Saturday, February 10, 2007

บทความที่ ๒๙. ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก (จบ)

ความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎก
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
เสรีภาพแห่งความคิดเห็นของบุคคลต้องไม่สับสนกับความซื่อตรงต่อพระศาสดา

อนึ่ง ขอให้แง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า การทำเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าเราติดตำรา หรือติดพระไตรปิฎก อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นการที่เรารู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน หรือเป็นมาตรฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และสอนว่าอย่างไร ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แม้แต่ว่าจะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็เป็นสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ต้องแยกให้ถูก

เวลานี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ความสับสนของคนในยุคที่เรียกกันว่ามีการศึกษา แต่การศึกษานี้กำลังพร่ามัวลงไปมาก จนแยกไม่ถูกแม้แต่ระหว่างตัวหลักการ กับความคิดเห็นส่วนบุคคล เพียงแค่นี้ก็แยกไม่ถูก จึงแน่นอนว่าความสับสนจะต้องเกิดขึ้นแล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย

ถ้าเราถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร เราจะดูที่ไหน เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎก เพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราจะว่าเอาเอง หรือไปตอบแทนพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ว่าพระองค์สอนอย่างนั้นอย่างนี้

ต่อจากนั้น เมื่อรู้ว่า หรือได้หลักฐานเท่าที่มีว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรแล้ว เราจะเชื่อคำสอนนั้นหรือไม่ หรือเรามีความเห็นต่อคำสอนนั้นว่าอย่างไร อันนั้นก็เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องหลักการ แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็นฉะนั้นจะต้องแยกส่วนนี้ให้ได้ เวลาจะพูดกันก็ต้องแยกให้ถูกว่าเรากำลังพูดกันเรื่องว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องนี้ว่าอย่างไร หรือว่าเรากำลังพูดเรื่องว่า เรามีทัศนะความคิดเห็นในเรื่องนั้นว่าอย่างไร ต้องแยกให้ถูกแล้วก็พูดให้เป็นขั้นตอน เป็นลำดับ ก็จะไม่เป็นปัญหา

เวลานี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดปัญหาทั่วไปหมด ตั้งแต่ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักความสำคัญของพระไตรปิฎก ไม่รู้ว่าการรักษาสืบทอดพระไตรปิฎกเป็นมาอย่างไร แล้วก็มีความสับสนระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์สอนอย่างไร กับความคิดเห็นของบุคคลหรือเราแต่ละคนต่อคำสอนนั้นว่าเราคิดอย่างไร ทั้งหมดนี้มองกันไม่ชัดเจน คลุมเครือ และว่ากันเลอะเทอะสับสนไปหมดเพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหา

ที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะยากอะไรเลย ก็เพียงแต่แยกให้ถูก ถ้าใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะว่าเอาเองก็ไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็ไปเอาหลักฐานมาแสดงให้ดู แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้ว หรือธรรมะข้อนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างนี้ คุณจะว่าอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องของเราจะว่าเอา เราคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเราเป็นเสรีภาพของเราที่จะพูด ว่าธรรมะข้อนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นแล้ว เราจะว่าอย่างไร เราก็ว่าตามความเข้าใจของเราได้

แต่ที่จริงก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านให้ชัดแจ้งก่อนแล้วจึงมาสรุปเอา ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน สรุปไม่ดีก็ผิดพลาด ก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่อย่างน้อยก็แยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่ท่านสอนแล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่เราเห็น เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด เมื่อเกิดปัญหาอย่างที่รู้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นโอกาสที่จะต้องมาซักซ้อมในหมู่ชาวพุทธ เพื่อจะสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและปฏิบัติกันให้ถูกต้อง ถ้าชาวพุทธจับหลักในเรื่องนี้ได้ มีความเข้าใจถูกต้อง และมีความตรงไปตรงมา ปฏิบัติด้วยความซื่อตรง พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่เป็นหลักเป็นศูนย์รวมชาวพุทธ และมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งหลายสืบต่อไป

มีพระไตรปิฎกที่สังคายนาไว้ดี ก็ใช้สังคายนาคนได้ด้วย

ได้พูดมายาวมาก จึงควรสรุปไว้อีกครั้งหนึ่งว่า การสังคายนานั้น เป็นการรักษาพระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้คงอยู่อย่างดีที่สุด คือให้แม่นยำตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่าที่เป็นไปได้

ระยะเริ่มแรก ก็มีการประมวลรวบรวมและรักษาไว้ แต่ระยะหลังต่อๆ มา มีแต่การรักษาอย่างเดียว ให้คงอยู่อย่างเดิม ให้บริสุทธิ์แม่นยำที่สุด จะตัด จะต่อ จะแต่ง จะเติม อย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปตัดต่อ หรือแต่งเติม ก็จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือของปลอมหรือของเทียม เพราะฉะนั้น ในยุคที่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เวลาสังคายนาก็คือการที่เอาพระไตรปิฎกฉบับต่างๆเท่าที่มีอยู่เป็นหลักในประเทศต่างๆ มาตรวจสอบทานกัน เช่น ฉบับของไทย ของพม่า ของลังกา เป็นต้น เท่าที่มีอยู่ในประเทศ เถรวาทเป็นภาษาบาลี รวมทั้งฉบับอักษรโรมัน ซึ่งก็มาจากแหล่งเดิมอันเดียวกัน ตรงกันอยู่แล้ว แต่เกรงว่าห่างกันนานมาจะคลาดเคลื่อนกันไป สังคายนาในสมัยนี้ก็เป็นการเอาพระไตรปิฎกฉบับของประเทศต่างๆ เหล่านั้น มาตรวจสอบกัน ถ้ามีผิดแผกอะไร ก็ต้องทำเชิงอรรถลงไป และจดหมายเหตุไว้ ผู้ที่ทำสังคายนาไม่มีสิทธิไปแก้ไขดัดแปลงอะไรทั้งสิ้น มีแต่ว่าเราจะต้องสังคายนาคน กล่าวคือ คนบางคนบางกลุ่มอาจจะนับถือ เชื่อถือ สั่งสอนผิดแผกไป ก็เอาคนเหล่านั้นมาตรวจสอบกับคำสอนดั้งเดิมในพระไตรปิฎก แล้วก็ปรับให้คนเหล่านั้นสอนให้ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก อย่างนี้ก็เป็นความหมายที่ขยายออกไปของคำว่าสังคายนาด้วยเหมือนกัน

เวลานี้จึงเหมือนกับว่า เรามีความหมายของสังคายนา ๒ อย่าง คือ

๑. สังคายนาพระคัมภีร์ หรือสังคายนาพระไตรปิฎก ได้แก่ตรวจสอบให้คัมภีร์พระไตรปิฎกคงอยู่อย่างเดิม บริสุทธิ์ บริบูรณ์ และแม่นยำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่มีอะไรแปลกปลอม

๒. สังคายนาคน เป็นการปรับตัวคนให้สอนให้ตรงตามพระไตรปิฎก ถ้าเราจะไม่ต้องมีการสังคายาคนก็ทำได้โดยที่ว่า พระจะต้องสั่งสอนตรวจสอบตัวเองให้ตรงตามพระไตรปิฎกอยู่เสมอ

ถ้าพุทธบริษัทไม่เสื่อมโทรม ก็ไม่ต้องมีการสังคายนาคน การที่พุทธบริษัทจะเสื่อมโทรมก็เพราะพากันห่างเหินจากพระธรรมวินัยเพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง ก็จะต้องมีการศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ก็คือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีหน้าที่อยู่แล้วว่าจะต้องสั่งสอนพระธรรมวินัย ในยามปกติ พระสงฆ์ก็ต้องสั่งสอนอยู่แล้วเป็นประจำ ยิ่งถ้าเกิดเหตุที่แสดงว่าผู้คนไม่รู้ไม่เข้าใจพระธรรมวินัย พระสงฆ์ก็จะยิ่งต้องเอาใจใส่สั่งสอนชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้องและให้รู้ อย่างน้อยให้รู้ว่า ในพระพุทธศาสนานี้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ว่า อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง เป็นพระธรรมวินัยหรือไม่ นั่นก็คือจะต้องรู้จักพระไตรปิฎก ซึ่งสมัยก่อนคนมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเกิดเหตุการณ์คราวนี้ ก็เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่า เราจะต้องหันมารักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ และรู้จักพระไตรปิฎกที่เป็นตัวหลักเดิมที่รักษาพระธรรมวินัยนั้นไว้ แล้วหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับไปสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง เรื่องความสำคัญของพระไตรปิฎก และการรักษาพระไตรปิฎก คือรักษาพระธรรมวินัยด้วยการสังคายนาเป็นต้น ก็จบเพียงเท่านี้

ชวนกันตื่นขึ้นมา ช่วยกันเรียนและรักษาพระไตรปิฎกกันให้ดี

ขอแถมสักนิดว่า ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากอะไร เหมือนอย่างว่า เรามีคุณพ่อคุณแม่ มีครูอาจารย์ หรือคนที่เราเคารพนับถือเราอยากจะจดจำคำพูดของท่านไว้ ว่าท่านพูดอะไร สอนอะไร เรามีเทปเราก็บันทึกเสียงท่านไว้ ถ้าไม่มี เราก็เอาสมุดจดบันทึกไว้ เมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่มีโอกาสถามท่านอีก เราก็มีเทปนั้น หรือสมุดที่จดบันทึกไว้นั้น เราก็เอามาเปิดดู ถ้าเราต้องการรักษาคำพูดของท่านไว้ เราก็ต้องรักษาเทปหรือสมุดบันทึกนั้นไว้ให้ดี เพราะถ้าหายไป ก็เป็นอันว่าเราจะไม่มีคำพูดของท่านหรือคำสอนของท่าน ยิ่งคนที่ไม่เคยฟังท่าน ไม่เคยอ่านบันทึกนั้น ไม่มีอะไรอยู่ในความทรงจำ ไม่เคยรู้จักเลย ก็เป็นอันหมดทางที่จะรู้ว่า คุณพ่อ คุณแม่ ครูอาจารย์ ได้พูดได้สอนอะไรไว้ นี่ก็เหมือนกัน เมื่อเราต้องการจะฟัง จะรู้ จะอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสาวกที่ทันเห็น ทันฟัง ทันเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านก็รวบรวมคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าไว้ให้เราแล้วเมื่อสามเดือนหลังพุทธปรินิพพาน แล้วก็เก็บรักษาสืบต่อกันมาให้เราจนถึงปัจจุบันนี้ด้วยความลำบากยากเย็น ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องไป อ่าน ไปศึกษาและเก็บรักษาไว้ต่อไป

ทำไมเราจะไม่รักษาพระไตรปิฎกไว้ ในเมื่อถ้าพระไตรปิฎกหายไปก็คือว่าบันทึกคำตรัสคำสอนของพระพุทธเจ้าก็หมดไป หายไปเราก็ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปนั่งฌานเอา เราจะไปพูดแทนท่าน หรือว่ารู้ขึ้นมาเอง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาเลย สมัยก่อนก็ไม่เคยมีปัญหาอย่างนี้ นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ว่าคนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร ทำไมต้องรักษาพระไตรปิฎก ทำไมต้องเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็จะกลายเป็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงควรตื่นขึ้นมาช่วยรักษาพระธรรมวินับไว้ให้ดี

No comments: