Sunday, February 11, 2007

บทความที่ ๓๑. บทเรียนที่ไม่ควรลืมในการล่มสลายของแคว้นวัชชีจากการแตกสามัคคี

บทเรียนที่ไม่ควรลืมในการล่มสลายของแคว้นวัชชีจากการแตกสามัคคี


บทความครั้งก่อนได้กล่าวถึงเจ้าชายอชาตศัตรูทำปิตุฆาตพระราชบิดาคือพระเจ้าพิมพิสาร ตามคำยุยงของพระเทวทัต เมื่อเจ้าชายขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว พระองค์ก็ใช้นโยบายแข็งกร้าวเริ่มเปิดศึกรุกรบกับแคว้นวัชชี แต่ด้วยความที่แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบ republic หรือสาธารณรัฐ ที่เหล่ากษัตริย์ผู้ปกครองทั้งหลายยังสามัคคีพร้อมเพียงกันประชุม พร้อมเพียงกันหารือ มุ่งรักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นที่ตั้ง แคว้นต่างๆ ที่ยกมาบุกจึงไม่สามารถจะตีให้แตกลงได้

ด้วยความที่พระเจ้าอชาตศัตรูต้องการสร้างความเข้มแข็งในหัวเมืองชายแดน จึงได้ทรงดำริสร้างเมืองปาตลิคาม ให้เป็นเมืองป้อม หรือหัวเมืองหน้าด่าน เพื่อจะสู้รับกับแคว้นวัชชี นี่คือกำเนิดของเมืองปาตลีบุตร พระองค์ได้มอบหมายให้มหาอำมาตย์ ๒ ท่านคือ สุนีธะ กับ วัสสะการะ มาดำเนินการสร้างเมืองนี้

ในช่วงเวลาที่กำลังสร้างเมืองนี้อยู่ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมา และพระองค์ได้เสด็จผ่านไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพระองค์เสด็จประตูเมือง ประตูเมืองก็ถูกเรียกว่า โคตมทวาร พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เมืองปาตลีบุตรที่สร้างขึ้นใหม่เป็นเมืองหน้าด่าน ต่อไปจะเจริญรุ่งเรือง แต่ก็จะพินาศด้วยภัย ๓ ประการคือ ภัยจากไฟ ภัยจากน้ำ และภัยจากความแตกสามัคคี

การที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ มาสร้างเมือหน้าด่านเพื่อทำศึกกับแคว้นวัชชีเพราะถิ่นนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ต้นเรื่องของการทำสงครามระหว่างพระเจ้าอชาตศัตรูกับเจ้าลิจฉวีแคว้นวัชชีก็มีอยู่ว่า บนฝั่งแม่น้ำคงคาซึ่งยาวออกไปไกล มีดินแดนอยู่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นวัชชี

ที่ภูเขาหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำนี้ มีพืชชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่ามีกลิ่นหอมมาก และเมื่อถึงเวลาที่น้ำฝนชะลงมา ก็พาเอากลิ่นหอมนี้ลงมาในแม่น้ำ จึงเป็นที่ๆ มีชื่อเสียงอย่างมาก

ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมยกพลมา เพื่อจะเอาพืชกลิ่นหอมนี้ แต่พวกวัชชีก็ชิงตัดหน้าเอาไปเสียก่อน พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาอีกทีไร พวกวัชชีก็มาตัดหน้าเอาไปทุกที สร้างความพิโรธอย่างมากแก่พระเจ้าอชาตศัตรู

ความคิดที่อยากจะห้ำหั่นพวกวัชชีก็มีอยู่เรื่อยมา เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ และเป็นความหวาดกลัวของพระองค์ที่ว่า พวกวัชชีปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งมีความเข้มแข็ง จะเป็นภัยคุกคามต่อมคธซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย (ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน รัฐที่ปกครองด้วยระบบอำนาจของคนๆเดียวเป็นใหญ่ก็จะหวาดกลัว หวาดระแวงต่อรัฐที่ปกครองด้วยอำนาจของปวงชนเป็นใหญ่ –จะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อการปกครองในระบบที่แตกต่างกันก็มีมาเนิ่นนานตั้งแต่พุทธกาลหรืออาจจะก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำไป และก็จะยังมีต่อไปในอนาคตไม่สิ้นสุด)

เป็นธรรมดาที่ว่าคนที่หวังอำนาจก็จะต้องพยายามรุกรานหรือปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่งลงไปให้ได้ เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน และบั่นทอนกำลังของฝ่ายตรงข้าม จึงเกิดเป็นสภาพเหตุการณ์ในสมัยก่อนจะสิ้นพุทธกาลและต่อจากสิ้นพุทธกาลใหม่ๆ

เรื่องการพิพาทกันระหว่างแคว้นวัชชีกับมคธปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก พุทธประวัติดังจะเห็นได้จากเรื่อง อปริหานิยธรรม มีใจความว่า

พระเจ้าอชาตศํตรูเคยส่งวัสสการะพราหมณ์ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค โดยให้ไปหยั่งดูว่า ถ้าพระองค์จะทรงยกทัพไปปราบวัชชี พระพุทธองค์จะทรงตรัสว่าอย่างไร วัสสการพราหมณ์ได้เข้าไปทูลทำนองว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพระดำริจะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชี พระพุทธองค์ก็ไม่ตรัสอะไรกับวัสสการ พราหมณ์ แต่ทรงหันไปถามท่านพระอานนท์ว่า

“อานนท์ สมัยหนึ่งเราได้แสดงหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ไว้แก่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เวลานี้ พวกกษัตริย์ลิจฉวียังรักษาอปริหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ”


ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชียังประพฤติปฏิบัติมั่นอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ จะไม่มีใครเอาชนะได้ คล้ายกับจะทรงห้ามทัพไว้ก่อน เพราะถ้าขืนรบก็จะสูญเสียมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูไม่กล้ายกทัพไป

ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงพระดำริอีก ว่าทำอย่างไรจะเอาชนะวัชชีได้ วัสสการพราหมณ์ได้ถวายแผนการจะไปทำลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีเสีย และอาสาดำเนินการนี้ โดยทำอุบายเป็นว่าถูกลงโทษ และถูกขับถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธไป

วัสสการพราหมณ์ทำเป็นว่าหนีภัยอันตรายไป และด้วยความโกรธแค้นต่อกษัตริย์อชาตศัตรู ก็เลยไปอาสารับราชการแผ่นดินในแคว้นวัชชี กษัตริย์วัชชีก็หลงกลก็วางใจ

ต่อมาวัสสการพราหมณ์ก็ใช้อุบายเกลี้ยกล่อมยุแหย่ จนกระทั่งกษัตริย์ลิจฉวีแตกแยกกันหมด นำมาซึ่งความอ่อนแอของวัชชี แล้วในที่สุดพระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกทัพมาตี ทำให้วัชชีแตกพินาศย่อยยับไปแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

No comments: