Wednesday, February 28, 2007

บทความที่ ๗๓. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ (จบภาคหนึ่ง)

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
สำเร็จการศึกษา

แม้ว่าจะต้องต่อสู้อย่างขะมักเขม้นเพื่อชัยชนะในการศึกษา เอ็มเบ็ดก้าร์ก็มิได้ลืมจุดหมายอันแท้จริงที่ผลักดันชีวิตของเขาให้ดำเนินไป นั่นก็คือ การทำลายความอยุติธรรมให้หมดไปจากสังคมฮินดูและยกฐานะอธิศูทรขึ้นให้เป็นที่ยอมรับว่า พวกเขาก็คือเพื่อนมนุษย์เหมือนคนในวรรณะอื่นเช่นกัน ทั้งนี้พวกอธิศูทรเองก็จะต้องพัฒนาตนเองโดยทุกวิถีทาง ความสำเร็จในชีวิตจะมีได้ก็ด้วยการลงมือกระทำ มิใช่อยู่ที่การเพ้อฝัน

เมื่อมาถึงลอนดอนเอ็มเบ็ดก้าร์จึงหาโอกาสเข้าหา มองตากู (Montagu) ซึ่งในภายหลังท่านผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำอินเดีย เขาได้สนทนาเกี่ยวกับความทุกข์และความขมขื่นที่พวกอธิศูทรได้รับจากการกระทำอันเห็นแก่ตัวของพวกฮินดูในวรรณะอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณะพราหมณ์

ขณะที่ศึกษาอยู่ในลอนดอนเอ็มเบ็ดก้าร์ได้คิดคำนึงถึงงานหนังสือพิมพ์ “มุขนายก” อยู่เสมอๆ เขาคิดถึงงานปฏิรูปสังคมของเพื่อนร่วมงานในอินเดียที่กำลังดำเนินการแทนเขาอยู่ เขาจึงเขียนบทความส่งไปให้เพื่อนๆในสำนักหนังสือพิมพ์ มุขนายก นำตีพิมพ์สู่สาธารณะเรื่อยๆ และบางครั้งเขาก็ได้เตือนสติแก่เพื่อนร่วมงานของเขาว่า มันมิใช่เรื่องเป็นบาปเลยแม้แต่น้อยในการที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเกียรติยศและชื่อเสียงแก่ตนเองและกลุ่มชนของตน ถ้าตราบใดสิ่งที่เรามุ่งประสงค์ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เราจะต้องไม่เลิกล้มความพยายามหรือยอมแพ้ต่ออุปสรรคเป็นอันขาด และจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความสามัคคีในหมู่คณะของพวกอธิศูทร เป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้ดำเนินงาน เอ็มเบ็ดการ์ได้ส่งจดหมายไต่ถามทุกข์สุขของเพื่อนร่วมสำนักงานหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ และสิ่งที่เขาจะต้องจัดการให้ลุล่วงเพื่อไม่ให้เป็นปัญหารบกวนจิตใจ ก็คือความห่วงใยในความเป็นอยู่ของภรรยาและบุตรหลาน เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ส่งจดหมายฝากฝังเพื่อนสนิทคนหนึ่งให้ช่วยดูแลสุขทุกข์แทนตัวเขาด้วย ซึ่งเพื่อนของเขาคนนั้นก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีและแจ้งให้เอ็มเบ็ดก้าร์ทราบเพื่อหมดความกังวลใจในเรื่องนี้

กาลเวลาได้ผ่านไปเป็นลำดับ วิทยานิพนธ์ของเอ็มเบ็ดก้าร์ก็สำเร็จอย่างสมบูรณ์ วิทยานิพนธ์เรื่องแรกของเขาชื่อว่า “การกระจายอำนาจการคลังของจักรวรรดิอังกฤษในอินเดีย” (Provincial Decentralization of Imperial Finance in British India) ทำให้เขาได้รับปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต(ปริญญาโท) ในเดือนมิถุนายน ๒๔๖๔ และในเดือนตุลาคมของปีถัดมา เขาได้ยื่นวิทยานิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งต่อมหาวิทยาลัยลอนดอน ชื่อว่า “ปัญหาเงินรูปี” (The Problem of Rupee) และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เขาก็เข้าสอบวิชากฎหมายและสำฤทธิผลก็เป็นไปตามความบากบั่นมานะของเขาแม้ว่าจะจบช้าไปเพราะต้องทุ่มเทกับการเขียนวิทยานิพนธ์ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักเลย

ในระหว่างที่รอผลการตรวจวิทยานิพนธ์จากคณาจารย์ เขาได้เดินทางไปประเทศเยอรมันนีเพื่อจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอนน์ ซึ่งได้ติดต่อไว้แล้วตั้งแต่กลางปี ๒๔๖๕ ทั้งนี้เอ็มเบ็ดก้าร์เห็นว่ามหาวิทยาลัยบอนน์ก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่เรืองนามอีกแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามเขาถูกเรียกตัวกลับไปยังลอนดอน เนื่องจากศาสตราจารย์ผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ได้แจ้งแก่เขาว่าวิทยานิพนธ์บางตอนอธิบายน้อยเกินไปขอให้เขาเขียนเพิ่มเติม ในขณะนั้นเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่สามารถจะอยู่ต่อในลอนดอนเพื่อแก้ไขวิทยานิพนธ์ เพราะปัญหาเกี่ยวกับการเงิน เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับอินเดียในเดือนเมษายน ๒๔๖๖ เมื่อกลับมาถึงเขาก็ลงมือเขียนวิทยานิพนธ์เพิ่มเติมจนเสร็จและส่งกลับไปยังมหาวิทยาลัยลอนดอน คณะกรรมการได้พิจารณาและลงความเห็นว่าใช่ได้ ในที่สุดผลของความความมานะบากบั่นทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการศึกษา เอ็มเบ็ดก้าร์ก็ได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งในภายหลังวิทยานิพนธ์ของเขาได้ถูกตีพิมพ์เป็นตำราอ้างอิง โดยบริษัท เมสสรัส. พี. เอส. คิงแอนด์ซัน จำกัด

บัดนี้ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตและยังตามด้วยปริญญาเอก ๒ ปริญญาคือ เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา นับว่าเขาได้สร้างเกราะและเตรียมอาวุธให้แก่ตัวเองเป็นอย่างดียิ่ง เขาพร้อมแล้วที่จะกระโจนขึ้นสู่เวทีเผชิญหน้ากับศัตรูของความยุติธรรมทั้งในแง่กฎหมาย การเมือง เศรษฐศาสตร์และสังคม อย่างไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลอันป่าเถื่อนอีกต่อไป


จบภาคหนึ่ง

No comments: