Tuesday, February 20, 2007

บทความที่ ๖๑. ศึกษากัมพูชาในเหตุการณ์สงครามอินโดจีน

กัมพูชาในเหตุการณ์สงครามอินโดจีน

กัมพูชาตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ๘๕ ปี ได้อิสรภาพด้วยผลพลอยได้จากสงครามระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส ในปี ๒๔๙๑ แต่ก็มิใช่อิสรภาพอย่างสมบูรณ์ เพราะฝรั่งเศสยังกุมอำนาจทหารและตำรวจไว้ ชาวเขมรหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มชาตินิยม กลุ่มเขมรกรอม ได้ต่อต้านฝรั่งเศสต่อไปจนปี ๒๔๙๘ จึงได้รับเอกราชอย่างแท้จริงโดยชาวเขมรถือว่า เจ้าสีหนุเป็น “บิดาแห่งเอกราช” ของกัมพูชา

เจ้าสีหนุได้ประกาศว่ากัมพูชามีนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลาง ไม่ยอมเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการองค์การซีโต (SEATO:Southeast Asia Treaty Organization) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ ต่อมาเจ้าสีหนุได้พยายามดึงเอาจีน เวียดนามเหนือ และรัสเซีย เข้ามาให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเพื่อคานกับอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่ขนาบอยู่ทั้งสองด้านในไทยและเวียดนามใต้ จึงทำให้สหรัฐฯไม่พอใจกัมพูชาที่กำลังช่วยเหลือเวียดนามใต้ทำการรบในสงครามเวียดนามเหนือ-ใต้

ทั้งสหรัฐฯและเวียดนามใต้ไม่พอใจกัมพูชามากขึ้น เมื่อกัมพูชายินยอมให้เวียดกงและเวียดนามเหนือใช้ดินแดนที่ติดกับเวียดนามใต้เป็นที่ส่งกำลังบำรุงและส้องสุมกำลังรบ จนเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลเจ้าสีหนุในเดือนมีนาคม ๒๕๑๓

การรัฐประหารล้มเจ้าสีหนุในครั้งนี้นำโดยนายพลลอนนอล เชื่อกันว่าเป็นแผนงานของหน่วยสืบราชการลับของอเมริกัน (C.I.A) และรัฐบาลของนายพลลอนนอลผู้เลื่อนยศตนเองเป็นจอมพลทันทีตามประสาคนทำรัฐประหารสำเร็จ ก็ประกาศรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ล้มราชอาณาจักรกลายเป็นสาธารณรัฐ เลิกสถาบันกษัตริย์และตัดสินประหารชีวิตเจ้าสีหนุทั้งๆที่ท่านไม่อยู่ในประเทศแล้ว

แต่แทนที่เจ้าสีหนุจะหลบหน้าหรือหายตัวไปใช้เงินที่สะสมไว้ ไปอยู่ในต่างประเทศอย่างเงียบๆเช่นกษัตริย์หรือเจ้านายทั้งหลายที่ลี้ภัยการเมือง กลับไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกรุงปักกิ่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อดีตกษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์ไปพึ่งพิงผ่ายคอมมิวนิสต์ !!!

โดยที่ตัวท่านเองไม่มีวี่แววหรือมีก็ไม่มากที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ และเชื่อกันว่าชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ตลอดจนบรรดาพระสงฆ์องค์เจ้ายังจงรักภักดีต่อเจ้าสีหนุอยู่มาก

การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกรุงปักกิ่ง เป็นการยืนยันว่าเจ้าสีหนุประสงค์จะกลับไปเป็นผู้ปกครองกัมพูชาอีกโดยมีจีนสนับสนุน แต่การณ์กลับปรากฏว่ากำลังส่วนใหญ่ที่ใช้ไม่ใช่พวกของเจ้าสีหนุ แต่เป็นขบวนการคอมมิวนิสต์เขมรที่รู้จักกันทั่วโลกว่า “เขมรรูก” หรือ “เขมรแดง”

ผู้นำกลุ่มเขมรแดง

เขมรแดงเป็นกลุ่มที่มีมานานแล้วแต่เริ่มแข็งแกร่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยกำลังประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน มีผู้นำที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ เช่น เขียว สัมพัน ฮูยุ่น และฮูนิม

ผู้นำเขมรแดงเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี ตัวเขียว สัมพัน หัวหน้าใหญ่จยการศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารีสด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “เศรษฐกิจของกัมพูชา” เขามีความเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจที่เปิดการค้าเสรีตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสยังเป็นปิศาจขาวนั้น เป็นระบบที่นำพาความยากจนมาสู่ประเทศและชาวเขมรทั้งมวล มีชาวเขมรจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์และร่ำรวย

วิทยานิพนธ์ของเขียว สัมพัน ให้ความเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบกัมพูชาต้องเป็นแบบสังคมนิยม เขียว สัมพันเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลของเจ้าสีหนุ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อเกิดการกบฏของชาวไร่ชาวนาแถบพระตะบอง นายยกรัฐมนตรีคือนายพลลอนนอลได้รายงานต่อเจ้าสีหนุประมุขของรัฐว่า เขียวฯ เป็นตัวการในการกบฏครั้งนี้เขาจึงถูกฟ้องและปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี เขียวฯได้หลบหนีออกจากกรุงพนมเปญและกลายเป็นผู้นำเขมรแดงในที่สุด

ฮูยุ่นเรียนปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากฝรั่งเศส เช่นเดียวกันเขียว สัมพัน และเป็นผู้ช่วยวางแผนเศรษฐกิจให้แก่กัมพูชา เหตุการณ์กบฏที่พระตะบองทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตเช่นเดียวกับเขียว สัมพัน เขาจึงหลบหนีออกจากกรุงพนมเปญ เข้าร่วมในกลุ่มเขมรแดงอย่างเปิดเผย ฮูยุ่นมีความสัมพันธ์กับทางกรุงฮานอยอย่างสนิทสนมชิดเชื้อเป็นพิเศษ

ฮูนิมเรียนกฎหมายจากฝรั่งเศสได้นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ในระหว่างที่เจ้าสีหนุครองอำนาจ เขาเป็นผู้แทนสมัชชาแห่งชาติกัมพูชา แต่ได้หลบหนีออกจากกรุงพนมเปญและเข้ากลุ่มเขมรแดงเช่นเดียวกับเขียว สัมพันและฮูยุ่น

ผู้นำสำคัญอีกคนหนึ่งของเขมรแดง คือ เอียง สารี เป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างเขมรแดงกับกรุงฮานอยและปักกิ่ง

สมาชิกเขมรแดงในระยะเริ่มแรกเป็นพวกครูประชาบาลตามบ้านนอกที่มีจำนวนไม่มากนัก แต่เมื่อได้ผู้นำดังกล่าวมาแล้วร่วมด้วย จึงได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จากชาวนาและกรรมกรโดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ และเวียดกง เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่เขียว สัมพันหลบหนีอยู่ในป่านั้นเจ้าสีหนุได้แถลงครั้งหนึ่งว่า เขียว สัมพันได้ถึงแก่กรรมแล้ว

นายพลลอนนอลผู้กระทำรัฐประหารต่อเจ้าสีหนุเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ๒ ครั้งขณะที่เจ้าสีหนุเป็นประมุขของกัมพูชา เมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้วก็ปรากฏต่อมาว่า ลอนนอลเป็นฝ่ายสหรัฐอเมริกาอย่างชัดแจ้ง ด้วยการรับความช่วยเหลือรวมทั้งการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ด้วย

ความประสงค์ร่วมกันของเจ้าสีหนุและเขมรแดงที่จะล้มล้างรัฐบาลลอนนอล ทำให้ทั้งสองรวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกันและตั้งรัฐบาลของตนเรียกว่า “รัฐบาลสามัคคีประชาชาติแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา” (GRUNK) โดยมีเจ้าสีหนุเป็นประมุข เขียว สัมพันเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพปลดแอกประชาชน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ เป็นต้นมา

รัฐบาลเจ้าสีหนุที่พักพิงในปักกิ่ง ตลอดเวลาที่ทำการกู้อำนาจนี้ได้รับการรับรองจากประเทศค่ายคอมมิวนิสต์หลายประเทศ แต่รัสเซียซึ่งเป็นผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์เป็นประเทศหนึ่งที่ไม่ยอมรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของเจ้าสีหนุในกรุงปักกิ่ง รัสเซียยังคงสถานทูตของตนไว้ในพนมเปญ แสดงความแตกแยกอย่างหนึ่งในค่ายคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง

การช่วงชิงอำนาจระหว่างสองรัฐบาลกัมพูชาที่กรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งถือหางข้างละฝ่ายสิ้นสุดลงเมื่อกรุงพนมเปญแตกในเดือนเมษายน ๒๘๑๘ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่งต่อสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยที่เคยสนิทสนมแน่นแฟ้นกับทางกรุงวอชิงตัน

ไทยกับกัมพูชา

ราชอาณาจักรกัมพูชาเคยเป็นอาณาจักรครอบครองแหลมทองมาก่อนที่ชาวไทยจะลงมาตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วย แต่เป็นการประหลาดที่ชาวเขมรกลับมีวัฒนธรรมทั้งในทางศาสนาฏศิลป์ การดนตรี การแต่งกายตลอดจนสถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น ปราสาทราชวังคล้ายคลึงกับไทยมากยิ่งกว่าเพื่อนบ้านอื่นใด ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ฝ่ายไทยมีอิทธิพลอยู่มากในกัมพูชา

แต่เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลเจ้าสีหนุมีนโยบายไม่ไว้ใจไทยที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้เหตุผลหนึ่งของนโยบายนี้ก็คือ เหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ทั้งไทยและเวียดนามเคยขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบางส่วนของกัมพูชาหลายครั้ง ฝ่ายไทยขยายเข้าไปทางเสียมเรียบและพระตะบอง ฝ่ายเวียดนามมาทางปากแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันคนเชื้อชาติเขมรจำนวนมากยังอยู่ที่นั่น เหตุผลนี้เป็นเรื่องที่ไม่เกินความจริง

แต่เหตุผลที่เจ้าสีหนุอ้างนั้นคือ ข้อตกลงเจนีวาที่ว่า ข้อตกลงนั้นให้กัมพูชาปลอดทหาร กัมพูชาจึงต้องมีนโยบายเป็นกลาง

อย่างไรก็ตามกัมพูชาอยู๋ในสภาพที่เสื่อมโทรม จำยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยเริ่มจากสหรัฐฯก่อน ทางด้านการทหาร การคมนาคม และเศรษฐกิจ สหรัฐฯช่วยเหลือพร้อมกับชักชวนกัมพูชาให้เป็นสมาชิกองค์การซีโตแต่เจ้าสีหนุปฏิเสธและหันไปขอความช่วยเหลือจากจีนอีกทางหนึ่ง ทำให้สหรัฐฯงดความช่วยเหลือและตัดการทูตในปี ๒๕๐๑

กัมพูชาเห็นว่าไทยและเวียดนามทีพฤติการณ์ปิดล้อมกัมพูชาและให้ความสนับสนุนขบวนการเขมรเสรีที่จะโค่นล้มการปกครองของเจ้าสีหนุ ประจวบกับเกิดพิพาทกับไทยเรื่องเขาพระวิหาร ในปี ๒๕๐๔ กัมพูชาจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยและเพ่งเล็งว่าไทยเป็นลูกน้องตัวเอ้ของสหรัฐฯ หลังจากที่เคยตัดความสัมพันธ์กับไทยมาครั้งหนึ่งแล้ว

การรัฐประหารโค่นล้มการปกครองของเจ้าสีหนุ เจ้าสีหนุเชื่อว่ามีการวางแผนในกรุงเทพฯ โดยสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่ และระหว่างที่ทำสงครามปลดแอกอยู่ ฐานบินในประเทศไทยได้ไปโจมตีพวกเขมรแดง สนับสนุนทหารของลอนนอล รวมทั้งได้มีการฝึกทหารของลอนนอลที่ลพบุรีและสัตหีบด้วย
ทางด้านการเมือง รัฐบาลไทยได้รับรองรัฐบาลลอนนอลหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการับรองก่อนล่วงหน้า และได้คัดค้านญัตติรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของเจ้าสีหนุ ในการเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติใน พฤศจิกายน ๒๕๑๗

แต่ไม่ถึงปีต่อมา รัฐบาลไทยกลับต้องรับรองรัฐบาลกัมพูชาของเจ้าสีหนุเมื่อกรุงพนมเปญแตกโดยความหวังว่าจะได้สัมพันธไมตรีอันดีกับเพือนบ้านตามนโยบายของเมืองไทยปี ๒๕๑๘ และก็ไม่ผิดหวังสำหรับกัมพูชาเพราะปลายเดือนตุลาคมรองนายกรัฐมนตรีเขมรก็ได้มาเยือนกรุงเทพฯ เจรจากันถึงการรื้อความสัมพันธไมตรีที่คาดว่าจะมีการแลกเปลี่ยนทูตกันในไม่ช้า สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับกัมพูชากล่าวกันว่า จีนมีบทบาทอยู่เบื้องหลังไม่มากก็น้อย เพราะในอินโดจีนก็มีกัมพูชาเพียงแห่งเดียวที่จีนมีบารมีอยู่เหนือรัสเซีย และจะเป็นผลประโยชน์ต่อจีนถ้ากัมพูชาญาติดีกับเมืองไทย

อย่างไรก็ดี เดือนธันวาคม ๒๕๑๘ ได้เกิดการสู้รบระหว่างกำลังตำรวจทหารไทยกับของกัมพูชาด้านอรัญประเทศด้วยเรื่องพรมแดน แม้ว่าไม่แน่ชัดว่ากำลังของกัมพูชาที่ต่อสู้ด้วยจะเป็นกำลังของพวกเขมรที่เสียอำนาจมายุแหย่ให้ไทยกับกัมพูชาผิดใจกัน หรือเป็นกำลังของรัฐบาลเขมรจริงๆ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาพรมแดนระหว่างกัน พรมแดนด้านชายทะเลที่หาดเล็กๆและทื่อื่นๆ ก็ได้เคยเกิดปัญหามาแล้ว เช่นที่หาดเล็ก กัมพูชาว่าเขตแดนของกัมพูชาลึกเข้ามาในไทยประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นต้น กัมพูชาจึงมีเรื่องเขตแดนอยู่ในใจอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะมีท่าทีต่อเมืองไทยดีกว่าชาติอื่นในอินโดจีน แต่ความแตกต่างในลัทธิและอุดมการ “กรรมเก่า” ที่เมืองไทยเคยกระทำไว้ในกัมพูชา และปัญหาพรมแดนกับไหล่ทวีป จะมีผลให้กัมพูชามีท่าทีอันเลวต่อเมืองไทยก็ได้ และเมื่อใดถ้าเหตุการณ์ที่กัมพูชาจำต้องเลือกระหว่างเมืองไทยกับชาติอื่นในอินโดจีนกับเพื่อผลประโยชน์ในความมั่งคั่งของกัมพูชาเอง กัมพูชาจะไม่มีวันเลือกไทย


สหรัฐอเมริกากับกัมพูชา

ในยุคล่าเมืองขึ้นจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง คนอเมริกันแทบจะไม่รู้จักว่า กัมพูชาหรือเขมร คืออะไร แต่รู้จักดีเมื่อสหรัฐฯเริ่มแทรกแซงกับเวียดนามและพบว่าจะทำอะไรกับเวียดนามต้องเกี่ยวข้องกับกัมพูชาด้วย มิฉะนั้นจะไม่มีทางสำเร็จจุดมุ่งหมาย

สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือหลายด้านแก่กัมพูชา ตั้งแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ต่อมากัมพูชาประกาศนโยบายเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทำความไม่พอใจให้แก่สหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ เห็นว่าการเป็นกลางของกัมพูชา ไม่เป็นกลางจริง แต่เอียงเข้าข้างและอำนวยประโยชน์แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนทั้งหมดรวมทั้งกัมพูชาขอความช่วยเหลือจากจีนอีกทางหนึ่งด้วย

ในปี ๒๕๐๖ กลุ่มเขมรเสรีเริ่มโฆษณาโจมตีรัฐบาลเจ้าสีหนุโดยเชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เจ้าสีหนุจึงไม่รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อีกต่อไป และเมื่อเครื่องบินอเมริกันเริ่มโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์ที่ฝ่ายเวียดกงใช้ในการลำเลียงสำหรับการรบในเวียดนามใต้ กัมพูชาก็ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ และแสดงตนช่วยเหลือเวียดกงโดยเปิดเผย

เครื่องบินอเมริกันยังคงโจมตีเป้าหมายบนเส้นทางโฮจิมินห์ที่วกเลี้ยวเข้ามาในเขตเขมรตลอดมา จนกระทั่งนายพลลอนนอลที่สหรัฐฯสนับสนุนกระทำรัฐประหารสำเร็จในเดือนมีนาคม ๒๕๑๓ จนกระทั่งกรุงพนมเปญแตกในเดือนเมษายน ๒๕๑๘ กล่าวกันว่ามีมูลค่าราว ๑.๘ พันล้านดอลล่าร์ ในทางทหารนอกจากให้การฝึกและยุทโธปกรณ์ต่อทหารของลอนนอลแล้ว เครื่องบินอเมริกันสนับสนุนทหารของลอนนอลด้วยการบินหาข่าวและโจมตีทหารเขมรแดง แต่ทหารอเมริกันมิได้ทำการรบภาคพื้นดินอย่างในเวียดนามใต้

เมื่อเริ่มปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ฝ่ายเขมรแดงสามารถตัดเส้นทางหลวงทุกสายที่มุ่งสู่กรุงพนมเปญ และต่อมาก็สามารถหยุดยั้งกระบวนเรือที่มาจากกรุงไซ่ง่อนตามลำแม่น้ำโขงได้อีก สหรัฐฯต้องลำเลียงสัมภาระต่างๆ เลี้ยงกรุงพนมเปญด้วยเครื่องบินพร้อมกับประธานาธิบดีเจอรัล ฟอร์ด ขออนุมัติรัฐสภาให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลลอนนอลเป็นพิเศษ แต่รัฐสภาไม่อนุมัติจนกระทั่งทหารเขมรแดงคืบคลานใกล้สนามบินโปเจนตง และเครื่องบินอเมริกันขึ้นลงไม่ได้ รัฐบาลลอนนอลก็อยู่ในฐานะหมดหวัง ตัวนายพลลอนนอลเดินทางออกจากกรุงพนมเปญแต่ก็ยังไม่ทิ้งตำแหน่งประธานาธิบดีโดยหวังว่า รัฐบาลที่ยังเหลืออยู่อาจตกลงกับเจ้าสีหนุถึงเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้บ้าง

แต่เจ้าสีหนุยืนยันการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขและกรุงพนมเปญก็เสียแก่ทหารเขมรแดงในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๘

สหรัฐฯ ได้ถอนคนอเมริกันออกจากกรุงพนมเปญก่อนกรุงแตกไม่นานนัก รัฐบาลใหม่ของกัมพูชายังกล่าวหาอยู่ว่า สหรัฐอเมริกายังแทรกแซงกัมพูชาด้วยการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลใหม่ การบินสอดแนมเหนือพื้นดินและทะเลของกัมพูชา การส่งเรือกระทำจารกรรมดังเช่นกรณีเรือสินค้า มายาเกซ ที่ทหารเรือเขมรยังไว้และสหรัฐฯใช้กำลังทหารเข้ายึดคืนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๘ เป็นต้น

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๑๘ เครื่องบินลาดตระเวนหาข่าวของอเมริกัน บินจากสนามบินอู่ตะเภาในไทยหายไป ทางการสหรัฐฯแถลงว่าเครื่องบินลำนี้จะเดินทางกลับสหรัฐฯผ่านเกาะกวม แต่ต่อมาปรากฏว่าชาวประมงไทยพบตัวนักบินในทะเลนอกฝั่งจังหวัดปัตตานี การกล่าวหาของกัมพูชาที่ว่าเครื่องบินอเมริกันยังบินสอดแนมเหนือพื้นดินและทะเลของกัมพูชาจึงน่าจะเป็นความจริง สหรัฐฯยังปฏิบัติการบางอย่างต่อกัมพูชา และกัมพูชาใหม่ไม่พอใจ

สหรัฐฯ ยังไม่มีนโยบายที่แน่นอนต่อกัมพูชา เพราะกัมพูชายังทำตนเป็นเมืองปิดและไม่ประสงค์จะญาติดีกับสหรัฐฯ กรณีเรือมายาเกซยิ่งทำให้กัมพูชามีท่าทีเป็นศัตรูต่อสหรัฐฯ ยิ่งขึ้น และจะไม่รับความช่วยเหลือใดๆ จากสหรัฐฯดังที่รัฐบาลลอนนอลเคยทำ



คอมมิวนิสต์กับกัมพูชา

การต่อต้านการปกครองจากฝรั่งเศสทำให้เกิดกลุ่มเขมรอิสระมานานแล้ว ในกลุ่มนี้มีพวกนิยมและใช้วิธีการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ด้วย แต่ไม่ประสบผลหลังจากเกิดจลาจลที่พระตะบองและถูกรัฐบาลเจ้าสีหนุปราบปรามอย่างรุนแรงในปี ๒๕๑๑ แล้ว กลุ่มคอมมิวนิสต์นี้กลับแข็งแรงขึ้นเพราะศัตรูทางการเมืองของเจ้าสีหนุมาสมทบด้วยและเรียกตนเองว่า เขมรรูก หรือ เขมรแดง

รัฐบาลเจ้าสีหนุยอมรับความช่วยเหลือทั้งทางทหาร และเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา แต่ได้งดเสีย เพราะกัมพูชาเกิดกระทบกระทั่งกับเวียดนามใต้และไทยผู้เป็นมิตรกับสหรัฐฯ จนกระทั่งถึงตัดความสัมพันธไมตรีกันกับประเทศทั้งสามในที่สุด แล้วรัฐบาลเจ้าสีหนุก็หันไปรับความช่วยเหลือคอมมิวนิสต์แทน

ผู้ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาได้ก็คือ จีนกับรัสเซีย เจ้าสีหนุประสงค์พึ่งพิงจีนแดงมาก เพราะจีนเป็นชาติใหญ่ในเอเชียและใกล้กัมพูชามากกว่ารัสเซีย แต่จีนเองเวลานั้นก็กระเป๋าเบาอยู่จึงต้องอาศัยรัสเซียด้วย รัสเซียซึ่งเริ่มจะไม่ถูกกับจีนแดงอย่างจริงจังก็ไม่พอใจที่จีนจะไปมีอิทธิพลในกัมพูชา แต่เจ้าสีหนุเก่งพอจะได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสองฝ่าย เช่นรัสเซียช่วยสร้างถนนที่เจ้าสีหนุตั้งชื่อว่า “ถนนสหภาพโซเวียต” ให้ในขณะที่จีนแดงช่วยสร้างอย่างอื่น และส่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจมาช่วยวางแผนเศรษฐกิจให้กัมพูชา เป็นอันว่าการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศของกัมพูชาก่อนเจ้าสีหนุหมดอำนาจ มาจาก ๓ ชาติใหญ่ เช่น จากสหรัฐอเมริกา ก็คือเมืองชายทะเลชื่อเดียวกับเจ้าสีหนุ “สีหนุวิลล์” ที่ท่านชอบไปตากอากาศ ถนนมิตรภาพจากรัสเซีย ระบบเศรษฐกิจและโอรสสององค์ของเจ้าสีหนุที่จบการศึกษาจากปักกิ่ง เป็นต้น

ในเดือนกันยายน ๒๕๐๖ เจ้าสีหนุได้เขียนวิจารณ์การเมืองต่างประเทศพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสอันเป็นหนังสือพิมพ์ของท่านในกัมพูชา ท่านกล่าวถึงเวียดนามว่าในที่สุดจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งประเทศ และกล่าวถึงประเทศของท่านเองด้วยว่า กัมพูชาก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่คงทีหลังเวียดนาม เจ้าสีหนุเน้นว่า การที่เวียดนามก็ดี กัมพูชาก็ดี จะเป็นคอมมิวนิสต์นั้นก็เพราะการแทรกแซงของสหรัฐฯในอินโดจีนเป็นสาเหตุสำคัญ

นอกจากไม่ถูกกับเวียดนามใต้แล้ว รัฐบาลเจ้าสีหนุยังไม่ถูกเวียดนามเหนืออีกด้วย เรื่องเขตแดนที่ติดต่อกับเวียดนามเหนือ เพราะเวียดนามเหนือมีพฤติการณ์ที่จะยึดครองดินแดนบางส่วนของกัมพูชาไป และเจ้าสีหนุก็เป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นดีคนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่า คนญวนกับคนเขมรไม่มีวันที่จะถูกกัน เจ้าสีหนุเองหวังพึ่งจีนที่จะช่วยเจรจากับเวียดนามเหนือให้กรณีพรมแดนนี้ รวมทั้งการที่ทหารเวียดมินห์ขนาดกรมเข้าไปตั้งอยู่ในกัมพูชาด้วย

ความกดดันของเหตุการณ์ในอินโดจีน และปัญหาของชนกลุ่มน้อยกับชายแดนเวียดนามทำให้กัมพูชารักษาความเป็นกลางไว้ไม่ได้ แม้ว่าจะอยากรักษาเอาไว้ เพราะเจ้าสีหนุเชื่อว่าถ้าสหรัฐฯพลาดท่าในอินโดจีน ผู้ที่จะเข้ามาแทนที่น่าจะเป็นจีน เจ้าสีหนุเคยเขียนจดหมายไปลง New York Time ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๐๘ ยอมรับว่า ถ้าสหรัฐฯถอนตัวไปจากภูมิภาคของเรานี้ เพราะชัยนชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ตัวข้าพเจ้าและพรรคสังคมนิยมประชาราษฎร์ที่ข้าพเจ้าตั้งขึ้นจักต้องหลบลี้หายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการยืนยันว่าท่านไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์แต่ถ้าจะเป็นก็เพราะบทบาทของสหรัฐฯ

ปรากฏว่าคำทำนายของเจ้าสีหนุถูกต้องเกือบหมด เว้นแต่ว่ากัมพูชาได้เป็นคอมมิวนิสต์ก่อนเวียดนาม ผิดไปจากที่ท่านทำนายว่าเวียดนามจะเป็นคอมมิวนิสต์ก่อน

เจ้าสีหนุเดินทางไปพักผ่อนในฝรั่งเศสในปี ๒๕๑๓ จึงถูกนายพลลอนนอลทำรัฐประหารยึดอำนาจ จึงต้องไปพักผ่อนต่อในกรุงปักกิ่ง พร้อมๆกับหาทางยึดอำนาจคืน หนทางใหม่ของท่านก็เป็นไปตามที่ท่านเคยกล่าวไว้ คือเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งท่านเคยว่าถ้าท่านจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็เพราะการแทรกแซงของสหรัฐฯในอินโดจีน !

การที่จะล้มล้างรัฐบาลลอนนอลที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ลงได้ ก็มีพวกเดียวที่พอจะช่วยให้สำเร็จคือกลุ่มเขมรแดง ที่มีนายเขียว สัมพัน ศัตรูเก่าทางการเมืองที่เจ้าสีหนุเคยสั่งประหารชีวิตเป็นหัวหน้ากลุ่ม ทหารเขมรแดงได้รับการฝึกอบรมและสนับสนุนจากทหารเวียดนามเหนือ รายงานข่าวโดยทั่วไปว่าทหารเวียดนามเหนือที่ช่วยเขมรแดงมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑ กรม หรือ ๕,๐๐๐ คน แต่รัฐบาลสามัคคีประชาชาติอันมีเจ้าสีหนุเป็นประมุขและนายเขียว สัมพัน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีกลาโหมยอมรับว่ามีเพียง ๒,๐๐๐ คน และเพียงให้คำปรึกษาแก่เขมรแดงเท่านั้น

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ในการล้มกรุงพนมเปญเป็นเช่นเดียวกับของเวียดกงในเวียดนามใต้ คือ ทำสงครามกองโจรในลักษณะยืดเยื้อค่อยๆ ยึดพื้นที่นอกเมืองเข้าไปหาในเมือง และจากเมืองเล็กไปหาเมืองใหญ่จนกระทั่งรัฐบาลลอนนอลเหลือแต่ใจกลางกรุงพนมเปญเท่านั้น

กัมพูชาหลังสงคราม

ในบรรดาสามประเทศในอินโดจีนหลังสงครามเวียดนาม กัมพูชาเป็นประเทศปิดมากที่สุด ข่าวสารใหญ่ที่ออกมาจากกัมพูชาได้จากการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงที่รับฟังได้ในกรุงเทพฯเท่านั้น กัมพูชาประกาศการปกครองของประเทศในลักษณะประชาธิปไตยแผนใหม่ที่ไม่มีชนชั้น คนรวยคนจน และไม่หวังพึ่งใครในการบูรณะประเทศ จะสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มที่ ๓ ของโลก รวมทั้งประชาชนที่ถูกกดขี่ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัตินโยบายดังกล่าวน่าจะขลุกขลักอยู่มากทั้งเรื่องภายในและภายนอกประเทศ การบูรณะประเทศได้คิดออกมาแล้วว่าจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศแน่นอนไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ล้านดอลล่าร์ และการเมืองภายในประเทศอยู่ในลักษณะลึกลับซับซ้อนมาก

เพียงสองสัปดาห์หลังจากตีกรุงพนมเปญแตกได้แล้ว รัฐบาลใหม่ของเขมรก็ออกข่าวเตือนให้ทหารต่างชาติออกไปดินแดนกัมพูชา เมื่อได้พิจารณาความเป็นมาของการต่อสู้ในกัมพูชาแล้ว ทหารต่างชาติดังกล่าวน่าจะเป็นทหารเวียดนามเหนือที่สนับสนุนช่วยเหลือทหารเขมรแดงจนได้ชัยชนะ เมื่อครั้งเจ้าสีหนุมีอำนาจคราวก่อนก็เคยต่อว่าเวียดนามเหนือแล้วที่ได้ส่งทหารไปยึดครองดินแดนบางส่วนของกัมพูชาไว้ และเมื่อเจ้าสีหนุจะกลับคืนสู่อำนาจอีกด้วยความช่วยเหลือจากทหารเวียดนามเหนือ กัมพูชาน่าจะประสบปัญหาพรมแดนและผิดใจกับเวียดนามเหนืออีก

ปัญหาพรมแดนของกัมพูชามิได้มีเพียงส่วนที่ติดกับเวียดนามเหนือส่วนเดียว แต่ส่วนที่ติดกับเวียดนามใต้และเกาะในทะเลก็เป็นปัญหาดั้งเดิมที่จะตกลงกันได้ยากเช่นกัน แม้อุดมการณ์ของกัมพูชาใหม่จะคล้ายคลึงกับเวียดนามก็ตาม แต่การเป็นศัตรูกันมาแต่โบราณผสมกับปัญหาพรมแดนจะทำให้กัมพูชาตกอยู่ในฐานะลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าใต้ทะเลบริเวณพรมแดนเวียดนามใต้กับกัมพูชาน่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่วยุให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

สภาพทางการเมืองก็อยู่ในสภาพประหลาดที่หลังจากปลดแอกกัมพูชาแล้ว เจ้าสีหนุก็ยังอยู่กรุงปักกิ่งแทนที่จะรีบกลับอย่างที่ผู้นำฝ่ายชนะพึงกระทำ การรีบกลับกัมพูชาโดยยังไม่รู้ใจพวกเขมรแดงน่าเป็นอันตรายแก่เจ้าสีหนุ เพราะท่านไม่ถูกกับผู้นำเขมรแดงมาก่อน ทางกรุงปักกิ่งก็คงไม่ยอมให้ท่านกลับกัมพูชาจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีอันตราย เพราะกรุงปักกิ่งอุ้มชูเจ้าสีหนุมานานแล้ว ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากท่านเลย

ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๘ ทางเขมรแดงออกข่าวว่ากัมพูชาจำต้องรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเช่นอาหาร และสิ่งดำรงชีพอื่นๆ จากต่างประเทศเพราะสงครามกลางเมืองทำให้เศรษฐกิจกัมพูชาล้มละลาย ความช่วยเหลือที่กัมพูชาจะได้รับก็ต้องมาจากฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน และกลางเดือนสิงหาคม เขียว สัมพัน รองนายกรัฐมนตรีและเอียง สารีรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาก็ได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกหลังจากมีอำนาจในกัมพูชา ที่หมายของทั้งสองคือกรุงปักกิ่ง ในขณะเดียวกันเจ้าสีหนุก็ออกจากกรุงปักกิ่งไปเยือนเกาหลีเหนือเหมือนบังเอิญและเป็นการบังเอิญที่ใครจัดไม่รู้

เขียว สัมพันและเอียง สารี อยู่กรุงปักกิ่งได้ ๓-๔ วันทางปักกิ่งก็แถลงว่าจะช่วยเหลือกัมพูชาทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น และทั้งสองท่านผู้นำกัมพูชาก็เดินทางต่อไปยังกรุงเปียงยางเกาหลีเหนือเพื่อพบกับเจ้าสีหนุซึ่งเพียง ๒-๓วันให้หลังท่านก็บอกกับใครๆว่าท่านจะกลับกัมพูชา และหลังจากที่เจ้าสีหนุได้เดินทางกลับมายังกัมพูชาได้ไม่นาน ท่านก็ขอลาออกจากประมุขกัมพูชา

เป็นอันว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กัมพูชาขอความช่วยเหลือเป็นคอมมิวนิสต์จีน และจีนมีอิทธิพลในกัมพูชาเหนือโซเวียตรัสเซีย ส่วนสหรัฐฯที่เคยเกี่ยวพันมีบทบาทในกัมพูชาอยู่มากต้องถอนตัวออกเป็นผู้ดูเฉยๆ

บทเรียนจากกัมพูชา

- การล้มล้างรัฐบาลเขมรที่ตนไม่ชอบด้วยการรัฐประหารเป็นวิธีการที่สหรัฐฯนำไปใช้ในกัมพูชาด้วย

- คนที่เคยมีอำนาจทางการเมืองในกัมพูชาและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศในประเทศคอมมิวนิสต์ สามารถหวนกลับไปมีอำนาจได้ใหม่ด้วยวิธีการของชาติคอมมิวนิสต์นั้น

- รัสเซียพยายามมีอิทธิพลแข่งกับจีนในกัมพูชาโดยรับรองรัฐบาลที่สหรัฐฯสนับสนุน

- ฝ่ายที่สหรัฐฯสนับสนุนในกัมพูชาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง

- การแทรกแซงของสหรัฐฯในอินโดจีนพลักดินกัมพูชาให้เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่เจ้าสีหนุเคยกล่าวไว้

- ยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการล้มกรุงพนมเปญเป็นแบบจีน

- หน่วยทหารที่เข้ามาช่วยเหลือมักไม่ยอมถอนตัวออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารคอมมิวนิสต์

- หน่วยงานลับ ซี ไอ เอ มีบทบาททั้งทางสร้าง “สถานการณ์” และ “ปั้นเหตุการณ์” ในกัมพูชา

- การสนับสนุนด้วยกำลังทางอากาศจากสหรัฐฯ มิได้ช่วยรัฐบาลลอนนอลได้

- จีนเป็นผู้มีอิทธิพลในกัมพูชาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้

- นายพลลอนนอลลี้ภัยจากกัมพูชาอย่างมหาเศรษฐีตามประสาผู้นำรัฐบาลทหาร

- เมื่อสหรัฐฯโดยรัฐสภาอเมริกันคิดปลีกตัวออกห่างจากกัมพูชาก็กระทำโดยไม่ใยดีต่อชะตากรรมของกัมพูชา

No comments: