Friday, February 9, 2007

บทความที่ ๕. ดร.วิเชียร วัฒนคุณ ผู้ยืนยันเสนอชื่อท่านปรีดีต่อยูเนสโก

สัมภาษณ์ ดร.วิเชียร วัฒนคุณ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส


สารคดี อยากทราบประวัติการต่อตั้งโรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ฯ หรือ ตมธก. และความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับอาจารย์ปรีดี

ดร.วิเชียร ...ผมเข้า ตมธก. ปี ๒๔๘๗ เป็นช่วงสงครามโลก มีนักเรียนพันกว่าคนทำให้ตึกเรียนไม่พอ ต้องเรียนกันที่โรงจากซึ่งมารู้ภายหลังว่าใต้โรงเรียนลงไปเป็นที่เก็บซ่อนทองคำของไทยไม่ให้พวกญี่ปุ่นรู้ ผมเรียนได้เพียงหนึ่งปีก็เริ่มมีการทิ้งระเบิดหนักมาก โรงเรียนต่างๆพากันปิดหมด โรงเรียนหลายแห่งโดนระเบิดลง จำได้ว่าโรงเรียนวชิราวุธอาคารเรียนพังไปหนึ่งหลัง ธรรมศาสตร์ไม่โดน ผมได้เรียนทางไปรษณีย์ ดังนั้นโอกาสที่ได้ใกล้ชิดผู้บริหารจึงมีน้อย ช่วงที่ยังเรียนหนังสืออยู่ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ได้พบท่านปรีดี คือในวันไหว้ครู เพราะถือว่าท่านเป็นผู้ประศาสน์การ ไม่เฉพาะธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่รวมถึง ตมธก. แต่ไม่รู้ว่าท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทย พวกเขาปิดกันดีเหลือเกิน

สมัยนั้นอาจารย์ปรีดีต้องการให้ธรรมศาสตร์สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน โดยรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธรรมศาสตร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ก็ยังมีรายได้มาจากค่าเล่าเรียนซึ่งเก็บถูกมาก และรายได้อีกทางมาจากการขายคำบรรยาย ราคาถูกแต่อาศัยขายได้จำนวนมาก โดยที่ท่านปรีดียกโรงพิพม์ของท่านซึ่งพิมพ์หนังสือกฎหมายให้เป็นแหล่งรายได้อีกแหล่ง ช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พอรัฐประหารปี ๒๔๙๐ ท่านก็ออกนอกประเทศ ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับท่านเมื่อท่านมาอยู่ฝรั่งเศส ผมเป็นทูตไทยประจำปารีสในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ผมสนิทกับคุณปาลลูกชายท่าน ท่านเห็นผมมาด้วยความคราวะ เห็นท่านเป็นครูบาอาจารย์ ท่านก็สบายใจ ไม่ใช่คนที่จะมาจับผิด ท่านพูดคุยเล่าอะไรต่างๆ ให้ฟังด้วยความสนิทสนม ความคิดอ่านยังแจ่มใส ที่ผมประทับใจท่านก็คือ ท่านไม่ว่าไม่ตำหนิติเตียนคนที่ทำให้ท่านเดือดร้อนเลย

ต่อมาท่านปรีดีกับท่านผู้หญิง(พูนศุข) มาเยี่ยมผมที่บ้าน ทำให้รู้สึกอบอุ่น เพราะท่านไม่ถือศักดิ์ จากนั้นก็ไปมาหาสู่กันตลอด ผมจำได้ว่าหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ลูกสาวกรมพระยาดำรงฯ ได้มาปารีสและบอกว่าอยากไปเยี่ยมท่านปรีดี ซึ่งทางครอบครัวของกรมพระยาดำรงฯ กับท่านปรีดีมีความสนิทสนมกันอยู่ก่อนแล้ว ท่านหญิงพูนพิศมัยเล่าว่า ท่านปรีดีได้มีส่วนเกื้อกูลทางครอบครัวของกรมพระยาดำรงฯเป็นอย่างดีตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ในระหว่างสงครามท่านก็ไปเยี่ยมเยียน ดูแลทุกข์สุข ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างอย่างเต็มใจ ช่วงที่ระเบิดลงหนัก ท่านปรีดีก็ได้ทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ไปพักที่พระราชวังบางปะอิน โดยทุกเสาร์-อาทิตย์ ท่านก็จะไปเยี่ยม พูดคุย ให้ความสะดวกปลอดภัยทุกอย่าง ทั้งที่ท่านเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ท่านก็ห่วงใยอาทร ราชวงศ์

นอกจากท่านหญิงพูนฯ ก็มีพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคคลที่สนิทสนมกับท่านปรีดีมาก ดังนั้นการที่กล่าวหาว่าท่านปรีดีแอนตี้หรือไม่ชอบเจ้านั้นไม่จริง ในวันเฉิลมพระชนมพรรษา ท่านปรีดีมาลงชื่อถวายพระพรที่บ้านทูตตั้งแต่เช้า ในฐานะคนไทย ข้าราชการไทยคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดี

สารคดี ทราบว่าอาจารย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเสนอชื่ออาจารย์ปรีดี เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก

ดร.วิเชียร ผมมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก โดยเริ่มจากชมรม ตมธก. สัมพันธ์ เป็นผู้จุดประกายให้ผู้บริหารธรรมศาสตร์ซึ่งไม่เคยใกล้ชิดท่าน จากนั้นทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการจัดงานขึ้นมา ในเรื่องการเสนอชื่อท่านเป็นบุคคลสำคัญต่อยูเนสโกนั้น ผมเป็นประธานอนุกรรมการ โดยเสนอไปให้รัฐบาลพิจารณาในยุคที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมคิดว่าท่านเป็นนักประชาธิปไตยทีเดียว และยังมีรัฐมนตรีคือ ดร.โภคิน พลกุล ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้รัฐบาลพลเอกชวลิต ทุ่มให้แก่งานนี้เต็มที่ มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำให้งานนี้มีน้ำหนักมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ในส่วนอนุกรรมการฝ่ายเสนอชื่อเราก็ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยให้การดำเนินเรื่องกับยูเนสโกเป็นไปด้วยดี เราก็เสนอชื่อไปตามขั้นตอนต่างๆ เมื่อสองสามปีก่อน(ก่อนปี ๒๕๔๓) พอหลังจากเสนอชื่อเข้าไป ยูเนสโกก็ออกระเบียบใหม่ คือ แทนที่จะเสนอชื่อเข้าไปที่คณะกรรมการชุดใหญ่เลย ก็ต้องผ่านไปทางคณะกรรมการกลั่นกรองเสียก่อน เราก็เสนอชื่อเข้าไปใหม่ที่คณะกรรมการกลั่นกรอง ปรากฏว่าในรายชื่อที่คณะกรรมการกลั่นกรองแถลงออกมาไม่มีชื่อท่านปรีดี มีเพียงสมเด็จพระศรีนครรินทร์ฯ ดังนั้นทางเราก็เตรียมที่จะไปแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในยูเนสโก แต่เห็นว่าเราควรต้องไปชี้แจงกับท่านนายกฯ ชวน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์และเป็นลูกศิษย์ของผมด้วย ในทันทีที่เราขอพบ ท่านก็พร้อมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกผมขอหนังสือจากนายกฯชวน เรียนถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก เพื่อที่จะยืนยันนโยบายของรัฐบาลว่าเราเสนอไปสองท่าน ไม่ต้องการให้ตัดท่านใดออกไป ผมเป็นคนถือหนังสือไปเอง ส่วนขั้นตอนที่ ๒ คือ ผมจะขออนุญาตเข้าไปแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโกเหมือนเป็นทนายเข้าไปแถลง ในระหว่างนั้นเรามีโอกาสได้พบผู้แทนหลายประเทศ เมื่อเราได้แถลงในที่ประชุมก็มีประเทศต่างๆ ให้ความสนับสนุนสิบกว่าประเทศ ทำให้เราได้พลิกสถานการณ์ที่ถูกลบชื่อออกไปให้กลับคืนมา ในระหว่างที่ผมดำเนินการแม้จะมีผู้ประท้วงอะไรต่างๆมาบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเราสามารถขจัดออกไปได้ ที่จริงอันนี้ก็เป็นบารมีของท่านอาจารย์ปรีดีที่คงจะไม่มีใครมาลบเลือนไปได้

ในกรณีที่ยูเนสโกให้การรับรองในสิ่งนี้ก็เป็นการยืนยันถึงเกียรติคุณต่างๆ ของท่านได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในบั้นปลายชีวิตของท่านจะถูกกระแสการเมืองต่างๆ ทำให้ต้องผจญกับความยากลำบากถึงกับต้องไปเสียชีวิตในต่างแดน ผมคิดว่าท่านเป็นคนแบบมหาตมคานธี ท่านมีส่วนในการพลิกสถานการณ์บ้านเมือง ทำให้คนหันมายึดหลักเสรีภาพ ภราดรภาพ ประชาธิปไตย ในการที่จะให้ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ เพียงแต่ท่านไม่อาจทำไปได้ตลอด

(จากหนังสือสารคดี เดือนเมษายน ๒๕๔๓ ร้อยปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)

No comments: