Wednesday, February 14, 2007

บทความที่ ๔๗. เหตุการล่มสลายของราชวงศ์ในฝรั่งเศสและจีน

การล่มสลายของราชวงศ์ของฝรั่งเศสและจีน

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึงเหตุการณ์การล่มสลายของราชวงศ์ในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ฝรั่งเศสราชวงศ์บรูบอง ประเทศจีนราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู และราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งก็คือ การไม่สามารถนำพาประชาชนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างเท่าเทียมกัน

ฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ ยังปกครองด้วยระบบฟิวดัลหรือศักดินา ชาวนาชาวไร่ ยังเป็นเพียงชนชั้นต่ำแห่งห่วงโซ่ของสังคม

การถูกรีดภาษีอย่างหน้าเลือด ความอดอยากและความไม่เป็นธรรมที่ชนชั้นขุนนางและคหบดีชั้นสูงใช้ชีวิตราวกับราชา ในขณะที่คนชั้นล่าง-ชั้นต่ำต้องมารองรับคนชั้นบนมาหลายร้อยปี เหล่านี้เป็นแรงกดที่ทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีนักคิด-นักประพันธ์ นามว่าฌอง จาร์ก รูสโซ ได้เขียนพรรณนาถึงความเหลวแหลกของชนชั้นบนอย่างรุนแรง จนถึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง งานเขียนของรูสโซ เป็นเหมือนน้ำที่ชะโลมใจคนชั้นล่างให้มีกำลังใจที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ

ประกอบกับมีคนชั้นกลางที่มีสิทธิมีเสียงอยู่ในสภาได้รวมตัวเป็นสมาคมเรียกว่า จาโคแบง และอีกหลายสมาคม ได้เริ่มบทบาทในการเป็นปากเป็นเสียงแทนคนชั้นล่าง (ถึงแม้ว่าภายหลังจะปรากฏว่าเป็นเพื่อสร้างความโด่นเด่นให้กับตัวบุคคลในสมาคมเสียมากกว่า) ประจวบกับเหตุการณ์ภายนอกประเทศที่ประดังเข้ามาจนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ผู้อ่อนแอ ไม่สามารถจะประสานผลประโยชน์ให้ได้ทุกกลุ่ม เหตุการณ์เริ่มแรงขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ และลุกลามจนใหญ่โตและสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. ๑๗๙๙ จากนั้นไปจึงเป็นยุคของนายทหารที่ก้าวขึ้นมานำประเทศไปรบเพื่อปกป้องและขยายอาณาเขต นั่นคือ นโปเลียน โบนาปาร์ตที่๑ และฝรั่งเศสตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๑๙ ถึงจะเป็นสาธารณรัฐแต่ก็เปิดศึกรอบด้านทั้งในยุโรปและอาฟริกาและยังประพฤติตนเป็นจักรวรรดินิยม ไม่ต่างจากระบบกษัตริย์ที่ถูกโค่นลงไป

ในประเทศจีนราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูได้เข้ายึดครองแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ. ๑๖๔๔ และปกครองชาวฮั่นต่อมาอีกสองร้อยกว่าปี ซึ่งชาวฮั่นได้ต่อต้านเรื่อยมา เหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จแต่ก็ต้องล้มเหลวในที่สุดหลายต่อหลายครั้ง เหตุผลที่ชาวฮั่นต้องโค่นล้มราชวงศ์ชิงก็มีสะสมเรื่อยมาตั้งแต่ปฐมจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ชิงคือ จักรพรรดิซุ่นจื้อ ซึ่งภาระกิจแรกที่ครอบครองแผ่นดินใหญ่ได้คือ การกวาดล้าเข่นฆ่าบุคคลสำคัญของพวกฮั่นให้สิ้นซากหมดเสี้ยนหนาม จากเหนือลงใต้ไปทั่วแผ่นดิน

ชาวจีนก็ไม่เคยสิ้นคนรักชาติ มีวีรบุรุษนักรบชาวฝูเจี้ยน(ฮักเกี้ยน) นามว่า เจิ้งเฉิง ได้นำประชาชนต่อต้านราชสำนักชิงเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์หมิงที่ถูกโค่นล้มไป เจิ้งเฉิงนำประชาชนไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวันโดยขับไล่กองทัพของฮอลลันดาและต่อสู้กับราชสำนักชิงนานถึง ๔๐ ปีก็ต้องแตกฉานซ่านเซ็นในรัชสมัยของจักรพรรดิคังซีฮ่องเต้

จากนั้นเป็นต้นมาจักรวรรดินิยมก็ได้นำฝิ่นเข้ามามอมเมา เริ่มจากการลักลอบทีละน้อย ประกอบกับราชสำนักชิงอ่อนแอลง จักรพรรดิขาดความสามารถ หลงใหลในความสำคัญของตนเอง นำทรัพย์ในท้องพระโรงมาสร้างพระราชวังอันใหญ่โตเสียยิ่งกว่าพระราชวัง แวร์ซาร์ย แต่ก็ถูกเพลิงเผาวอดวายในที่สุด

จากการที่จักรวรรดินิยมตะวันตกนำฝิ่นเข้ามามอมเมานำเงินตราออกไปบำเรอประเทศแม่ และเมื่อมีการต่อต้านและเผาฝิ่นจำนวนมหาศาลของแม่ทัพหลิวเจ๋อสวี ชาติจักรวรรดินิยมจึงถือเป็นเหตุนำกำลังมาเฉือนเอาดินแดนของจีนไปครอบครองและราชสำนักก็ไม่ได้นำประชาชนต่อต้านและยังนำทหารแมนจูมาปราบปรามประชาชนเสียอีก

เหล่าประชาชนจึงหลบลงใต้ดิน รื้อฟื้นสมาคมอั้งยี่ในนามต่างๆกัน ออกมาเพื่อโค่นล้มราชสำนักและขับไล่จักรวรรดินิยม สมาคมอั้งยี่ที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ อี้เหอฉวน (กำปั้นยุติธรรม) สมาคมเมืองแมนแดนมหาสันติของหงซิ่วฉวน และกบฎนักสู้ (boxer) ฯลฯ สมาคมทั้งหลายมีสมาชิกนับแสน นับล้าน ต้องต่อสู้กับราชสำนักชิงและกับทหารของจักรวรรดินิยมหลายสิบปี แต่แรกก็เหมือนจะได้ชัยชนะแต่ในระยะยาว เหล่าสมาคมเหล่านี้ก็ต้องถึงกาลอวสาน แต่ก็ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียวเพราะวีรกรรมของหงซิ่วฉวน ได้กลายเป็นตนแบบให้เด็กชายคนหนึ่งที่เกิดปี ๑๘๖๖ นามว่าซุนยัดเซน ซึ่งเขาได้กลายเป็นบิดาแห่งการต่อสู้ของคนจีนจนมาถึงทุกวันนี้

ราชสำนักชิงมาถึงกาลอวสานในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ส่วนหนึ่งมาจากความเหลวแหลกจากของราชสำนักซึ่งซูสีไทเฮาได้ชักหุ่นคุมการตัดสินใจของจักรพรรดิ ทำให้ประเทศจีนในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ต่อ ต้นศตวรรษที่ ๒๐ เป็นยุคที่สับสนอย่างที่สุด จนเมื่อนางสิ้นชีวิตลงในปี ค.ศ. ๑๙๐๙ นางก็ยังสร้างวีรเวรครั้งสุดท้ายโดยสั่งให้คนไปวางยาจักรพรรดิผู้เป็นบุตรของนางเองให้สวรรคตก่อนนางไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ญี่ปุ่นซึ่งเข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ ได้อุปโลกเพื่อผลประโชยข์ของญี่ปุ่นเอง นามว่าจักรพรรดิผู่อี จากนั้นอีกไม่กี่ปี แผ่นดินจีนที่มีจักรพรรดิปกครองมานานกว่า ๔,๐๐๐ ปีก็ถึงกาลสิ้นสุด กลายเป็นยุคแห่งการต่อสู้ของผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นทรราชกับประชาชน

การที่ราชวงศ์สิ้นไปก็ไม่ได้หมายความว่าแผ่นดินจีนจะสงบสุขในทันที เพราะในช่วงเวลาสี่สิบปีที่สิ้นราชวงศ์ไปกลายเป็นยุคสมัยที่มีการเข่นฆ่ากันอย่างมโหฬาร กว่าที่เหมาเจ๋อตงจะนำประชาชนขับไล่เจียงไคเชคไปตั้งหลักที่ไต้หวัน เหมาได้สถาปนาจีนเป็นสาธารณรัฐในปี ๑๙๔๙ และจากนั้นก็เปิดฉากเข่นฆ่าคนหลายล้านคนในการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน

No comments: