Tuesday, February 20, 2007

บทความที่ ๖๒. ศึกษาปะเทดลาวจากเหตุการณ์สงครามอินโดจีน

ศึกษาปะเทดลาวในเหตุการณ์สงครามอินโดจีน

กล่าวกันว่าไทยกับลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้อง เพราะความเป็นเพื่อนบ้านและมีอะไรหลายอย่างใกล้เคียงกันมาก ไทยมักจะยกตัวเองว่าเป็นพี่เสมอโดยคิดเอาเองว่าโตกว่า แต่ไม่มีใครรู้ว่าคนลาวเขาพอใจหรือไม่ที่ไทยไปแสดงตนและพูดจาทึกทักเอาเองว่าอยู่ในฐานะพี่ของเขา !!!

หลังจากลาวได้รับเอกราชจากผลพลอยได้ของสงครามปลดแอกระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นห่วงทางด้านลาวมากกว่าชาติอื่นใดในอินโดจีน แม้ว่าดูเผินๆเหมือนว่าจะห่วงด้านเวียดนามและกัมพูชามากกว่า

ข้อตกลงกรุงเจนีวา จากการสงบศึกในเวียดนามเหนือ ลาวจะเป็นเขตปลอดทหาร แต่สถานการณ์จริงนั้นอีกอย่างหนึ่ง ลาวไม่ปลอดทหารและซีโตยังไปรวมลาวเข้าเป็นเขตคุ้มครองทางทหารอีกด้วย

ทหารที่ยังคงอยู่ในลาวท้าท้ายข้อตกลงกรุงเจนีวาได้แก่ทหารฝรั่งเศสที่ฝึกหัดทหารบกลาวฝ่ายขาวและทหารของขบวนการปะเทดลาวที่ได้รับการฝึกหัดและสนับสนุนจากเวียดมินห์อีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งเชื่อกันว่ามีทหารเวียดมินห์ปะปนอยู่ด้วย ทหารลาวอีกฝ่ายเป็นของฝ่ายเป็นกลางรวมเป็น ๓ ฝ่าย ต่างคิดจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น จึงเกิดการรบพุ่งตลอดมาโดยมีสหรัฐฯช่วยฝ่ายขาวที่นิยมตะวันตก

การประชุมที่กรุงเจนีวาเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยมีอังกฤษและรัสเซียเป็นประธานร่วมของการประชุมชาติเป็นกลาง ๑๔ ชาติ จนลงมติให้ลาวเป็นกลางและบีบทุกฝ่ายในลาวให้จัดตั้งรัฐบาลผสมให้ทหารต่างชาติที่เข้าไปแทรกแซงในลาวให้ไปเสียจากดินแดนลาว ฝ่ายสหรัฐฯถอนทหารออกจากลาวโดยเปิดเผยแต่ก็ยังมีการแทรกแซงทางลับในการสนับสนุนฝ่ายที่ตนชอบอยู่ ส่วนทหารเวียดมินห์และจีนแดงทำเฉย

พ.ศ. ๒๕๐๕ ทหารขบวนการปะเทดลาวรุกเข้าถึงแม่น้ำโขงจนประเทศไทยเห็นว่าเป็นอันตราย จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในนามของซีโตให้ส่งกำลังมาตั้งมั่นไว้อันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ซีโตเคลื่อนกำลังทหาร ทหารทั้ง ๓ ฝ่ายต่างควบคุมดินแดนที่ตนมีอิทธิพล โดยพยายามกลืนพื้นที่ให้เป็นของตนมากที่สุด ว่างๆก็มีการรัฐประหารจากฝ่ายขาวบ้าง ฝ่ายเป็นกลางบ้างเป็นการลิดรอนกำลังกันเองช่วยให้ฝ่ายซ้ายแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าขอบคุณ

ปี ๒๕๐๘ รัฐบาลที่กรุงเวียงจันทน์ควบคุมพื้นที่ไว้ได้เพียง ๑ ใน ๓ ของประเทศ แต่จำนวนคนได้ถึง ๒ ใน ๓ ฝ่ายขบวนการปะเทดลาวได้พื้นที่ๆเหลืออันคลุมเส้นทางโฮจิมินห์ไว้ด้วย โดยความยินยอมของรัฐบาลที่กรุงเวียงจันทน์ สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังทหารของตนเข้าโจมตีที่มั่นของขบวนการปะเทดลาวและเครื่องบินโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์ในลาวด้วย เป็นการนำลาวเข้าสู่วงจรสงครามอินโดจีนยิ่งขึ้น

รัฐบาลผสมลาวได้ถูกจัดตั้งขึ้นถึง ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๑๗ และดูจะเป็นการผสมมากยิ่งกว่าทุกครั้ง คือตำรวจและทหารที่ประจำอยู่ในกรุงเวียงจันทน์และหลวงพระบางก็ผสมกันด้วยจนกระทั่งกรุงพนมเปญและไซ่ง่อนแตกต้นปี ๒๕๑๘ มีอิทธิพลให้พวกขบวนการปะเทดลาวเป็นตัวผสมมากกว่าพวกอื่นหรือกล่าวได้ว่ารัฐบาลในปัจจุบันและอนาคตคือรัฐบาลของขบวนการปะเทดลาวนั่นเอง
ลาวใหม่

ลาวใหม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากลาวดั้งเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างลาวกับไทยที่มีมาช้านานหลายร้อยปีเลวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงกับฝ่ายลาวประกาศปิดพรมแดนไทย-ลาว

ลาวกล่าวหาว่าประเทศไทยมีนโยบายขัดขวางสันติภาพและความสามัคคีของชาติลาว เคยยินยอมให้สหรัฐฯ ใช้ดินแดนเป็นฐานรุกรานลาว เคยส่งทหารไทยไปรบในลาว ๑๔ ถึง ๒๐ กองพัน เคยบีบบังคับลาวตามความพอใจ ในการที่ลาวต้องขนสินค้าเข้าประเทศไทย เคยใช้เรือรบแล่นในแม่น้ำโขง เพื่อคุกคามทหารและประชาชนลาวที่อยู่ตามริมแม่น้ำ

ลาวยังกล่าวหาว่า เรือรบไทยยังคุกคามลาวในแม่น้ำโขงอยู่ ไทยใช้เครื่องบินและยินยอมให้สหรัฐฯ ใช้ด้วย บินลาดตระเวนเข้าไปในลาว ไทยใช้เครื่องขยายเสียงป้องไปในทางลาว เช่นเมืองคำม่วน ไทยยังพูดโจมตีให้ร้ายรัฐบาลลาว ไทยส่งคนไปทำจารกรรมในนามของทูตทหารโดยรับจ้างหน่วย ซี ไอ เอ อเมริกัน ไทยให้การต้อนรับ เลี้ยงดู และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และทหารที่สหรัฐฯเคยฝึกสอนทำการรบในลาว

ในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๘ มีข่าวที่น่าสนใจคือ ข่าวนักศึกษาลาวจำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ คน เดินขบวนในกรุงเวียงจันทน์เพื่อเรียกร้อง ๑๖ จังหวัดในภาคอิสานของไทย และให้ไทยคืนพระแก้วมรกตให้กับลาวด้วย แต่ข่าวนี้รัฐบาลลาวปฏิเสธ ข้อที่น่าสังเกตอีกก็คือข่าวการเดินขบวนของนักศึกษาเขมรราว ๕๐๐ คนเพื่อเรียกร้อง ๔ จังหวัดจากไทยก็เกิดขึ้นในวันเดียวกัน

สิ่งที่ลาวข้องใจมากที่สุดคือการที่ไทยให้ที่พักพิงแก่นักการเมืองฝ่ายขาวและทหารชาวแม้วกับครอบครัวที่ลาวว่ามีถึง ๒๓,๐๐๐ คน โดยสหรัฐฯให้เงินกับรัฐบาลไทยถึง ๑๕๐ ล้านดอลล่าร์เพื่อการนี้ และลาวสงสัยนโยบาย “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน” ที่ไทยประกาศไว้เป็นอย่างยิ่ง

ข้อสังเกตทางด้านการทหารลาว ลาวประกาศลดกำลังทหารที่มีอยู่ประมาณ ๘๐,๐๐๐ คนอันประกอบด้วยขบวนการปะเทดลาว ราว ๓๓,๐๐๐ คนและฝ่ายเป็นกลางราว ๔๖,๐๐๐ คนให้เหลือ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้น่าจะเป็นทหารขบวนการปะเทดลาวทั้งหมด ส่วนกิจการตำรวจ สาวได้ปฏิรูปความคิดอ่านของนายตำรวจเสียใหม่โดยให้นายตำรวจฝ่ายเป็นกลางไปรับการอบรมทางการเมืองเพิ่มเติม

แต่ในขณะเดียวกัน ลาวกลับสร้างสมกำลังทางอาวุธหนักโดยได้รับจากโซเวียตรัสเซีย คือรถถังขนาดหนักราว ๗๐ คัน และปืนใหญ่ขนาด ๑๓๐ มม. ๓๐ กระบอก โดยมีที่ตั้งอยู่เหนือกรุงเวียงจันทน์เพียง ๑๕ กิโลเมตร ซึ่งแสดงว่าลาวกำลังเปลี่ยนโครงสร้างของกองทัพบกให้มีกำลังคนน้อยลง ใช้คนที่ไว้ใจได้ติดอาวุธหนักมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ปะทะกองทัพบกไทยได้

ลาวใหม่ ได้หันเหความสัมพันธ์จากทางตะวันตกไปทางตะว้นออก จากไทยไปทางเวียดนามเหนือแสดงว่าลาวไม่คิดที่จะพึ่งพิงไทยต่อไป และหนทางใหม่ของลาวก็คือการเดินร่วมกับเวียดนามเหนือ คำออกกระจายเสียงของวิทยุฮานอยในเดือนสิงหาคม ๒๕๑๘ ที่ว่า “จากท่าทีอันไม่น่าไว้วางใจของรัฐบาลไทยต่อลาวทำให้เวียดนามเหนือในฐานะมิตรสำคัญของลาวจำเป็นต้องส่งกองกำลังทหารเข้าพิท้กษ์ความปลอดภัยเพื่อช่วยฝ่ายลาวโดยไม่มีกำหนด” บอกถึงการล่มหัวจมท้ายระหว่างลาวกับเวียดนามเหนือ

แผนการสร้างสหพันธรัฐของเวียดนามเหนือที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำลงพิมพ์อันกินพื้นที่ประเทศไทยเข้ามา ๕๐-๑๐๐ กิโลเมตรจากแม่น้ำโขงไม่มีใครรู้ว่าเป็นจริงเพียงใด อาจจะทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่จริงเลย

แผนการของรัสเซียในการสร้างแนวโอบล้อมจีน จากเวียดนามเหนือ ลาว ส่วนเหนือของไทย พม่า และอินเดีย ตามที่บางคนกล่าวถึง ก็เป็นอีกแผนหนึ่งที่ยังไม่มีใครรู้ความจริง

แต่ที่แน่นอนก็คือ ลาวจะอยู่ในแผนการสร้างสหพันธรัฐเวียดนามเหนือ หรือแนวโอบล้อมจีนได้อย่างแน่นอนถ้าแผนดังกล่าวเป็นความจริง เพราะลาวใหม่ประสงค์จะเป็นเช่นนั้น

สหรัฐอเมริกากับลาว

หลังจากพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันเพียงวันเดียว ประธานาธิบดีทูรแมนก็ได้รับบันทึกเรื่อง “ปัญหาสำคัญของโลก” จากกระทรวงต่างประเทศของตน

หัวข้อที่ ๒ ของบันทึกกล่าวถึงฝรั่งเศส โดยพิจารณาถึงการปลอบขวัญฝรั่งเศส “ที่กำลังใช้กำลังของตนหมดแล้วในอินโดจีน และหวังที่จะรู้จุดมุ่งหมายและท่าทีของสหรัฐฯ ต่ออินโดจีน”

ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๕ ไอเซนฮาวเออร์ ผู้ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบแทนทรูแมน ได้รับการบรรยายสรุปจากนาย ดีน แอชีสัน รัฐมนตรีต่างประเทศที่กำลังจะออกจากกระทรวงไปพร้อมกับทรูแมนในเรื่องที่ “เป็นปัญหาสำคัญสุดยอด” นายแอชีสันบรรยายแก่ประธานาธิบดีคนใหม่ถึงการหมดแรงของฝรั่งเศสในการรบในอินโดจีนถึงการต่อสู้ของชาวอินโดจีน และถึงความจริงที่ทางวอชิงตันกำลังออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งให้แก่ฝรั่งเศสในการสงครามนั้น ท่านรัฐมนตรีลงท้ายว่า “นี่เป็นเรื่องด่วนที่รัฐบาลใหม่จะต้องเตรียมดำเนินการ”

วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๐๔ ก่อนวันพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีของ แคนเนดีเพียงวันเดียว ไอเซนฮาวเออร์ได้แจ้งให้ ปธน.คนใหม่ทราบถึง “สถานการณ์อันเลวร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ท่านกล่าวว่าลาวเป็นปัญหาที่สหรัฐฯจะต้องปกป้องลาวและว่า “การเข้าไปมีบทบาทในลาวโดยตรงเท่านั้นจึงจะกู้สถานการณ์เอาไว้ได้”

และนั่นก็เป็นที่มาของบทบาทสหรัฐฯในลาว การเจรจาสงบศึกของคู่ศึกเวียดนามกับฝรั่งเศสที่กรุงเจนีวา ประกอบด้วย ฝรั่งเศส จีน โซเวียต รัสเซีย เวียดมินห์ และผู้แทนพระเจ้าจักรพรรดิเบาได๋ สหรัฐฯ ผู้สนับสนุนฝรั่งเศสในการสงครามเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์มิได้ร่วมลงนามด้วย และเมื่อสหรัฐฯตกลงใจที่จะเข้าไปมีบทบาทโดยตรงในลาวเพื่อป้องกันลาวตกไปอยู่ในเงื้อมมือคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯก็ต้องสนับสนุนฝ่ายขวาลาวให้มีกำลังต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้

การสนับสนุนของสหรัฐกระทำโดยเปิดเผยและทางลับมากมาย โดยเปิดเผยได้แก่การให้เงินและอาวุธ การส่งทหารอเมริกันไปรบกับทหารขบวนการปะเทดลาว การส่งเครื่องบินไปโจมตีที่มั่นฝ่ายตรงข้าม และส่งกำลังทางอากาศให้ฝ่ายที่ตนสนับสนุนรวมทั้งการโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์เพื่อตัดการลำเลียงจากเวียดนามเหนือลงไปยังเวียดนามใต้

โดยทางลับได้แก่การนำเอาชาวเขามาผึกให้ทำการรบช่วยฝ่ายตน ให้เงินรัฐบาลไทยส่งทหารอาสาสมัครไปรบในลาว จัดตั้งองค์การพลเรือนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ลาวแต่เป็นองค์การบังหน้าสำหรับการปฏิบัติงานทางลับอีกด้วย

ไทยกับลาว

รัฐบาลไทยเลือกแนวทางไปเข้าค่ายตะวันตกที่มีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเลิกไปไม่กี่ปี นโยบายของไทยต่อลาวก็ต้องตามหลังนโยบายสหรัฐฯ ในลาวนั่นเอง คือพยายามไม่ให้ฝ่ายขบวนการปะเทดลาวมีอำนาจ

การกระทำต่างๆของสหรัฐฯ ในลาวส่วนใหญ่ใช้แผ่นดินไทยเป็นฐาน เช่น เครื่องบินอเมริกันที่ปฏิบัติการในลาวบินไปจากฐานบินอเมริกัน ๗ แห่งในไทย การฝึกทหารลาวที่สหรัฐฯ สนับสนุนบางส่วนกระทำการฝึกที่ค่ายฝึกในประเทศไทย ตลอดจนกระทั่งการส่ง “ทหารอาสาสมัครไทย” ไปช่วยฝ่ายที่อเมริกันสนับสนุนตามนโยบาย “รบนอกบ้านดีกว่าในบ้าน” ของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น

นอกจากนี้ในทางการเมือง ทหารลาวเขาปฏิวัติรัฐประหารกันบ่อย แต่ร้อยเอกคุมกำลังคนสักพันทำการสำเร็จก็มี เพราะเมื่อยึดกรุงเวียงจันทน์ไดก็เสมือนประสบความสำเร็จแล้ว แต่พวกปฏิวัติรัฐประหารบางพวกระทำการไม่สำเร็จและหนทางหนีออกนอกประเทศจากกรุงเวียงจันทน์ก็ไม่มีทางใดดีกว่าหลบเข้าประเทศไทย จึงกลายเป็นว่า ไทยเป็นที่พำนักพักพิงของนักการเมืองการทหารลาวที่ล้มเหลวจากความใฝ่ฝันในการเป็นใหญ่ในลาว ถ้ารัฐบาลลาวเห็นว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองลาวในไทยอยู่ที่ฐานะที่จะข้ามไปปฏิบัติการใดๆในลาวได้อีกก็ท้วงไทยเสียทีหนึ่ง และเมื่อการรบพุ่งระหว่างคนลาวด้วยกันเองรุนแรงขึ้นหลังจากกรุงพนมเปญและไซ่ง่อนแตกแล้ว โดยฝ่ายขบวนการปะเทดลาวมีอำนาจมากที่สุด ผู้ลี้ภัยชาวลาวรวมทั้งทหารชาวเวียดนามที่สหรัฐฯ ฝึกปรือมาก็หนีมาอยู่ในไทยอีกเช่นเคย

นอกจากการส่งทหาร “อาสาสมัครไทย” ไปช่วยฝ่ายลาวที่สหรัฐฯ สนับสนุนแล้ว รัฐบาลไทยยังส่งทหาร “มิได้อาสาสมัคร” ไปชิดพรมแดนลาวอีกทางหนึ่งคือทหารเรือไทยด้วยการส่ง “หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขง” (นปข.) เอาเรือรบสำหรับใช้ในแม่น้ำวิ่งลาดตระเวนในแม่น้ำโขง เรือเหล่านี้ได้รับมาจากสหรัฐฯ เหมือนเวียดนามใต้ได้มา และนำไปใช้บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง นปข.นี้ก็ไปอยู่เป็นทหารเรือน้ำจืดในแม่น้ำโขง ๕ ปีมาแล้ว แต่ชื่อเสียงโด่งดังเอาในปี ๒๕๑๘ นี้เอง เพราะทางลาวเขาว่าเอาและบางครั้งก็ยิ่งกว่าว่าด้วยการเอาปืนยิงใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือของ นปข. หมายเลข ๑๒๓ ที่ถูกยิงจนเกยตื้นกลางลำน้ำโขงเป็นเหตุการณ์ใหญ่กระฉ่อนไปทั่วโลกและทั้งสองฝ่ายเตรียมกำลังบันบนสองฝั่งแม่น้ำอย่างคึกคัก

ทางเมืองไทยประกาศปิดพรมแดนระหว่างกันตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นจนถึงต้นปีใหม่ ๒๕๑๙ จึงเปิดพรมแดนใหม่นับเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดระหว่างเมืองไทยกับลาว ทางลาวกล่าวหาหลายอย่างว่าเรือเหล่านี้ไปในน่านน้ำของเขาและเป็นเรือติดอาวุธที่แสลงหูแสลงตาคนลาวมาก

การที่ลาวเพิ่งจะว่าและยิงเรือ นปข. ในปีนั้นก็เพราะปีนั้นฝ่ายขบวนการปะเทดลาวมีอิทธิพลอย่างแท้จริงและแผ่อิทธิพลมายังแม่น้ำโขง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๘ ลาวก็ส่งเรือทำจากรัสเซียมาแล่นในแม่น้ำโขง นัยว่าเพื่อลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึมทำนองนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับฝ่ายไทยเป็นอย่างยิ่งถ้าลาวทำตามนัยนั้นดังกล่าวแล้วแต่โดยนัยกลับกันเรือลาวอาจสนับสนุนการแทรกซึมต่อไทยเป็นการหนักแรง นปข. ยิ่งขึ้นก็ได้

ในเดือนสุดท้ายของปี ๒๕๑๘ พระเจ้ามหาชีวิตลาวได้ประกาศสละราชบัลลังก์และลาวก็เป็นประเทศคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ตามแนวความคิดของโฮจิมินห์ ในเดือนเดียวกันเวียดนามเหนือกับใต้และรัสเซียก็ประการประฌามการปิดพรมแดนของไทย “ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองตึงเครียดยิ่งขึ้นเป็นการกระทบกระเทือนต่อการยังชีพของคนไทยและลาวที่อาศัยอยู่ตามลำแม่น้ำโขง”

ในเวลาเดียวกันทั้งเวียดนามและรัสเซียก็ลำเลียงโดยเครื่องบินแสดงว่าลาวได้เข้าสู่อ้อมอกของเวียดนามเหนืออย่างกระชับ การเปิดพรมแดนขึ้นอีกในวันแรกของปี ๒๕๑๙ ที่เมืองไทยกระทำไปดูเป็นการแสดงอัธยาศัยไมตรีของไทยไปคนเดียว เมืองลาวเขาเฉยอย่างผิดสังเกต

เรื่องของไทยกับลาวในรอบ ๒๐ ปีตั้งแต่ก่อน ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ไทยได้แทรกแซงกิจการภายในของเมืองลาวมาอย่างมากและโดยตลอดที่จะทำเมืองลาวให้เป็นรัฐกันชนกับรัฐคอมมิวนิสต์เอาไว้แต่ไม่สำเร็จ ความแตกต่างขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และสังคมได้เกิดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งเรื่องพรหมแดน ดูเหมือนว่าเมืองลาว อยากจะ “คิดบัญชี” กับเมืองไทยโดยอาศัยเวียดนาม รัสเซียหนุนหลัง


บทเรียนจากลาว

- การเป็นกลางของประเทศเล็กๆด้อยพัฒนาอย่างลาว แม้จะมีมหาอำนาจช่วยรับรองความเป็นกลางก็ตาม เป็นไปไม่ได้ถ้าประเทศนั้นๆ ยังแบ่งเป็นหลายฝักหลายฝ่ายและแต่ละฝ่ายมีทหารของตนเอง
- การประกาศให้ลาวเป็นเขตปลอดทหารต่างชาตินั้นเปล่าประโยชน์ ถ้ามหาอำนาจหรือเพื่อนบ้านของลาวเองแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของผู้แทรกแซงหล่านั้น

- การแก้ปีญหาของลาวด้วยวิธีการทางการเมือง โดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมถึง ๓ ครั้งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ละครั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์คืบคลานได้เปรียบขึ้นทุกครั้ง
- รัฐบาลผสมที่แต่ละฝ่ายมีกำลังทหารของตนเอง ในทีสุดจะเป็นรัฐบาลที่คอมมิวนิสต์เป็นใหญ่หรือเป็นคอมมิวนิสต์แต่ฝ่ายเดียว
- วิธีการที่สหรัฐฯ สนับสนุนพวกที่ตนชอบในลาว คือการช่วยเหลือลาวที่ตนชอบให้รบกับลาวที่ตนไม่ชอบ สลับกับการปฏิวัติรัฐประหารทำนองเดียวกับในเวียดนามและกัมพูชา
- ฝ่ายที่สหรัฐฯ สนับสนุนในลาวเป็นฝ่ายที่หมดอำนาจ
- การสร้างสถานการณ์และการล้มล้างรัฐบาลลาวที่ตนไม่ชอบเป็นวิธีการที่สหรัฐฯ ใช้ทำนองเดียวกับที่อื่น
- กำลังทางอากาศและหน่วยรบบางหน่วยของสหรัฐฯ ที่ใช้ในลาวเพื่อสนับสนุนฝ่ายที่ตนไม่ชอบ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
- เพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อที่สุดกลับกลายเป็นร้ายที่สุด

No comments: