Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๗. มหาวิทยาลัยของราษฎร ปณิธานของหลัก ๖ ประการ

มหาวิทยาลัยของราษฎร ปณิธานของหลัก ๖ ประการ

ช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๗๗ สยามมีประชากร ๑๒ ล้านคน กรุงเทพฯ มีประชากร ๕ แสนคน มีนักเรียนระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศ ๗๙๔,๖๐๒ คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาเพียง ๒,๒๐๖ คน นับว่าคุณภาพการศึกษาของคนไทยล้าหลังมาก นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงดำเนินตามปณิธานข้อสุดท้ายของหลัก ๖ ประการที่ว่า “ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” โดยผลักดันให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านได้กล่าวไว้ในวันสถาปนา มธก. เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ ว่า

“มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบัดบำความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”

ในปีนั้นมีคนสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเปิด (ไม่ต้องสอบเข้า) แห่งแรก เป็นจำนวนมากมายถึง ๗,๐๙๔ คน ส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่จบมัธยม ๘ รวมถึงข้าราชการตั้งแต่เสมียนขึ้นไป เกิดการกระจายการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่เมื่อปี ๒๔๗๕ มีผู้จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัยเพียง ๖๘ คน

นายปรีดีดำเนินการให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเลี้ยงตัวเองได้ โดยอาศัยเงินค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษา และรายได้จากการเข้าถือหุ้นในธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชย์กรรมและอุตสาหกรรม โดย มธก. ถือหุ้นถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์

คุณหญิงบรรเลง ชัยนาม ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรกเมื่อปี ๒๔๗๘ เคยให้สัมภาษณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่เล่าเรียนมาว่า

“ประทับใจความมีเสรีภาพในการเล่าเรียน เป็นตลาดวิชา แล้วก็ได้เสรีภาพเสมอภาคกัน ให้เรียนวิชาต่างๆ ที่อยากรู้ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะอะไรอย่างนั้น เข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจ อย่างบางโรงเรียนก็อาจมีเข้าไปแล้วแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่ธรรมศาสตร์ให้ความเสมอภาคกันหมด สบายใจ วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่รักและสนใจ”

ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นายปรีดีต้องหลบภัยออกนอกประเทศ รัฐบาลเผด็จการทหารได้ตัดคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย ยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งอธิการบดีแทน ขายหุ้นธนาคาทั้งหมด จนมหาวิทยาลัยต้องกลับมาของบประมาณและตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

หนังสือ ธรรมจักร พิมพ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓ มีผู้เขียนท่านหนึ่งใช้นามปากกว่าว่า “๑๔๕๕๙” กล่าวว่า

“ครั้นเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ประมุขของมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ อาจารย์ถูกจับกุมคุมขัง การสอบไล่ของนักศึกษาในบางลักษณะวิชาต้องทำการสอบกันใหม่ เนื่องจากกระดาษคำตอบของนักศึกษาถูกใช้เป็นเป้าสำหรับประลองความคมของดาบปลายปืน ขณะนั้นเป็นเวลาปิดสมัยการศึกษาประจำปี ซึ่งโดยปรกติมหาวิทยาลัยก็เงียบเหงาอยู่แล้ว แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าและทึบทะมึน แม้ดวงอาทิตย์จะแจ่มกระจ่างปานใดก็ตาม แต่นักศึกษาที่ย่างเท้าเข้าไปในมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ก็รู้สึกประหนึ่งว่าดวงอาทิตย์นั้นไร้แสง เพราะยอดโดมที่เคยตระหง่านท้าทายเมฆดูคล้ายประหนึ่งว่าจะพลอยเศร้าไปกับนักศึกษาด้วย เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกโดยสัญชาตญาณว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป วาระที่เขาจะต้องกัดฟันเผชิญกับมรสุมและพายุได้มาถึงแล้ว”

No comments: