Sunday, February 18, 2007

บทความที่ ๕๗. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ ๒

ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (๒)
ฉัตรทิพย์ :
อาจารย์ครับ ที่อาจารย์บอกว่าประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องของนิยายอยู่มาก อาจารย์คิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ท่านปรีดี :
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ
๑.ขาดการพิเคราะห์พิจารณ์สิ่งที่คนบอกเล่าหรือที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Historical Science) ก็จำต้องมีจิตใจวิทยาศาสตร์ (Science spirit) มิใช่หลงเชื่ออย่างงมงาย หากจะต้องพิเคราะห์หรือพิจารณ์ (Criticism) ให้ถ่องแท้ทุกๆด้านว่า สิ่งที่เขาขีดเขียนกันมานั้น และสิ่งที่เขาฟังต่อๆกันมาแล้วขีดเขียนขึ้นนั้น เราเชื่อและฟังได้ว่าเป็นของแท้จริงเพียงใดหรือไม่ หลักอันนี้ในทางการประวัติศาสตร์เขามีหลักที่เรียกว่า“Methodology” ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของตรรกวิทยา(Logic)(โปรดดูคำอธิบายของท่านปรีดีเรื่อง “จิตใจวิทยาศาสตร์” ในหนังสือ “ปรัชญาคืออะไร”)

ส่วนในทางกฎหมาย เมื่อครั้งผมเรียนอยู่ในฝรั่งเศส สมัยนั้นหลักสูตรปริญญาเอกของรัฐที่เรียกว่า “Doctorat d’Eat” นั้น มีวิชาหนึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศส “ปองเดกส์” (Pandectes) ซึ่งเป็นวิชาที่พิเคราะห์วิจารณ์บทกฎหมายและคำสอนของนักปราชญ์กฎหมายโรมัน ซึ่งชนรุ่นหลังรวบรวมจารึกหรือพิมพ์ไว้ นั้นว่าเป็นเรื่องแท้จริงหรือชนรุ่นหลังแทรกความต่อเติมดัดแปลง คือเป็นการเรียนรู้กฎหมายโรมันให้ลึกซึ้งลงไปอีก (Approfondir) ศาสตราจารย์ท่านก็บอกว่ามันใช้ประโยชน์โดยตรงอะไรไม่ได้ เพราะกฎหมายโรมันก็หมดไปแล้ว แต่ใช้สำหรับก่อให้เกิดจิตพิเคราะห์วิจารณ์ให้นักศึกษามีนิสัยติดตัวว่าการพิจารณาเรื่องใดๆนั้น อย่างรับฟังเอาทั้งดุ้น หากจะรับฟังอะไรก็จะต้องพิเคราะห์วิจารณ์เสียก่อน

อันที่จริงนั้นฝรั่งเศสก็มีการอบรมนิสัยพิเคราะห์วิจารณ์มาตั้งแต่ชั้นมูล,ประถม,มัธยม ก่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย คือ ฝึกจากง่ายไปสู่ยากขึ้นตามลำดับ

ในเมืองไทยสมัยผมเป็นนักเรียนสามัญนั้น แม้หลักสูตรวิชามีไม่มากเท่าปัจจุบันนี้ แต่ครูได้อบรมการพิเคราะห์วิจารณ์ที่เป็นหลักโบราณของไทยและคติทางพุทธศาสนา และครูได้ย้ำให้จำคติ สุ.จิ.ปุ. ลิ.ที่จารึกในประกาศนียบัตรทุก ๆ ชั้น ครูได้ให้จำโคลงดังต่อไปนี้

สุ. เสาวณิตถ้อย ทั้งผอง
จิ. เจตนาตรอง ตริค้น
ปุ. จฉาสอบสวนลอง เลาเลศ
ลิ. ขิตข้อคำต้น เกี่ยงแก้กันลืม


๒.ซากตกค้างจากระบบเผด็จการทาส-ศักดินาที่เคยชินต่อการหลงเชื่ออย่างหลับหูหลับตา (Bliend obedience) จึงไม่อาจเกิดจิตใจทางวิทยาศาสตร์ที่จะพิเคราะห์วิจารณ์ดังกล่าวใน ๑. ข้างบนนั้นได้

๓. บุคคลที่หนาแน่นด้วยอกุศลมูล (Root of evils) ๓ ประการคือ
ประการที่ ๑ “โลภะ” หมายความว่า ความอยากได้ไม่รู้จักพอ จึงหลงเชื่อตามที่คิดว่าตนจะได้ประโยชน์จากคนนั้น
ประการที่ ๒ “โทสะ” หมายความว่า ความโกรธแค้นขุ่นเคือง จึงหลงเชื่อคำยุยงบอกเล่าให้ตนเกิดโทสะ
ประการที่ ๓ “โมหะ” หมายความว่า ความหลงชื่องมงาย ซึ่งเกิดจากปัญญาทึบ (Dullness of mind) ความหลงเชื่อเรื่องที่ขัดต่อสภาพที่เป็นจริง (Delution), ความเข้าใจปะปนยุ่งเหยิง (Bewilderment), ความหลงเชื่อจากความตื่นเต้นโดยปราศจากเหตุผลตามความเป็นจริง (Infaturation), ความหลงเชื่อจากการมองเห็นลางๆ เลือนๆ ในขณะที่สภาพจิตใจไม่ปกติ(Hallucination)

๔.วิธีศึกษาแบบจักรวรรดินิยมบางประเทศที่ทำให้คนเป็น “มนุษย์เครื่องจักรกล”
จักรวรรดินิยมบางประเทศใช้วิธีผลิตผู้สำเร็จการศึกษาอย่างเร่งรีบเพื่อให้ได้ปริมาณ จึงละเลยการอบรมสั่งสอนให้เกิดสติสัมปชัญญะในการพิเคราะห์วิจารณ์ เช่น การสอบไล่ที่จะทดสอบนักศึกษาก็ใช้วิธีที่ภาษาไทยปัจจุบันเรียกว่า “ปรนัย” จึงไม่อาจจะทดสอบถึงความสมบูรณ์ของ “สติ” ที่ต้องประกอบกัน “ปัญญา”

ฉัตรทิพย์ :
ในเมืองไทยตอนนี้มีสำนักประวัติศาสตร์ขึ้นมา ๒ สำนัก สำนักหนึ่งบอกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ก็คือ เล่าเรื่องไปเฉยๆ อีกสำนักหนึ่งบอกว่า ควรศึกษาหลักทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ อาจารย์ว่าประวัติศาสตร์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Historical Science) ต้องพิจารณาสังคมอื่นๆด้วย เพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบ เอามาทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ดีขึ้น วิวัฒนาการของสังคมมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ของมันอยู่พอสมควร ถึงแม้จะแตกต่างกันออกไป ก็มีลักษณะที่เหมือนกันหลายอย่างของวิวัฒนาการของสังคม ซึ่งเราอาจเอามาเป็นแนวทางช่วยทำให้เข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของประวัติศาสตร์ได้ ก็มีเป็น ๒ สำนักขึ้นมา เมื่อฟังตามที่อาจารย์ว่าแล้ว สำนักที่ ๒ ก็จะตรงกับที่อาจารย์ว่าใช่ไหมครับ ว่าเราศึกษา เราต้องมีวิธีในการวิเคราะห์ แต่สำหรับสำนักแรกนี่ ที่ว่าเล่าเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ นี้ อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

ท่านปรีดี :
เราต้องการสัจจะ หลักใหญ่อยู่ที่นี่ คือ ทุกอย่างจะเป็นเศรษฐศาสตร์หรือกฎหมายแม้แต่ทางวรรณคดี ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องการสัจจะหรือไม่ ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราตั้งอยู่ในสิ่งที่ไม่ใช่สัจจะ ก็เหมือนวิมานในอากาศจะต้องพังทลายวันยังค่ำ แล้วยิ่งเป็นวิชาประวัติศาสตร์ด้วย การที่เล่าแล้วบอกต่อๆไป มันห่างสัจจะมากขึ้นทุกที เพราะคนที่ฟังคนอื่นแล้วเอาไปเล่าต่อไป โดยไม่ได้สอบสวนว่าสิ่งที่แท้จริงมันคืออะไร

No comments: