Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๒๐. คดีประวัติศาสตร์

คดีประวัติศาสตร์


ในที่สุดพนักงานสอบสวนกรมตำรวจ ได้ส่งสำนวนให้อัยการ หลังจากที่ได้พยายามสร้างพยานหลักฐานเท็จ อยู่ถึง ๑๘๐ วัน และอัยการก็รับสำนวนอันเป็นเท็จนั้นไปประติดประต่อเพื่อสรุปเขียนคำฟ้องอยู่อีก ๓๔ วัน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๔๙๑ โดยนายเฉลียว ปทุมรส เป็นจำเลยที่ ๑ นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ ๒ และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ ๓ ฐานความผิดสมคบกันประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพทุบายเท็จเพื่อปกปิดการกระทำผิด

คำฟ้องมีทั้งหมด ๕ ข้อ ลงนามโดยหลวงอรรถปรีชาธนูปการ (ฉอ้อน แสนโกสิก) โจทก์ ในจำนวน ๕ ข้อนี้ ข้อ ๓ ระบุความผิดไว้ดังนี้

"(ก) เมื่อระหว่างวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๙ เวลาใดไม่ปรากฏถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลากลางวัน จำเลยทั้ง ๓ นี้ กับพรรคพวกดังกล่าว (หมายถึงท่านปรีดี พนมยงค์ และเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช) ได้ทนงองอาจสมคบกันคิดการตระเตรียมจะกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยพรรคพวกดังกล่าวกับจำเลยได้ประชุมกันปรึกษาวางแผนการ และตกลงกันในอันที่จะกระทำการปลงพระชนม์เมื่อใด และให้ผู้ใดเป็นผู้รับหน้าที่ร่วมกันไปกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และจำเลยที่ ๓ นี้ ได้บังอาจช่วยกันปกปิดการสมคบกันจะประทุษฐร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว และจำเลยหาได้เอาความนั้นไปร้องเรียนไม่ เหตุเกิดที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร”

โจทก์ได้นำสืบในเวลาต่อมาว่า สถานที่ที่จำเลยและพวกไปประชุมวางแผนการปลงพระชนม์นั้น คือบ้านของ พล.ร.ต.พรรยา ศรยุทธเสนี ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และพยานโจทก์ปากเอกที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวนี้คือ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ซึ่งอ้างว่าได้อาศัยอยู่ในบ้านพระยาศรยุทธเสนีก่อนเกิดกรณีสวรรคต

ต่อคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกของโจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นโดย พล ต.ต.พินิจชนคดีและคณะ (ดูรายละเอียดได้จากหนังสือของผมหลายเล่มที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต-สุพจน์ ด่านตระกูล) ซึ่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังคำเบิกความนั้น แม้ศาลฎีกาถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธคำเบิกความของตี๋ ศรีสุวรรณ อย่างสิ้นเชิงอย่างเช่นศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาก็ไม่ยืนยันว่าคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นความจริง ดังข้อสรุปคำวินิจฉัยของ ๓ ศาลต่อคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ว่าดังนี้

คำพิพากษาของศาลอาญา ในคดีคำที่ ๑๘๙๘/๒๔๙๑ คดีแดงที่ ๑๒๖๖/๒๔๙๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๔ ว่าดังนี้

"ใครเลยจะเชื่อฟังคำนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นความจริงไปได้กลับจะยิ่งเห็นนิสัยของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ถนัดขึ้นไปอีกว่าเข้าลักษณะที่เรียกกันว่าคุยโม้เสียแน่แล้ว"

ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไว้ในคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๕๖/๒๔๙๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๖๓๖/๒๔๙๔ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ว่าดังนี้

"ยิ่งคิดไปก็ไม่มีทางที่ศาลอุทธรณ์จะรับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ตอนนี้ได้"

ศาลฎีกา ได้มีความเห็นในคำเบิกความของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ไว้ในคำพิพากษาลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ โดยสรุปว่าดังนี้

"ในเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ (คำของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ที่อ้างว่าได้ยินจำเลยกับพวกพูดจาวางแผนปลงพระชนม์กันว่าอย่างนั้นอย่างนี้-ผู้เขียน) ศาลเห็นว่า จะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นแน่อย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ถนัด"

จากคำวินิจฉัยของ ๓ ศาล ในประเด็นตามฟ้องของโจทก์ข้อ ๓ (ก) ที่ว่า "จำเลยทั้ง ๓ กับพวกได้ทนงองอาจสมคบกันคิดการตระเตรียมจะกระทำการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยพรรคพวกดังกล่าวกับจำเลยได้ประชุมกันปรึกษาวางแผนการ" และผู้ที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้รู้เห็นการวางแผนการนี้คือ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ซึ่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธไม่รับฟังคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง ดังที่ยกมาข้างต้นนั้น

ส่วนศาลฎีกา ถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงต่อคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ อย่างที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ปฏิเสธมาแล้ว แต่ศาลฎีกาก็ไม่ได้รับว่าคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ อันเป็นโครงสร้างของคดีนี้ว่าเป็นความจริง ศาลฎีกาความเห็นแต่เพียงว่า "ศาลเห็นว่าจะฟังความหรือถ้อยคำที่พูกันให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดยังไม่ถนัด"

เมื่อฟังไม่ถนัด ตามหลักนิติธรรม ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย

นั่นคือ จำเลยกับพวกไม่ได้มีการวางแผนการปลงพระชนม์กันที่ (บ้าน พล ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี) ตำยลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ตามฟ้องของโจทก์ก็ ๓ (ก) และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าได้มีการวางแผนการปลงพระชนม์กันที่อื่นอีก

นอกจากนี้มือปืนที่ลอบปลงพระชนม์โจทก์พยายามนำสืบให้เห็นเป็นว่ามือปืนผู้นั้นคือ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช หนึ่งในห้าคนที่ร่วมวางแผนการปลงพระชนม์ ณ บ้าน พล ร.ต. พระยาศรยุทธเสนีนั้น ซึ่งโจทก์มีพยานนำสืบ ๒ ชุด แต่ศาลฎีกาได้พิพากษาฟันธงลงไปว่า "พยาน ๒ ชุดนี้ ยังไม่เป็นหลักฐานพอที่จะได้ชี้ว่าใครเป็นผู้ลงมือลอบปลงพระชนม์"

จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ได้มีการวางแผนปลงพระชนม์กันที่บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ตามฟ้องของโจทก์ข้อ ๓ (ก) และตามการนำสืบพยานของโจทก์

อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ในกร๊ไม่ยอมรับคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกของโจทก์ว่าเป็นความจริงนั้น นอกจากจะได้รับการยืนยันจากบันทึก (ลับ) ของ พล.ร.ต. พระยาศรียุทธเสนี ซึ่งได้เปิดเผยต่อสาธารชนไปแล้ว ตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ ยังได้ไปสารภาพบาปกับท่านปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทาน อ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ขณะที่ตัวนายตี๋ ศรีสุวรรณ เองอายุได้ ๑๐๒ ปี ว่าไปเป็นพยานเท็จในคดีสวรรคตทำให้ผู้บริสุทธิ์ ๓ คน ต้องถูกประหารชีวิต และนายตี๋ ศรีสุวรรณ ยังได้ให้บุตรเขยเขียนจดหมายไปขอขมาท่านปรีดีฯ ที่ปารีส ข้อความรายละเอียดในจดหมายว่าดังนี้

บ้านเลขที่ ๒๓๘๖
ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ
๒๕ มกราคม ๒๕๒๒
เรียน นายปรีดี ที่นับถือ
นายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นพ่อตาของผม ขอให้ผมเขียนจดหมายถึงท่าน นายตี๋เขียนจดหมายไม่ได้ เมื่อครั้งไปให้การที่ศาลก็ได้แค่เซ็นชื่อตัว ต. และพิมพ์มือเท่านั้น นายตี๋จึงให้ผมซึ่งเป็นบุตรเขยเขียนตามคำบอกเล่าของนายตี๋ เพื่อขอขมาลาโทษต่อท่าน นายตี๋ให้การต่อศาลว่านายปรีดี นายวัชรชัย นายเฉลียว นายชิด นายบุศย์ ไปที่บ้านพระยาศรยุทธ ข้างวัดชนะสงคราม เพื่อปรึกลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ไม่เป็นความจริง นายตี๋เอาความไม่จริงมาให้การต่อศาล เพราะพระพินิจให้เงินนายตี๋ ๕๐๐-๖๐๐ บาท และให้นายตี๋กินอยู่หลับนอนอยู่ที่สันติบาลประมาณสองปีเศษ เดิมพระพินิจบอกว่าจะให้ ๒ หมื่นบาท เมื่อเสร็จคดีแล้วพระพินิจก็ไม่จ่ายให้อีกตามที่รับปากไว้ เวลานี้นายตี๋รู้สึกเสียใจมากที่ทำให้สามคนตาย และนายปรีดีกับนายวัชรชัยที่บริสุทธิ์ต้องถูกกล่าวหาด้วย นายตี๋ได้ทำบุญกรวดน้ำให้กับผู้ตายเสมอมา แต่ก็ยังเสียใจไม่หาย เดี๋ยวนี้ก็มีอายุมากแล้ว (๑๐๒ ปี-ผู้เขียน) อีกไม่ช้าก็ตาย จึงขอขมาลาโทษท่านปรีดี นายวัชรชัย นายชิต และนายบุศย์ ที่นายตี๋เอาความเท็จมาให้การปรักปรำ ขอได้โปรดให้ขมาต่อนายตี๋ด้วย
ข้อความทั้งหมดนี้ ผมได้อ่านให้นายตี๋ฟังต่อหน้าคนหลายคนในวันนี้ เวลาประมาณ ๑๑ น.เศษ และได้ให้นายตี๋พิมพ์ลายมือนายตี๋ต่อหน้าผมและคนฟังด้วย
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
เลื่อน ศิริอัมพร
ต. (พิมพ์ลายนายตี๋)

แต่ทั้ง ๆ ที่ศาลอาญาไม่เชื่อคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานปากเอกของโจทก์ว่าได้มีการวางแผนปลงพระชนม์ กันที่บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ตามฟ้องของโจทก์ข้อ ๓ (ก) แต่ศาลอาญาก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวินนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ ๒ ด้วยความผิดต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ตอนสอง และปล่อยตัวนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ ๑ กับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ ๓ พ้นข้อหาไป

ต่อมาศาลอุทธรณ์ ทั้ง ๆ ที่ในคำพิพากษานั้นได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ไม่เชื่อคำให้การของนายตี๋ ศรีสุวรรณ เช่นเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ก็ได้แก้คำพิพากษาศาลอาญา ให้ประหารชีวิตนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ ๓ ร่วมเข้าไปด้วย ด้วยความผิดต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ตอนสอง คงปล่อยพ้นข้อหาไปแต่นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ ๑

ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอ้างกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ตอนสอง มาลงโทษนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ ๓ นั้น ศาลอุทธรณ์ได้อ้างคำให้การของนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ได้ให้การไว้เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๐ (ต่อพนักงานสอบสวน-ผู้เขียน) มีความว่า

"ในการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ นี้ ถ้าเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาลอบปลงพระชนม์ จะต้องมีมหาดเล็กหรือบุคคลภายในเป็นสายชักจูงนำเข้ามาจึงจะทำการได้สำเร็จ ถ้าเป็นคนภายในลอบปลงพระชนม์แล้ว ย่อมทำได้สะดวกกว่าบุคคลภายนอก สำหรับบุคคลภายในที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ก็มีแต่ข้าฯ กับนายบุศย์สองคนเท่านั้น หากว่าจะมีความผิดในกรณีสวรรคตนี้แล้วก็มีข้าฯ กับนายบุศย์สองคนนี้เท่านั้นที่จะต้องรับผิดอยู่ด้วย..." (เพราะสองคนนี้ นั่งอยู่หน้าประตูหน้าห้องพระบรรทม ขณะเกิดเหตุ และทางเข้าห้องบรรทมในขณะนั้นก็มีอยู่ทางเดียว คือทางประตูที่นายชิต-นายบุศย์ นั่งเฝ้าอยู่-จากคำพิพากษา)

ส่วนศาลฎีกาพิพากษาฟันธงลงไปเลยให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน ในความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ตอน ๒

กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๗ ตอน ๒ ว่าไว้ดังนี้

"ผู้ใดทะนงองอาจกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงต้องประหารชีวิต"

"ผู้ใดพยายามจะกระทำการประทุษร้ายเช่นว่ามาแล้ว แม้เพียงตระเตรียมการก็ดี สมคบกันเพื่อการประทุษร้ายนั้นก็ดี หรือสมรู้เป็นใจด้วยผู้ประทุษร้าย ผู้พยายามจะประทุษร้ายก็ดี มันรู้ว่าผู้ใดคิดประทุษร้ายเช่นว่ามานี้ มันช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นก็ดี ท่านว่าโทษมันถึงตายดุจกัน)

แต่คำฟ้องของโจทก์ข้อ ๓ (ก) และการนำสืบพยานของโจทก์ว่าจำเลยทั้ง ๓ กับพวก (หมายถึงท่านปรีดีฯ และเรือเอกวัชรชัยฯ) ได้ไปประชุมวางแผนการปลงพระชนม์กันที่บ้าน พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ท้องที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ระหว่างวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๙ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ แต่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาดังที่อ้างมาแล้วข้างต้นนั้นว่าไม่เชื่อถือคำเบิกความของพยานโจทก์ และศาลฎีกาแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธคำเบิกความของพยานโจทก์อย่างสิ้นเชิงอย่างเช่น ๒ ศาลที่ผ่านมาก็จริง แต่ศาลฎีกาก็ได้ชี้ออกมาอย่างชัดเจนว่า "ศาลเห็นว่าจะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นอย่างหนึ่งใดยังไม่ถนัด" และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าได้มีการวางแผนการปลงพระชนม์กัน ณ ที่ได้อีก

เมื่อฟังไม่ถนัด ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย ตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์คนเดียว" แต่ศาลฎีกาท่านฟันธงลงไปให้ประหารชีวิต จำเลยทั้ง ๓ คน โดยอ้างความผิดของจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๙๗ ตอน ๒ ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๗ ตอน ๒ ว่าไว้ประการใดขอให้ย้อนกลับไปอ่านอีกที

ใช่แล้ว, นายชิดชต สิงหเสนี จำเลยที่ ๒ ได้ให้การไว้อย่างชัดเจนว่า ขณะเกิดเหตุมีเขากับนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ ๓ สองคนเท่านั้น ที่นั่งอยู่หน้าประตูทางเข้าออกห้องพระบรรทม และได้ให้ความเห็นไว้ว่า "หากว่าจะมีความผิดในกรณีสวรรคตนี้แล้ว ก็มีข้าฯ กับนายบุศย์สองคนเท่านั้นที่จะต้องรับผิดอยู่ด้วย"

ใช่แล้ว, กรณีสวรรคตเกิดขึ้นจริงในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๐๙.๒๕ น. เหตุเกิด ณ ห้องพระบรรทม บนพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และแม้ว่าขณะเกิดเหตุนายชิต-นายบุศย์ จำเลยนั่งอยู่หน้าประตูทางเข้าห้องพระบรรทมก็จริง แต่ก็ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดด้วย (ดังคำวินิจฉัยของศาลที่ยกมาข้างต้น) สำหรับนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ ๑ นั้น นอกจากจะไม่ได้สมรู้ร่วมคิดเช่นเดียวกับนายชิต-นายบุศย์ จำเลยทั้ง ๒ นั้นแล้ว ในเช้าวันเกิดเหตุ นายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ ๑ อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุนั้นนับสิบกิโลเมตร และลาออกจากราชการไปแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมนายเฉลียว ปทุมรส จึงถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตด้วย นอกเสียจากว่านายเฉลียว ปทุมรส เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และเป็นคนจังหวัดอยุธยาเช่นเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ก็เท่านั้นเอง

ดังนั้น เมื่อนายเฉลียว ปทุมรส ถูกจับในคดี ๑๐ พศฤจิกายน ๒๔๙๕ พ.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร ผู้ไปจับกุมได้ค้นพบบันทึกลับของ พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ที่ระบุว่า ท่านถูกพระพินิจชนคดีบีบบังคับให้เป็นพยานเท็จ (ถ้าไม่ยอมเป็นพยานจะเอาเป็นผู้ต้องหาด้วย) ปรักปรำผู้บริสุทธิ์ พ.ต.อ. เยื้อนฯ จึงถามคุณเฉลียวฯ ว่า ทำไมไม่หนีไปเสีย (ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์สั่งปล่อยพ้นข้อหาขณะนั้นคดีอยู่ระหว่างศาลฎีกา) คุณเฉลียวตอบอย่างนักเลงอยุธยาว่า "ผมจะหนีทำไม ในเมื่อผมบริสุทธิ์" และคุณเฉลียวก็ต้องตายเพราะความบริสุทธิ์นั้นเอง

No comments: