดุลฯ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นผู้สั่งจับผู้ต้องหาการเมือง ให้เขาเห็นความสมควรที่จะอภัยโทษและนิรโทษกรรม..."

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความของท่านเรื่อง "พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย" มีความตอนหนึ่งว่า

"ต่อมาท่านชิ้น (ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ) ได้ส่งโทรเลขของท่านเองมาอีกฉบับหนึ่ง ตรงถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขอบใจที่หัวหน้าเสรีไทยยินดีต้อนรับ และทรงแสดงเจตนาว่า จะร่วมงานด้วยความจริงใจ แต่ใคร่จะขอถามว่าเพื่อนฝูงของท่านชิ้นหลายท่านต้องโทษการเมือง อยู่ที่เกาะตารุเตาบ้าง บางขวางบ้างที่อื่น ๆ บ้างนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จะกระทำอย่างไร"

"หัวหน้าเสรีไทยตอนโทรเลขไปโดยฉับพลันว่า กรมขุนชัยนาทฯ และผู้อื่น ซึ่งต้องโทษทางการเมืองอยู่ที่ตะรุเตา และมิใช่จะปลดปล่อยอย่างเดียว จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย..."

และในที่สุดบรรดานักโทษการเมืองเหล่านั้น ก็ได้รับการนิรโทษกรรม ตามคำมั่นสัญญาที่ท่านปรีดีฯ ให้ไว้กับท่านนั้น และด้วยความสำนึกในบุญคุณท่านปรีดีฯ พระยาอุดมุพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว. ประยูร อิศรศักดิ์) นักโทษการเมืองผู้หนึ่ง ที่ได้รับนิรโทษกรรมครั้งนั้น จึงได้เขียนสักระวามอบแก่ท่านปรีดีฯ ในนามของนักโทษการเมืองที่ได้รับนิรโทษกรรม ความว่า
"สักระวารีเย่นต์เห็นเป็นธรรม
นิรกรรมผู้ต้องโทษโจทก์เท็จหา
ให้ไนทุกข์ทรมานกายวิญญา
หลุดออกมาจากคุกขุมอเวจีฯ"


ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงเมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ท่านปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งโทรเลขลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๘๘ อัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร ดังสำเนาโทรเลขต่อไปนี้

“วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
โลซานน์
ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้ง ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประกาศลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ นั้น บัดนี้ถึงวาระอันสมควร ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงปฏิบัติ พระราชภาระกิจในฐานะทรงเป็นพระประมุขของชาติ เพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ ๒๐ กันยายน ศกนี้แล้ว ฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้า จึงขอพระราชทานบรมราชานุญาต อัญเชิญเสด็จใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้ทรงปกครองแผ่นดิน ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของข้าพระพุทธเจ้าจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๐ กันยายน ศกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ณ โอกาสนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายปรีดี พนมยงค์”


ต่อโทรเลขกราบบังคมทูล อัญเชิญเสด็จนิวัติมหานครในหลวงอานันท์ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตอบให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทราบในสัปดาห์ต่อมาว่าดังนี้
"วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๘๗
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กรุงเทพฯ
ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขของท่าน ซึ่งได้ขอร้องข้าพเจ้าให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นห่วงเป็นใยต่อประเทศชาติ แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าจะเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น ถ้าข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสศึกษาให้จบเสียก่อน ข้าพเจ้าสอบไล่วิชากฎหมายปีที่ ๑ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้ว แต่ข้าพเจ้ายังจะต้องสอบในชั้นอื่น ๆ ที่ยากยิ่งขึ้น และจะต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่ง และหลังจากนั้น ข้าพเจ้าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อเตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเอก ข้าพเจ้าหวังว่าท่านคงเข้าใจ ในความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะศึกษาให้จบ ถ้าท่านและรัฐบาลเห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าก็ใคร่ที่จะกลับไปเยี่ยมบ้าน สักครั้งหนึ่งก่อนที่ข้าพเจ้าจะสำเร็จการศึกษา ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านอย่างจริงใจ ข้าพเจ้า ซาบซึ้งในผลงาน ที่ท่านได้กระทำ ด้วยความยากลำบาก และที่ท่านกำลังกระทำอยู่ ในนามของข้าพเจ้า
อานันทมหิดล"

ต่อพระราชโทรเลขข้างต้น ท่านปรีดีฯ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ด้วยข้อความดังนี้
"ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชโทรเลขลงวันที่ ๑๔ กันยายน ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ของข้าพระพุทธเจ้า และรัฐบาลของ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รัฐบาลและข้าพระพุทธเจ้า มีความปลื้มปิติเป็นอย่างมาก ที่ได้ทราบว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะ เสด็จนิวัติพระนคร สักครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะทรงจบการศึกษา บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เหตุการณ์ต่าง ๆ (เกี่ยวกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า การเสด็จนิวัติของ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะเป็นคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติ เป็นอเนกประการ ถึงแม้ว่าพระองค์ จะประทับอยู่ในประเทศไทย เป็นเพียงระยะเวลาอันสั้นก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะได้ทรงมีส่วนร่วม ได้ตัดสินพระทัยในเรื่องต่าง ๆ อันสำคัญยิ่ง ดังได้กราบถวายบังคมทูล ให้ทรงทราบข้างต้นแล้ว"

หลังจากที่ในหลวงอานันท์ฯ ทรงรับโทรเลขกราบบังคมทูล ตอบพระราชโทรเลขฉบับลงวันที่ ๑๔ กันยายน ของท่านปรีดีฯ แล้ว พระองค์ได้ทรงมีโทรเลขถึงท่านปรีดีฯ มีข้อความสั้น ๆ ว่า พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่าท่านปรีดีฯ และรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างยุติธรรมและเป็นผลดียิ่ง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า การที่พระองค์ประทับอยู่ในประเทศไทยก็คงไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เพราะพระองค์ทรงไม่มีประสบการณ์ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในที่สุดว่า "ถ้าท่านเห็นว่าข้าพเจ้าควรจะกลับไปเยี่ยมประเทศไทยชั่วคราว ข้าพเจ้าก็ยินดีรับคำเชิญของท่าน"

ในที่สุดในหลวงอานันท์ฯ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามขณะนั้นก็ได้เสด็จนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร โดยเครื่องบินพระที่นั่งที่รัฐบาลอังกฤษจัดถวาย มาถึงสนามบินดอนเมือง ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ และ ณ ที่นั้น นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช คณะรัฐมนตรีและประชาชนไปเฝ้ารับเสด็จอย่างล้นหลาม

จากสนามบินดอนเมือง ได้ประทับรถไฟพระที่นั่งมาถึงสถานีรถไฟสวนจิตรลดา และ ณ ที่นั้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้เฝ้าคอยรับเสด็จ ทันทีที่พระองค์เสด็จลงจากรถไฟพระที่นั่งสู่สถานีจิตรลดาแล้ว ท่านปรีดีฯ ได้เฝ้ากราบถวายบังคมทูลพระกรุณา ดังนี้

"ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
บัดนี้เป็นศุภวาระดิถีมงคลที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติสู่มหานครโดยสวัสดิภาพ ข้าพระพุทธเจ้าของพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา โดยอาศัยประกาศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๘๘ ว่า ความเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของข้าพระพุทธเจ้าได้สิ้นสุดลงตั้นแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรชัยให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จอยู่ในราชสมบัติวัฒนาสถาพร เป็นมิ่งขวัญของประชาชน และประเทศชาติในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ขอเดชะ"

แล้วทรงพระราชดำรัสตอบจากน้ำพระทัย อันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและชื่นชมโสมนัส ดังนี้
"ท่านปรีดี พนมยงค์
ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนคร เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจตามหน้าที่ ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้"

เพื่อเชิดชูยกย่องคุณงามความดีของท่านปรีดีฯ ให้ปรากฏแก่โลก ต่อมาอีกสามวัน คือ ในวันที่ ๘ ธันวาคม พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้ประกาศยกย่องท่านปรีดีฯ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ดังคำประกาศพระบรมราชโองการต่อไปนี้

"ประกาศ
อานันทมหิดล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบ จากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฏว่าตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ในความปรีชาสามารถบำเพ็ญคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ
จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี"

No comments: