Thursday, February 22, 2007

บทความที่ ๖๕. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที ๑

เอ็มเบ็ดการ์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย



ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะต้องพากันไปชมคือ รัฐสภาของอินเดีย ซึ่งเป็นสถาบันอันทรงเกียรติสูงสุดของประเทศแห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะพบกับอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ตั้งอยู่อย่างสง่างามหน้ารัฐสภา นั่นคือ อนุสาวรีย์ของ ท่านด๊อกเตอร์ บี อาร์ เอ็มเบ็ดก้าร์ (Dr. B.R. Ambedkar) ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น สถาปนิกผู้ออกแบบกฎหมายรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่ใช้ปกครองประเทศในขณะนี้

รัฐสภาของอินเดียมีขึ้นได้ก็ด้วยความสามารถแห่งสติปัญญาของเขา เขาได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิรูปสังคมผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สูง อุทิศแม้ชีวิตเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและเอกราชของชาติ เป็นนักกฎหมายที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ เขาใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมและสร้างศักราชใหม่ให้แก่สังคมอินเดีย เป็นนักการศึกษาที่คลุกคลีกอยู่กับการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม เขาได้ริเริ่มสร้างสถานศึกษาให้แก่คนยากคนหลายต่อหลายแห่ง นอกจากนั้นยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักศาสนา ฯลฯ

สำหรับโลกภายนอกประเทศอินเดีย จะรู้จักเขาในฐานะที่เป็นผู้นำชาวอินเดียหลายแสนคนประกาศตนนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นการเปิดฉากนำพระพุทธศาสนากลับคืนมามาตุภูมิอีกครั้งหลังจากพุทธศาสนาได้สูญหายจากความทรงจำของคนอินเดียส่วนใหญ่

ดร.บี อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ เป็นวีรบุรุษที่สร้างตนขึ้นมาจากชนชั้นที่ถือกันว่าต่ำที่สุดที่คนในสังคมยัดเยียดให้ ทั้งๆที่เขาไม่ปรารถนาจะรับเลย เขาเกิดมาจากความไม่มีอะไรและจากไปโดยนัยนั้น แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ให้ประชาชนชาวอินเดียเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนประเมินไม่ได้ จึงอนุชนรุ่นหลังทั้งคนอินเดียและคนชาติอื่นควรที่จะศึกษาชีวิตของท่านผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง

สังคมฮินดู
ระบบวรรณะในสังคมอินเดียได้สืบทอดกันมาเนิ่นนานหลังจากที่ศาสนาฮินดูได้ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มคนมาตั้งหลักแหล่งอาศัยตามลุ่มน้ำสินธู และแม่น้ำคงคา กลุ่มชนเหล่านี้เรียกดินแดนของตนเองว่า “มหาภารตะ”และเรียกศาสนาของตนว่า “ศาสนาฮินดู” ต่อมาเพื่อมีคนจากต่างแดนเข้ามาถึงดินแดนแห่งนี้ ก็เรียกชาวมหาภารตะว่า “ชาวสินธู” ตามหลักแหล่งที่กลุ่มชนนี้ตั้งอาศัย และบางทีก็เรียกว่าชาว “อินดู” ตามศาสนาที่กลุ่มชนนี้นับถือ และกลายมาเป็น “อินเดีย” อย่างที่คนต่างประเทศเรียกกันจนถึงทุกวันนี้ ส่วนคนอีนเดียก็ยังคงเรียกดินแดนของตนว่า “มหาภารตะ” อยูจนบัดนี้

ศาสนาฮินดูมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ หากแบ่งตามยุคสมัยจะแบ่งเป็น ๓ ยุค คือยุคพระเวท ยุคพราหมณ์และยุคฮินดูปัจจุบัน ระบบวรรณะเกิดขึ้นในยุคพราหมณ์ที่เริ่มจากการจัดแบ่งคนออกตามหน้าที่ซึ่งเริ่มแรกก็ไม่ได้เคร่งครัดนัก คนในวรรณะหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปเป็นวรรณะอื่นได ต่อมาคนในวรรณะพราหมณ์ที่มีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต้องการจะสงวนเอาหน้าที่ของตนให้สืบทอดไว้ให้ลูกหลาน จึงทำการสอนว่า คนในวรรณะทั้ง ๔ นั้นจะต้องสมสู่กับคนในวรรณะเดียวกันเท่านั้น และหน้าที่การสั่งสอนเป็นหน้าที่ของคนวรรณะพราหมณ์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบวรรณะจึงผิดไปจากเจตนาเดิมที่แบ่งตามหน้าที่การทำงานของคนในสังคม กลับกลายเป็นการแบ่งตามสายโลหิต (Heredity)

ในวรรณะทั้ง ๔ คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร คนที่อยู่ในวรรณะใดวรรณะหนึ่งยังนับว่าเป็นคนมีวรรณะคือ เรียกว่า “สวรรณะ” แปลว่าพวกมีวรรณะสังกัด แต่ยังมีคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่มีวรรณะสังกัด เรียกว่า “อวรรณะ” ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวรรณที่ ๕ ในสังคมฮินดู พวกฮินดูได้เหยียดหยามพวกอวรรณะว่าเป็น พวกต่ำช้า เป็นตัวเสนียด เป็นอัปมงคลแก่ผู้พบเห็น มีฐานะต่ำกว่าสัตว์ดิรัจฉาน พวกเขาถูกเรียกในชื่อต่างๆกันไป เช่น จัณฑาล,หริจาน,หินชาติ,ปาริหะ,มาหาร์, ปัญจมะ อธิศูทร ฯลฯ

พวกอวรรณะหรืออธิศูทร ยังถูกแบ่งเป็นพวกใหญ่ๆอีก ๓ พวกคือ พวกที่แตะต้องไม่ได้,พวกที่เข้าใกล้ไม่ได้และพวกที่มองดูไม่ได้ อาชีพของพวกเขาได้แก่ คนกวาดถนน ล้างส้วม ขนขยะ ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ต้องเช่าที่ทำกินได้เท่านั้น สถานที่อาศัยก็คือ ตามกองขยะหรือแหล่งสลัม เมื่อใครเกิดมาเป็นอธิศูทรแล้วก็จะต้องดำเนินชีวิตอย่างอธิศูทรและตายไปอย่างอธิศูทร พวกเขาไม่มีความหวังใดๆในชีวิตเลย ท่านบัณฑิต ยาวหระลาล เนห์รูเคยกล่าวแสดงความเห็นใจคนอธิศูทรว่า “พวกอธิศูทรนั้นไร้ผ้าผ่อนจะห้อหุ้มกาย ไม่มีบ้านจะอาศัย อดอยากยากแค้น โศกเศร้าระทมทุกข์อย่างแสนสาหัส” และท่านมหาตมะคานธีก็เคยกล่าวว่า “ระบบอธิศูทร คือ มลทินของศาสนาฮินดู”

บรรพบุรุษของอินเดียผู้มีใจเป็นธรรมหลายคนได้พยายามที่จะให้ความเชื่อเรื่องอธิศูทรหมดไปจากสังคมฮินดู แต่ก็ไร้ผลเสมอมา เมื่อสมัยอังกฤษมาปกครองอินเดีย รัฐบาลอังกฤษก็ทราบดีว่าการมีอธิศูทรในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ถือว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกันตามกฎหมาย แต่อังกฤษก็ไม่สามารถขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากสังคมฮินดูได้ ทั้งๆที่อังกฤษได้รับผลสำเร็จในการปกครองอินเดียก็โดยได้รับความช่วยเหลือของพวกอธิศูทรไม่น้อยเลย

ในคราวที่อังกฤษเข้ามาในอินเดียในครั้งแรกๆ อังกฤษได้มาอย่างพ่อค้า โดยตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (ENGLISH EAST INDIAN COMPANY) ตามประวัติศาสตร์ปรากฎว่า บริษัทนี้ดำเนินการค้าขายแต่ขณะเดียวกันก็มุ่งหวังจะยึดครองอินเดียไปพร้อมๆกัน จนในที่สุด เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆของอินเดียก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของบริษัทฯ และรัฐบาลของอังกฤษก็เข้าเป็นเจ้าของบริษัทนั้น จึงทำให้อินเดียทั้งประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งในช่วงแรกๆ อังกฤษได้รับพวกอธิศูทรเข้าเป็นทหารของบริษัท ทำการรบกับศัตรูของอังกฤษคือ ฝรั่งเศส ผู้เป็นคู่แข่งการค้าที่สำคัญที่ต้องการมีอิทธิพลเหนืออินเดีย และแม้แต่ชาวอินเดียด้วยกันเองก็แข็งข้อไม่ยอมรับการเข้าครองของอังกฤษ พวกอธิศูทรก็ได้แสดงฝีมือให้เห็นอังกฤษเห็นประจักษ์ชัดแจ้งแล้ว จนในที่สุดอังกฤษก็ครองความเป็นใหญ่เหนืออินเดียแต่เพียงผู้เดียว

ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ ทหารอธิศูทรก็ได้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารอังกฤษ แต่เหตุใดอังกฤษจึงไม่สามารถช่วยขจัดระบบอธิศูทรให้หมดไปจากสังคมอินเดียได้ คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ “นโยบายอยู่เหนือเหตุผล” นโยบายของอังกฤษที่ปกครองอินเดียก็เพื่อเอาผลประโยชน์จากอินเดียไปสู่ประเทศของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น ในเมื่อคนในสังคมชั้นสูงของอินเดียยังไม่คิดที่จะลืมตาดูและสร้างความเป็นธรรมในใจว่า อธิศูทรนั้นก็คือมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับคนทั่วโลก ถ้าเขาได้รับโอกาสฝึกฝนเหมือนคนอื่นๆ อังกฤษจึงทำอะไรไม่ได้ นอกจากเอาอธิศูทรมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษเอง ระบบอธิศูทรจึงปักหลักแน่นอยู่ในสังคมฮินดู ยากที่จะถอนรากถอนโคนให้หมดไปได้

วัยเยาว์
ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ถือกำเนิดจากครอบครัวอธิศูทรที่ยากจนครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านอัมพาวดีซึ่งอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญขึ้นในรัฐมหาราษฎร์ (บอมเบย์) เมื่อตอนที่ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์จะเกิดนั้น บิดาของเขาคือ รามจิได้นิมนต์ฤาษีผู้เป็นลุงของตนให้มาฉันภัตตาหารที่บ้าน แต่ฤาษีผู้สละความเกี่ยวข้องทุกอย่างแล้วไม่รับนิมนต์ แต่ได้ให้พรแก่รามจิว่า “ขอให้เธอจงมีลูกชายและขอให้เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศในอนาคต”
พรจากฤาษีได้สำเร็จอย่างแรกคือ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๔ (ค.ศ. ๑๘๙๑) บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “พิม” (Bhim) เขาเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๑๔ คน

เมื่อพิมอายุได้ ๒ ขวบ รามจิผู้บิดาได้เกษียณจากราชการทหาร ไปประกอบอาชีพส่วนตัว อาชีพนั้นก็ได้แก่อาชีพที่สังคมกำหนดให้อธิศูทรทำ คือ กรรมกรแบกหาม และกำจัดสิ่งโสโครก แม้ว่ารามจิจะมีความรู้พอจะประกอบการค้าขาย แต่ก็ไม่อาจทำได้เพราะไมใช่อาชีพที่สังคมยอมให้อธิศูทรทำได้

เมื่อพิมอายุได้ ๖ ขวบมารดาของเขาก็เสียชีวิต เขาได้รับการดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอมจากมิราผู้เป็นอาว์ รามจิบิดาของพิมได้เลี้ยงดูลูกๆด้วยความอดทนแข็งแกร่งไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค เขาเป็นคนมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการศาสนา เขามักจะพาลูกๆไปสวดมนต์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู แต่การสวดมนต์เป็นภาษาสันสกฤตมีไว้เฉพาะพวกพราหมณ์เท่านั้น รามจิจึงพาลูกๆสวดมนต์ด้วยภาษามาระธี(Marathi ซึ่งเป็นภาษาราชการที่ใช้ในรัฐมหาราษฎร์ เป็นภาษาสำคัญภาษาหนึ่ง มีรากฐานมาจากภาษาบาลและสันสกฤต)ในยามกลางคืนอันเงียบสงัดหรือเวลาเช้าตรู่ การสวดมนต์ทำนองสรภัญญะด้วยเสียงไพเราะวังเวงได้ตกทอดเป็นมรดกแก่ลูกๆสืบมา

รามจิเป็นคนบุคคลที่น่านับถือเขางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยและการพนันอบายมุขโดยเด็ดขาด เขาไม่เชื่อว่า อบายมุขจะช่วยให้เขาเป็นคนทันสมัยและพ้นจากความทุกข์ยากลำบากได้ เขาเป็นคนรักกีฬาทุกชนิด ทำให้เขามีใจรู้แพ้ รู้ชนะ และรักความยุติธรรมเป็นชีวิตจิตใจ เขารู้ดีว่าคนในสังคมในวรรณะอื่นๆได้หยิบโยนความอยุติธรรมให้แก่เขาและคนในกลุ่มชนของเขา เขาจึงพยายามอุทิศกำลังกายและกำลังความคิด เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวอธิศูทรให้ดีขึ้นทุกอย่าง และเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและความเสมอภาคทางสังคม เขาได้เข้าพบกับผู้ว่าราชการรัฐ เพื่อขอความเห็นที่จะพัฒนาพวกอธิศูทรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำเนาเอกสารหลักฐานที่รามจิได้เคยยื่นต่อทางราชการและต่อนักปฏิรูปสังคมในช่วงนั้นเมื่อพิมได้รู้เดียงสาขึ้นก็ได้พบเห็นและศึกษาด้วยความสนใจ

ครั้งหนึ่งรามจิได้ทำการต่อสู้คัดค้านคำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามอธิศูทรเข้ารับราชการในกองทัพอินเดีย เขาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม เพราะยามมีสงคราม เช่นสมัยอังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อแสวงหาความยิ่งใหญ่เหนืออินเดีย อังกฤษก็ได้อาศัยทหารอธิศูทรเป็นทหารราบช่วยทำการรบ แต่ยามศึกสงบรัฐบาลอังกฤษเพื่อเอาใจพวกพราหมณ์ที่มีอิทธิพลทางจิตใจเหนือพวกเจ้าชาวอินเดียจึงออกประกาศห้าม(อธิศูทรเข้าเป็นทหาร)อย่างไร้เหตุผล เอกสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่พิมจะได้ดำเนินการต่อไปในโอกาสเขามาถึง จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า พลังกายและพลังความคิดในการทำงานเพื่อสังคม พิมได้รับอิทธิพลมาจากบิดาผู้แข็งแกร่งของเขา

นอกจากการปลูกฝังศรัทธาปสาทะในศาสนาให้แก่ลูกๆแล้ว รามจิยังตระหนักและเอาใจใส่ในการศึกษาของลูกๆอีกด้วย เขารู้ดีว่าเขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำ บางทีหาไม่พอกิน ไม่มีทางเลยที่จะหาทรัพย์สินเงินทองให้เป็นมรดกแก่ลูกๆ เขามีสิ่งเดียวที่ทำได้คือ “ให้ปัญญา” เขาคิดอยู่เสมอว่าการศึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของลูก รามจิเคยเป็นรับหน้าที่เป็นครูสอนเด็กๆผู้เป็นบุตร-ธิดาของทหารมานานถึง ๑๔ ปี ในสมัยที่ยังรับราชการทหาร เขาเป็นคนมีความรู้เกี่ยวกับหลักภาษาและวรรณคดีภาษามาระธีค่อนข้างดีคนหนึ่ง และยังมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควรอีกด้วย เมื่อมีเวลาว่างเขาจึงสอนลูกๆให้ใช้ภาษามาระธีและภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง พิมจึงได้รับการปูพื้นฐานการศึกษาอย่างดีจากบิดาของเขาเอง

No comments: