Monday, February 12, 2007

บทความที่ ๔๒. การต่อสู้ของชาวเวียดนาม

เรียนรู้เพื่อนบ้าน-การต่อสู้ของชาวเวียดนาม


โดมิโน

เมื่อไซง่อนและพนมเปญแตกในวันสุดท้ายของเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ คำถามที่คนไทยในอเมริกามักจะถูกถามก็คือ “เชื่อในทฤษฎีโดมิโนไหม ?” ทฤษฎีโดมิโนเกิดจากคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีไอเซนฮาวเออร์ตั้งขึ้น โดยเชื่อว่าการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ประเทศหนึ่งล้มเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว จะล้มประเทศใกล้เคียงไปด้วย เหมือนตัวโดมิโนที่ตั้งเรียงกันไว้ หากตัวหนึ่งล้มลงก็จะกระทบไปถึงตัวอื่นและตัวต่อๆไป

ด้วยทฤษฎีโดมิโนนี้เองทำให้รัฐบาลอเมริกันใช้เป็นข้ออ้างเพื่อระงับไม่ให้ประเทศในอินโดจีนกลาย เป็นคอมมิวนิสต์เหมือนอย่างจีน อเมริกาจึงส่งกำลังพลนับแสนคนเข้ามายังอินโดจีน ทำให้ประเทศประชาชนในเวียดนาม กัมพูชา ลาว ต้องตกอยู่ในภาวะแตกกระซาน ซ่านเซน

ประเทศไทยในขณะนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ดำเนินนโยบายชักศึกเข้าบ้าน ส่งหน่วยทหารไปร่วมรบกับอเมริกันในสงครามรุกรานประเทศเวียดนามและอนุญาตให้อเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพรวม ๗ แห่งในประเทศไทย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้ข้อสรุปในประเด็นนี้อย่างน่าฟังว่า ทหารไทยและกองทัพไทยในอดีตถูกมหาอำนาจ “หลอกใช้” ให้เข่นฆ่าพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง...”อดีตเกือบจะเอาบ้านเอาเมืองอยู่ไม่รอดเพราะอวิชชาคือความไม่รู้จริงในสิ่งที่ไปต่อสู้นั้น คือไม่รู้ความจริงที่สหรัฐบอกให้เรา เพราะเราถูกสั่งให้ยิงเวียดกง หากทำลายทหารเวียดกงไม่ได้ ก็ต้องทำลายประชาชนเวียดกงที่บริสุทธิ์ ผลของภารกิจแทนที่จะทำลายศัตรู กลับเป็นการสร้างศัตรูขึ้นมาเพิ่ม ทำลายศัตรูแค่สิบคนแต่สร้างศัตรูเพิ่มขึ้นอีกร้อยคนพันคน อยากจะเรียนว่านั่นคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ (ประชา หริรักษาพิทักษ์ : “จิ๋วย้อนอดีตฯ” มติชนรายสัปดาห์ วันที่ ๒๙ ก.ค.-๔ ส.ค. ๒๕๔๕ ฉบับที่ ๑๑๔๕) นับว่าเป็นคำสรุปที่กล้าหาญ จริงใจและก็ตรงกับความจริงด้วย

ต่อมาอีก ๓ เดือนหลังไซ่ง่อนแตก คือในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๘ ประธานาธิบดีเจอรัล ฟอร์ดได้ประกาศเป็นทางการว่า การพัวพันของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามยุติลงแล้ว นักข่าวได้ถามท่าประธานาธิบดีว่าสหรัฐฯ เรียนรู้อะไรจากเวียดนามบ้าง

ประธานาธิบดีตอบว่า “ใช่แล้ว เราเรียนรู้ รัฐสภาเรียนรู้ ประธานาธิบดีเรียนรู้ และประชาชนชาวอเมริกันเรียนรู้ แต่สิ่งที่เราเพ่งเล็งในปัจจุบันคืออนาคต” เขาทิ้งท้ายไว้เท่านั้นอันเป็นคำตอบที่ปัดคำถาม และเป็นคำถามที่ผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ ไม่อยากตอบ

นักล่าเมืองขึ้น

สถานการณ์ในอินโดจีน และสงครามเวียดนามมีสาเหตุมาจากการถืออำนาจบาตรใหญ่และการแทรกแซงจากมหาอำนาจเป็นเบื้องแรก

ยุคล่าอาณานิคม นักล่าเมืองขึ้นชาวฝรั่งเศสได้ล่าเมืองขึ้นในเอเซีย ตังแต่อินเดียไปทางตะวันออกจนสุดขอบมหาสมุทรแปซิฟิค และตั้งแต่ไซบีเรียลงไปจนถึงเกาะต่างๆ ใต้เส้นศูนย์สูตร ชาวพื้นเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศต้องกลายเป็นคนชั้นรองต่อฝรั่งมังค่าผู้มีและใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีกว่า

ทวีปเอเซียที่กว้างใหญ่กว่าทวีปอื่นใด ได้ถูกล่าไปเป็นเมืองขึ้นเกือบหมดสิ้น เหลือญี่ปุ่น จีน และไทยเท่านั้นที่รอดพ้นไปได้ โดยต้องแลกเปลี่ยนด้วยดินแดนหรือให้สิทธิแก่นักล่าเมืองขึ้นเป็นสิ่งตอบแทน

นักล่าเมืองขึ้นในเอเชีย เป็นฝรั่งทุกชาติ มีฝรั่งที่ไม่ได้ล่าอาณานิคมในเอเชียได้แก่อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี เท่านั้น พวกฮอลลันดายึดครองหมู่เกาะอีสต์อินดีส์ หรืออินโดนีเซีย อังกฤษเอาอินเดีย พม่า แหลมมลายู และเกาะอีกหลายแห่ง ฝรั่งเศสเก็บเอาอินโดจีนทั้งหมด สเปนได้ฟิลิปปินส์ที่ต่อมาต้องตกไปอยู่ในเงื้อมมือของสหรัฐอเมริกา รัสเซียได้แผ่นเข้ามาในไซบีเรียและลุ่มน้ำมังกรดำของจีนรวมทั้งมงโกลเลียนอก โปรตุเกสและเยอรมนีต่างก็พยายามยึดครองดินแดนชิ้นเล็กๆของจีน และเกาะบางแห่งจนถึงนักล่าเมืองขึ้นรายสุดท้ายในยุคนั้น ไม่ใช่ฝรั่งผิวขาวคนไกล แต่เป็นคนผิวเหลืองชาวเอเชียด้วยกันเอง- ญี่ปุ่น

จุดอ่อนในการถูกล่าเป็นเมืองขึ้นของเอเชียอยู่ที่ภูมิศาสตร์อันแบ่งทวีปออกเป็นส่วนๆ หรือเกาะเล็กเกาะน้อย ประการสำคัญคือ ก่อนที่ชาติตะวันตกจะเข้าล่าอาณานิคม ชนชั้นปกครองในแต่ละชาติก็มีการแก่งแย่งอำนาจ อิจฉาริษยากันเป็นพื้นอยู่เดิมแล้ว นิสัยนี้เป็นนิสัยประจำของคนเอเชียมาจนถึงทุกวันนี้ !!

เมื่อชาวตะวันตกบุกเข้ามา จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะจับนิสัยอัปรีย์นี้ของคนเอเชียได้ จึงหลอกล่อ สนับสนุนอาวุธให้กับชนชั้นผู้นำหรือขุนศึกกลุ่มหนึ่งให้ทำสงครามกับขุนศึกอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วตนเองก็นั่งเก็บผลโยชน์จากการขายอาวุธ อินเดียเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในสิ่งที่กล่าวนี้ เพราะแต่เดิม พวกเจ้าราชาของอินเดียก็มีการรบพุ่ง ชิงอำนาจกันอยู่แล้ว เมื่ออังกฤษเข้าไปตั้งบริษัทอีสอินเดียได้ไม่นาน ฝรั่งเศสก็ตามไปตั้งบริษัทด้วย และเมื่อขัดผลประโยชน์กันก็เข้าถือหางฝ่ายเจ้าราชาคนละฝ่ายและขายอาวุธให้ไปรบกันเอง จนพ่อค้าอาวุธร่ำรวย เมื่อเจ้าราชาไม่มีทรัพย์จะซื้อ ก็ยอมแลกด้วยผลประโยชน์ในดินแดนที่ตนเองเป็นเจ้าอยู่ และก็อย่างที่รู้กันว่า อังกฤษรบชนะฝรั่งเศสและครองอินเดียแต่ผู้เดียว

ลุงโฮฯ

ความคิดในการปลดแอกจากการถูกปกครองของนักล่าอาณานิคม ย่อมเกิดขึ้นแก่บรรดาชาวพื้นเมืองผู้รักอิสระเสรี สำหรับเวียดนามนายพลโวเหงียนเกี๊ยพ รัฐมนตรีกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและสมาชิกสภาการเมืองกลางของเวียดนามเหนือ ได้กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงเป็นภาษาญวน เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๐.๓๐ กรีนิซ เขาได้สรรเสริญโฮจิมินห์ ความตอนหนึ่งว่า

“ในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ชายหนุ่มญวนผู้รักชาติอย่างแรงกล้าผู้หนึ่งได้พบแสงสว่างรำไรเป็นครั้งแรกในการกู้ชาติ และชาวญวนยุคใหม่ของมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้วด้วยการปฏิวัติตุลาคมของนักสังคมนิยมชาวรัสเซีย

เหงียนอายก๊อก ผู้ต้องตกเป็นพลเมืองของประเทศราชได้พบว่า วิถีทางสมัยใหม่ที่จะช่วยขาติให้พ้นมือทรราช ก็คือ การปฏิวัติของกรรมาชีพและลัทธิเลนิน การต่อสู้ด้วยการปฏิวัติอันยาวนานกว่า ๔๐ ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีทางที่เขาเลือกไว้นั้นเป็นวิถีทางเดียวที่ถูกต้องอันจะสามารถบรรลุอิสรภาพ เสรีภาพและความผาสุกอย่างแท้จริง วิถีทางนี้ยังเป็นหนทางเดียวในการปลดแอกชาติต่างๆ นับไม่ถ้วนที่ยังตกอยู่ในเงื้อมมือของอาณานิคมและจักรวรรดินิยมอีกด้วย

ลุงโฮ เป็นผู้รักชาติผู้ยิ่งใหญ่ ความรักชาติและพลเมืองของลุงโฮลึกซึ้งและไพศาลสุดประมาณ ท่านได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดในการปลดแอกชาติและประชาชน ท่านเป็นชาวคอมมิวนิสต์ญวนคนแรก...

ด้วยสำนึกจากตัวอย่างของลุงโฮผู้ยิ่งใหญ่ ชาวญวนรุ่นนี้จะดำรงเจตนารมณ์ของท่านอันเป็นเจตนารมณ์ของพรรคด้วยเช่นกันต่อไป ในการเสริมสร้างเวียดนามที่สงบสุข เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นอิสระ เป็นประชาธิปไตย และเป็นชาติที่ไพบูลย์สถาพร กับทั้งสนับสนุนกระตุ้นเตือนต่อการปฏิวัติของโลก..”

จะเห็นได้ว่าชาวเวียดนามได้ร่วมจิตร่วมใจกันปลดแอกจากฝรั่งเศสได้สำเร็จในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้ผู้นำอย่างโฮจิมินห์ผู้รักชาติบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงครามโลก จะยอมยกดินแดนที่ตนยึดครองให้หลุดมือไป แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกชัยชนะของชาวเวียดนามในสงครามที่เดียนเบียนฟู ขับไล่ฝรั่งเศสพ้นประเทศและสถาปนาตนเองเป็นเอกราช แต่ความสงบก็อยู่ได้เพียงไม่กี่ปี เพราะไม่นานหลังจากฝรั่งเศสเก็บกระเป๋ากล้บบ้าน ลุงแซมจอมลวงโลกก็ก้าวเข้ามารุกรานจนเกิดเป็นสงครามยืดเยื้อเป็นสิบปี

ไม่ง่ายเลยที่ประเทศเล็กๆประเทศหนึ่งจะสามารถต่อสู้เพื่อปกป้องเอกราชของชาติเขาไว้ได้ถึงสองครั้งสองคราติดๆกัน และชาติที่เขาต่อสู้ด้วยก็เป็นมหาอำนาจทั้งนั้น

จุดประสงค์ของการศึกษาการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติอื่น ไม่ใช่เพื่อเอาอย่างเพราะเหตุปัจจัยของแต่ละประเทศต่างกันไป รวมถึงนิสัยของคนในชาตินั้นก็ต่างกันไป แต่สิ่งที่สำคัญในการศึกษาการต่อสู้ของชาวเวียดนามก็คือ เขามีน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมรบกับศัตรูต่างชาติ

เมื่อมองกลับมาในประเทศไทย ชาติไทยมีการร่วมใจกับรบอย่างที่เรียกว่าเอาชาติเป็นเดิมพันก็ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นโดย กองทัพใต้ดินของประชาชนทั้งชาติที่ชื่อว่า “เสรีไทย” จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทยผู้เสียสละ และจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และไทยก็รอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น

จากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมาก็ ๖๒ ปีแล้ว ที่คนไทยทั้งชาติไม่เคยได้สามัคคีต่อสุ้กับศัตรูอีกเลย เราส่งทหารไปร่วมรบกับเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพราะเพื่อนอย่างอเมริกากระซิบว่าเชื้อคอมมิวนิสต์จะระบาดเข้ามายังไทย สงครามที่เรารบกับเพื่อนบ้านก็ได้กลายมาก็เป็นสงครามกลางเมืองของไทยคือสงครามที่รัฐต่อสู้กับประชาชนที่หนีเข้าป่าเพราะถูกไล่ล่า ใส่ร้าย ประชาชนเหล่านั้นจึงจับอาวุธขึ้นสู้และถูกประทับตราว่าเป็น คอมมิวนิสต์ สงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ยืดเยื้ออยู่ถึง ๑๘ ปี จนยุติลงอย่างราบคาบด้วยแผน ๖๖/๒๓

บัดนี้คนไทยหลงลืมความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ในอดีตไปเสียสิ้น บัดนี้คนไทยมึนงงสับสนว่าต่อไปนี้เขาจะเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ประเทศเท่านั้น เขาทั้งหลายจะไม่มีสิทธิในการเรียกร้องอะไร เพราะสิทธิที่เขาจะมีนั้นจะมีคนชั้นบนคิดให้ วางบทให้พวกเขาทั้งหลายทำตาม ในขณะที่ประเทศอย่างเวียดนามย่อยยับจากสงครามครั้งใหญ่เมื่อ ๓๒ ปีที่แล้วเขากลับสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของเขากลับคืนมาและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เราล่ะ ประเทศที่ไม่แพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ เรามีมหามิตรอย่างอเมริกา เราส่งทหารไปฆ่าเพื่อนบ้านของเรา

บัดนี้ ๓๒ ปีหลังไซ่ง่อนแตก เราก็กำลังมุ่งไปอย่างรวดเร็วในทิศทางที่ถอยหลังต่อความเจริญของชาติ !!!

No comments: