Thursday, February 15, 2007

บทความที่ ๕๐. สงครามอินโดจีน ตอนที่ ๓

สงครามอินโดจีน : สงครามเวียดนามเหนือ-เวียดนามใต้

หลักจากเวียดมินห์และฝรั่งเศสยอมนั่งโต๊ะเจรจาข้อตกลงที่เจนีวา ซึ่งให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนชั่วคราวโดยใช้เส้นขนานที่ ๑๗ เป็นเส้นแบ่ง ฝ่ายเวียดมินห์ไม่พอใจข้อตกลงนั้นอย่างรุนแรงเพราะเห็นว่าชัยชนะเป็นของตน แต่ทางกรุงมอสโคว์เห็นว่าควรรับไว้ก่อน และก็ปลอบทางกรุงฮานอยให้รับสภาพแบ่งแยกไปพลางก่อน พร้อมกับยืนยันว่า การรวมเวียดนามด้วยชัยชนะของฮานอยนั้นมอสโคว์รับรอง

ชาวเวียดนามเหนือเกือบ ๑ ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่นับถือคริสตนิกายโรมันคาธอลิกที่คิดว่าตนเองจะไม่ได้รับอิสระในการนับถือศาสนา ต่างก็อพยพลงไปทางใต้ ในจำนวนนี้เป็นนักการเมือง นักการทหารที่ต่อมาเป็นใหญ่เป็นโตในเวียดนามใต้หลายคน

บาทหลวงโงดินห์ เดียม ผู้เป็นชาตินิยม ได้รับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลที่มีพระเจ้าจักรพรรดิเบาได๋เป็นประมุขของเวียดนามใต้ โดยฝรั่งเศสยินยอมที่จะถอนตัวออกไป โงดินห์ เดียมเป็นคริสเตียนที่เคร่งครัดและเป็นคนใจเด็ดคนหนึ่งในบรรดาผู้นำในเวียดนามใต้ แต่เดียมก็ไม่ได้รับความไว้วางใจจากหลายๆกลุ่ม เดียมจึงมีเพื่อนอยู่เพียงพวกเดียวคือ สหรัฐอเมริกา

เมื่อเดียมได้รับการหนุนหลังจาก สหรัฐฯ เขาจึงติดใจในอำนาจและคิดที่จะอยู่ในตำแหน่งให้นานๆ เขาจึงกำจัดศัตรูทางการเมืองไปทีละพวกๆ

ปลายปี ๒๔๙๘ เดียมอ้างเสียงส่วนใหญ่ของชาวไซ่ง่อน จัดการถอดพระจักรพรรดิเบาได๋ออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ แล้วประกาศว่าเวียดนามใต้เป็นสาธารณรัฐที่มีตนเองเป็นประธานาธิบดี

แม้ว่าเขาจะรวมกำลังอำนาจต่างๆในเวียดนามใต้ก้าวขึ้นสู่ความมีอำนาจสูงสุดได้ แต่พฤติกรรมของเขาก็มีผลร้ายต่อตัวเอง ๒ ประการคือ

หนึ่ง ประชาชนขาดความนิยมในตัวเขา ที่กำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยการฆาตกรรมอันลึกลับซ่อนเงื่อนและหาตัวคนร้ายไมได้

สอง สหรัฐอเมริกามองเดียมเหมือนๆกับพวกคอมมิวนิสต์หรือจักรวรรดินิยมปลอมตัวมานั่นเองและไม่น่าจะไปรอด

นโยบายในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และสนับสนุนเดียมของสหรัฐฯ เกิดจากสาเหตุหลาอย่าง ตั้งแต่ “ทฤษฎีโดมิโน” ที่รัฐบาลไอเซนฮาวเออร์ นิยามขึ้นและเชื่อกันต่อมาอีกหลายรัฐบาลจนถึงความกลัวที่ประชาชนอเมริกันจะขาดความเชื่อถือรัฐบาลของตน ถ้าการต่อต้านคอมมิวนิสต์ล้มเหลว และการปรับนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ เพื่อให้การต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ผลขึ้น

ทางฝ่ายเดียม ไม่ยอมรับรู้ข้อตกลงเจนีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการออกเสียงรวมเวียดนาม โดยอ้างว่าตนไม่ได้เซ็นสัญญาในคราวนั้น ดังนี้แล้วฮานอยก็พิจารณาพฤติการณ์ของไซ่ง่อนและเพื่อนตะวันตก ว่าเป็นการหลอกลวง รัฐบาลฮานอยจึงเตรียมการทหารเพื่อแก้ความหลอกลวงนั้น สงครามเวียดนามเหนือ-ใต้ จึงเริ่มต้นขึ้น

หายนะของโงดินห์ เดียม

สงครามได้เริ่มขึ้นต้นด้วยการก่อวินาศกรรมและประทุษกรรมที่รุนแรงในปี ๒๕๐๒ และต่อมาในวันที่ ๒ กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเองนายทหารอเมริกัน ๒ นายในคณะช่วยเหลือทางทหารได้เสียชีวิตจากการโจมตีของเวียดกงที่ เมือง เบียนหัว เป็นการเสียชีวิตครั้งแรกของทหารอเมริกัน

ตอนปลายปี ๒๕๐๓ ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทหารเวียดนามเหนือแทรกซึมผ่านลาวเข้าไปในเวียดนามใต้ ในช่วงแรกของสงคราม พวกที่สู้รบกันทหารเวียดนามใต้ไม่ใช่พวกคอมมิวนิสต์หรือฮานอยเสียทั้งหมด มีพวกที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มชาตินิยมที่เกลียดชังรัฐบาลเดียม และไม่ได้เกี่ยวพันกับการที่ทหารสหรัฐฯ ไปมีอิทธพลในเวียดนามใต้ ร่วมอยู่กับพวกเวียดกงด้วย

ความซื่อสัตย์และความตั้งใจ ที่จะสร้างเวียดนามใต้ให้มั่นคงตามที่เดียมแสดงไว้ในตอนต้นกลับกลายเป็นอย่างอื่น มีผลให้ฐานะของเดียมเลวร้ายลงในกลางปี ๒๕๐๖ และเขาพยายามอุ้มชูน้องชาย โงดินห์นู กับภรรยา คุณหญิงนู ให้มีบทบาททางการเมืองเพื่อส่งเสริมฐานะของตนเองอีกทางหนึ่ง คุณหญิงนูในภายหลังมีฉายาว่า “นางมังกรไซ่ง่อน”

ทางด้านกองทัพบกของเดียมที่เป็นกำลังหลักในการรบนั้น เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า มีขวัญเสื่อมทรามมากเพราะการแต่งตั้งนายทหารจากสองพี่น้องผู้กุมอำนาจมุ่งแต่เล่นพรรคเล่นพวก เพื่อรักษาฐานะทางการเมือง และคนอเมริกันยังรับรู้ถึงความไม่พอใจของชาวพุทธที่มีต่อเดียมถึงกับมีการเผาตัวเองประท้วงหลายรายตั้งแต่วันที ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เป็นต้นมา

ประธานาธิบดีเคเนดีและคณะรัฐบาลเฝ้าดูสถานการณ์ในเวียดนามใต้ที่ตนสนับสนุนด้วยความไม่สบายใจและลงความเห็นว่า สองพี่น้องเดียมเป็นผู้ควรได้รับการตำหนิ ต้นเดือนมิถุนายนปีนั้นรัฐบาลวอชิงตันได้ทราบข่าวจากสายลับของตนในไซ่ง่อนว่าจะเกิดรัฐประหารล้มโงดินห์ เดียม ประธานาธิบดีเคเนดีจึงแจ้งแก่เดียมให้เอาตัวน้องชายไปให้พ้นจากรัฐบาล และให้ประนีประนอมกับชาวพุทธเสีย

เดียมรับรองกับเอกอัคราชทูตอเมริกันในไซ่ง่อน-นายเฟรเดอริก นอลติง ที่จะปรองดองกับชาวพุทธ แต่เรื่องน้องชายเขาไม่จัดการ

หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนตัวเอกอัคราชทูตในไซ่ง่อนจาก นาย นอลติง เป็นนายเฮนรี คาบอทลอดจ์แล้ว ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม โงดินห์นูก็ส่งหน่วยรบพิเศษของตนโจมตีวัดสำคัญๆ ของชาวพุทธและจับกุมพระผู้ใหญ่ไปหลายองค์

กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเห็นว่าเดียมทำผิดคำรับรองที่เคยบอกไว้ นายนอลติงจึงโทรเลขถึงท่านทูต คาบอทลอดจ์ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ยืนยันให้ปลดเดียม, นู และคุณหญิงนู โทรเลขตอบกลับจากไซ่งอ่นแจ้งว่า เดียมเฉยต่อคำเรียกร้องของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

เอกอัคราชทูตลอดจ์ บันทึกเอาไว้ในตอนนี้ว่า “เรากำลังเตรียมการขั้นสุดท้าย คือการล้มล้างรัฐบาลเดียม” อันหมายความถึงว่ารัฐบาลอเมริกันมีส่วนในการล้มล้างนั้นด้วย

ฝ่ายรัฐบาลอเมริกันยืนยันว่า เพียงแต่ติดต่อกับผู้วางแผนล้มล้างเดียมว่า สหรัฐฯ จะไม่มีส่วนร่วมในการรัฐประหาร แต่ก็จะไม่ขัดขวางและจะยังคงสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของเวียดนามใต้พร้อมกับว่า อย่าเอาถึงแก่ชีวิตเดียมเลย

การรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ โงดินห์ เดียม น้องชายและน้องสะใภ้หนีออกจากทำเนียบแต่ก็ถูกติดตามฆ่าตายในวันต่อมา คณะทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลและประกาศที่จะสู้รบกับคอมมิวนิสต์ต่อไป

การหมดอำนาจของรัฐบาลเดียมและท่าทีอันแข็งขันในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลใหม่เวียดนามใต้ เป็นผลให้สหรัฐฯเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในเวียดนามเสียใหม่ และช่วยเหลือทางทหารแก่เวียดนามใต้มากยิ่งขึ้น

การช่วยเหลือเวียดนามใต้ใน ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๑๐ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน สืบตำแหน่งต่อจากเคเนดี ผู้ถูกลอบสังหาร ได้สัญญาที่จะช่วยเหลือเวียดนามให้ยิ่งขึ้น

การประชุมประจำปีในเดือนเมษายนของสมาชิกสนธิสัญญาซีโตมีความเห็นว่า ถ้าคอมมิวนิสต์มีชัยชนะในเวียดนามจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของภูมิภาคส่วนนี้และได้ย้ำรัฐบาลที่วอชิงตันให้ตระหนักถึงความเชื่อถือและเกียรติภูมิของสหรัฐฯที่จะสลายไปถ้าสูญเสียเวียดนามใต้

ทางวอชิงตันพยายามกดดันทางทหารต่อกรุงฮานอยด้วยการสร้าง “สถานการณ์” ต่อเนื่องและใช้สถานการณ์นั้นหว่านล้อมรัฐสภาอเมริกันเพื่อให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการทำสงครามในเวียดนาม

สถานการณ์นั้นก็คือ การที่เรือพิฆาตอเมริกันชื่อ แมดดอกซ์ ถูกเรือยนตร์ตอร์ปิโดเวียดนามเหนือโจมตีในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๐ ขณะแล่นลาดตระเวนหาข่าวอยู่ในอ่าวตังเกี๋ย และในคืนต่อมา เรือแมดดอกซ์ ร่วมด้วยเรือเทอร์เนอร์ จอย ได้ถูกโจมตีอีกครั้งหนึ่ง

วันที่ ๔ สิงหาคม ประธานาธิบดีจอห์นสัน ก็สั่งโจมตีทางอากาศต่อฐานทัพเรือเวียดนามเหนือ อันเป็นเป้าที่เลือกไว้ล่วงหน้าแล้ว และเป็นการเริ่มต้นการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือแต่บัดนั้น

รุ่งขึ้นวันที่ ๕ สิงหาคม ประธานาธิบดีเสนอญัตติต่อรัฐสภาขอการสนับสนุนในการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐน “เพื่อดำรงสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
วันที่ ๗ สิงหาคม รัฐสภาอเมริกันรับรองญัติตินั้นอันเป็นการให้ชื่อญัตตินั้นในเวลาต่อมาว่าเป็น “ญัตติอ่าวตังเกี๋ย”

ภายหลังการโจมตีที่เปลกู ทหารอเมริกันเสียชีวิต ๘ คน ประธานาธิบดีจอห์นสันก็สั่งโจมตีเวียดนามเหนือทางอากาศลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นครั้งแรก และกระทำเป็นกิจวัตรต่อทหารเวียดกงที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในเวียดนามใต้

No comments: