Wednesday, February 14, 2007

บทความที่ ๔๕. สงครามอินโดจีน ตอนที่ ๑

สงครามอินโดจีน

๑. เวียดนาม

คนญวนผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของเวียดนามเป็นคนเชื้อสายมองโกเลียที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน คนญวนต้องต่อสู้กับชาวจีนมาตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น

พ.ศ. ๑๔๘๒ ญวนถือโอกาสที่จีนเสื่อมอำนาจ ขจัดอิทธิพลของจีนไปได้อย่างแท้จริง แต่ก็ไม่นานนัก จีนก็ไล่ชาวญวนลงมาทางใต้และรุกลงมาจนถึงบริเวณที่เรียกว่า อานัม คนญวนจำต้องต่อสู้กับขุนศึกจีนเป็นเวลานับพันปีแต่ไม่ใช่การต่อสู้แบบสงครามใหญ่ เป็นการลุกขึ้นต่อสู้เป็นครั้งคราวเหมือนที่คนจีนต่อสู้กันเองในแผ่นดินจีน

คนญวนถอยลงมาทางใต้และยึดครองอาณาจักรอานัมของพวกจามได้ในปีราว พ.ศ. ๒๐๕๐ และพวกจามยังคงอาศัยอยู่แต่กลายเป็นชนส่วนน้อยไป คนญวนยังรุกไล่พวกมาลายันโพลีนีเซียน นักประวัติศาสตร์เรียกชนพวกนี้ว่า มาลายัน-อินโดนีเซียน ให้หนีไปอยู่แถบภูเขาระหว่างลาวกับเวียดนาม ทุกวันนี้เรียกว่าชาว มอนตางาด ชาวจามและมอนตางาดไม่มีอะไรเหมือนคนญวนเลย ปัจจุบันก็เป็นชาวเขาอยู่ ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๐๐ ชาวญวนได้ขยายตัวลงมาจากดินแดนอานัมและครอบครองภาคตะวันออกของจักรวรรดิเขมรและที่ราบสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ไว้ได้

ศาสนามีบทบาทสำคัญอยู่มากในเวียดนามใต้ ก่อนที่ฝรั่งเศสจะยึดครองเวียดนามนั้น พวกเผยแพร่ศาสนาโรมันคาธอลิกไปถึงก่อนและประสบความสำเร็จอยู่มากแล้ว ภายหลังการตกลงที่เจนีวาใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็มีคนเวียดนามที่นับถือนิกายโรมันคาธอลิกกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คนอพยพจากเวียดนามเหนือลงมาตั้งรกรากในเวียดนามใต้ และยังมีชาวพุทธอีกราว ๒๐๐,๐๐๐ คนลี้ภัยลงมาด้วย ซึ่งเหล่าชาวเวียดนามใต้เหล่านี้ไม่ต้องการให้มีการรวมประเทศ

ภายหลังการตกลงแบ่งเวียดนามเป็นเหนือ-ใต้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้ว ก็สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าคนญวนใต้ไม่มีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนคนเวียดนามเหนือ และคนญวนใต้ไม่สู้จะมีความเชื่อถือรัฐบาลและข้าราชการชั้นต่ำนัก

สงครามและการกบฏเป็นประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเวียดนาม ตั้งแต่ชื่อของเวียดนามปรากฏในประวัติศาสตร์จีนราว ๒,๒๐๐ มาแล้ว การสู้รบกับจีนมีส่วนที่ทำให้ชาวเวียดนามมีจิตใจต่อสู้ ต่อจากจีนก็มีนักล่าอาณานิคมคือฝรั่งเศส แล้วก็นักสถาปนาวงไพบูลย์เอเชียญี่ปุ่น จากนั้นก็นักการเมืองและนายพลอเมริกันตามลำดับที่ช่วยกันปั้นเวียดนามและทำให้เวียดนามมีสภาพเช่นดังทุกวันนี้

๒.ฝรั่งเศสในเวียดนาม

นักล่าเมืองขึ้นจากฝรั่งเศสขึ้นจากเรือเหยียบแผ่นดินหมู่บ้านชาวประมงชื่อ ไซ่ง่อนในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ขณะที่พยายามหาเส้นทางเดินเรือการค้ากับประเทศจีน และได้ตั้งหลักแหล่งพักพิงในไซ่ง่อนที่ต่อมากลายเป็นศูนย์กลางของอาณานิคมอินโดจีน

ยี่สิบปีให้หลัง ฝรั่เศสก็ยึดครองพื้นที่ถึงอานัมและตังเกี๋ยอันรวมลาวและกัมพูชา การได้อินโดจีนมาจากการิเริ่มของฝ่ายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือเพราะเป็นการแข่งขันกับพวกอังกฤษที่ล่าเมืองขึ้นกันเป็นวรรคเป็นเวร

การปกครองของฝรั่งเศสต่อชาวเวียดนามไม่ได้เป็นการปกครองแบบ “การพัฒนา” บ้านเมืองมากนัก แม้จะมีการก่อสร้างบ้านเมืองเลียนแบบในกรุงปารีส การแสดงออกของวัฒนธรรมชาวฝรั่งเศสก็ดี ก็เป็นเพราะความเหงาของนักปกครองที่ต้องห่างเมืองแม่มาเป็นเวลานาน การให้การศึกษาตามแบบอย่างชาวฝรั่งเศสแก่ชาวเวียดนามก็กระทำเฉพาะคนชั้นสูงหรือคนที่ทำงานใกล้ชิดคนฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ค่าจ้างก็ไม่ได้เท่าคนงานฝรั่งเศส

ความเป็นไปเช่นนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของการปกครองอาณานิคมและได้สร้างคนญวนขึ้นชั้นหนึ่งกลายเป็นคนชั้นผู้ดีมีอันจะกินและกลายเป็นเจ้าของเรือกสวนไร่นาส่วนใหญ่ของประเทศ ฝรั่งเศสได้ละเลยคนชั้นกลางและชั้นต่ำไปเสีย โดยถือว่าเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมาคนชั้นกลางที่ถูกละเลยนั้นเองที่มีอิทธิพลต่อฐานะของอาณานิคมของฝรั่งเศสและรวมกันต่อต้านลัทธิอาณานิคมโดยฝรั่งเศสคาดไม่ถึง

ฝรั่เศสยอมให้พระเจ้าจักรพรรดิเวียดนามอยู่ในฐานะเดิม แวดล้อมด้วยขนบธรรมเนียมวังหลวงทุกประการ แต่ก็เป็นเหมือนโรงละครโรงหนึ่งที่ใช้ประกอบรัฐพิธีเท่านั้น การปกครองทั้งหมดตกอยู่กับฝรั่งเศสอย่างแท้จริง

ชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอย่างเวียดนามย่อมไม่ยอมรับการปกครองจากฝรั่งเศสที่ถ่ายทอดระบบสังคมและการเมืองไปยังชาวญวนชั้นสูง การต่อต้านการปกครองได้เกิดขึ้นเป็นพักๆ จากชนชั้นนำแมนดารินที่ดูเหมือนกับจะเป็นการต่อสู้เพื่อวัฒนธรรมของคนญวนไม่ให้ถูกลบเลือนไป แต่การต่อต้านก็ถูกฝรั่งเศสปราบปรามอย่างราบคาบภายใน ๑๕ ปี

ความล้มเหลวของพวกแมนดาริน ได้มีกลุ่มต่อต้านที่มีแนวความคิดใหม่ขึ้นมาอีก กลุ่มนี้เห็นว่าการจัดและบริหารกลุ่มตามแบบของชาวยุโรปจะได้ผลกว่าและใช้อุดมคติของชาตินิยม การต่อต้านมิได้กระทำในนามของพระเจ้าจักรพรรดิหรือสถาบันใดแต่ทำในนามของชาติญวน กลุ่มชาตินิยมนี้เห็นชัยชนะของญี่ปุ่นต่อรัสเซียในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ (ค.ศ. ๑๙๐๕) และการปฏิวัติในจีนที่ล้มราชวงศ์ชิงของแมนจูลงในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) เป็นตัวอย่างความสำเร็จ กลุ่มนี้พยายามยุทหารชาวญวนในกองทหารฝรั่งเศสให้ก่อความวุ่นวายบ้าง ก่อวินาศกรรมบ้าง

แต่ความพยายามของกลุ่มชาตินิยมที่ดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มิได้ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด เพราะตำรวจลับฝรั่งเศสทำงานได้ผลมาก จับนักปฏิวัติเข้าคุกหรือเนรเทศเสียมาก อีกเหตุผลหนึ่งคือขบวนการต่อต้านกระทำอยู่ในหมู่คนชั้นนำเท่านั้น คนชั้นนำผู้เป็นชาวแมนดารินหรือคนญวนที่รับการศึกษาแบบฝรั่งเศสก็ตาม แม้พยายามที่จะดำเนินการในนามของประชาชนแต่ก็ไม่รู้วิธีที่จะดึงประชาชนเข้าร่วมได้อย่างใด ซึ่งวิธีดึงมวลชนเข้าร่วมนี้พวกคอมมิวนิสต์ถนัดกว่า

๓.การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

เชื้อสายคอมมิวนิสต์จากการปฏิวัติในรัสเซียได้แผ่เข้าไปในฝรั่งเศส เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคต้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์เป็นผู้หนึ่งที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ.๑๙๒๐)และ ๕ ปีต่อมาเขาได้เป็นผู้หนึ่งในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ญวนขึ้นในกว่างตง (กวางตุ้ง) พรรคนี้เติบโตขึ้นเป็นลำดับแม้ว่าจะอยู่นอกประเทศก็ตามและบางครั้งทำท่าจะแตกแยก โฮก็รวบรวมคุมไว้ได้ ต่อมาในปี ๒๔๗๓ เกิดความอดยากแห้งแล้ง พรรคของโฮฯได้ยุยงชาวนาก่อการกบฏและทำได้รุนแรงกว่ากลุ่มชาตินิยมที่เคยกระทำมา แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังเติบโตไม่พอและการกวาดล้างอย่างทารุณโหดร้ายทำให้กบฏต้องหลบลงไป

ความพ่ายแพ้ขอฝรั่งเศสในยุโรปต่อเยอรมนีในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้เปลี่ยนรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นรัฐบาลหุ่นของเยอรมัน แต่ความตกลงที่ฝรั่งเศสทำกับเยอรมันไม่มีผลถึงอินโดจีน อินโดจีนยังเป็นของฝรั่งเศสและข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสก็ยังปกครองอินโดจีนอยู่แม้จะไม่ชอบหน้ารัฐบาลหุ่นของตัวเองก็ตามที ในปีนี้นั้นเองญี่ปุ่นก็ได้ก้าวเข้ามาในอินโดจีนโดยนัยว่าเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทของไทยโดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามกับรัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสอันเนื่องจากรัฐบาลไทยได้เรียกร้องเอาดินแดนในอินโดจีนที่ไทยเคยเสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนคืนมา(เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสอ่อนกำลังลงในยุโรปและคงจะไม่สามารถจะปกป้องดินแดนในอินโดจีนได้) ทั้งนี้ความประสงค์ของญี่ปุ่นที่หันเหมายังอินโดจีนก็เพื่อสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา เพื่อการนี้ญี่ปุ่นจึงได้ขอใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ตังเกี๋ย

คำตอบจากฝรั่งเศสล่าช้าทำให้ญี่ปุ่นใช้กำลังเข้าโจมตีชายแดนและไฮฟอง จนฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นคุมสนามบินและท่าเรือทุกแห่งได้ และภายหลังที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์แล้ว ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสก็ต้องยอมร่วมมือกับญี่ปุ่นให้อินโดจีนเป็นทางผ่านของกองทัพญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเองไม่ขัดขวางแต่อย่างใดต่อการที่ฝรั่งเศสดำเนินการปราบปรามพวกกบฏในเวียดนาม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลงในทางแปซิฟิกและฝ่ายสัมพันธมิตรมองเห็นชัยชนะอยู่รำไร ฐานะของอินโดจีนจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ประธานาธิบดีรูสเวลท์ของสหรัฐฯเห็นว่า ฝรั่งเศสควรปล่อยอินโดจีนเสียที ขณะเดียวกันกองทัพจีนคณะชาติของเจียงไคเชคก็ประสงค์จะเข้าไปมีอิทธิพลบริเวณตังเกี๋ยอย่างที่จีนเคยมีในสมัยโบราณ

เมื่อสัมพันธมิตรปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการยึดครองของเยอรมันได้แล้ว ฝรั่งเศสในอินโดจีนก็คิดจะขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกไปจากอินโดจีนบ้าง สหรัฐอเมริกาได้ส่งอาวุธทางอากาศให้แก่ทหารฝรั่งเศสในอินโดจีนเท่าที่สหรัฐฯเห็นว่าจำเป็น แต่ญี่ปุ่นก็รู้และไหวตัวทันยังคงควบคุมการบริหารบ้านเมืองไว้ได้

วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๗ ญี่ปุ่นได้แจ้งแก่จักรพรรดิเบาได๋ว่า จักรวรรดิของพระองค์เป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศสแล้วหลังจากอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลา ๖๐ ปีพระเจ้าจักรพรรดิก็ชอบใจเป็นธรรมดาที่จะได้ปกครองบ้านเมืองเอง

ด้วยการหนุนหลังจากญี่ปุ่น การปกครองของพระเจ้าเบาได๋ดูจะพอไปได้ แต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้นและเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก ก็เหลือแต่เพียงพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นกลุ่มหรือสถาบันเดียวที่มีแผนและจัดระเบียบไว้ อันสามารถจะปกครองประเทศได้

ข้อตกลงที่กรุงเตหะรานและเมืองปอตสดัมตกลงกันว่า ทหารจักรภพอังกฤษจะยึดครองอินโดจีนใต้เส้นขนานที่ ๑๖ และทหารจีนคณะชาติจะอยู่เหนือเส้นขนานนั้นขึ้นไป (การเข้ามาปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงนั้น บางคนในคณะรัฐมนตรีของนายควง อภัยวงศ์ ได้เสนอที่จะให้กองทัพจีนของเจียงไคเช็คเป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธกองทัพทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยตั้งแต่เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป คือตั้งแต่เส้นขนานที่ลากผ่านอำเภอบางมูลนากจังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเสลภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นไป แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นว่าหากยอมให้กองทัพมหึมาของจีนส่งทหารเข้าในไทยประมาณล้านคน ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเพียงแสนกว่าคน ก็ยากที่เราจะผลักดันให้ทหารจีนนับล้านคนออกไปจากแผ่นดินไทยได้.ท่านปรีดี จึงรีบโทรเลขติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนในที่สุดกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การบัญชาของนายพล ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทนก็เป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการถูกแบ่งออกเป็นเหนือ-ใต้ นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำให้แก่คนไทย-แผ่นดินไทย ซึ่งคนไทยรุ่นหลังไม่ทราบ)

ความหวังของคนเวียดนามที่คิดว่าจะได้อิสรภาพหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงจึงล้มเหลว แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าตนมีความแข็งแรงพอแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ก็ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐเวียดนามที่ฮานอยให้เป็นอิสรภาพในวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ และไม่กี่วันต่อมาจักรพรรดิเบาได๋ก็ประกาศสละราชสมบัติ

จุดเด่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามที่ทำงานได้ผลกว่ากลุ่มชาตินิยมหรือกลุ่มชาวญวนอื่นๆ ในการกอบกู้อิสรภาพอยู่ที่อุดมคติที่ได้รับมาจากเลนินและเป็นฝ่ายตรงข้ามกับลัทธินายทุนที่ฝรั่งเศสใช้อยู่ในอินโดจีน รัสเซียเองก็จ้องดูผลประโยชน์ที่ตนแพร่ลัทธิไว้และเฝ้ามองการต่อต้านจักรวรรดินิยมในเอเชียอยู่เหมือนกัน

แต่ด้วยความใกล้ชิดกับจีนและเนื้อแท้ของเวียดนามคล้ายจีนมากกว่ารัสเซีย โฮจิมินห์จึงเลือกวิธีของเหมาเจ๋อตงมาดำเนินการด้วยความเข้าใจ ด้วยความใจเย็น ความอดทน และการทำงานหนักในการรวบรวมพลังของมวลชนอันได้แก่ชาวนาเป็นส่วนใหญ่

ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนก่อนสงครามโลกยุติลงนั้น พวกชาตินิยมได้เข้ามาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร นับตั้งแต่เรื่องการข่าว การช่วยเหลือเชลยศึกและการรบแบบกองโจร ซึ่งก่อนนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พวกคอมมิวนิสต์อยู่ได้แต่ตามเทือกเขาแถบตังเกี๋ยเท่านั้น แต่สองปีต่อมาคือในปี ๒๔๘๘ ก็คลุมพื้นที่ ๖ จังหวัดระหว่างฮานอยกับพรมแดนจีนไว้ได้ และเมื่อสงครามโลกทางแปซิฟิกใกล้ยุติ โฮจิมินห์ก็หวังว่าฝรั่งเศสจะยอมรับอิสรภาพของเวียดนามตามที่ญี่ปุ่นให้ไว้และจะไม่มีการต่อสู้ด้วยกำลังกันอีก

แต่สงครามโลกจบลงโดยรัฐบาลของ ชาร์ล เดอ โกลของฝรั่งเศสผู้หลบไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นต่อสู้กับกองทัพเยอรมันได้รับชัยชนะกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม เขาจึงถือว่าสถานะของอินโดจีนที่รัฐบาลวิซีซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นของเยอรมันได้ตกลงอะไรเกี่ยวกับอินโดจีนไว้จะต้องกลับคืนดังเดิมเหมือนก่อนสงคราม และเดอโกลได้ส่งคนมายังเวียดนามในนามฝรั่งเศสทันที การปกครองชาวเวียดนามใต้ที่มีไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลางและทหารมีอังกฤษคอยหนุนหลัง เป็นไปโดยง่าย แต่ต่างออกไปในเวียดนามเหนือที่คอมมิวนิสต์ปกครองส่วนใหญ่เอาไว้ และยังมีทหารจีนเข้ามายึดครองตามเมืองใหญ่อยู่ด้วย

โฮฯเห็นว่าอิสรภาพของเวียดนามน่าจะได้มาโดยสันติวิธีและเสนอเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๘๙ ว่า เวียดนามเป็นรัฐอิสระในจักรภพฝรั่งเศสทำนองรัฐอิสระในจักรภพอังกฤษ ทหารฝรั่งเศสจะมีอยู่ในเวียดนามเหนือ แต่เพียงชั่วเวลา ๕ ปีเท่านั้น และช่วยฝึกสอนชาวญวนให้ด้วย แต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสผู้เป็นนายพลเรือก็ประกาศสาธารณรัฐโคชินไชน่า อันมีผลให้เวียดนามแบ่งเป็น ๒ ส่วนอีก โดยส่วนเหนือจะเป็นรัฐในอารักขา และมีทหารฝรั่งเศสเข้าไปเพิ่มเติมในเวียดนามเหนือด้วย เป็นการแสดงถึงการใช้กำลัง

การต่อต้านมีขึ้นบ่อยครั้งจนกระทั่งวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ปีนั้นเรือลาดตระเวนฝรั่งเศสในท่าเรืองไฮฟอง ก็ยิงปืนใหญ่เข้าไปในฝูงชน มีผู้เสียชีวิตราว ๖,๐๐๐ คน วันที่ ๑๙ ธันวาคม สถานีพลังงานต่างๆในฮานอยถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำลายและเป็นสัญญาณสงครามเวียดนามยุคใหม่ ทหารคอมมิวนิสต์ญวนหรือเวียดมินห์ก็ได้ถอนตัวออกจากฮานอยเพื่อทำการสู้รบตามยุทธศาสตร์ของตน

No comments: