Friday, February 23, 2007

บทความที่ ๖๗. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๓

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
เข้าสู่วัยหนุ่ม
การดำรงชีพอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศโดย เฉพาะอาชีพที่ต่ำต้อยหาเช้ากินค่ำจึงเป็นเรื่องที่ลำบากขึ้นทุกที รามจิจึงคิดที่จะหาทางขยับขยายไปทำงานในเมืองใหญ่ รามจิเห็นว่าการที่เขาจะยังรับจ้างเป็นกรรมกรอยู่ในตำบลเล็กๆอย่างนั้น เขาก็คงจะไม่สามารถช่วยการศึกษาลูกได้เลย จึงคิดจะติดตามลูกสาวเขาไปอยู่ในเมืองบอมเบย์โดยหวังใจว่าในเมืองใหญ่งานกรรมกรคงจะมีมาก รามจิไม่เคยกลัวงานไม่ว่างานใดขอแต่เพียงให้เป็นงานที่บริสุทธิ์ ถึงจะหนักหนาเพียงใดก็ยินดีสู้ สิ่งที่เขากลัวคือไม่มีงาน และในช่วงนี้พิมก็กำลังเรียนและนับวันจะโตเป็นหนุ่มขึ้นทุกวัน การศึกษาของเขากำลังก้าวหน้าได้รับคำชมเชยจากผู้ปรารถนาดีทุกคน ถ้าเรียนจบมัธยมแล้วหากอยังอยู่ในชนบทเล็กๆก็จะมีปัญหาเรื่องสถานที่เรียนต่อ เหล่านี้เป็นเหตุสนับสนุนให้รามจิตัดสินใจย้ายถิ่นฐานเข้าอยู่ในบอมเบย์

ในเมืองใหญ่ ย่อมเป็นสวรรค์ของคนร่ำรวยผู้มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยวัตถุมาสนองความต้องการแห่งตน แต่สำหรับคนยากจน จะหาความโอบอ้อมอารี ความเห็นอกเห็นใจจากคนในเมืองใหญ่นั้นแสนยาก เมื่อความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้นเพียงใด ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ก็มากขึ้นเท่านั้น สำหรับรามจิเมื่อย้ายเข้าเมืองใหญ่มาได้ไม่กี่วัน เขาก็ไปปลูกกระท่อมเล็กๆอยู่ชานเมือง สถานที่นั้นเป็นแหล่งที่อยู่ของพวกกรรมกร คนไร้การศึกษา เป็นสลัมและสกปรก แต่เขาก็พอใจที่ยังมีโอกาสได้ปลูกกระท่อมอยู่อาศัย พอได้ที่อยู่อาศัยและได้งานทำแล้ว สิ่งที่รามจิห่วงมากก็คือการศึกษาของลูกๆโดยเฉพาะพิม รามจิจึงนำลูกไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งชื่อว่า “มาระธา ไฮสกูล” (Maratha High School) เนื่องจากพิมได้รับการเอาใจใส่จากบิดาเกี่ยวกับการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักภาษามาระธีและภาษาอังกฤษดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น แม้มาอยู่ในโรงเรียนนี้พิมก็ยังคงสอบได้เป็นที่หนึ่งในวิชานี้อีก

นักปราชญัทั้งหลายต่างก็ยอมรับกันว่า การอ่านหนังสือทำให้คนเป็นคนสมบูรณ์ การอ่านทำให้เกิดปัญญาและซาบซึ้งในหลักวิชาการต่างๆ นักปราชญ์ของโลกทุกคนจะต้องเป็นคนมีนิสัยรักการอ่าน พิมก็มีนิสัยรักการอ่านหนังสือมาแต่เด็กๆ เมื่อได้เข้ามาอยู่ในบอมเบย์แล้ว พิมพยายามหาหนังสือเก่าๆที่วางขายอยู่ตามข้างถนนราคาถูกๆมาอ่าน พิมอ่านหนังสือทุกชนิด หนังสือเล่มใดที่ตามที่เขาได้จับอ่าน เขาจะต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นให้จบ เขาเชื่อว่า หนังสือเป็นมิตรที่ดีและซื่อสัตย์ ไม่เคยคิดทรยศต่อผู้อ่านเลยสักรายเดียว (แต่หนังสือที่ว่านั้นจะต้องเป็นหนังสือที่มุ่งให้สัจจะข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน หาใช่หนังสือขยะที่มอมเมา หลอกลวงผู้อ่านให้จมวังวนกับความเท็จ การเอาเปรียบทางชนชั้น-แด่บรรพชนฯ)

ในตอนนี้พิมจึงกลายเป็นหนอนหนังสือไปแล้ว แต่ปัญหามีว่าฐานะจนๆอย่างพิมนั้น ไม่ใช่จะเป็นเรื่องง่ายเลยที่จะหาเงินมาซื้อหนังสืออ่านแต่ละเล่มได้ หนังสือบางเล่มบางวิชาก็อ่านไม่ได้เพราะอธิศูทรไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องหนังสือที่สงวนไว้สำหรับพวกวรรณะพราหมณ์ แม้จะเข้าไปห้องสมุดก็ทำไม่ได้ เพราะอธิศูทรอย่างพิมผู้รักษาห้องสมุดหรือบรรณารักษ์จะไม่อนุญาตให้เข้าไปเป็นอันขาด จามจิผู้เป็นบิดาต้องกัดฟันต่อสู้ ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้มีรายได้พอเป็นค่าอาหารแต่ละวันและยังต้องแบ่งมาซื้อหนังสือให้ลูกได้อ่าน บางทีรามจิต้องอดอาหารยอมเก็บเงินเพื่อเป็นค่าหนังสือให้ลูก บางเดือนทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะเจ็บป่วยหรือดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจจึงไม่สามารถจะหาเงินมาเจียดไว้ซื้อหนังสือ เขาก็ตัดใจนำทรัพย์สินที่มีอยู่เล็กๆน้อยๆไปจำนำมาซื้อหน้งสือ เขามีความปรารถนาและเพ้อฝันอย่างแรงกล้าที่จะเห็นความก้าวหน้าในการศึกษาของลูก

บรรยายกาศของโรงเรียนมาระธาไฮสกูล ก็เหมือนกับโรงเรียนบ้านนอกที่พิมเคยประสบมา ตอนแรกๆไม่มีใครรู้ว่าพิมเป็นอธิศูทร เพราะเขาได้ใช้นามสกุลเอ็มเบ็ดก้าร์แล้ว จึงไม่มีใครรังเกียจ พอต่อมามีคนรู้ว่า พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ นั้นแท้ที่จริงก็คือ พิม สักปาล อธิศูทรที่คนในวรรณะอื่นพากันขยะแขยงที่สุด ถึงแม้พิมจะเรียนหนังสือเก่ง พวกครูทั้งหลายก็ไม่ต้องการที่จะสอนและให้ความสนับสนุนแก่พิม เขาต้องกัดฟันอดทนต่อสู้กับบรรยากาศอันน่าเศร้าของโรงเรียนต่อไปด้วยน้ำใจอันทรหด

รามจิคิดว่า ถ้าหากเขาจะพาลูกไปสมัครเข้าโรงเรียนรัฐบาลคงจะทำให้บรรยากาศของโรงเรียนดีขึ้น จึงตัดสินใจพาพิมไปฝากเข้าที่โรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ชื่อว่าโรงเรียน เอลฟินสตั้น ไฮสกูล (Elphinston High School ปัจจุบันเป็นวิทยาเขตที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่ง ของมหาวิทยาบอมเบย์ และที่หน้าวิทยาเขตแห่งนี้ มีอนุสาวรีย์ของเอ็มเบ็ดก้าร์ยืนอยู่อย่างสง่างาม

ถึงแม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนรัฐบาลก็ตาม บรรยากาศของโรงเรียนทั้งครูและนักเรียนก็ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบวรรณะอยู่นั่นเอง ความรังเกียจความดูถูกต่างๆ ที่พิมเคยได้รับจากโรงเรียนอื่นๆ ก็ยังคงได้รับในโรงเรียนนี้อยู่เหมือนกัน วันหนึ่ง ภาพที่สร้างความรันทดให้แก่พิมก็เกิดขึ้น สาเหตุก็มาจากความเป็นอธิศูทรของเขานั่นเอง ในวันนั้นครูประจำชั้นได้เรียกให้พิมไปยืนหน้าชั้นเพื่อทำแบบฝึกหัดบนกระดานดำให้นักเรียนคนอื่นๆดู ทันใดก็เกิดเสียงอึกทึกครึกโครมดังลั่นขึ้นในห้องเรียน เพราะเด็กนักเรียนฮินดูในวรรณะอื่นได้พากันเอาปิ่นโตหรือกล่องอาหารเก็บไว้หลังกระดานดำเป็นประจำ และเมื่อครูเรียกให้พิมออกไปเขียนที่กระดานดำ นักเรียนเหล่านั้นจึงพากันลุกฮือและวิ่งไปที่กระดานดำ เพื่อเอาปิ่นโตหรือกล่องอาหารของตนออกไป ทำให้ชั้นเรียนวุ่นวายไปหมด ภาพนั้นทำให้พิมน้อยใจในความอาภัพที่เกิดมาเป็นลูกอธิศูทร นอกจากเพื่อนนักเรียนจะไม่เป็นมิตรกับพิมแล้ว ครูบางคนก็พยายามพูดจาเป็นทำนองให้พิมเกิดความท้อแท้ใจ เพื่อจะได้ลาออกไปเสีย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พิมผิดหวังมากก็คือ เมื่อเขาถูกตัดสิทธิที่จะเรียนภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่สอง ซึ่งภาษานี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขตู้คัมภีร์พระเวท แต่กลายเป็นภาษาที่ห้ามอ่านหน้าเขียน ห้ามฟังสำหรับอธิศูทรอย่างเคร่งครัด ทั้งๆที่คัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์อันสำคัญของศาสนาฮินดู แต่เหตุไฉนผู้สอนศาสนาของฮินดูจึงห้ามศาสนิกของตนเองเรียนรู้คำสอนของศาสนา (เรื่องนี้ควรจะนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาในแง่ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง คำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแพร่หลายไปยังคนทุกชั้นวรรณะ เคยมีผู้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแสดงธรรมเป็นภาษาที่ใช้ในหมู่สังคมของคนวรรณะสูงเท่านั้น แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม เพราะพระธรรมย่อมต้องเป็นประโยชน์แก่สัตว์ ทั้งหลายโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ แล้วแต่ปัญญาและการสะสมของบุคคลนั้นๆว่าสามารถเข้าใจพระธรรมได้มากน้อยเพียงใด และในประเทศไทยทุกวันนี้การศึกษาภาษาบาลีเป็นเรื่องเปิดเผย ชักชวนให้มีการศึกษาภาษาบาลีให้มากเพื่อรักษาพระไตรปิฎกให้ถูกต้อง โปรดดูความสำคัญของรักษาพระไตรปิฎก http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_1332.html )

เมื่อโอกาสที่ศึกษาภาษาสันสกฤตได้ปิดตาย (แต่ต่อมาภายหลัง พิมได้ศึกษาสันสกฤตด้วยตนเองจนแตกฉานเป็นผู้มีความรู้ดีในภาษานี้ผู้หนึ่ง)เขาจึงเลือกไปศึกษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่สอง เมื่อพิมประสบปัญหาต่างๆในโรงเรียนเช่นนี้ แทนที่จะเขาเบื่อหน่ายท้อแท้เหมือนเมื่อกอ่น เขากลับมีวิริยะยิ่งขึ้น หวังจะเอาชนะลูกคนวรรณะอื่นๆด้วยผลการเรียน พอกลับมาถึงบ้านเขาก็จะหมกตัวอยู่กลับตำรา แต่ก็ทำไม่ได้สมความคิด เพราะพิมพักอาศัยอยู่กับรามจิในกระท่อมเล็กๆซึ่งมีเพียงห้องเดียว รามจิจึงได้ขบคิดแก้ปัญหาการเรียนของพิมแบบง่ายๆและก็ได้ผลคือ ให้พิมเข้านอนแต่หัวค่ำ ตัวรามจิเองจะทำงานเบ็ดเตล็ดหรือถ้าไม่มีงานอะไรทำแล้ว เขาก็จะนั่งเฉยๆจนตีสอง และจึงปลุกพิมตื่นขึ้นดูหนังสือ และรามจิก็จะเข้านอน พิมจะใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ไม่มีโป๊ะจุดดูหนังสือ เวลามีลมพัดมาก็จะใช้กระดาษบัง อีกทั้งยังต้องระมัดระวังไม่ให้ตะเกียงน้ำมันกลายเป็นต้นเพลิงเผากระท่อมของเขาและเพื่อนบ้าน เพราะสลัมอย่างนั้นติดไฟง่ายมาก
พิมจะดูหนังสือไปจนสว่าง แล้วนอนพักผ่อนเอาแรงตอนเช้าอีกนิดหน่อย จึงอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน (เวลาราชการในอินเดียเริ่ม ๑๐.๐๐ น. และเลิก ๑๘.๐๐ น.) ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรประจำ ด้วยความมานะบากบั่นของพิมและความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของรามจิบิดา ในที่สุด พิมก็สอบไล่ได้ชั้นมัธยมสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วยเปอร์เซ็นต์สูงมาก โดยเฉพาะวิชาภาษาเปอร์เซีย

การสอบไล่ได้ชั้นมัธยมบริบูรณ์นี้ มิใช่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกอธิศูทรเลย ดังนั้นบ้านใกล้เรือนเคียงจึงจัดฉลองเพื่อให้พิมมีกำลังใจและทั้งจะได้เป็นตัวอย่างของอธิศูทรอื่นๆต่อไป ทั้งนี้ในช่วงนั้นได้มีนักปฏิรูปสังคม (Social Reformer) หลายท่านที่กำลังมีชื่อเสียงต่างก็มีความปรารถนาดีต่อพิม จึงได้สอบถามรามจิว่าจะส่งพิมศึกษาต่อในขั้นนมหาวิทยาลัยหรือเปล่า รามจิได้ตอบท่านผู้หวังดีเหล่านั้นอย่างหนักแน่นว่า ถึงแม้เขาจะยากจน มีฐานะความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสน แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ จะพยายามส่งลูกเรียนให้จบปริญญาให้จงได้

No comments: