Thursday, February 8, 2007

บทความที่ ๒. เรียนรู้ประวัติศาสตร์จีน-เข้าใจปัจจุบันสังคมไทย

เรียนรู้ประวัติศาสตร์จีน -เข้าใจปัจจุบันสังคมไทย


ความเป็นจีนกับประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของชาติมีความหมายและความสำคัญต่อชาวจีนมากเพียงไร จะเห็นได้จากถ้อยแถลงของนิตยสาร China Reconstructs ของจีนที่ว่า การถือเอาประวัติศาสตร์เป็นกระจกสำหรับเรียนรู้ เป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่บรรพกาลของประชาชนชาวจีน สำหรับประเทศอย่างของเรา ซึ่งได้รักษาหลักฐานตามที่ได้บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ เราได้เก็บรักษาหลักฐานประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ปีที่ ๘๔๑ ก่อนคริตศักราชเป็นรายปี อาจกล่าวได้ว่า หาได้ยากยิ่งในบรรดาประชาชาติทั้งหลาย ทั้ง ๆ ที่เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของเรา นับแต่อดีตกาลอันไกลโพ้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ถูกเรียกว่า “เจี้ยน” (กระจกสำริด) ในจีน และจีนยังมีภาษิตว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่ว่า “เจี้ยนหวั่งจือไหล” -- “เมื่อพิจารณาอดีต ก็สามารถคาดคิดถึงอนาคตได้”

คำที่ชาวจีนใช้เรียกชื่อประเทศของตนที่ว่า “จงกั๋ว” ซึ่งหมายความว่า “ศูนย์กลางของโลกที่มีอารยธรรม” เป็นคำเก่าแก่ที่ชาวจีนใช้เรียกประเทศของตนมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลและยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้ก็มีความหมายมาจากประวัติศาสตร์ ดังที่ ศาสตราจารย์ จอห์น คิง แฟร์แบงค์กล่าวว่า การที่จะทำความเข้าใจจีนให้ได้ดีที่สุด ก็แต่โดยทางประวัติศาสตร์ของจีนเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน ประการแรกก็คือ ชาวจีนมองดูตนเองด้วยทัศนียภาพทางประวัติศาสตร์ยิ่งกว่าประชาชาติอื่นใดในโลก พวกเขามองเห็นได้อย่างล้ำลึกถึงมรดกที่ตนได้รับสืบต่อมาโดยทางประวัติศาสตร์ การที่จะทำความรู้จักและเข้าใจชาวจีน จึงได้แก่การมองชาวจีนอย่างที่ชาวจีนมองตนเอง ประการที่สอง สัมฤทธิภาพต่างๆของชาวจีน ไม่ว่าจะในทางสุนทรียศาสตร์, ภูมิปัญญาและสถาบันทั้งหลาย จะสามารถศึกษาได้อย่างดีที่สุดก็แต่โดยวิวัฒนาการของมันนั้นเอง สัมฤทธิภาพต่างๆดังกล่าว สมควรที่จะมองต่างหากออกไปจากช่วงระยะเวลาอย่างที่มันเป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะมีแต่การมองออกไปยังกระแสที่หลั่งไหลมายาวไกลของประวัติศาสตร์จีนเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจได้ชัดแจ้งถึงทิศทางที่จะดำเนินไปของการเคลื่อนไหว และมีความเข้าใจขึ้นมาบ้างในสิ่งต่างๆ ที่กำลังอุบัติขึ้นในจีนทุกวันนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ “ธาตุแท้ของความสับสันอลหม่านในจีนปัจจุบันได้แก่ ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างพลังใหม่อันมีหลายสิ่งหลายประการที่ได้มาจากตะวันตก กับความเคยชินดั้งเดิมและแบบแผนวิธีการคิดที่สืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี”

การที่จะทำความเข้าใจในประเทศจีนและประชาชนชาวจีนอย่างที่ชาวจีนเรียกตนเองว่า “จงกั๋ว” “ลูกหลานของหวงตี้” หรือ “ต้าฮั่น” จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์จีนและความเป็นจีนของคนจีนด้วย

ชาวจีนเรียกชื่อประเทศของตนเองว่า “จงกั๋ว” ซึ่งหมายถึงศูนย์กลางของโลกที่มีอารยธรรม และก็ยังคงใช้เรียกอยู่จนทุกวันนี้ คำเรียกดังกล่าวมีผลต่อชาวจีนเองตลอดมาหลายยุคหลายสมัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำนองเดียวกับชาวกรีกโบราณสมัยบรรพกาลที่ถือว่าประเทศของตนเป็นศูนย์กลางอารยธรรมของโลก มีประเทศของคนป่าเถื่อนล้อมอยู่โดยรอบ ชาวจีนในสมัยบรรพกาลก็เชื่อประเทศของตนตั้งอยู่กึ่งกลางของโลก โดยมีคนป่าเถื่อนล้อมรอบอยู่โดยรอบทั้งสี่ด้าน และรอบนอกยังมีมหาสมุทรกระหนาบอยู่ทั้งสี่ด้าน อาเธอร์ ค็อตเตอเรล ให้ความเห็นว่า ทัศนคติของจีนมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลที่เก่าแก่อย่างยิ่ง จากผลการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ สามารถเตือนใจเราได้อย่างเพียงพอทีเดียวที่ว่า จีนไม่เพียงแต่จะเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงดำรงอยู่โดยสืบต่อกันมาไม่มีสิ้นสุดเท่านั้น หากยังแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่า ในระหว่างขั้นตอนของพัฒนการที่อารยธรรมจีนก่อรูปขึ้นมานั้น มันเป็นโลกอยู่แล้วโดยตัวของมันเองที่อยู่ต่างหากออกไป เนื่องจากถูกตัดขาดทางภูมิศาสตร์จากศูนย์กลางของอารยธรรมอื่นๆ ในสมัยต้นๆด้วย

จีนในสมัยบรรพกาลประกอบกันขึ้นตามบริเวณที่ลาดลุ่มของแม่น้ำเหลือง(หวงเหอ) อันอุดมสมบูรณ์ ทางเหนือเป็นที่ราบกว้างแห้งแล้งซึ่งผู้คนที่อยู่อาศัยเป็นพวกเร่ร่อน ยังผลให้จีนเองต้องสร้างปราการป้องกัน จนผลที่สุดก็ผนวกเข้าเป็นกำแพงยักษ์ ทางด้านตะวันออกเป็นมหาสมุทรเก่าแก่ที่สุดซึ่งมีหมู่เกาะญี่ปุ่นตั้งอยู่ครั้งดึกดำบรรพ์ ส่วนทางด้านตะวันตกมีเทือกเขาสูงสุดสะกัดกั้นเส้นทางค้าขายไปยังอินเดียและเอเชียตะวันตก ทางด้านใต้เป็นป่าดงพงไพรกึ่งโซนร้อน อันเป็นที่ซึ่งชาวไร่ชาวนาที่การผลิตเกษตรกรรมยังอยู่ในขั้นปฐม จึงยังล้าหลังในทางวัฒนธรรมยิ่งกว่าจีนมาก

ชาวจีนจึงดำรงชีวิตอยู่ในโลกอารยธรรมของตนเช่นนี้เป็นเวลาถึงกว่าพันปี ถึงได้รู้ว่า ยังมีอารยธรรมของประเทศอื่นๆ ดำรงอยู่เช่นกัน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ปีที่ ๒๐๖ ก่อนคริตศักราช-ค.ศ.๑๙) เมื่อจางเจี้ยนขุนนางนายทหารของจักรพรรดิอู่ตี้เดินทางไปต่างประเทศกลับมาถึงฉางอานเมืองหลวงในปีที่ ๑๒๖ ก่อนคริตศักราชแล้ว ก็ได้ถวายรายงานว่า ในดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นอาฟกานิสถานมี “เมืองต่างๆ คฤหาสน์และบ้านเรือนอยู่มากหลายอย่างในจีนเหมือนกัน”

เมื่อเราทำความเข้าใจได้ถึงความเป็นมาของ “จงกั๋ว” โดยทางประวัติศาสตร์แล้ว เราก็พอจะเข้าใจได้ถึงข้อสังเกตของ เอดวิน โอ. ไรส์ชาวร์ อดีตศาสตราจารย์วิชาประวีติศาสตร์ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยฮาว์วาร์ดและอดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำญี่ปุ่นที่ว่า “โดยทางวัฒนธรรมนั้น ญี่ปุ่นเป็นลูกสาวของอารยธรรมจีน มากเท่าๆกับที่ประเทศทั้งหลายในยุโรปเหนือเป็นลูกสาวของวัฒนธรรมเมดิเตอเรเนียน” เมื่อเปรียบเทียบถึงความพยายามในการสร้างประเทศให้ทันสมัยของประเทศทั้งสองแล้ว ไรส์ชาวร์ก็ลงความเห็นว่า “ชาวญี่ปุ่นได้เปรียบชาวจีนอยู่ประการหนึ่งที่ว่า ชาวจีนมีสมมติฐานเก่าแก่แต่ดั้งเดิมของตนอยู่ว่า ประเทศของตนเป็นประเทศเดียวที่ทรงไว้ซึ่งอารยธรรมที่แท้ จึงเป็นการยากอยู่มากสำหรับชาวจีนที่ต้องดัดแปลงตนให้เข้ากับความคิดจากภายนอกประเทศ ส่วนชาวญี่ปุ่นไม่เคยรู้สึกเลยว่า เป็นการยากสำหรับตนในการเรียนรู้จากประเทศที่เข้มแข็งทั้งหลายในตะวันตก เพราะประเทศตะวันตกดังกล่าว เป็นตัวแทนในทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีคุณค่าสำหรับตน ชาวญี่ปุ่นสามารถเกาะกุมความคิดอย่างหนึ่งเอาไว้ได้อย่างรวดเร็วซึ่งได้แก่ความคิดที่ว่า หนทางที่จะสร้างประเทศของตนให้ดีที่สุดโดยปลอดพ้นจากภัยคุกคามจากประเทศตะวันตกก็คือ สร้างประเทศของตนให้ทันสมัยขึ้นมาให้จงได้ ตามแนวทางของตะวันตกนั้นเอง และก็สมัครใจที่จะทำอะไรก็ได้ที่จำเป็น เพื่อให้ได้บรรลุผลตามเป้าหมายของตน

พูดง่ายๆ ชาวจีนมีความคิดที่ยึดมั่นอยู่เดิมตั้งแต่สมัยอดีตบรรพกาลที่ว่า ถึงจะอย่างไร “จงกั๋ว” บ้านเกิดเมืองนอนของตนก็คือศูนย์กลางของอารยธรรมโลกเพียงแห่งเดียวที่ยังคงมีชีวิตชีวาและพลวัตรอยู่ ไม่เฉพาะแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ลอกเลียนไปจากจีน ยังมีประเทศอื่นอีกหลายประเทศอย่างเช่นเกาหลีเหนือและเวียดนามก็ลอกเลียนไปจากจีนทั้งนั้น นับตั้งแต่ตะเกียบ, ตัวอักษรและเครื่องแต่งกาย (เดิมชาวเวียดนามใช้ตัวอักษรจีน ต่อมาภายหลังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสจึงถูกบังคับให้ใช้อักษรโรมันแทน) ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นก้มหน้าก้มตาลอกเลียนจากชาวต่างประเทศในสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตน ภายหลังก็ยังพยายามทำให้ดีกว่าครู และก็จะมีความภูมิใจเป็นที่สุดหากสามารถทำได้ดีกว่าครู สำหรับชาวจีนนั้นตรงกันข้าม ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ นโยบายสร้างจีนให้ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อเวลาล่วงมาได้ ๑๕ ปี เติ้งก็ถูกประณามจากชาวจีนหัวอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก เพราะผลของมันเท่าที่เห็นกันในบัดนี้ เท่ากับเปิดประตูให้สิ่งต่างๆ ที่เสื่อมทรามจากตะวันตกรุกล้ำเข้ามาในอาณาจักร “จงกั๋ว” ชาวจีนดังกล่าวเห็นว่า ผลที่ได้คือ ความทันสมัยของจีนไม่คุ้มค่ากับการที่อาณาจักรจงกั๋วต้องรับเอาสิ่งเสื่อมทรามต่างๆ จากตะวันตกเลย

แต่ทุกวันนี้ มีนักศึกษาหนุ่มสาวชาวจีนหลายหมื่นคน กำลังศึกษาวิชาการสมัยใหม่อยู่ในประเทศตะวันตกเพื่อกลับมาสร้างจีนให้ทันสมัย เฉพาะในสหรัฐอเมริกาก็มีถึง ๔๐,๐๐๐ เศษ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ระหว่างการสร้างจีนให้ทันสมัยกับการปฏิเสธสิ่งเสื่อมทรามที่เป็นมลพิษแก่จีนเอง ผู้นำรุ่นใหม่กับนักวิชาการและเทคนิคเชียนรุ่นใหม่จะสามารถร่วมมือกันสร้างความสมดุลย์ขึ้นในระยะหว่างพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ได้หรือไม่ การปฏิเสธโลกตะวันตกทั้งหมดโดยสิ้นเชิงย่อมไม่ถูกต้อง แต่การรับเอาโดยไม่เลือกเลยก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหานี้จะเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่เผชิญหน้าอาณาจักร “จงกั๋ว” แห่งอดีตในศตวรรษใหม่นี้


วัฒนธรรมจีนและประวัติศาสตร์จีน

ในสมัยของฉินสื่อหวงตี้ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ฉิน (ปีที่ ๒๒๑-ปีที่ ๒๐๗ ก่อนคริตศักราช) ที่สามารถรวมรัฐทั้ง ๗ ในยุคจ้านกั๋ว (สงครามระหว่างรัฐ) เข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แล้วมีประกาศศิตให้ชาวจีนไม่ว่าจะอยู่ในรัฐใดต้องใช้ภาษาหนังสืออย่างเดียวกันเป็นมาตรฐาน ไม่ว่าภาษาหนังสือดังกล่าว ชาวจีนในแต่ละรัฐจะอ่านออกเสียงแตกต่างกันเพียงไรก็ตาม เพราะฉะนั้นชาวจีนถึงจะพูดออกสำเนียงแตกต่างกันไปคล้ายอยู่กันคนละประเทศ แต่เมื่อเทียบกันด้วยตัวหนังสือ ก็สามารถเข้าใจกันได้ ผลจากประกาศศิตของฉินสื่อหวงตี้ผู้ทรงอำนาจสูงสุดแต่ผู้เดียวในอาณาจัรฉินนี้เอง ที่ทำให้ชาวจีนใช้ตัวหนังสืออย่างเดียวกันหมด และก็สามารถ “สื่อ” กันได้โดยตลอดเป็นเวลาถึงสองพันปีเศษจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในโลกสมัยใหม่นี้ เราจะเห็นความยุ่งยากของประเทศใหญ่ๆ อย่างอินเดียเพราะความขัดแย้งระหว่างประชาชนในแต่ละท้องถิ่นจากภาษา ประเพณีและวัฒนธรรม ฯลฯ อย่างเมื่อได้เอกราชจากอังกฤษ ยังจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการของประเทศ เนื่องจากแต่ละภูมิภาคจนถึงแต่ละรัฐ ล้วนแล้วแต่มีภาษาของตนเอง ไม่ยอมอย่างเด็ดขาดให้รัฐบาลกลางใช้ภาษาภูมิภาคหรือรัฐหนึ่งรัฐใดเป็นภาษาราชการของรัฐบาลกลาง ถ้ารัฐบาลกลางขืนใช้ ก็มีหวังเกิดจลาจล

แม้ว่าฉินสื่อหวงตี้ผู้นี้จะได้ชื่อว่าเป็นจอมทรราช เกณฑ์แรงงานผู้คนเป็นแสนๆ สร้างกำแพงหมื่นลี้(ว่านหลี่ฉางเฉิง) และพระราชวัง แต่การใช้ประกาศิตกำหนดให้พลเมืองในอาณาจักรของตนใช้ภาษาหนังสืออย่างเดียวกัน ก็นับว่าเป็นคุณูปการใหญ่หลวงเหนืออื่นใด และตามทางปฏิบัติแล้วเราจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลายาวนานในประวัติศาสตร์ ชาวจีนมีความผูกพันกันในฐานะแห่งความเป็นคนจีน ไม่ใช่ด้วยเชื้อชาติ หากแต่ที่วัฒนธรรมโดยแท้ การใช้ตัวหนังสือเหมือนกัน ยึดมั่นในบรรพบุรุษ ฯลฯ เหล่านี้เป็นการแสดงถึงความเป็นคนจีนในฐานะพลเมืองแห่งอาณาจักรจงกั๋วยิ่งกว่าอื่น

ความเป็นมาของราชวงศ์จีน เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์เซี่ยซึ่งยังถือกันว่าเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์จีนที่มีหลักฐานยืนยันได้ตามหลักวิชาประวัติศาสตร์ถือกันว่า เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังที่ชาวจีนเริ่มใช้แซ่และเคารพบูชาบรรพบุรุษซึ่งยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ต่อมา ยุคราชวงศ์โจวที่กษัตริย์ราชวงศ์โจวเป็นประมุขแต่ในนาม เมืองต่างๆ นับร้อยในฐานะนครรัฐ (city state) ต่อสู้กันแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก จนเหลือเพียง ๗ รัฐ คือ ฉิน, หัน, จ้าว, เว่ย, ฉู่, เอี้ยนและ ฉี รัฐฉินที่เป็นรัฐฝักใฝ่การแผ่ขยายอำนาจ ได้สร้างแสนยานุภาพทางทหารจนสามารถรวมรัฐทั้งเจ็ดเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ กษัตริย์รัฐฉินตั้งพระทัยจะให้จักรพรรดิฉินสืบราชสมบัติยั่งยืนอยู่ได้ถึงหมื่นองค์ แต่ราชวงศ์ฉินอยู่ได้เพียง ๑๔ ปีเท่านั้น (นี่ควรจะเป็นอนุสติเตือนชนชาติอื่นให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การทำสงคราม เข่นฆ่า กดขี่ข่มเหงคนเป็นแสนๆ ล้านๆคน เพื่อหวังว่าสายโลหิตของตนจะอยู่ยั่งยืน สืบวงศสกุลไปนานแสนนาน นั่นเป็นแต่เพียงความเพ้อฝันเท่านั้น เพราะเพื่อการนั้นทรราชไม่ว่าจะยุคไหนถึงกับกระทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะใช้เล่ห์ เพทุบาย ใส่ร้ายป้ายสี ยุยงให้แตกแยก เข่นฆ่าผู้ไม่คล้อยตาม ฯลฯ เพื่อให้ตนและลูกหลานได้เสวยอำนาจ แต่คำที่ว่า “มนุษย์เป็นผู้กระทำ แต่กรรมเป็นผู้ลิขิต” ก็ยังถูกต้องเสมอ ในที่สุดราชวงศ์ฉินของจอมทรราช ฉินสื่อหวงตี้หรือที่คนไทยรู้กันในนาม “จิ๋นซีฮ่องเต้” ก็มีอายุอยู่ได้เพียง ๑๔ ปีเท่านั้น เพราะเมื่อตนเองสิ้นชีวิตไปแล้ว เพียงไม่กี่ปีประชาชนก็พากันลุกฮือเพื่อโค่นล้มเชื้อสายจอมทรราช -ผู้เขียน)

หลังจากการจลาจลและสงครามกลางเมืองแล้ว หลิวปังผู้นำคนสำคัญในฐานะผู้พิชิตสงครามกลางเมือง ก็ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นปกครองอาณาจักรสืบต่อกันมาถึง ๔๐๐ ปีเศษ ระหว่างปีที่ ๒๐๖ ก่อนคริตศักราชจนถึง ค.ศ. ๒๒๐ มีราชวงศ์ซินของหวางหมั่ง คั่นอยู่เพียง ๑๕ ปี หวงตี้ราชวงศ์ฮั่นโดยเฉพาะอู่ตี้ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ ๕ สามารถแผ่ขยายอาณาจักรที่พระองค์ปกครองออกไปอย่างกว้างขวาง จนอาณาจักรของพระองค์ ชาวจีนพากันเรียกว่า ต้าฮั่น หรือ ฮั่นใหญ่ยิ่ง คำนี้เป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียกอาณาจักรและตนเองว่าเป็นต้าฮั่น ก็มาจากความใหญ่ยิ่งของอาณาจักรฮั่นสมัยต้นราชวงศ์ฮั่นนี้เอง จนกระทั่งภายหลังคำว่าต้าฮั่นมีความหมายไปในทางลัทธิชาตินิยมแบบเก่าที่ยกย่องชาติตนเหนือชาติอื่น (chauvinism) ผลที่ได้จากการที่จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่นปกครองอาณาจักรยาวนานถึง ๔๐๐ ปีเศษ นอกจากความเป็นฮั่นที่ชาวจีนภูมิใจแล้ว ก็ได้แก่ลัทธิขงจื้อ (ข่งฟูจื่อ) ที่ฉินสื่อหวงตี้เคยกำจัดถึงขนาด “เผาหนังสือ ฝังผู้รู้” ในลัทธินี้มาแล้ว แต่ในราชวงศ์ฮั่นได้รื้อฟื้นและยกย่องขึ้นเป็นอุดมการณ์ของรัฐ (state ideology) อิทธิพลขงจื้อก็ได้แผ่ขยายเข้าครอบคลุมสังคมจีนในทุกระดับนับตั้งแต่ชนชั้นปกครองของราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา การคัดเลือกผู้รู้หนังสือเข้ารับราชการก็มีการทดสอบความรู้ลัทธิขงจื้อกันก่อน อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบสอบไล่เพื่อเข้ารับราชการในสมัยสมัยราชวงศ์สุยและถังในภายหลัง ลัทธิขงจื้อเป็นที่ยกย่องและยึดถือกันในบรรดาในชนชั้นปกครองแล้วแทรกซึมไปสู่ประชาชนระดับต่างๆ ในสังคมจีนจนฝังรากลึก ไม่มีศาสนาใด หรือลัทธินิกายไหนจะมีอิทธิพลเทียบเคียงได้

แฟร์แบงค์อธิบายถึงปัญหาที่ว่า ทำไมลัทธิขงจื้อถึงได้มีอิทธิพลใหญ่หลวงและยั่งยืนสืบต่อกันมาถึงสองพันว่า

“ถ้าเราถือเอาทรรศนะของขงจื้อที่มีต่อชีวิต สังคมและการเมือง เราก็พอเข้าใจได้ว่า การที่ขงจื้อยกย่องอาวุโสเหนือผู้เยาว์, ยกย่องอดีตเหนือปัจจุบัน, ยกย่องอำนาจที่ได้สถาปนาขึ้นมาแล้วเหนือการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆนั้น ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นคำตอบอันมีความสำคัญใหญ่หลวงทางประวัติศาสตร์ต่อปัญหาที่ว่าด้วยเสถียรภาพทางสังคม ลัทธิขงจื้อเป็นระบบอนุรักษ์นิยมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในบรรดาระบบอนุรักษ์นิยมทั้งปวง”

หลังจากราชวงศ์ฮั่นเสื่อมสลาย อาณาจักรแตกแยกอันออกเป็นสามอาณาจักรหรือสามก๊กแล้ว จักรพรรดิราชวงศ์จิ้นสามารถรวมอาณาจักรเข้าด้วยกันได้อีก แต่การรวมครั้งนี้มีอายุสั้น เนื่องจากจักรพรรดิราชวงศ์จิ้นยุบเลิกกำลังทหารหัวเมืองเพราะไม่ไว้ใจเกรงว่าจะเป็นกบฏ แล้วพวกเจ้าราชวงศ์จิ้นยังทำสงครามกลางเมืองชิงราชสมบัติกันอีก จักรพรรดิราชวงศ์จิ้นจึงอ่อนแอลง ในขณะที่ชาวต่างชาติห้าเผ่าที่ชาวจีนเรียกว่า “อู่หู” เข้มแข็งขึ้นซึ่งในที่สุดก็โค่นราชวงศ์จิ้นลงได้ ยังผลให้จักรพรรดิราชวงศ์จิ้นต้องอพยพไปตั้งหลักที่หนาจิงตั้งแต่ ค.ศ. ๓๑๗ นับแต่นี้ไป “อู่หู” ก็เข้ากุมอำนาจในภาคเหนือ แบ่งแยกกันเป็นอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อย ใช้ชื่อราชวงศ์อย่างชาวจีน แต่ก็อายุสั้นแทบทุกราชวงศ์ ส่วนทางใต้ก็แตกแยกกัน ยุคแตกแยกนี้เริ่มจาก “อู่หู” เข้าพิชิตราชวงศ์จิ้นยุคแรกหรือซีจิ้น กินเวลา ๒๖๔ ปี แล้วจีนจึงสามารถรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยจักรพรรดิราชวงศ์สุย (ค.ศ. ๕๘๑ ถึง ๖๑๘) และราชวงศ์ถัง (ค.ศ. ๖๑๘ ถึง ๙๐๗)

จักรพรรดิราชวงศ์สุยแม้จะรวมอาณาจักรได้ แต่ราชวงศ์ก็มีอายุสั้นเพียง ๓๗ ปี ภารกิจทางประวัติศาสตร์ (historical mission) ตกเป็นของจักรพรรดิราชวงศ์ถึงซึ่งปกครองอาณาจักรอยู่ ๒๘๙ ปี ยุคราชวงศ์ถังเป็นอีกยุคหนึ่งที่ชาวจีนภูมิใจในความเจริญรุ่งเรืองและใหญ่ยิ่งของอาณาจักรภายใต้จักรพรรดิราชวงศ์ถัง ชาวจีนจึงได้มีคำกล่าวติดปากด้วยความภูมิใจว่า “ต้าฮั่นเซิ่งถัง” (ฮั่นใหญ่ยิ่ง ถังรุ่งเรือง) ชาวจีนทางใต้อย่างในกว่างตงที่อำนาจปกครองของจักรพรรดิราชวงศ์ถังครอบคลุมไปถึง สมัครใจที่จะเรียกตนเองว่า “ถังเหริน” พูดตามสำเนียงแต้จิ๋วก็คือตึ่งนั้งนั่นเอง หลังจากราชวงศ์ถังเสื่อมสลาย มีขุนศึกผู้พิชิตผลัดกันขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแต่ก็ไม่ยั่งยืนจนถึงยุคของซ่ง (ค.ศ. ๙๖๐ ถึง ๑๒๗๙) โดยที่จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งมักฝักใฝ่ในทางศิลปวัฒนธรรม จึงมีความเจริญรุ่งเรืองด้านนี้เท่าๆกับที่อ่อนแอทางทหาร ยุคราชวงศ์ซ่งได้สืบต่อระบบราชการ (bureaucracy) โดยการสอบไล่ที่ราชวงศ์สุยริเริ่ม แล้วราชวงศ์ถังสร้างขึ้นเป็นระบบ ครั้งมาถึงราชวงศ์ซ่งก็เป็นสถาบันไปเลย

ยุคนี้มีนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะศิษย์ของลัทธิขงจื้อคือ จูซี (ค.ศ. ๑๑๓๐ ถึง ๑๒๐๐) และต่อมาได้แก่หวางหยางหมิง (ค.ศ. ๑๔๗๒ ถึง ๑๕๒๘) ในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นผู้สืบต่อ โดยทำการปฏิรูปลัทธิขงจื้อ เรียกว่า “ลัทธิขงจื้อใหม่” โดยนำแนวความคิดของพุทธศาสนาเข้ามาผสม ทั้งๆที่มีความเกรงอยู่เดิมว่า พุทธศาสนาที่มีอิทธิพลและแพร่หลายมากในสมัยราชวงศ์ถัง จะสามารถบดบังลัทธิขงจื้อ จูซีจึงประณามพุทธศาสนา แต่ในที่สุดก็รับเอาอนุศาสน์ของพุทธศาสนาเข้ามาด้วย กล่าวโดยสรุปเป็นการปรับตัวของลัทธิขงจื้อ เพื่อไม่ให้ความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนทั่วไปต้องแคลนคลอนจนถึงมีหลักคำสอนอย่างใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ในยุคสมัยที่แตกต่างไปจากอดีต ลัทธิขงจื้อใหม่สามารถรักษาความสำคัญของลัทธิขงจื้อในฐานะอุดมการณ์ของรัฐไว้ได้และก็คงมีอิทธิพลครอบงำรูปการจิตสำนึกของสังคมจีนต่อมาทั้งในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงจนถึงสิ้นศตวรรษที่ ๑๙ จนกระทั่งนักศึกษาปัญญาชนจีนสมัยต้นศตวรรษที่ ๒๐ พากันรู้สึกว่าความอ่อนแอของจีนเมื่อเผชิญกับประเทศต่างๆ ในตะวันตกก็อยู่ที่ปรัชญาลัทธิขงจื้อนี่เอง

(ลัทธิขงจื้อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง ครอบงำเหล่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินชาวจีนมาเนิ่นนาน ประกอบกับลัทธิความเชื่อมาแต่บรรพกาลที่ว่าชนชาติตนเองมีอารยธรรมยิ่งใหญ่เหนือชนชาติป่าเถื่อนอื่นๆ จนเมื่อต้นศตวรรษที่ ๑๙ ชาวจีนจึงเริ่มตื่นจากฝันอันแสนหวานที่ครอบงำตนเองมาหลายพันปี เมื่อพบว่าชาวป่าเถื่อนจากตะวันตกได้ยกไพร่พลมาทางเรือนับพันลำ เข้าบีบคั้นบังคับราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์แมนจู) ที่อ่อนแอทั้งในการทหารและการปกครองให้ยอมต่อข้อเรียกร้องในการเปิดประเทศ เมื่อนั้นแหละจงกั๋วจึงได้เปิดหูเปิดตามาดูว่าอารยธรรมโลกได้ก้าวหน้าไปเพียงใดแล้ว การปิดประเทศของจีนในช่วงเวลาหลายร้อยปีทำให้ชาติอ่อนแอลง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อาจจะรับรู้หรือตามทันในวิทยาการโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งนี้การถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ของรัฐที่กล่อมเกลาจนประชาชนเชื่องเชื่อขาดแรงผลักดันที่พัฒนาชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศอื่นๆ เพราะประชาชนถูกสอนให้ว่านอนสอนง่าย รับฟังนโยบายเบื้องบนอยู่ตลอดระยะเวลานับพันๆปี จนเมื่อเรือรบของชาวตะวันตกมาเคาะประตูจงกั๋วด้วยปืนใหญ่ เมื่อนั้นจงกั๋วจึงได้ตระหนักแต่ก็สายเกินไปเสียแล้วว่า ชาติของตนอ่อนแอเพียงใดในการรับมือกับการรุกรานของชาติอื่นที่ตนคิดว่าเป็นชาติป่าเถื่อนทางอารยธรรม !!!-ผู้เขียน)


ความเสื่อมและการอวสานของราชวงศ์

ความอ่อนแอของจีนสมัยยุคของราชวงศ์ซ่งที่เรียกกันว่า เป่ยซ่งหรือซ่งเหนือ (ค.ศ. ๙๖๐ ถึง ๑๑๒๖) พอดีเผชิญกับความเข้มแข็งของชาวต่างชาติ คราวนี้ได้แก่แมนจูโบราณที่ยกทัพเข้ามาพิชิตภาคเหนือของจีนจนถึงสามารถตั้งอาณาจักรจินขึ้น จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งต้องถอยมาตั้งหลักในภาคใต้ของอาณาจักรเรียกกันว่า ยุคหนานซ่งหรือซ่งใต้ (ค.ศ. ๑๑๒๗ ถึง ๑๒๗๘) แต่แม้ว่าอาณาจักรจินจะเข้มแข็งสามารถพิชิตภาคเหนือของจีนได้ ก็ไม่มีทางเทียบกับชาวมงโกลที่ยกกองทัพม้าพิชิตไปถึงยุโรปและตะวันออกกลาง กองทัพมงโกลโดยกุบไลข่านหลานปู่ของเจงกิสข่านสามารถพิชิตอาณาจักรจินและภาคใต้ของจีนภายใต้จักรพรรดิหนานซ่งได้ทั้งหมด แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิราชวงศ์หยวนปกครองอาณาจักรจีนอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี จูหยวนจางผู้นำที่มีความสามารถทั้งทางการทหารและการเมือง ก็ได้กำจัดมองโกลออกไปจากจีนแล้วตั้งตนเป็นปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ ถึง ๑๖๔๔) จักรพรรดิราชวงศ์หมิงปกครองอาณาจักรจีนได้ ๒๖๘ ปี มาถึงตอนปลายราชวงศ์ความเสื่อมทรามนานัปการก็ประดังเข้ามาทำลายราชวงศ์ ผลที่สุด ชาวแมนจูทางด้านอิสานของอาณาจักรซึ่งมีผู้นำและกองทัพที่เข้มแข็งก็สามารถพิชิตปักกิ่งเมืองหลวงได้ จักรพรรดิแมนจูราชวงศ์ชิงปกครองอาณาจักรจีนได้ ๒๖๖ ปี จึงถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติสาธารณรัฐนำโดย ดร.ซุนยัดเซ็นในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ อาณาจักรจีนจึงได้เปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

อวสานของราชวงศ์ชิงนั้น นอกไปจากปัญหาภายในอย่างที่เกิดกับราชวงศ์ทั้งหลายในอดีตคือ ระบอบศักดินา อันได้แก่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าที่ดินกับชาวนาผู้ทำการผลิตแต่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกคือ มหาอำนาจนักล่าอาณานิคมที่สามารถถล่มกำแพงหมื่นลี้ด้วยระบบทุนนิยมโดยมีประสิทธิภาพยิ่งกว่ากองทัพมองโกลในอดีตเสียอีก นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ยุคกึ่งเมืองขึ้น – กึ่งศักดินา” กล่าวคือ ประเทศต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตก ไม่อาจมีเอกราชอันสมบูรณ์ได้ และชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศอันเป็นผู้ผลิตที่แท้จริงต้องอยู่ภายใต้ระบอบศักดินาและกึ่งศักดินา โดยเจ้าที่ดินซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกัน ชาวนาผู้ทำการผลิตส่วนมากก็ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง

กล่าวโดยสรุป นับแต่ฉินสื่อหวงตี้รวมจีนเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันตั้งแต่เมื่อปี ๒๒๑ ก่อนคริตศักราชจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๑ เป็นเวลารวม ๒,๑๓๒ ปี อาณาจักรจีนปกครองด้วยระบอบอัตตาธิปไตย (autocracy) มาโดยตลอด องค์จักรพรรดิกุมอำนาจสูงสุด โดยมีคำสอนขงจื้อเป็นอุดมการณ์ของรัฐ เว้นแต่บางยุคที่มีการแตกแยกเป็นอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อย การดำรงคงอยู่ของระบอบอัตตาธิปไตยกับลัทธิขงจื้อนี้ แฟร์แบงค์สรุปว่า “ความเป็นจริงที่ว่าการปกครองตามแบบของลัทธิขงจื้อ หรือตำนานว่าด้วยรัฐที่ว่า พฤติกรรมที่เหนือกว่าของผู้ปกครอง (อาณาจักร) เป็นการให้ความบันดาลใจแก่การเลียนแบบและยอมสยบโดยพร้อมเพียงกันของพสกนิกรผู้มองดูอยู่ด้วยความจงรักภักดีและชื่นชมเป็นล้นพ้น”


ความเสื่อมจนถึงสลายของราชวงศ์จักรพรรดิขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ประการแรก การเมืองในราชสำนัก อาจโดยจักรพรรดิเองอ่อนแอไร้ความสามารถ หรือมเหสี, ขันที, ขุนนางผู้ใหญ่มีความทะเยอทะยานและบ้าอำนาจ ประการที่สอง การรุกรานของต่างชาติ และประการที่สาม วิกฤตสังคมที่ร้ายแรงอันเนื่องมาจากความอดอยากยากแค้นของชาวนาที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะโดยระบอบศักดินาเจ้าที่ดิน หรืออุกทภัย, ทุพภิกขภัย, ฉาตภัย ฯลฯ จนถึงเกิดกบฏชาวนาขึ้น วิกฤตสังคมนี้มีมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์เหมือนเป็นวงจรอุบาทว์ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้




เรียบเรียงจาก : “ประวัติศาสตร์จีน” ทวีป วรดิลก

No comments: