Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๑๙. วันอัปยศของสยาม ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

ต่อมาในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ ท่านปรีดีฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "หลวงธำรงฯ" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมาและได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการศาลกลางเมือง (ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลท่านปรีดีฯ) ที่เสนอต่อรัฐบาลเมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๔๘๙ ซึ่งมีสาระสรุปไว้ตอนปลายของรายงานฉบับนั้น ดังนี้

"...คณะกรรมการได้ประมวลสอบสวนเข้าทั้งหมด ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนไว้เดิมและที่สอบสวนโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนและเมื่อได้พิจารณาถึงคำพยานบุคคล วัตถุพยานและเหตุผลแวดล้อมกรณีต่าง ๆ ทุกแง่ทุกมุมโดยรอบด้านดังกล่าวมาแต่ต้นแล้ว คณะกรรมการเห็นว่า ในกรณีอันจะพึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตได้นั้น สำหรับกรณีอุบัติเหตุ คณะกรรมการมองไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย ส่วนอีกสองกรณีคือถูกลอบปลงพระชนม์และทรงปลงพระชนม์เองนั้น การถูกลอบปลงพระชนม์ไม่มีหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียโดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่ ส่วนในกรณีปลงพระชนม์เองนั้น ลักษณะของบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้ แต่ไม่ปรารฏเหตุผลหรือหลักฐานอย่างใดว่าได้เป็นไปเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรมการจึงไม่สามารถที่จะชี้ขาดว่าเป็นกรณีหนึ่งกรณีใดในสองกรณี ทั้งนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการสืบสวน และปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป"

ต่อความเห็นของคณะกรรมการศาลกลางเมืองที่ว่ากรณีสวรรคตเกิดจากกรณีหนึ่งกรณีใดในสองกรณี คือปลงพระชนม์เองและถูกลอบปลงพระชนม์นั้น สอดคล้องกับความเห็นของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ศาสตราจารย์ หัวหน้าแผนกวิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ที่ได้ให้รายละเอียดในกรณีนี้ไว้กับคณะกรรมการแพทย์ ดังนี้

"ข้าพเจ้าได้หนังบาดแผลมาชิ้นหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ตัดออกจากพระนลาฏของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ขณะที่ทำการชันสูตรพลิกพระบรมศพ บาดแผลเป็นเสมือนกากบาด มีหนังแยกเป็นสี่แฉก แฉกบน แฉกล่าง แฉกขวาและซ้าย เมื่อได้ใช้กล้องจุลทัศน์ชนิด ๒ ตาส่องดู บนหนังนั้นมีรอยกดเป็นรอยโค้ง เห็นได้ชิดบนแฉกขวาและซ้าย แฉกบนไม่เห็นถนัดนัก และแฉกล่างไม่เห็นเลย ถ้าเอาส่วนโค้งเหล่านั้นมาต่อกันเข้าก็จะเป็นรูปวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๑ ม.ม. เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าปลายแฉกเหล่านั้นเป็นรอยโค้ง และเส้นโค้งบนผิวหนังไม่ต่อกันเป็นรูปวงกลม นอกจากนั้นยังมีเนื้อที่เล็ก ๆ ไหม้อยู่ที่แฉกล่าง และมีสีแสดงว่าเป็นดินปืนติดอยู่ด้านในของหนังชั้นนั้นด้วย"

แล้วหมอสุดฯ ก็สันนิษฐานจากลักษณะบาดแผลดังกล่าวข้างต้นนั้นว่า

"รอยกดในหนังนั้นอาจเป็นไปโดยกดปากกระบอกปืนกระชับแน่นลงที่พระนลาฏก่อนยิง ถ้าหากเป็นการอุบัติเหตุแล้วปากกระบอกปืนคงไม่กดลงไปที่พระนลาฏกระชับแน่น ตามความเห็นของข้าพเจ้ามีทางอธิบายที่เป็นไปได้ ๒ ประการเท่านั้น คือ ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่า ๆ กัน"

ต่อลักษณะบาดแผลเป็นรอยกดปากกระบอกปืนวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๑ ม.ม. ตามคำของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร นั้น คณะกรรมการศาลกลางเมืองได้มีความเห็นไว้ในรายงานดังกล่าวข้างต้นอีกตอนหนึ่งว่าดังนี้

"...แผลนี้เกิดจากการยิงในระยะติดผิวหนังหรือห่างไม่เกิน ๕ ซ.ม. ลักษณะของบาดแผลเป็นดังนี้ คณะกรรมการเห็นฟ้องด้วยความเห็นของแพทย์ส่วนมากในข้อที่ว่า โดยลักษณะของบาดแผลนั้นเอง แสดงให้เห็นว่าบาดแผลเกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ แต่ความตั้งใจนี้มิได้หมายความเฉพาะตั้งใจกระทำให้ตาย ย่อมหมายความรวมถึงความตั้งใจที่ยกปืนนี้ขึ้นไปจ่อติดหน้าผาก ซึ่งปืนอาจลั่นขึ้นโดยอุบัติเหตุก็ได้ด้วย"

ต่อรายงานของคณะกรรมการศาลกลางเมือง รัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้ตั้งอนุกรรมการรัฐมนตรีขึ้น ๆ ท่าน เมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ เมื่ออนุกรรมการรัฐมนตรีพิจารณาเสด็จแล้วได้ส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้กรมตำรวจสืบสวนเอาตัวคนร้ายที่แท้จริงในการปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ มาดำเนินคดีต่อไป

ในขณะที่ตำรวจที่ทำการสืบสวนคืนหน้าใกล้ชิดตัวมือปืนเข้าไปทุกที รวมทั้งได้สอบถามปากคำของคนบางคนไว้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยในขณะนั้นได้ เมื่อข่าวนี้ได้แพร่ออกไป ก็ได้เกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กับคณะรัฐประหารทำขึ้นแล้วพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เป็นรัฐบาลเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ครั้นแล้ว รัฐบาลนี้ก็ได้แต่งตั้งใด้ พล ต.ต. พระพินิจชนคดี พี่เขยของ ๒ ม.ร.ว. สำคัญแห่งพรรคประชาธิปัตย์ คือ เสนีย์ และคึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งออกจากราชการรับบำนาญไปแล้วนั้นกลับเข้ารับราชการทำหน้าที่สืบสวนกรณีสวรรคตเสียใหม่ อันนำไปสู่การจับกุมนายเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในพระองค์ นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน สองมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ หลังจากวันทำรัฐประหาร ๑๒ วัน

โดยที่ พล ต.ต. พระพินิจชนคดี (ยมขณะนั้น) และคณะไม่อาจสร้างพยานหลักฐานเท็จได้ทันในระยะเวลาสอบสวนตามที่กฎหมายกำหนดคือ ๙๐ วัน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ ๒๓ มกราคม ๒๔๙๑ ขยายกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีสวรรคตได้เป็นพิเศษ ให้ศาลอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาได้หลายครั้ง รวมเวลาไม่เกิน ๑๘๐ วัน

No comments: