Tuesday, February 27, 2007

บทความที่ ๖๘. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๔

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
มหาวิทยาลัย
เมื่อพิมเรียนจบมัธยมแล้ว บิดาของเขาได้คำนึงถึงประเพณีของฮินดูที่จะต้องจัดการแต่งงานให้ลูกเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งตอนนั้นมีบิดามารดาของสาวๆหลายคนมาติดต่อรามจิเพื่อสู่ขอพิมให้แก่ลูกสาวของตน รามจิได้พิจารณาคนแล้วคนเล่า ในที่สุดก็รับเอาหญิงสาวที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดมาเป็นเจ้าสาวของพิม เจ้าสาวของพิมชื่อว่า รามาไบ เป็นลูกสาวของกุลีหาบหามคนหนึ่งซึ่งเป็นอธิศูทรเช่นกัน เธอเป็นหญิงสาวที่สุภาพอ่อนโยน ถึงจะจนแต่ก็จนแต่วัตถุอันเป็นสมบัติภายนอก ตอนเข้าสู่พิธีแต่งงานนั้น รามาไบอายุเพียง ๙ ขวบ ส่วนพิม เอ็มเบ็ดก้าร์อายุได้ ๑๗ ปี สถานที่ประกอบพิธีแต่งงาน ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงใจใช้ตลาดสด เป็นที่ประกอบพิธี ที่ตกลงหาเอาสถานที่เช่นนี้เพื่อประกอบพิธีก็เพราะความจน ไม่สามารถจะหาสถานที่ได้ดีกว่านี้ ในตลาดสดนั้นเป็นที่กว้าง ตอนกลางวันจะพลุกพล่านจอแจ แต่ตอนกลางคืนจะเงียบปราศจากผู้คน พอเวลาประมาณทุ่มกว่าๆ พ่อค้าแม่ค้าจะกลับกันไปหมด พิธีมงคลสมรสของพิมและรามาไบก็เข้าสวมรอยทันที เจ้าสาวและญาติๆได้ยึดมุมหนึ่ง ฝ่ายเจ้าบ่าวก็ยึดได้อีกมุมหนึ่ง ส่วนแขกที่มาในพิธีก็ต้องยืนอยู่ในน้ำครำที่สกปรกอันเกิดจากผักและปลาเน่า แขกบางคนต้องแบกเอาก้อนอิฐมาเหยียบเพื่อให้เท้าพ้นจากน้ำครำ พิธีดำเนินไปอย่างถูกต้องตามประเพณีนิยม และยุติลงด้วยความเรียบร้อยทุกประการ

หลังจากแต่งงานเรียบร้อยแล้ว พิมก็ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอมเบย์ด้วยการสนับสนุนของบิดาใจเพชรของเขา นับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับคนอธิศูทรมาก ที่คนในกลุ่มชนนี้ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย สำหรับพิมแล้วเขาถือว่านี่เป็นโอกาสทองและเขาจะไม่มีวันให้มันผ่านไปโดยเสียเปล่าเป็นอันขาด พิมจึงตั้งใจเรียนอย่างหนักเช่นเคย แต่ชะตาก็โหดร้ายกับเขาบ้างในช่วงแรกของการเรียนเขาล้มป่วยลงและค่อนข้างหนัก จึงทำให้เขาสอบตกในปีแรก แต่เขาก็ไม่ท้อแท้ใจ เพราะรู้ว่าการสอบตกในปีแรกนี้มิใช่เพราะเขาไม่มีความสามารถในการเรียน แต่เนื่องจากการล้มป่วยทำให้เขาไม่ค่อยได้เรียนอย่างจริงจัง

ในปีถัดมาเขาใช้ความพยายามอีกและผลสำเร็จก็เป็นของเขา พอขึ้นเรียนชั้นปีสองฐานะครอบครัวของพิมก็ทรุดลง อาชีพกรรมกรของรามจิตกต่ำลง รายได้บางวันเกือบจะไม่พอค่าอาหารในครอบครัว ทำให้กระทบถึงการศึกษาของพิมอย่างมาก รามจิได้พยายามบากบั่นวิ่งเต้นติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์การ ขบวนการทางสังคมหลายต่อหลายแห่งเพื่อขอทุนการศึกษาให้แก่พิม

ประจวบกับในช่วงเวลานั้นขบวนการปฏิรูปสังคมของอินเดียที่จัดเป็นรูปสมาคมบ้าง ศูนย์บ้าง กลุ่มบ้าง ต่างก็กำลังตื่นตัว จึงมีนักสังคมสงเคราะห์หลายคนคิดช่วยเหลือรามจิวิ่งเต้น ครั้นแล้วนักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งได้พาพิมเข้าเฝ้ามหาราชาแห่งเมืองบาโรด้า (Maha Raja of Baroda) มหาราชาพระองค์นี้มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระองค์มีพระประสงค์จะหาทางยกระดับฐานะทางสังคมและการเป็นอยู่ของพวกอธิศูทร พระองค์พยายามเปิดโอกาสให้พวกอธิศูทรได้รับการศึกษาทัดเทียมกับคนในวรรณะอื่น ทรงเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องแรกแห่งการพัฒนาทั้งมวล การศึกษาเข้าถึงชนกลุ่มใดแล้ว การพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ก็จะพลอยง่ายไปด้วย

พระดำริของมหาราชาพระองค์นี้นับว่าน่าสรรเสริญยิ่งนัก พอพิมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเช่นนั้น ทำให้พระองค์ได้ทรงเห็นบุคคลิกของพิมด้วยพระองค์เอง แล้วจึงทรงพระราชทานทุนการศึกษาแก่พิม โดยจ่ายให้เป็นเดือนๆละ ๒๕ รูปี ทำให้อุปสรรคของพิมหมดลงไปอย่างสิ้นเชิง

มหาวิทยาลัยคือโรงงานอุตสาหกรรมหนักที่ทำหน้าที่ผลิตมันสมองให้แก่ชาติ บุคคลที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจะต้องฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยสติปัญญา จะต้องเป็นคนใจกว้าง ยินดีรับฟัง และรับทราบสิ่งต่างๆด้วยเหตุและผล และจะต้องมีใจสูงพอ ณ มหาวิทยาลัยบอมเบย์นั้น มีอาจารย์หลายคนสงสารพิมและได้ให้ความช่วยเหลือแก่เขา โดยให้ยืมตำราบ้าง ให้เสื้อผ้าบ้าง พิมน้อมรับความช่วยเหลือเหล่านั้นด้วยความรู้สึกกตัญญูอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ยังมีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่รังเกียจและไม่เคยสนใจการศึกษาของพิมเลย และความรู้สึกเหล่านั้นก็กระจายไปสู่เหล่านักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยด้วย

อยู่มาวันหนึ่ง ฉากอันน่าอดสูก็เกิดขึ้นแก่พิมอีก นั่นคือ คนขายเครื่องดื่มในร้านของมหาวิทยาลัยไม่ยอมขายเครื่องดืมให้แก่พิม และไม่ยอมอนุญาตให้พิมเข้าไปนั่งในร้านอีกด้วย แต่ก่อนนั้นเขาก็เคยปฏิบัติต่อพิมเหมือนปฏิบัติต่อนักศึกษาคนอื่นๆ เพราะยังไม่รู้ว่าพิมเป็นอธิศูทร พิมเคยเข้าไปนั่งในร้าน เคยแตะต้องโต๊ะเก้าอี้ และเคยซื้อเครื่องดื่มอยู่เป็นประจำ พอคนขายคนนั้นรู้ว่าพิมเป็นอธิศูทรเท่านั้น ก็ไม่ยอมอนุญาตให้พิมเข้าไปในร้านเขาอีกเป็นอันขาด เหตุไฉนชายคนนั้นจึงไม่คิดบ้างว่า ถ้าความอัปรีย์จัญไรจะเกิดขึ้นเพราะความเป็นอธิศูทรของพิมแล้ว มันก็น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ ๒ ปีมาแล้ว คือตอนที่พิมเข้าไปในร้านตอนแรกๆ นับแต่นั้นมาพิมจึงไม่มีโอกาสจะซื้ออะไรดื่มในบริเวณมหาวิทยาลัยได้ สิ่งเหล่านี้ได้บันทึกลงในความทรงจำอันลึกของพิมครั้งแล้วครั้งเล่า

พิมระลึกอยู่เสมอว่า ความรุ่งโรจน์ในอนาคต มิได้ขึ้นอยู่กับการบวงสรวงไหว้วอนเทพเจ้า แต่ขึ้นอยู่ที่การกระทำ ชีวิตของเขาจะสมหวัง จุดมุ่งหมายของเขาในการช่วยเหลือตนเองและเพื่อนร่วมวรรณะจะสำเร็จลงได้ด้วยการศึกษา ดังนั้นพิมจึงมิได้เรียนเพียงเพื่อให้สอบผ่านได้อย่างเดียว แต่เพื่อความรู้อันลึกซึ้งและกว้างขวางอีกด้วย เพื่อจะได้เป็นปัจจัยในการศึกษาขั้นสูงต่อไป และในที่สุดในปี ๒๔๕๕ พิมก็สอบผ่านและได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ จากเด็กชายพิมที่มอซอมาเป็น พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ที่มีปริญญาตรี (B.A.) พ่วงท้ายแล้ว

ในช่วงเวลานั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอินเดียถูกจำกัดโดยรัฐบาลอินเดีย ก็เหมือนในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น การพูด การเขียน ถูกจำกัดขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์ ความรู้สึกทางชาตินิยมและความต้องการให้ได้มาซึ่งเอกราชจึงได้เริ่มขึ้น ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญที่ได้ฉายาว่าเป็นผู้เปิดฉากการรณรงค์เพื่อเอกราชของอินเดีย คือ โลกมายา ติลัก ได้นำขบวนการต่อต้านอังกฤษ จึงมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่อังกฤษปราบปรามอย่างรุนแรง บางคนถูกจับติดคุก บางคนถูกประหารชีวิต บางคนก็เสียชีวิตในคุก ข่าวเช่นนี้แพร่สะบัดทั้งในหนังสือพิมพ์และวงสนทนาทั่วไป ทำให้ พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ รู้สึกสงสารชาวอินเดียผู้รักชาติทั้งหลายเหล่านั้น และแล้วเลือดแห่งความรักชาติได้หมุนเวียนไปทั่วร่างกาย บัดนี้สิ่งที่ก้องอยู่ในโสตประสาทแห่งเป็นภาพชัดเจนในความทรงก็คือ “การทำลายล้างระบบวรรณะและการได้มาซึ่งเอกราชของชาติ”

สูญเสียครั้งใหญ่

หลังจากสำเร็จปริญญาตรีแล้ว พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ ได้เดินทางไปรับราชการทหารที่เมืองบาโรด้า ซึ่งอยู่ในรัฐของผู้มีพระคุณของเขา พิมได้รับยศเป็นร้อยโทในกองทัพบกของอินเดียแห่งรัฐบาโรด้า เจ้าหน้าที่ร่วมงานส่วนมากยังเป็นพวกหัวเก่าเคร่งในประเพณี พิม เอ็ดเบ็ดก้าร์จึงได้รับความอึดอัดใจเกี่ยวกับการเป็นอธิศูทรของเขาต่อไป พอเขาทำงานได้เพียง ๑๕ วัน ก็ได้รับโทรเลขด่วนจากครอบครัวที่บอมเบย แจ้งว่าบิดาของเขาป่วยหนัก พิมจึงเตรียมตัวออกจากบาโรด้าทันทีเพื่อไปดูแลรักษาบิดา แต่เขามัวแต่จะหาซื้อของติดมือกลับไปให้บิดา จึงพลาดรถไฟในวันนั้นทำให้เสียเวลาไป ๑ วัน

พิมมาถึงบอมเบย์ก็พบว่าอาการของรามจิบิดากำลังทรุดหนัก เขาเข้าไปยืนใกล้เตียงของพ่อ เผ้าดูด้วยความรักและบูชา รามจิลืมตาขึ้นเห็นบุตรชายอันเป็นที่รักของเขา ผู้ที่เขาเพ้อฝันจะเห็นอนาคตอันแจ่มใสและตั้งใจจะฝากความหวังเอาไว้มายืนอยู่ใกล้ๆ จึงเรียกให้มานั่งแล้วลูบหลังด้วยความเมตตา แต่ไม่มีสำเนียงใดๆหลุดจากปากของรามจิ มือที่ลูบหลังนั้นก็เบาลงและช้าลงๆ ในที่สุดก็ไม่มีการเคลื่อนไหว ตาของเขาปิดสนิท อันว่าความตายก็เป็นเช่นนี้กับทุกชีวิตไป ไม่เคยต่อรองหรือปรานีให้แก่ใคร การสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้บังเกิดขึ้นแก่เอ็ดเบ็ดก้าร์อีกครั้งนับแต่มารดาจากไป ความเศร้าโศกได้ท่วมทับเขา รามจิบิดาของเขาได้จากได้โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์และหาความยุติธรรมไม่ได้ เขาจากไปโดยไม่เหลือสมบัติอันใดไว้เลย ทิ้งไว้แตจิตวิญญาณอุดมการณ์แห่งการต่อสู้และน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวให้เป็นมรดกแก่ลูกๆสืบไป...

No comments: